จิตตปัญญาเวชศึกษา 25: Positivism ฐานพลังของครู


Positivism ฐานพลังของครู

ทุกงาน ทุกอาชีพ มีกิจกรรมทั้งสิ้น มีกิจกรรมแปลว่าต้องใช้พลังงาน มีพลังงานก็ต้องมีใช้ มีหมด มีต้องการเพิ่ม ดังนั้นการบริหารจัดการพลังเกื้อหนุน มีความสำคัญและสัมพันธ์แนบแน่น กับความสำเร็จ สัมฤทธิผลของงานทุกชนิด ทุกประเภท

ครู ก็จะต้องหาพลังมาจากแหล่งที่ใด ที่หนึ่ง ให้ได้

ในภาษาธุรกิจ หรือภาษาการบริหารจัดการ มีคำหนึ่งคือ "การจัดการความเสี่ยง Risk Management" เป็นหัวข้อสำคัญที่เดียว เพราะความเสี่ยงเป็นอะไรที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อสิ่งที่ตั้งใจจะทำ ตั้งใจจะให้เกิด ถึงแม้ว่าการตั้งความคาดหวังจะเป็นแหล่งก่อความผิดหวัง แต่จะมาก จะน้อย เราก็จะอดมี "ความหวัง" ไม่ได้ และการบริหารจัดการความเสี่ยง ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ไม่ควรทำ

ความเสี่ยงของครู ก็คือ การหว่านเมล็ด แล้วดันตกลงไปบนผิวหินอ่อน ไม่มีช่องให้รากหยั่งลงไป หรือ ตอนลุ้นดูการงอกงาม ว่าจะเหี่ยว จะแกร็น จะแปรพันธุ์หรือไม่ แต่ก็ได้แต่เฝ้ามอง หลังจากได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรทำไปแล้ว

มองดูดีๆ ความเสี่ยงนี้ก็เหมือนกับความเสี่ยงของอาชีพแพทย์ไม่น้อยเลย หลังจากที่หมอทำทุกอย่าง เท่าที่ความรู้ ความสามารถของตนเอื้ออำนวยแล้ว จะอยู่ หรือ จะตาย ก็พ้นอำนาจ การควบคุมของหมอไปอแล้วเหมือนกัน ตรงนี้จึงเกิด similarity ระหว่างอาชีพแพทย์ และอาชีพครู ก็คือ positivism

ผลิตผลงานของแพทย์ อาจจะออกแสดงผลได้เร็ว แต่สำหรับครูนั้น อาจจะต้องใช้เวลาชั่วชีวิต ก็ยังไม่เห็น ไปเห็นงอกงามหลังจากครูตายไปแล้วก็ยังมีได้เหมือนกัน เพราะการงอกงามนั้น อาศัยจังหวะเวลา และความพอดิบพอดีสูงมาก

เมล็ดที่นอนแอ้งแม้งบนพื้นหินอ่อนราบเรียบ ดูๆแล้วไม่น่าจะมีทางเติบโต หยั่งรากไปที่ใดได้เลย แต่สักวันหนึ่งแม้แผ่นหินอ่อนอันแข็งแกร่งก็ยังเกิดร่องแยกแตกลึกขึ้นมาได้ อาศัยลม อาศัยฝน ฝุ่น อาหาร บางทีเราก็เคยเห็นเมล็ดงอกออกมาในที่ที่ไม่มีใครคิดว่าสามารถจะงอกได้

การมองเห็น "ความเป็นไปได้แม้เพียงน้อยนิด" นี่เอง ที่ทำให้ครูสามารถประกอบอาชีพครูต่อๆไปได้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะได้ลูกศิษย์แบบไหนก็ตาม

เคยมีวาทะหนึ่งว่า "I have learnt while you least expect it" เป็นคำกล่าวของนักเรียนคนหนึ่งกับครู บอกว่านักเรียนน่ะ จะเรียนรู้อะไรๆ ตอนที่ครูมักจะคาดคิดไม่ถึง หรือ คาดถึงน้อยที่สุดเสมอ บางทีแม้แต่เด้กที่เราคิดว่าไม่น่าจะฟังเราอยู่ อาจจะเป็นคนที่เรียนจากเรามากที่สุดก็ได้

เมื่อคิดได้แบบนี้ งานหว่านเมล็ด โปรยปุ๋ย พรมน้ำ พรวนดิน เตรียมลม เตรียมอากาศ แม้แต่เปิดเพลงให้ต้นไม้ ให้เมล็ดออ่นฟัง ก็ดูน่าภิรมย์ขึ้นเป็นกอง

การหว่านเมล็ด โดยที่เราทราบแก่ใจว่าเราเองก็อาจจะไม่ได้มีชีวิตอยู่มองเห็นมันงอกงาม แต่หว่านไปเพราะมีศรัทธาว่ามันคงจะงอกงาม แม้เพียงสักต้น แม้จะแคระแกร็น ก็เป็นงานที่สร้างสรรค์อะไรบางอย่างแก่โลกใบนี้ จึงสามารถเป็นศูนย์พลัง เป็นฐานพลัง เป็น The Source ให้แก่ครูทุกคน

เมื่อถึงตอนนี้ เกิดอารมณ์น้อมรำลึกกราบขอบพระคุณ บูชาครูทุกคนที่เคยมีโอกาสสอนสั่งกันมา ด้วยกรรมและบุญที่เราได้เคยทำร่วมกันไว้ สิ่งเดียวที่ศิษย์คนนี้จักตอบแทนครูทุกคนได้ ก็คือขอปวารณาว่าจะสอนไปเรื่อยๆ แก่คนไม่จำกัด อย่างที่ครู และบรมครูเคยทำให้แก่ศิษย์ ตลอดไปเทอญ 

สำหรับใครที่อาจจะยังไม่เคยชม video clip (Powerpoint) นี้ ลองไปชมดูนะครับ

BEYOND DESCRIPTION

 

หมายเลขบันทึก: 126156เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2007 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อาจารย์ค่ะ อ่านบันทึกยิ่งทำให้คิดถึงครูที่เคยสอน ดิฉันมาเป็นครู ด้วยเพราะความซาบซึ้งในความรัก ความเอื้ออาทรที่ได้รับจากครูเสมอมา ด้วยความรักเคารพ ด้วยความระลึกถึงพระคุณของครู ดิฉันคิดเสมอจะทำหน้าที่ความเป็นครูอย่างสุดหัวใจ... 

ขอบพระคุณอาจารย์อย่างที่สุด ดิฉันขออนุญาตร่วมน้อมรำลึกกราบขอบพระคุณบูชาครูด้วยนะค่ะ

ลองชม clip นี้นะครับ คุณครูทั้งหลาย

Beyond Description

สวัสดีครับ นกไฟ

 

ข้อความต่อไปนี้ผม (หมออภิชาต) ฝากเขาพิมพ์ให้อีกที ถ้าต้องนั่งพิมพ์เองสงสัยคงจะต้องใช้เวลา เป็นวัน เขียนแล้วฝากให้เขาพิมพ์ไวกว่า

 

ผมติดตามอ่านจิตปัญญาเวชศึกษา : บัณฑิตแพทย์ที่มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ หลังจากที่เข้าวงน้ำชามา อ่านแม่มด พ่อมด หมอผี พออ่านจิตปัญญาเวชศึกษาของนกไฟแล้ว เกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะสอนเรื่อง คุณธรรมให้กับนักศึกษาแพทย์มากขึ้น เดิมมีความคิดจะสอนอยู่บ้างในขณะที่ นศพ. ปี 5 และ 6 ผ่านกลุ่มงานกุมารเวชกรรม แต่ถ้าต้องสอนทุกรุ่นคงจะทำได้ยาก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเวลาที่สอน พยายามจะนำความรู้จากสุนทรียสนทนาไปสอน นศพ. แต่พอมาอ่านบทความของนกไฟแล้วความคิดเปลี่ยนไป คราวนี้อยากสอน นศพ. ทั้งชั้นปี แต่เริ่มที่ปี 5 ก่อนโครงการอบรมคุณธรรมและจริยธรรมทางการแพทย์ ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบกลุ่ม เกิดจากญาณทัศนะที่ผุดพรายขึ้นมาเอง พอมีความคิดเข้ามาก็เริ่มเขียนโครงการ ติดต่อกลุ่มงานต่าง ๆ ขอให้ งดการเรียนการสอน 1 วัน จะทำโครงการวันศุกร์และเสาร์ พอ นศพ.ปี 5 สอบเสร็จวันพฤหัสบดีจะได้มีอิสระมากพอเข้าโครงการอบรม เขียนโครงการเสร็จเสนอศูนย์แพทยศาสตร์ ขอใช้งบสำหรับจัดการอบรมโครงการผ่านไปได้ด้วยดี เดิมศูนย์แพทย์ ฯ เอง ยังกังวลว่าหน่วยที่ฝึกปฏิบัติ นศพ. ปี 5 จะไม่ยอมปล่อย นศพ. มาเข้า โครงการ พอโครงการอนุมัติโดยผู้อำนวยการแล้ว ปรากฎว่าคราวนี้ถูกทดสอบจากสิ่งที่มองไม่เห็นทันที โครงการจะเริ่มศุกร์เช้าด้วยการฟังอย่างตั้งใจและไม่ตัดสิน ตอนบ่ายหลังจากผ่อนคลายแล้ว ให้ฟังบรรยายของนกไฟที่เคยมาบรรยายให้ในการประชุมวิชาการที่ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ เมื่อ 20 มิถุนายน 2550 หัวข้อ การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หลังจากดูวีซีดีจบแล้ว มีการพูดผ่านกระบวนการกลุ่มเพื่อให้ นศพ. เข้าใจคำว่าจิตวิญญาณเพียงพอต่อการเข้าไปพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติ โดยตอนค่ำของวันศุกร์จะมาพูดคุยกันในประเด็น การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ตอนเช้าวันเสาร์จะตั้งวงคุยกันในประเด็นแพทย์ที่ดีเป็นอย่างไรในสายตา ผู้รับบริการใช้ Fish Bowl (นศพ. นั่งล้อมรอบพยาบาลและผู้ป่วย) โดยเชิญพยาบาลและผู้ป่วยของศูนย์แพทย์ชุมชน ที่ผ่านกระบวนการสุนทรียสนทนา มาสะท้อนประเด็นให้ นศพ. ได้ฟัง ภาคบ่ายของวันเสาร์หลังจากผ่อนคลายแล้วจะให้ นศพ. สรุปผลของ โครงการเพื่อปรับปรุงในปีต่อไปหรือจัดต่อให้ เมื่อพวกเขาเป็น นศพ. ปี 6 มีการแจกเอกสารเรื่องจริยธรรมแห่งวิชาชีพแพทย์ให้ นศพ. ไปอ่านเอง และเอกสารซึ่งเป็นข้อความพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งใช้เปิดประเด็นการคุยกันในวันเสาร์เช้า เช่นฉันไม่ต้องการให้พวกเธอเป็นเพียงหมอ เท่านั้น แต่ฉันต้องการให้พวกเธอมีความเป็นมนุษย์ด้วยถูกทดสอบโดยหลังจากโครงการผ่านไปได้โดยง่าย ติดต่อขอความร่วมมือใครก็สะดวกไปหมด แต่พอจะจัดอบรมเข้าจริง ๆ ห้องประชุมที่เคยใช้จัดอบรมสุนทรียสนทนาให้เจ้าหน้าที่ทุกวันศุกร์ เกิดมีความจำเป็นต้องใช้กับกิจกรรมอื่น ปรากฎว่า นศพ. ต้องย้ายห้องประชุม ทั้งเช้า บ่าย ค่ำ ของวันศุกร์ วันเสาร์เช้าจึงได้มาใช้ห้องประชุมที่คิดไว้ตั้งแต่แรก เรื่องห้องประชุมผ่านไป เดิมจะร่วมเป็นกระบวนกรตอนเช้ากับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เพราะนำ นศพ. ไปร่วมจัดกับเจ้าหน้าที่เลยคิดว่าจะไปช่วยเป็นกระบวนกรอีก 1 คน แต่หมอที่ออก OPD เกิด ติดธุระด่วนต้องให้ไปออก OPD แทน เลยอดเป็นกระบวนกรแต่ตอนบ่าย ตอนค่ำ ของวันศุกร์ เป็นกระบวนกรคนเดียวเลยเพราะคนอื่นไม่ว่าง ส่วนวันเสาร์เดิมไม่ทราบว่าลูกชายที่อยู่กรุงเทพมีกิจกรรมต้องให้ไปร่วมด้วย แต่เมื่อโครงการดำเนินไปจนครบขั้นตอนแล้วจะเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้ เลยต้องตัดใจไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมกับลูกชายที่กรุงเทพ กิจกรรมที่จัดให้ก็ไม่ได้วางแผนตายตัวมากนัก คิดว่าใช้ญาณทัศนะในเวลานั้นให้เป็นไปตามสถานการณ์ การจัดประชุมร่วมกันของผู้เป็นกระบวนกร จึงไปพูดคุยกันในเวลาทำกิจกรรม เป็นความรู้สึกที่แปลกไปอีกแบบที่เดิมไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน แต่คราวนี้รู้สึกวางใจในทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องและวางใจในสถานการณ์จึงไม่รู้สึกกังวลใด ๆ ผลการอบรม เสียงตอบรับจากนักศึกษาดีมาก เป็นการเปิดมุมมองทางการแพทย์ที่นักศึกษาไม่เคยสัมผัสมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องการฟังผู้อื่น การใส่ใจในการดูแลผู้อื่น การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม

 นศพ.ปี 5 ประเมินโครงการทั้งด้วยคำพูดและการเขียนในวันสุดท้ายที่ใช้เป็นประจักษ์พยาน ความดีของโครงการ นึกไปแล้วโครงการดี ๆ อย่างนี้เกิดได้เพราะมีแรงบันดาลใจจากบทความของนกไฟนี่เอง เนื่องจากลำพังงานที่ทำกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็มีมากพออยู่แล้ว แต่พออ่านบทความที่เกี่ยวกับ นศพ. จึงอยากทำโครงการนี้ และที่ลืมเสียมิได้คงต้องเป็นผู้ร่วมวงสนทนาแพทย์ที่ดีเป็นอย่างไรในสายตาผู้รับบริการมาร่วมงานกันด้วยใจเชื้อเชิญมาร่วมเป็นจิตอาสาช่วยกันนำพาคุณธรรม และจริยธรรมทางการแพทย์ผ่านกระบวนการกลุ่ม ผู้ป่วยเล่าทั้งความประทับใจและไม่ประทับใจการบริการของแพทย์ พยาบาลบางคนที่มาร่วมงานได้เปิดใจเล่า ประสบการณ์ การเป็นผู้รับบริการ เล่าไปน้ำตาไหลไป เล่นเอา นศพ. ประทับใจกันไปหลายคนและคงจดจำไปอีกนาน

มีคำพูดและข้อเขียนดี ๆ จาก นศพ. หลายคนแต่ขอนำมาเป็นตัวอย่าง 3 สักคน ที่อ่านแล้วรู้สึกเขียนเป็นร้อยแก้วได้ดี ส่วนคนอื่น ๆ จะเขียนเป็นข้อ ๆ ตามความคุ้นเคยของการเขียนรายงานหรือนำเสนอข้อมูลของนศพ.

 

สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ครั้งนี้

 เป็นวิธีการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งที่ต่างออกไปจากเดิม มีคุณลักษณะผ่อนคลาย สบาย ช้า และเยือกเย็น เป็นการเรียนรู้ในระบบกลุ่มได้แลกเปลี่ยนความคิดได้ฝึกการฟัง , ฝึกการพูด , และฝึกความคิด

หัวข้อจริยธรรมทางการแพทย์ ถูกยกขึ้นมากล่าวถึงมากขึ้น เนื่องด้วยสภาพสังคมที่คาดหวังกับอาชีพแพทย์ไว้สูง หากมีความผิดพลาดย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจของผู้รับบริการได้มาก การได้เรียนรู้ เพื่อรับทราบและหาวิธีแก้ไขปัญหาบางประการ เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับนึกศึกษาแพทย์

 

การเรียนรู้จากตำรา หรือ การสอนในห้องเรียนอาจไม่เพียงพอสำหรับหัวข้อจริยธรรมทางการแพทย์ การได้เรียนรู้แบบกลุ่มกับผู้รับบริการ ผู้ร่วมงานในสหวิชาชีพและตัวของแพทย์เอง ย่อมเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่จะได้เรียนรู้

 

สิ่งที่ได้รับจากประสบการณ์เข้าค่ายใน 2 วันนี้

 

เริ่มต้นนับตั้งแต่ที่ได้มาเรียนหมอ ก่อนที่จะเข้ามาเรียนหมอนั้นก็ใฝ่ฝันมากว่าวันนึงจะเป็นหมอ เพื่อให้พ่อแม่ได้ภูมิใจ ได้มีอาชีพที่ฐานะมั่นคง ได้ช่วยเหลือได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม เป็นภาพในฝันที่สวยหรูแต่เมื่อเวลาผ่านไป ได้เข้ามาเรียนรู้ ได้สัมผัส จึงเข้าใจว่าอาชีพหมอนั้นไม่ง่าย ไม่ได้สวยหรูเหมือนที่เคยเข้าใจตอนเป็นเด็ก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียนที่หนักมาก ๆ ทุกอย่างบีบบังคับให้เราต้องรับผิดชอบ รวมถึงต้องแข่งกัน มากมาย ไม่เฉพาะแค่ 6 ปีนี้ เมื่อจบออกไปอยากไปเรียนต่อเฉพาะทางก็ต้องแข่งขัน ตบตีแย่งชิง รวมถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลาทุกคนตั้งความหวัง ฝากความหวังไว้ที่หมอ บางครั้งเราทำดีที่สุดแล้ว ยังอาจได้รับเรื่องร้องเรียนการฟ้องร้อง ทำให้เริ่มคิดว่า ทำไมคนดีจึงไม่ได้ดี เจตนาเราดีต้องการช่วยเหลือคนไข้ แต่เมื่อผิดพลาดไปบ้าง (ซึ่งสาเหตุบางอย่างเราไม่สามารถควบคุมได้) กลับได้รับการตอบสนองแบบนี้ผ่านมาถึงวันนี้ เรียนหมอมา 5 ปี จากความคิดที่สวยหรูเมื่อตอนเด็ก ๆ ได้ถูกทำลายไปหมดสิ้นแล้วยอมรับว่าเคยคิดจะ ลาออกไปหลายต่อหลายครั้ง ท้อแท้ ไม่อยากเรียนต่อ คิดว่าอาชีพนี้ไม่เหมาะสมกับเราจริง ๆ ร้องไห้ โทษตัวเอง โทษฟ้า ที่ลิขิตให้เราต้องมาเรียนหมอ

 

จนเมื่อได้มีโครงการนี้ได้กล่าวถึงเรื่องของหมอที่ลาออกกันมากมาย และวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้หมอได้ภาคภูมิใจในวิชาชีพของตัวเอง , รักในงานที่ตัวเองทำ รู้สึกว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ อาจทำให้เราเปลี่ยนความคิดก็ได้ เริ่มต้นวันแรกด้วยการสอนเรื่องการรับฟังอย่างตั้งใจและไม่ตัดสิน ถือเป็นการเริ่มได้ดีมาก ให้ลองเปลี่ยนจากที่มักพูดและเวลาฟังจะเอาแต่ตัดสินผู้อื่นก็ได้ลองรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่รับรู้มุมมองของคนอื่นบ้าง ที่ประทับใจมากที่สุดของโครงการนี้ คือ วันที่ 2 ที่ได้รับฟังเรื่องเล่าประสบการณ์จากทั้งผู้ให้และ ผู้รับบริการ ได้กระตุ้นเตือนว่าอาชีพเรานั้นมีหน้าที่รับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ เป็นอาชีพที่ได้ทำบุญอยู่ทุกวัน ถ้าเรา ดูแลคนไข้ของเราให้ดี ด้วยความเมตตายอมรับว่ามุมมองนี้ทำให้มีกำลังใจสู้ต่อกับอาชีพนี้ รวมถึงเรื่องของการปฏิบัติธรรม ซึ่งเมื่อก่อนจะสวดมนต์ นั่งสมาธิทุกวัน (วันละ 1 ชั่วโมง) แต่ในช่วง 2 – 3 ปีมานี้ ด้วยเวลาที่ไม่ค่อยมี ต้องรับผิดชอบหลาย ๆ อย่าง ก็ทำให้ไม่ได้ปฏิบัติอย่างที่เคยทำ ตั้งใจว่า เมื่อจบจากค่ายนี้ไปจะกลับไป ฝึกสมาธิเพราะที่วิทยากรให้ลองนั่ง รู้สึกได้เลยว่าจิตใจเรายังฟุ้งซ่านมาก ๆ อยากกลับไปเป็นคนเก่าแบบเดิมอยากให้ค่ายนี้มีการจัดให้นั่งสมาธิ , ปฏิบัติธรรม อย่างเป็นเรื่องเป็นราวค่ะ

 

สิ่งที่ได้จากการมาอยู่ค่ายจริยธรรม

 

ได้มานั่งทบทวนใช้เวลากับตัวเอง มาทำความรู้จักตัวเอง วันแต่ละวันที่เปลี่ยนไปมีแต่ความเร่งรีบ และจำเจ แต่เมื่อได้เข้ามาสัมผัสค่าย พบว่า กิจกรรมแรกที่ได้ทำ คือการทำสมาธิ ช่วงแรกมันเป็นช่วงที่ทำยากเพราะเหมือนเราจับเอาจิตที่ไม่นิ่ง ไม่สงบ มาทำให้สงบ เป็นความรู้สึกที่ดี และได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันระหว่างเพื่อนฝูง และบุคคลที่ไม่คุ้นเคย ทำให้เราได้ประสบการณ์และสิ่งดี ๆ ที่คิดว่าสามารถ นำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตตนเองได้ ที่สำคัญได้รู้ว่าการที่เราเป็นผู้ฟัง ที่ไม่ได้ตัดสิน ความพูดความอื่น หรือสอดแทรกผู้อื่น ทำให้เราได้รู้แนวคิดของคน ๆ หนึ่ง แล้วทำให้เราสามารถระงับตัวเองให้ไม่คั่น หรือแทรกผู้อื่น

 

พอตอนเย็นได้ไปสัมผัสคนไข้จริง ๆ เราก็ได้ไปซักประวัติตรวจร่างกาย และได้มาร่วมอภิปรายกัน บาง case ทำให้เรารู้ว่าถ้าเราแก้ตัวโรคได้แต่เราไม่เยียวยาหัวใจ คนไข้ก็ยังไม่หายจากการเป็นโรค หรือคนไข้บางคนเพียงต้องการกำลังใจเท่านั้น

 

วันนี้เป็นวันที่สอง เป็นวันสุดท้ายของการเข้าค่ายแล้วสิ เราได้มารับฟัง คุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา เล่าประสบการณ์และอุดมคติเกี่ยวกับอาชีพหมอ เป็นการมองตัวเองในมุมกลับซึ่งทุกคนย่อมอยากได้การบริการที่ดี ต้องการการสื่อสารที่ดี ต้องการการเอาใจใส่จากแพทย์ผู้ตรวจ ซึ่งอาจต้องมีข้อจำกัดบางอย่าง ทำให้แพทย์ในปัจจุบันมองข้ามปัญหานี้ไป วันนี้พอมาได้ยิน คุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา พูดมันทำให้เราเห็นความสำคัญ ว่าคนบางคนไม่ได้ต้องการเพียงยากลับไปกินเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการความอ่อนโยนและความเอาใจใส่ อาจจะเป็นคำพูด หรือการสัมผัสก็ตามแต่

 

การเล่าประสบการณ์ทำให้ทราบว่า

 

คนเรามอง หมอ ว่าเป็นที่พึ่ง ยังไม่ละทิ้งความเชื่อเดิม ๆ ที่ว่า การที่มาหาหมอทุกคน ภาวะการเจ็บป่วยคนไข้จะต้องหาย

 

หมอเหมือนเป็นความหวังของประชาชนชาวไทย

 “Commend ค่ายเป็นกิจกรรมที่น่าจัดเพราะทำให้เราได้ทราบมุมมองของคนที่เป็นผู้รับบริการ ที่มองการกระทำของคนที่ให้บริการ ประโยชน์ก็ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้คนแต่ละคน เพราะมันเป็นศิลปจัดให้ น้อง ๆ ต่อนะค่ะ 

สวัสดีครับ อภิชาต

ไม่ทราบจะบรรยายอย่างไร เห็นบทความที่อภิชาตเขียนมา มันปิติมากครับ

ขณะที่เราทราบว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจฺจํ แต่เมื่อได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่งดงาม เราก็จะอดมิได้ที่จะขอหยุด มอง สังเกต และซึมซับสิ่งที่บังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อหน้าให้มากที่สุด เก็บเอาไว้ในห้องความทรงจำที่มีค่า มีความหมายที่สุดของเรา เพื่อที่จะได้นำออกมาใช้ในอนาคต ยามจำเป็น หรือเมื่อต้องการ recharge battery ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ไม่ว่าสถานการณ์ในสังคมจะมีตัวอย่างไม่ดีมาเพียงไร ทุกครั้งที่เราได้มีโอกาสเห็นดอกไม้ผลิดอก บานใหม่ และบริสุทธิ์สดใส มันสามารถทำใหเราลืมอะไรๆที่ไม่ดีไปได้อย่างชะงัดนัก

คงไม่ใช่เพราะบทความของผมหรอกครับ เป็นเพราะสิ่งที่อภิชาตตั้งใจทำ และเป็นเพราะเด็กๆของอภิชาตเอง ที่ไม่ได้มาอยู่ด้วยกันด้วยความบังเอิญ แต่เป็นการออกแบบที่เหมาะสมแล้ว ที่ทั้งคนหล่อเลี้ยงและต้นไม้ จะมาอยู่ในสังฆะอันงดงาม สร้างสรรค์เรื่องราวเล่าสู่อันทรงพลัง เพียงพอที่จะหยิบยืมไปใช้ได้อีกนานเท่านาน

ขอบพระคุณ และอนุโมทนาจากใจครับ

P

Phoenix

อาจารย์หมอไม่ได้ขยายความว่า อาชีพหมอกับอาชีพครูคล้ายคลึงกันในแง่ Positivism อย่างไร ?

ตามที่่พอผ่านมาบ้าง ศัพท์นี้ทางปรัชญาบัญญัติว่า ปฏิฐานนิยม .....

อาตมาเข้ามาอ่านเพราะศัพท์ว่า Positivism จึงใคร่ให้อาจารย์หมอขยายความอีกนิด...

 

เจริญพร 

นมัสการหลวงพี่ชัยวุธครับ

ผมมิได้ตั้งใจจะใช้คำนี้ในความหมายเชิงปรัชญา หรือลัทธิ positivism (a philosophical system founded by Auguste Comte, concerned with positive facts and phenomena, and excluding speculation upon ultimate causes or origins.) แต่ตั้งใจจะหมายถึงแค่ the state or quality of being positive; definiteness; assurance. เท่านี่เงอ หรืออีกนัยหนึ่ง positive thinking

หมอกับครูเหมือนกันในแง่ ครูจะมองนักเรียนตรงหน้าด้วยสายตาศรัทธาในความสามารถเรียนได้ รู้ได้ พัฒนาได้ เสมอ ไม่ว่าจะยากเพียงไร ในขณะที่หมอก็จะมองคนไข้ตรงหน้า ว่าจะมีโอกาสที่จะเยียวยาได้เสมอ ไม่ทางกาย ก็ใจ สังคม ก็จิตวิญญาณ พลัง positive thinking นี้จะหล่อเลี้ยงให้ทั้งครูและหมอสามารถร่วมเดินทางไปกับนักเรียนแลคนไข้จนถึงที่สุด

ขอรับ

ผมได้ดู power point รู้สึกในใจว่าอาจารย์คนแรกๆ ที่เป็นคนจุดประกายให้ผมเดินมาในทางนี้คือใคร และนึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง ผมมีอาจารย์ที่อยู่ในใจ 2 ท่าน

ตอนผมเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ที่รามา ในเวลานั้น (ประมาณ 9 ปีก่อน) ผมไม่รู้สึกว่าเวชศาสตร์ครอบครัวดีจากอาจารย์ที่รามา แต่ผมมีข้อมูลว่าเป็นศาสตร์ที่ดี ถ้าทำได้จริงจะทำให้คนที่เรียนเป็นแพทย์ที่เก่งและดีในเวลาเดียวกัน ผมจึงมุ่งหน้าขึ้นทางเหนือสู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เคยได้ยินว่าเป็นที่แรกที่สอนเวชศาสตร์ครอบครัว ผมเจออาจารย์บุญส่ง เป็นอาจารย์ที่สอนผมแบบเห็นภาพ อาจารย์พาผมลงสลัมในเชียงใหม่ในวันเสาร์ ในขณะที่เดินไป คนในสลัมทักอาจารย์ตลอดทาง และมีคนกลุ่มหนึ่งกำลังมีการประชุมเรื่องในหมู่บ้านแล้วชวนอาจารย์เข้าร่วมแต่อาจารย์บอกว่าไม่เป็นไร (อาจารย์บอกผมที่ไม่ร่วมวงเพราะ ความเห็นเราอาจจะไปทำให้เขาไม่กล้าแสดงออกมาเพราะเขาเชื่อถือเรา)

อาจารย์บอกผมหนึ่งคำที่จำจนถึงวันนี้ "ถ้าโรจน์อยากประสบความสำเร็จในงาน ต้องรู้จักยกความดีให้คนอื่น ใครขอความช่วยเหลืออย่าปฏิเสธ แล้วผมเชื่อว่าคนเขาจะเห็นเองว่าเราเป็นเช่นไร"

การเป็นครูของอาจารย์ในวันนั้นทำให้ผมมุ่งจะเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา อาจารย์สอนจิตวิญญาณอย่างแท้จริง

อาจารย์สุมาลีแห่งศิริราชเป็นอาจารย์ที่ผมประทับใจมาก ถึงผมจะรู้จักอาจารย์ระยะสั้นๆที่การอบรมระยะสั้นเรื่อง counseling ผมปรึกษาอาจารย์เรื่องการทำโครงการกัลยามิตรที่แม่สอด อาจารย์ตอบ e-mail ผมตลอดทุกครั้งที่ผมมีคำถามถึงอาจารย์จะเป็นอาจารย์อาวุโสแต่สอนผมอย่างมาก อาจารย์รับฟังสิ่งที่นักเรียนพูดอย่างลึกซึ้ง ผมเห็นความเป็นครูในตัวอาจารย์ ความเป็นครูเร่งเร้าความอยากรู้อยากเรียนของผมอย่างมาก

ผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้มีอาจารย์ที่เป็นครูมากๆ ผมรู้สึกว่า การเลือกใครเป็นอาจารย์ซักคนก็สำคัญ มิใช่ต้องเก่งที่สุด แต่เป็นคนที่ถ่ายทอดความดีได้จากตัวอาจารย์มายังศิษย์ได้ อาจารย์ส่วนใหญ่เป็นเช่นไรศิษย์ส่วนใหญ่คือภาพสะท้อนของสถาบันนั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท