เรื่องเล่าจากครูวิทย์ในดวงใจ กลุ่ม 2


เรื่องเล่ากลุ่ม 1 

             บันทึก ของ “คุณลิขิต” ในเวทีครูวิทย์ในดวงใจ เมื่อวันที่ 20-21 เมษายน 2550  ต่อจากบันทึกเมื่อวานนี้   

ประสบการณ์ที่ดีและความภาคภูมิใจในการเป็นครูวิทยาศาสตร์   กลุ่ม 2
คุณลิขิต (สรศักดิ์)
คุณอำนวย (อ.ยุทธนา)

อาจารย์ตันหยง  อิ่มมาก
โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์  จ.พระนครศรีอยุธยา

          อาจารย์ใช้วิธี “การเรียนรู้นำไปสู่โครงงาน” ซึ่งอาจารย์ได้ให้นักเรียนจับกลุ่มทำโครงงานในเนื้อหาที่อาจารย์จะสอนซึ่งการทำโครงการนั้นจะทำให้นักเรียนได้รับรู้กระบวนในการทำโครงงานที่จะต้องประกอบด้วย การระบุปัญหา การค้นคว้า การตั้งสมมติฐาน การทดลองและการสรุปผล และสิ่งที่สำคัญที่สุดของผลการทำโครงงาน คือ การที่เด็กมีส่วนร่วมในการทำงานด้วยเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กันภายในกลุ่มเด็ก ในห้องจะแบ่งงานกันทำใครมีความสามารถด้านใดก็จะช่วยเพื่อนทำในด้านนั้นถึงแม้จะเป็นงานเดี่ยวก็ตาม

อาจารย์มาลัย บึงสว่าง 
โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว จ.สมุทรปราการ

         อาจารย์เล่าเรื่องความภูมิใจที่สามารถทำให้นักเรียนที่ไม่สนใจเรียนวิชาทั้งด้านสังคมและด้านวิทยาศาสตร์มาสนุกและสนใจการเรียนวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานได้ โดยอาจารย์จะให้นักเรียนแต่ละคนทำสื่อการสอนขึ้นมาใช้เองโดยใช้วัสดุที่หาได้ในโรงเรียน อาจารย์จะคอยเป็นคุณอำนวยหาอุปกรณ์ที่ไม่สามารถหาได้ภายในโรงเรียนให้กับนักเรียน โดยครั้งแรกนักเรียนที่ไม่สนใจก็ยังไม่ทำ แต่อาจารย์ก็ไม่ท้อพยายามให้กำลังใจและกระตุ้นให้นักเรียนมีความพยายามทำจนสำเร็จ อีกทั้งเมื่อเสร็จแล้วอาจารย์จะสอนเนื้อหานั้นโดยมีสื่อการสอนที่นักเรียนเป็นผู้ทำขึ้นมาเอง ทำให้นักเรียนมีความสนใจที่จะเรียนรู้ในด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น

อาจารย์สุนันท์ แก้วมณี 
โรงเรียนวัดเขียนเขต  จ.ปทุมธานี

         “ให้นักเรียนนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ไปใช้อย่างเป็นธรรมชาติในชีวิตประจำวัน”  คือความภูมิใจของอาจารย์สุนันท์ ในการสอนด้านวิทยาศาสตร์ อาจารย์จะไม่สอนก่อนแต่อาจารย์จะใช้วิธีให้นักเรียนสร้างกระบวนการเรียนรู้ การค้นคว้าด้วยตัวเอง เช่น การปลูกข้าวโพดหรือทานตะวัน จะให้เด็กปลูกโดยที่ยังไม่สอนว่าจะปลูกอย่างไร ต้องใช้ดินแบบไหน แต่จะให้นักเรียนไปหาข้อมูลเองก่อนหากมีปัญหาติดขัดอาจารย์จะคอยช่วยแก้ร่วมกับนักเรียน เมื่อผลงานสำเร็จนักเรียนก็จะเกิดความภูมิใจ


อาจารย์พินพง  สัตยพันธ์ 
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

         โรงเรียนของอาจารย์ นักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเรียนดี เนื่องจากวันหยุดสุดสัปดาห์เด็กนักเรียนจะมาเรียนกวดวิชาที่กรุงเทพฯ ดังนั้น ความภูมิใจของอาจารย์ คือ การทำให้นักเรียนที่เรียนเก่งมาสนใจเรียนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียน โดยการสอนจะไม่เน้นเนื้อหาในตำราเรียนแต่จะให้มีการทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจเพราะได้นำสิ่งที่เรียนรู้จากหนังสือมาสู่การปฎิบัติจริง ส่วนนักเรียนที่ไม่ได้เรียนกวดวิชาอาจารย์ก็จะสอนเนื้อหาในช่วงตอนเย็นหลังเลิกเรียน

อาจารย์ทัศนาพร  กันพรหม 
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ  กรุงเทพมหานคร

         “การดึงศักยภาพผู้เรียนออกมาใช้ในการสอน” คือ ความภูมิใจของอาจารย์ที่ทำให้นักเรียนมาเป็นผู้สอน โดยก่อนที่จะเกิดรูปแบบนี้ อาจารย์จะทำการสำรวจนักเรียนแต่ละคนมีความสามารถในด้านใดและจะนำมาช่วยสอนได้อย่างไร เช่น ในเรื่องเสียง จะนำนักเรียนที่เล่นกีตาร์ได้มาแสดงให้เพื่อนดูและอาจารย์จะแทรกเนื้อหาวิชาการเข้าไปเช่นเสียงเกิดได้อย่างไร เล่นอย่างไรจึงทำให้เกิดเสียงที่แตกต่างกัน ผลที่ได้รับ คือ นักเรียนที่มาสอนจะเกิดความภูมิใจและเป็นแรงกระตุ้นให้นักเรียนฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองชอบเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น

อาจารย์สมนึก เวศวงศ์ษาทิพย์ 
โรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน  จ.ฉะเชิงเทรา

         “ชุมนุมรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” คือ ตัวอย่างผลสำเร็จของนักเรียนและโรงเรียนนี้ ในอดีตด้านหลังของโรงเรียนซึ่งเป็นป่าชายเลน ไม่ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาแต่อย่างใด จนเมื่อมีการจัดตั้งชุมนุมรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  อาจารย์จึงได้ดำเนินการจัดพื้นที่สภาพป่าชายเลนเป็นแหล่งศึกษานิเวศวิทยาป่าชายเลน ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมกับการอบรมนักเรียนในชุมนุมเพื่อให้ทำหน้าที่มัคคุเทศน์ เมื่อมีผู้เข้าเยี่ยมชมโครงการฯ ทำให้นักเรียนที่ทำหน้าที่นี้ได้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมเและสิ่งสำคัญ คือ การที่ทำให้เด็กช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในชุมชน

อาจารย์ธีรพล จิณแพทย์ 
โรงเรียนวิสุทธิรังษี  จ.กาญจนบุรี
         “ส้วมชาวแพ” คือ ตัวอย่างหนึ่งของโครงงานของนักเรียนที่ได้รับรางวัลระดับชาติโดยมีอาจารย์ธีรพลเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน สิ่งสำคัญ คือ เด็กที่ได้รับรางวัลไม่ได้เป็นเด็กที่เรียนเก่งเลยแต่เป็นเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ในด้านการประดิษฐ์คิดค้น อาจารย์จึงได้เน้นให้เด็กทำในเรื่องโครงงานมากขึ้นและค่อยๆสอดแทรกเนื้อหาวิชาการเข้าไป  โดยสาเหตุที่อาจารย์เน้นในเรื่องของการทำโครงการงานเนื่องจากนักเรียนของโรงเรียนเมื่อจบการศึกษาแล้ว จะเรียนต่อในสายอาชีพมากกว่าสายสามัญ ทางอาจารย์จึงได้เน้นการทำโครงงานเพื่อให้เกิดทักษะในการเรียนรู้

อาจารย์วันเพ็ญ  พูลหวัง 
โรงเรียนวัดป่าประดู่ จ.ระยอง

         “ใช้ชีวิตจริงของเด็ก มาสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์”  คือ สิ่งที่อาจารย์นำมาใช้ในการสอนและทำโครงงานวิทยาศาสตร์กับนักเรียน ตัวอย่างเช่น การกรีดยางของครอบครัวเด็กนักเรียนที่จะต้องใช้กรดซัลฟุริก ซึ่งมีผลเสียกับผู้ใช้ นักเรียนก็นำปัญหาดังกล่าวมาทำเป็นโครงงานเพื่อแก้ปัญหา นอกจากนี้อาจารย์ยังเน้นการทำกิจกรรม Science Show การสร้างของเล่นวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลสำเร็จของการสอนของอาจารย์ คือ การที่นักเรียนได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

อาจารย์ศศิธร  มงคลทอง
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี  จ.ลพบุรี

         “ความสำเร็จของโครงงาน คือ ความภูมิใจของครู”  คือ สิ่งที่อาจารย์ศศิธรได้กล่าวถึงพร้อมกับรายชื่อผลงานโครงการที่ได้รับรางวัลไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันจรวดขวดน้ำ เครื่องให้น้ำพืชอัตโนมัติ ซึ่งผลงานทั้งหมดเป็นความคิดของนักเรียนที่เป็นผู้คิดปัญหาและเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาจากการค้นคว้าหาข้อมูลเอง อาจารย์จะเป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษา และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการประสบความสำเร็จ คือ พ่อแม่ ที่เอาใจใส่เด็กและสนับสนุนในการทำโครงงาน 

อาจารย์ศุภชัย ฉิมสังข์ 
โรงเรียนมัธยมฐานบินกำแพงแสน  จ.นครปฐม

         “เล่าเรื่องสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มาสู่การสอนฟิสิกส์” คือ หลักความสำเร็จของการสอนวิชาฟิสิกส์ของอาจารย์ ที่จะใช้การเล่าเรื่องเพื่อที่จะเชื่อมโยงสู่เนื้อหาต่อไป เช่น เรื่องแรงโน้มถ่วง อาจารย์จะใช้ช้อนกับส้อมมาขัดด้วยกัน และวางบนปลายดินสอด้านที่เป็นยางลบ ก่อนจะอธิบายให้นักเรียนได้เข้าใจ การสอนแบบเล่าเรื่องนี้เพราะอาจารย์อยากให้นักเรียนได้เข้าใจว่าสิ่งต่างๆ คือวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายและหาคำตอบได้ 

วิจารณ์ พานิช
4 ก.ย. 50

หมายเลขบันทึก: 125468เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2007 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท