สัพเพเหระ (แต่ไม่ไร้สาระ) ของเครือข่ายฯลำปาง


ทำงานอยู่บนพื้นฐานการสั่งๆๆๆอย่างเดียวคงไม่ได้ การร่วมมือกันทำงานคงจะดีกว่า เพราะ win-win ทั้งหมด
           ช่วงนี้เปิดโทรทัศน์ไปช่องไหนก็เห็นแต่การเสนอข่าวนายกฯทักษิณลงพื้นที่แก้ไขปัญหาความยากจนที่ อ.อาจสามารถ  จ.ร้อยเอ็ด  ผู้ประกาศข่าวก็วิจารณ์กันไปต่างๆนานา  ได้สาระบ้าง  ไม่ได้สาระบ้าง  ก็ว่ากันไป  เช้าวันนี้เห็นมีข่าวว่าผู้ว่าราชการหลายจังหวัด  เช่น  นครสวรรค์  นราธิวาส  ปิ๊งไอเดียนี้  ก็เลยจะเอาไปทำในพื้นที่ของตนเองบ้าง  แต่ก็มีคนวิจารณ์ว่า  นายกฯน่ะทำได้  เพราะ  ถ้าสั่งการไปแล้วกระทรวงไหนไม่สนองนโยบาย (คำสั่ง) รับรองมีปัญหาแน่  แต่ผู้ว่าฯ นั้นมีอำนาจจำกัด  จะสั่งข้ามกระทรวงก็ไม่ได้  ดังนั้น  การทำงานต้องมีติดขัดไม่เหมือนกับที่นายกฯทำแน่นอน  ก็แล้วแต่จะคิด  จะวิจารณ์กันไป  แต่สำหรับผู้วิจัยแล้วเห็นว่าทำดีกว่าไม่ทำ  และทางออกของการแก้ปัญหานั้นมีมากมาย  จริงอยู่ผู้ว่าฯไม่สามารถสั่งการข้ามกระทรวงได้  แต่ผู้ว่าฯสามารถขอความร่วมมือได้  ถ้าเราทำงานอยู่บนพื้นฐานว่าเราจะสั่งๆๆๆอย่างเดียวคงไม่ได้  การร่วมมือกันทำงานคงจะดีกว่า  เพราะ win-win ทั้งหมด  เหมือนกับที่ท่านอาจารย์สันทัดได้บอกว่าเวลาทำงานต้อง “ทำให้คนอื่นได้หน้า  ทำให้เราได้งาน”
            มาเข้าเรื่องของเราดีกว่า  วันนี้ยังเป็นอีก 1 วันที่ผู้วิจัยยังคงอยู่ที่กรุงเทพฯ  เพราะ  สัปดาห์นี้ที่มหาวิทยาลัย (ศูนย์ลำปาง) หยุดให้ 1 สัปดาห์เต็มๆ  เพื่อให้นักศึกษาลงมาเตรียมงานและเข้าร่วมงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี  โดยในปีนี้มีงานในวันเสาร์ที่ 21 มกราคม  2549  ผู้วิจัยในฐานะบุคลากรของมหาวิทยาลัยคนหนึ่งก็เลยขอมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ด้วย  โดยในปีนี้รับอาสาว่าจะมาดูแลและเป็นกำลังใจให้กับนักศึกษาที่มาเตรียมงาน  ความจริงอยากอยู่จนงานจบ  แต่ก็ทำอย่างนั้นไม่ได้  เนื่องจาก  วันที่ 22 มกราคม  2549  เป็นวันประชุมเครือข่ายฯ  ดังนั้น  อย่างช้าที่สุดวันที่ 21 มกราคม  2549  ต้องอยู่ที่ลำปาง  เพื่อเตรียมงานประจำสัญจรแล้ว 
            แม้ตัวเองจะไม่ได้อยู่ที่ลำปาง (ในขณะนี้)  แต่ก็ไม่ได้ทิ้งงานนะคะ  ก็อย่างที่บอกหลายครั้งแล้วว่าตอนนี้งาน KM เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว  แม้จะไม่ได้พบชาวบ้าน  ไม่ได้พบคณะกรรมการ  แต่เราก็ทำงานทุกวัน  อย่างน้อยที่สุดก็ต้องนั่งคิดว่าวันนี้จะทำอะไร  พรุ่งนี้จะทำอะไร  อย่างในวันนี้ก็เช่นกัน  ตั้งใจเอาไว้ (หลายวันแล้ว) ว่าจะเริ่ม list ออกมาว่าในวันประชุมเครือข่ายฯ ต้องมีการหารืออะไรบ้าง
            พอถึงเวลาจริงๆ  ยังไม่ทันได้ list อะไรเลย  (นอนยังไม่ตื่นด้วยซ้ำค่ะ) ก็ได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์ดิเรก (ผู้เขียนโปรแกรมให้กับทางเครือข่ายฯ) อาจารย์ท่านโทรมาทักทายธรรมดาหลังจากที่ไม่ได้คุยกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว  จากการพูดคุยกับอาจารย์ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อยู่หลายอย่างเหมือนกันค่ะ 
            ประเด็นแรก  อาจารย์บอกว่า (ไม่แน่) กลางปีนี้อาจารย์อาจได้รับทุนจากแหล่งทุนแห่งหนึ่ง (ขอไม่เปิดเผยชื่อนะคะ) ในการที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาโปรแกรมการจัดเก็บข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชน  ซึ่งอาจารย์บอกว่าถ้าได้จริงๆ  จะมาช่วยพัฒนาโปรแกรมให้กับกลุ่มบ้านดอนไชย (เถิน) ให้ดีและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น  (ความจริงแล้วตอนนี้โปรแกรมก็ใช้ได้ในระดับหนึ่งแล้ว  แต่ก็ต้องมีการพัฒนาขึ้นไปอีก) ผู้วิจัยก็เลยฝากอาจารย์ไว้ว่ายังไงก็อย่าลืมกลุ่มอื่นๆของเครือข่ายฯ  นะคะ
            ส่วนประเด็นที่สอง  อาจารย์สะท้อนให้เห็นปัญหาของการที่เครือข่ายฯ ไม่มีระบบการบำรุงรักษาทั้งฮาร์ดแวร์และซอร์ฟแวร์ว่าต่อไปจะมีปัญหาแน่นอน  เช่น  โดนไวรัส  ข้อมูลหาย  ฯลฯ  ซึ่งในประเด็นนี้ผู้วิจัยมองเห็นแล้ว (แต่ไม่ค่อยแน่ใจ  เพราะ  ไม่มีความรู้เลยในเรื่องคอมพิวเตอร์) พอได้รับการยืนยัน (โดยบังเอิญ) จากอาจารย์ดิเรก  ทำให้ผู้วิจัยต้องคิดต่อไปว่าจะนำเรื่องนี้เสนอให้ทางเครือข่ายฯรับรู้และเกิดความตระหนักในเรื่องนี้ได้อย่างไร  (คงต้องอาศัยวาทศิลป์ในการนำเสนอพอสมควร  ไม่อย่างนั้นกลัวว่าแต่ละกลุ่มจะตื่นตระหนกไปกันใหญ่)
            อีกประเด็นหนึ่ง  คือ  อาจารย์ดิเรกบอกว่าไม่เกินกลางปีนี้จะออกหนังสือเกี่ยวกับโปรแกรมสวัสดิการชุมชน  (ที่พัฒนาขึ้นมาให้กับเครือข่ายฯ) ออกมาวางจำหน่ายในท้องตลาด  พร้อมกับจะให้ชุมชน/หน่วยงานต่างๆ  Download  ฟรีด้วย  (แต่อาจมีเงื่อนไข  เช่น  จำกัดการเผยแพร่ไม่เกิน 1,000 ชุด)
            ก่อนที่จะจบการสนทนาอาจารย์ดิเรกได้บอกกับผู้วิจัยว่าถ้าต้องการให้ช่วยเหลืออะไรก็โทรศัพท์มาพูดคุยกันได้  และยินดีที่จะพัฒนาโปรแกรมในระดับกลุ่มและระดับเครือข่ายฯให้
            คิวต่อไปของการสนทนา  คือ  ผู้วิจัย กับ คุณอุทัย  ซึ่งเป็นรองประธานเครือข่ายฯ  และเป็นประธานฯกลุ่มแม่ทะ-ป่าตันด้วย  โดยหัวข้อของการสนทนานั้นเน้นในเรื่องการเตรียมตัวและการข้อมูลที่จะนำเสนอในการประชุมเครือข่ายฯประจำเดือนมกราคม  ซึ่งทางกลุ่มเป็นเจ้าภาพ  คุณอุทัยบอกว่าตอนนี้ก็เตรียมไปเรื่อยๆ  คงไม่มีปัญหาอะไร  เพราะ  มีการพูดคุยเรื่องนี้กันมาตลอด  เตรียมตัวต่อเนื่องพอสมควร  (ผู้วิจัยไม่กังวลเลยค่ะ  เพราะ  กลุ่มนี้ไม่เคยทำให้ผิดหวัง)  คุณอุทัยยังบอกอีกว่า  วันนี้ช่วงเย็นต้องไปที่บ้านคุณสามารถ  เพราะ  เมื่อเช้านี้ภรรยาคุณสามารถโทรมาบอกว่าขอให้มาประชุมกันตอนเย็น  แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นเรื่องอะไร  ก่อนจบผู้วิจัยได้บอกว่าตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่ลำปาง  แต่จะติดต่อประสานงานตลอด  ถ้าเป็นไปได้วันเสาร์นี้คงได้คุยกันที่ลำปางค่ะ
            ต่อจากคุณอุทัย  ผู้วิจัยได้คุยกับคุณสามารถ  (โทรไปรายงานตัวค่ะ  เดี๋ยวคุณสามารถจะคิดว่าถูกลักพาตัวไปแล้ว ฮิ! ฮิ!)  คุณสามารถบอกว่าวันนี้เรียกคณะทำงานที่ลงพื้นที่ (ตำบลละแสน) มารับค่าตอบแทน   นอกจากนี้แล้วคุณสามารถยังไขข้อข้องใจของผู้วิจัย (แบบที่ผู้วิจัยไม่ต้องถาม  แกเดาถูกเองว่าผู้วิจัยสงสัย) เกี่ยวกับสูตรในการทำงานที่จะสร้างคุณอำนวยและคุณกิจต่อไป
            คุณสามารถอธิบายว่า สูตร 3-6-26 (เคยบอกตอนนี้คุยกับคุณภีมและอาจารย์ตุ้มที่เชียงใหม่แล้ว) ประกอบด้วย
            3 คือ  คุณสามารถ  ผู้วิจัย  และอาจารย์พิมพ์  (อยู่ในฐานะคุณอำนวย และ นักวิจัยของเครือข่ายในขณะนี้)
            6  คือ  รองประธานฯเครือข่ายทั้ง 4 คน  ได้แก่  ลุงคมสัน  คุณอุทัย  ดาบไพศาล  อ.ชุติกานต์  และ เลขาฯเครือข่าย  ได้แก่  อ.สมพิศ  สุดท้าย  คือ  ผู้ประสานงานเครือข่าย  ได้แก่        ลุงบุญเทียม
            26 คือ  คณะกรรมการบริหารระดับเครือข่ายฯ  (ส่วนผู้ตรวจสอบอีกประมาณ 12 คน ค่อยวางแผนกันอีกที)
            ในการทำงานจะเป็นการส่งต่อและถ่ายทอดความรู้  ทักษะ  ความสามารถ  เจตคติ  ลงไปเป็นทอดๆ  จาก 3 คน  ไปสู่ 6 คน  จากนั้น 6 คน ก็ถ่ายทอดไปสู่ 26 คน  ซึ่ง 26 คนจะจะไปถ่ายทอดและปฎิบัติภายในกลุ่มของตนเอง (26 คนนี้มาจากตัวแทนทุกกลุ่ม)
            เมื่อคุณสามารถให้ข้อมูลและความรู้กับผู้วิจัยแล้ว  ก็ถึงคิวผู้วิจัยจะทำหน้าที่ที่เป็นสาระและเป็นประโยชน์บ้าง  โดยผู้วิจัยได้ list เรื่องที่จะนำเข้าที่ประชุมให้คุณสามารถฟัง (ไม่รู้ว่าครบหรือเปล่า  เอาที่จำได้และที่จดเอาไว้ก็แล้วกันนะคะ)  ประกอบด้วย
            1.ความคืบหน้าในการติดต่อประสานงานเรื่องที่ทำการเครือข่ายฯ  ผู้รายงาน  คือ        คุณสามารถ  ลุงบุญเทียม  และผู้วิจัย (เพราะ รับอาสาว่าจะช่วยกันประสานงาน)
            2.ความคืบหน้าในการติดต่อประสานงานเรื่องบิล  ผู้รายงาน  คือ  พี่วรรณี
            3.หารือเรื่องการจัดการกลุ่มพระบาทวังตวง ที่แยกออกไปจากกลุ่มแม่พริก
            4.หารือเรื่องแนวทางในการช่วยเหลือกลุ่มบ้านหลุก (ซึ่งมีปัญหาในเรื่องการทำบัญชี)
            5.หารือเรื่องดาบไพศาล (เรื่องบทบาทและการทำงาน)
            6.การติดตามข้อมูลของสมาชิกแต่ละกลุ่ม  เพื่อส่งข้อมูลให้ป้าอรพินทร์เป็นผู้รวบรวม
            7.โครงการนำคณะกรรมการไปเข้าคอร์สด้านจิตใจ ไปนั่งสมาธิ  (ไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อว่าอะไรค่ะ)
            8.แนวทางในการดำเนินงาน KM อีก 6 เดือน
            9.โครงการ มสช.
            10.เวทีการนำเสนอของกลุ่มแม่ทะ-ป่าตัน
            ดูเหมือนว่าจะมีเรื่องมากมาย  คิดว่าคงมีอีกแน่นอนค่ะ  แต่ถ้าเราวางแผนกันดีๆ  คงมีเวลาพอและไม่มีปัญหาอะไรค่ะ 
 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12602เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2006 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เตรียมต้นทางละเอียดอย่างนี้ จบการประชุมเครือข่ายก็ทำAARได้ชัดเจนซีครับ

สูตร 3-6-26 ที่ตั้งไว้อาจปรับเปลี่ยนได้ให้เหมาะสมตามเงื่อนไขที่มี(และอาจเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย)นะคะ ทีมงานอาจลองคิดเพิ่มเติมเรื่องแผน/กลไกการส่งต่อและถ่ายทอด ได้ผลอย่างไร มาเล่าสู่กันฟัง เป็นความรู้ที่น่าติดตามมากค่ะ

เมื่อนักวิจัยตั้งโจทย์ได้ ตีโจทย์แตก มีเป้าหมายงานชัด วางกรอบงานชัด กำหนดบทบาทคนทำงานชัด เน้นกิจกรรมที่มุ่งตรงสู่เป้าหมายและมีการคลี่เนื้องานที่ต้องทำโดยละเอียด อีกทั้งมีการติดต่อสื่อสารกันในทีม/เครือข่ายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอแบบนี้ งานเครือข่ายลำปางคงขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จทั้งรายทางและปลายทาง ที่สำคัญคือ คนทำงานก็มีความสุขตลอดเวลาระหว่างที่เคลื่อนงานไปโดยไม่ต้องรอให้เห็นผลตอนจบโครงการใช่ไหมคะ 

"ทางแห่งสุขนั้นไม่มี สุขนั้นหรือคือทาง"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท