การจัดการเรียนการสอนที่ใช้วิธีคิดแบบหมวก 6 ใบ


เทคนิค “Six thinking hats” เพื่อช่วยจัดระเบียบการคิด

                      เนื่องจากในสังคมปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ทำให้คนเราต้องดิ้นต่อสู้กันทำให้ทุกคนล้วนมีปัญหาที่ต้องแก้ไข
หากเราไม่มีการจัดการระบบความคิด การตัดสินใจต่างๆอาจไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการจัดการความคิดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
และมีความจำเป็นต่อคนเราเป็นอย่างมาก
 ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน จึงได้ให้เทคนิค “Six thinking hats” เพื่อช่วยจัดระเบียบการคิด
ทำให้การคิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น และในปัจจุบันวิธีการดังกล่าวได้มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง โดยหมวกแต่ละใบเป็นการนำเสนอ
ทางเลือกที่เป็นไปได้ตามมุมมองต่างๆ ของปัญหา โดยวิธีการสวมหมวกทีละใบในแต่ละครั้ง เพื่อพลังของการคิดจะได้มุ่งเน้นไปในทิศทางใด
ทิศทางหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ความเห็นและความคิดสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นได้
และยังเป็นการดึงเอาศักยภาพของแต่ละคนมาใช้โดยที่ไม่รู้ตัว


แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้เอื้อต่อการพัฒนาการคิดมีหลายแบบ แต่ที่จะนำเสนอในบทความนี้ได้พัฒนาจากแนวคิดของ ดร. เอ็ดเวิร์ด เดอ โบ โน (Dr. Edward de Bono) เจ้าของความคิดแบบคู่ขนาน (parallel thinking) โดยยึดหลักที่ว่า อย่าเอาความเห็นที่ขัดแย้งมา
ปะทะกัน ให้วางเรียงขนานกันไว้แล้วประเมินผลได้เสียอย่างเป็นระบบ
          1. หมวกสีขาว หมายถึง ข้อมูลที่เป็นกลาง มีลักษณะเป็นปรนัย ถ้าสมาชิกสวมหมวกสีขาวจะ หมายถึง การขอร้องให้สมาชิกคนอื่นเงียบ ถ้าผู้สวมหมวกสีขาวถามผู้ใด ผู้นั้นต้องให้ข้อเท็จจริง ความรู้ หรือข้อมูลแก่สมาชิก
          2. หมวกสีแดง สีแดงแทนความรู้สึก อารมณ์ สัญชาตญาณ ความหยั่งรู้ ถ้าสวมหมวกสีแดง คือต้องการให้สมาชิกแสดงความรู้สึกของตนต่อเรื่องราวหรือปัญหานั้น ๆ เช่น ชอบ ไม่ชอบ ดี ไม่ดี กลัว ชื่นชม สงสัย
          3. หมวกสีดำ เป็นสีมืดครื้ม จึงแสดงความคิดทางลบ เหตุผลในการปฏิเสธ การคิดแบบหมวกสีดำช่วยป้องกันไม่ให้คิดหรือตัดสินใจอย่างง่าย ๆ การสวมหมวกสีดำคือความต้องการให้บอกข้อบกพร่อง ทำให้สามารถ มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ล่วงหน้า รวมทั้งช่วยตรวจสอบหาเหตุผล หาผลกระทบ หาความเหมาะสม และการ สำรวจความเป็นไปได้ เราจะไม่ใช้หมวกสีดำในกรณีที่ต้องการความคิดใหม่ ๆ
          4. หมวกสีเหลือง สีเหลืองเป็นสีที่สว่างไสว จึงแทนสิ่งที่ถูกต้องหรือ การให้กำลังใจ หมวกสีเหลืองจึง หมายถึงเหตุผลทางบวก การสร้างความมั่นใจ เหตุผลในการยอมรับหรือประโยชน์ การสวมหมวกสีเหลือง คือ ความต้องการข้อมูลด้านบวก จุดเด่น คุณค่า ประโยชน์ต่อส่วนรวม
          5. หมวกสีเขียว เปรียบสีเขียวกับธรรมชาติ คือ ความเจริญเติบโต ความคิดใหม่ หมวกสีเขียวคือ การหลีกความคิดเก่า ๆ มุมมองเก่า ๆ ไปสู่ความคิดใหม่ มุมมองใหม่ ๆ เป็นการเปลี่ยนแปลง เป็นการสร้างสรรค์ทุกชนิด ทุกประเภท
          6. หมวกสีฟ้า เปรียบสีฟ้าเหมือนท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง หมวกสีฟ้า จึง หมายถึงการควบคุมและจัดระเบียบกระบวนการและขั้นตอนการใช้หมวกสีอื่น ๆ นั่นเอง รวมทั้ง การควบคุมบทบาทการทำงานของสมาชิกในกลุ่มและกระบวนการทำงาน ตลอดจนการประสานความคิดต่าง ๆ ให้สอดคล้องต้องกัน ผู้สวมหมวกสีฟ้าจะทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมกระบวนการคิดของกลุ่ม ฉะนั้นหมวกสีฟ้าก็คือโครงสร้างของกระบวนการคิดนั่นเอง
          แนวคิดของ "หมวกความคิด 6 ใบ" สามารถนำมาดัดแปลงใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ทุกระดับ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ครูอาจใช้สื่อคือหมวก 6 ใบ ที่เป็นรูปธรรม คือ มีหมวกตามสีต่าง ๆ ที่กำหนดเป็นสื่อการสอน แต่ถ้าเป็นการสอนในระดับอุดมศึกษา ครูไม่จำเป็นต้องใช้หมวกจริง เพียงแต่ทำความเข้าใจแนวคิดและความหมายของหมวกแต่ละ สีว่าเป็นการกำหนดให้นักศึกษาอภิปรายหัวข้อเรื่องหรือประเด็นนั้นในแนวคิดใดก็เพียงพอแล้ว เพราะเมื่อนักศึกษาได้รับการฝึกฝนให้ใช้ระบบ การคิดแบบคู่ขนานบ่อย ๆ ในที่สุดเขาจะสามารถเชื่อมโยงสี ของหมวกกับแนวคิดที่เขาจะอภิปรายได้อย่างคล่องแคล่ว 
            มีผู้นำแนวคิดแบบ "หมวกความคิด 6 ใบ" ไปใช้ในการสอนนักเรียนระดับประถม 3 ศึกษาเรื่องการอ่านข่าว โดยให้นักเรียนอ่านข่าวแล้วเขียนแสดงความคิดหรือร่วมกันอภิปราย โดยใช้หมวก 6 ใบ เป็นรูปแบบการแสดงความคิดเห็น
            มีผู้ทดลองนำ "หมวกความคิด 6 ใบ" ไปใช้ในการสอนการเขียนในขั้นการรวบรวม ข้อมูล เพื่อให้ผู้เรียนมีความคิดและแนวทางในการเขียน แต่เดิมเรามักใช้วิธีการระดมความคิด (brainstorming) แต่บางครั้งผู้เรียนก็ยังอับจนถ้อยคำที่จะร่วมคิด ร่วมพูด เมื่อทดลองนำวิธีการนี้ไปใช้ปรากฏ ว่าผู้เรียนคิดได้หลากหลายและคิดเป็นประโยค หรือข้อความ เพราะมีแนวทางในการคิดชัดเจนขึ้น และ มีระบบการคิดไปทีละลำดับ ทำให้ได้ข้อมูลมากพอที่จะนำมาจัดหมวดหมู่ ซึ่งแน่นอนหมวกแต่ละสี ได้จัดหมวดหมู่ของข้อมูลไว้อย่างคร่าว ๆ แล้ว ฉะนั้นจึงทำให้ผู้เรียนสามารถจัดหมวดหมู่ได้ง่าย

ครูอาจแนะนำนักเรียนให้ตั้งข้อสังเกตว่า พวกเขากำลังใช้เวลามากเกินกับการโต้เถียงในจุดใดจุดหนึ่งหรือไม่ หรือจนขณะนี้นักเรียนอภิปรายกันถึง แต่ทางเลือกเดียว นักเรียนควรพิจารณากันถึงทางเลือกอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ เป็นต้น

การคิดเป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาได้ การใช้ชีวิตแบบสวมหมวกคิด 6 ใบ จะช่วยให้ผู้คิดสามารถคิดอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนในการคิดอย่างสร้างสรรค์ และสามารถแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย และรวดเร็วมากขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #การคิด
หมายเลขบันทึก: 125365เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2007 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท