ชีวิตที่พอเพียง : (360) สหภาพแรงงานเชิงสมานฉันท์


         เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 50 ผมได้รับรู้เรื่องสหภาพแรงงานของบริษัทหนึ่ง       รวมทั้งได้รับฟังท่าทีความรู้สึกของฝ่ายบริหารต่อผู้นำสหภาพ แล้วผมมีความรู้สึกแปลกๆ      ต้องกลับมาคิดต่อ    

         ผมคิดว่า สหภาพแรงงานเป็น “สิ่งประดิษฐ์ล้าสมัย” ของมนุษย์      เป็น โมเดล ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ตกยุค     เป็นวิธีคิดที่ไม่มนุษยนิยม     เป็นรูปแบบของยุคโรงงานอุตสาหกรรม    ใช้คนเป็นแรงงาน      เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักร     กดคนลงเป็นทาส   มองคนแยกออกเป็นชนชั้น     มีชนชั้นแรงงานที่ถูกกดขี่     อุตสาหกรรมทำกำไรส่วนหนึ่งจากการขูดรีดแรงงาน     แต่ในยุคหลังอุตสาหกรรม และยุคสังคมความรู้     เรามองคนแนวใหม่     ทุกคนเป็น “Knowledge Worker”     เราสร้างคุณค่าและมูลค่า จากความริเริ่มสร้างสรรค์ของมนุษย์    

         ผมนึกได้ว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ฟังเรื่อง “ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” จาก ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์     นี่คือเรื่องเดียวกัน     สหภาพแรงงานมีขึ้นเพื่อช่วยให้คนงาน (ผู้ใช้แรงงาน) สามารถต่อรองกับนายจ้างได้      ไม่ถูกกดขี่ หรือเอาเปรียบ       

        ผมจึงมองว่า องค์กรสมัยใหม่ต้องเลิกใช้แนวคิดเรื่อง “แรงงาน”      แต่ใช้ “ทุนปัญญา” แทน     มองจุดเน้นของสมาชิกองค์กร ว่ามาทำงานเพื่อใช้ปัญญา ร่วมกันสร้างสรรค์องค์กร      ต้องมีวิธี “พัฒนาบุคลากร” (Human Resource Development) ที่ทำให้สมาชิกทุกคนรู้สึกว่าตนเป็นคนที่มีเกียรติ     มีคุณค่าของความเป็นมนุษย์  ได้ใช้ศักยภาพของความเป็นมนุษย์ทำประโยชน์ให้แก่องค์กร แล้วตนเองก็ได้เป็น “somebody”     ได้ความภูมิใจ และได้เรียนรู้

         แนวคิดเรื่องแรงงานและ ระบบสหภาพแรงงาน ยึดวิธีการเชิง confrontation – reconciliation (เผชิญหน้า – หาข้อยุติ)     เน้นการแก้ปัญหา     เป็นวิธีคิดที่ไม่ดี ล้าสมัย

         ยุคใหม่ ยุคสังคมความรู้     เราต้องไม่ให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้น     ต้องไม่มีการกดคนลงเป็นทาสแรงงาน      ไม่มีการเอาเปรียบค่าตอบแทน      ต้องใช้ความเป็นมนุษย์ คือสมอง และความริเริ่มสร้างสรรค์     ส่วนที่เป็นงานใช้แรงและทำซ้ำๆ ยกให้เครื่องจักร    

         ผมมองว่า ประเทศไทยต้องยกเครื่องแนวคิดเรื่องสหภาพแรงงาน    หันไปใช้แนวคิด
   • HRD    ต้องใช้คนและพัฒนาคนในฐานะที่เป็นมนุษย์      กิจกรรมพัฒนาพนักงานของปูนซีเมนต์แก่งคอยเป็นตัวอย่าง best practice อย่างหนึ่งในเรื่องนี้
   • CSR  ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการไม่กดคนลงเป็นทาสแรงงาน     ไม่แบ่งแยกชนชั้น     และใช้กิจกรรม CSR ในการเปิดโอกาสให้พนักงาน ระดับปฏิบัติได้ทำกิจกรรมเทียมบ่าเทียมไหล่กับระดับบริหาร     และทำงานกับชุมชนหรือชาวบ้าน เพื่อสร้างความภาคภูมิใจร่วมกัน

         ประเทศไทยต้อง “ก้าวข้าม” ยุคแรงงาน

วิจารณ์ พานิช
28 ส.ค. 50

หมายเลขบันทึก: 125855เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2007 08:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท