ความยากจน (๕) กับการเสพติด


คนในชนบท มีค่าใช้จ่ายเป็นค่ามือถือ ทั้งค่าเครื่องและบริการถึง ๘๐% ของกระแสเงินสดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
  

เมื่อคืนวันที่ ๓ ต่อเช้าวันที่ ๔ กันยายน ผมได้คุยกับคุณเม้งทาง MSN เรื่องความยากจนของเกษตรกรในภาคใต้ ทั้งๆที่มีการทำสวนยางพาราที่ทำรายได้ดีกันมานานเป็นชั่วชีวิตคน แม้เกษตรกรหรือคนที่ไม่มีที่ทำกิน ที่ไม่มีสวนยางก็ยังสามารถรับจ้างกรีดน้ำยางไปขายได้เช่นกัน

  รายได้น่าจะดี แต่ก็ยังจนอยู่   

หลังจากคุยกันสักพัก ก็ได้ข้อสรุปสำคัญจากประสบการณ์ว่า

การพนันเป็นรูรั่วที่สำคัญเมื่อชาวบ้านเริ่มมีเงิน

มีเงินมากก็เล่นพนันมาก

บางทีก็เป็นสารเสพติด เช่น เหล้า บุหรี่   

นอกจากนี้ ก็ยังพัฒนาชีวิตแบบพึ่งพาภายนอก โดยเฉพาะอาหารธรรมชาติต่างๆ ลดลงจนทำให้ค่าครองชีพในครอบครัวสูง จนเงินรายได้แม้จะค่อนข้างสูง ก็ยังไม่พอค่าใช้จ่าย  

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ก็มาสรุปตรงที่

การ เสพติด ที่ทำให้เปลี่ยนแปลงวิถีที่ทำให้ชีวิตดีกว่าเดิมไม่ได้  

ปัญหาเช่นนี้ก็พบอยู่มากทางภาคอีสาน ในความพยายามของเครือข่ายปราชญ์ ที่กำลังพยายามพัฒนาคนจากการเริ่มพัฒนาความคิด 

แก้ไขความคิดให้เลิก เสพติด สิ่งที่ทำให้ยากจน 

 

ทั้งสิ่งที่อ้างว่าเป็นสิ่งจำเป็นในกลุ่มปัจจัย ๔ และสิ่งที่ไม่ใช่ปัจจัย ๔ ที่อ้างว่าจำเป็นในการดำรงชีวิต  

นอกจากนี้ ยังมีการเสพติดที่เป็น นิสัยและ ความเคยชิน

ที่เมื่อเปลี่ยนอาจทำให้อึดอัด เพราะ ไม่ชิน  ทั้งตัวเอง และบุคคลรอบข้าง  

สิ่งที่เห็นชัดที่สุดก็ได้แก่ การใช้โทรศัพท์มือถือ

ที่ปัจจุบันนี้ แทบทุกคนจะมีอย่างน้อย ๑ เครื่อง และครัวเรือนหนึ่งจะมีอย่างน้อย ๑ เครื่อง ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายมีสัดส่วนสูงอย่างไม่น่าเชื่อ

ผมเคยได้รับทราบมาว่า   คนในชนบท มีค่าใช้จ่ายเป็นค่ามือถือ ทั้งค่าเครื่องและบริการถึง ๘๐%  ของกระแสเงินสดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน 

  นี่ก็เป็นสิ่งเสพติดที่น่ากลัวอย่างหนึ่ง เพราะดูเหมือนว่า จะไม่มีใครพยายามที่จะหยุด มีแต่ส่งเสริมให้เกิด   

ทั้งเพื่อนฝูง พ่อแม่ ผู้ปกครอง ลูกน้อง และเจ้านาย ที่จะบีบล้อมให้ทุกคนต้องมีและใช้มือถือ ในระบบปกติของชีวิต

ใครไม่มีจะถูกบ่น ต่อว่า ว่าติดต่อไม่ได้ ไม่น่าทำงานด้วย

จนผมแทบจะไม่เห็นใครมีแรงต้านมากพอที่จะไม่ใช้มือถือ

จนกลายเป็นสิ่งเสพติด ในระดับสังคมไปแล้ว  

เมื่อผมกลับมาพิจารณา ว่า การเสพติด

  • มันคืออะไรกัน
  • มีกี่ระดับ
  • กี่ประเภท

แล้วเราจะหนีพ้นวงจรนี้ได้อย่างไร 

 ผมไม่ประหลาดใจเลยว่าคนที่พยายามจะเลิกสิ่งเสพติดจะเลิกไม่ได้ หรือ เลิกได้ยากถ้าบุคคลนั้นยังอยู่ในปัจจัยแวดล้อมเดิม  

น้าของผมคนหนึ่งกว่าจะเลิกการพนันได้ก็ต้องย้ายไปอยู่กรุงเทพ ในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่มีสิ่งเร้าด้านนี้ 

แต่บางคนแม้ย้ายไปต่างประเทศก็ยังไปติดการพนันในต่างประเทศอีกนั่นแหละ 

 แสดงว่าการพนันน่าจะเป็นสิ่งเสพติดในเชิง กลุ่ม นอกเหนือไปจากเชิง นิสัย ที่บางคนมีทั้งสองแบบในคนเดียวกัน

แต่บางคนพอขาดกลุ่มก็จะเลิกได้  

ผมเคยดื่มเหล้าทุกวัน วันละแก้วสองแก้ว จนเกือบจะเป็นนิสัย แต่ต่อมาสักพักก็เบื่อ เหลือแต่ดื่มเวลามีงานเลี้ยง แต่ต่อมาก็เบื่ออีก เพราะจะรู้สึกไม่ค่อยสบายตัวในวันรุ่งขึ้น   

ตอนนี้แม้มีงานเลี้ยงผมก็พยายามไม่ดื่ม นอกจากปฏิเสธไม่ได้จริงๆ หรือ จะดื่มก็เฉพาะเมื่ออยู่ในภาวะที่

การดื่ม เป็นสัญลักษณ์ของการ ฉลอง เท่านั้น  

ปัจจุบัน ผมจึงถือว่า ผมไม่ติดเหล้า  

ผมเคยติดบุหรี่แบบต้องถือชอล์คแบบคีบบุหรี่เมื่ออยู่หน้าห้องสอน ตอนนั้นผมต้องสูบเพื่อที่จะไปทำงานในป่า คือสูบกันยุง  

พอเลิกทำงานแบบนั้นผมก็สูบแบบไม่ติด

คือสูบก็ได้ไม่สูบก็ได้แต่ระยะต่อมาผมรู้สึกรำคาญที่เหม็นมือ เหม็นปาก และคนข้างๆ ก็บ่น ผมก็เลยเลิกเกือบเด็ดขาด จะสูบก็ตอนไปเป็นเพื่อนกับเพื่อนที่สูบบุหรี่

ตอนหลังเมื่อเพื่อนเลิกสูบ ผมก็เลยไม่จำเป็นต้องสูบอีกต่อไป 

 แสดงว่า บุหรี่เป็นการเสพติดทางนิสัย และทางสังคม  

การติดน่าจะเป็นอารมณ์ ไม่น่าจะเป็นเหตุผลเขาว่าผู้ชายใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ แต่ผู้ชายก็ติดเหล้าและบุหรี่มาก

ผมเลยไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ผมจำได้ว่า

ผมพูดว่า อยากจะเลิกก็เลิก แบบเดียวกับการใส่แว่น ตอนนี้ผมก็เลิกใส่แล้ว หลังจากเป็นบ้าใส่มากว่า ๓๐ ปี  

ผมเคยใส่แว่นตาเพราะคนบอกผมว่า ถ้าไม่ใส่แว่นจะมองอะไรไม่ชัด

โฆษณา ก็ว่าอย่างนั้น ผมก็เลยทำตาม แต่ผมจะใส่เฉพาะตอนไปทำงานกับขับรถ อยู่บ้านไม่ใส่ 

แต่ระยะหลังๆ ผมรำคาญที่ต้องพกแว่น ก็เลยฝึกอ่านหนังสือเฉพาะที่อ่านออก ในจอคอมก็ทำตัวโตโต ในที่สลัวก็จะพยายามไม่อ่าน และผมจะพกเลนส์ขยายไว้อ่านกรณีจำเป็น

ทำอย่างนี้ประมาณ ๒ เดือน ก็ปรับตัวเลิกใส่แว่นได้  

ผมจึงสรุปว่า การติดแว่นเป็นความคาดหวังที่เกินขีดความสามารถของสายตาผมเอง ไปเพ่งในสิ่งที่ไม่ควรเพ่ง ก็เลยต้องพกพาแว่นเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวมานานกว่า ๓๐ ปี

และตอนนี้ผมก็เลิกได้แล้ว  

คนคิดว่าผมสายตาเปลี่ยนก็เลยเลิกใส่ ไม่ใช่หรอก แค่ไม่หวังอะไรมากกว่าที่เราทำได้ ก็เลิกได้แล้ว

มองไม่เห็นก็ไม่ต้องมอง จำเป็นจริงๆ ก็หยิบมาใส่บ้าง ก็เท่านั้น ไม่ใส่ประจำ 

 

ไปวัดสายตาก็เท่าสมัยที่เริ่มใส่ แต่ยาวนิดหน่อย ไม่เห็นเดือดร้อนอะไร ผมใส่แว่นตามความคิดของคนอื่นมากกว่า 

โดยสรุปแล้วการเสพติด ที่ทำให้เราต้องใช้จ่ายเพิ่มนั้น  

มีทั้งทางกายภาพ เคมี ชีวภาพ สังคม เศรษฐกิจ หมดเลยนะครับ  

แต่การจะเลิกน่าจะอยู่ที่ ใจและความคิด  

และการพัฒนาความคิด น่าจะมาจาก ความรู้สึกตัว  

ความรู้สึกตัวน่าจะมาจาก ความรู้ ความเข้าใจ และความ ตั้งใจ แบบปฏิสัมพันธ์ย้อนกลับไปมาสักสิบตลบ  

นี่คือประสบการณ์ตรงของตัวผมครับ ที่สามารถหนีจากสิ่งเสพติดทั้งหลายได้บางส่วน ไม่ว่าจะเป็น

 
  • เหล้า
  • บุหรี่
  • กาแฟ
  • ชา
  • ผงชูรส
  • ฯลฯ

 แม้กระทั่งการใส่แว่นผมก็เลิกได้

ตอนนี้ยังใช้มือถือ (และชอบอ้างว่า เท่าที่จำเป็น) อยู่เลยครับ

ใครรู้วิธีเลิก บอกเป็นบุญด้วยครับ 

 

ผมจะได้จนน้อยลงอีกหน่อย (หรือรวยขึ้นอีกนิดก็แล้วแต่จะมอง ครับ)
หมายเลขบันทึก: 125349เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2007 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ผมลองจดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโทรศัพท์ไว้ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา คิดว่าสถิติอาจใช้ประโยชน์ได้บ้างในที่นี้ครับ
  • ครอบครัว 4 คน ใช้โทรศัพท์แบบไม่มาก  (2 เครื่องเป็นแบบเติมเงินไว้รับอย่างเดียว ให้ญาติผู้ใหญ่ใช้ อีก 2 เครื่องใช้ติดตัว + โทรศัพท์ประจำบ้าน)
  • เดือนละเฉลี่ย 1800 บาท
  • มือถือ...ทำให้คนรอบคอบน้อยลงจริง ๆ ค่ะ
  • มือถือ...ทำให้คนไม่รู้จักการเตรียมการไว้ล่วงหน้า
ขอบคุณมากครับ ผมว่าคนคิดเรื่องมือถือ นี่ฉลาดล้ำลึกจริงๆ ตอนนี้คนติดกันงอมแงม ในครอบครัวของผม โดยรวมใช้ประมาณ ๓-๔ พันบาทต่อเดือน แต่ผมก็ใช้ในงานมาก รวมทั้งต่อ internet ด้วยครับ

สวัสดีครับอาจารย์

     คนกรีดยางในภาคใต้ มีรายได้ดี แต่ไม่รวย เพราะติดสิ่งเสพติดแบบที่คุณเมงว่าครับ

     สิ่งเสพติดที่สำคัญ ติดกันทั้งผู้ชายและผู้หญิง ก็คือ การพนัน เอาให้ชัดๆคือ หวย

     กินเหล้า เมายา แถวบ้านผมไม่ค่อยมีเท่าไหร่

     สมัยผมเด็กๆ เคยเห็นคนกินเหล้า เดินเมาโซเซ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็น แสดงว่าคนสมัยนี้รู้จักบันยะบันยังในการกินเหล้า เหล้านี่ถ้ากินจนเมาแล้วก็กินเข้าไปไม่ได้อีก เมาก็หยุดกิน

     แต่สิ่งเสพติดอย่าง หวย เล่นกันได้เล่นกันดี ตอนนี้ก็เหลือเดือนละ 2 ครั้ง

     อาจารย์พูดถึงความฉลาดของคนเอามือถือมาใช้ในประเทศไทย แต่อีกคนหนึ่งที่ฉลาดล้ำลึกไม่น้อยกว่ากัน คือ คนที่พูดว่า ผมทำของขาย ของที่ผมทำขายนั้น แม้กระทั่งคนที่โง่ที่สุด ก็ยังซื้อของของผมเป็น

ขอบคุณครับที่มาสนับสนุน และให้ข้อมูลเพิ่มเติม ผมกำลังไล่ประเด็นสาเหตุอยู่ครับ นึกอะไรออก็ว่าไปเรื่อยๆครับ
  • ขอเพิ่มเติมข้อมูลครับ
  • ไปอ่านเจอคุณเบิร์ด จาก beautifulmemories พูดถึง บะหมี่..ของชอบของคนไทย ? และพาดพิงถึงข้อมูลดิบ ผลการสำรวจของ ม.หอการค้าไทยกับสภาพัฒน์ ฯ ที่ระบุว่าคนไทยปี ' 50... 

"กว่า 12.7 ล้านคนทั้งประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 1,003 บาทต่อเดือน แต่มีรายจ่าย 1,525 บาท"

  • อย่างกรณีของผม ใช้มือถือในระดับไม่มาก หากใช้เกณฑ์ที่วัยรุ่นเมืองยุคใหม่มาประเมิน อาจมองว่า "ไม่มาก" แต่ก็มากกว่ารายได้ทั้งครัวเรือนของประชากรสิบกว่าล้านคนเสียอีก
  • พอจะนึกภาพออกแล้วครับ ว่าปัญหาหนักหนาขนาดไหน..

ขอบคุณครับอาจารย์

ผมคิดว่าข้อมูลแบบนี้ต้องนำมาตืแผ่ระดับชาติครับ

และ ไม่ควรเก็บไว้เฉพาะตัวครับ

 

แต่ถ้าอาย ไม่ต้องบอกชื่อก็ได้ครับ

แต่ข้อมูลด้านนี้สำคัญมากต่อการวางแผนพัฒนาประเทศครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท