อีกหนึ่ง tacit knowledge ที่ถูกแปลงเป็น explicit knowledge ของคนฮีมาโต


คู่มือที่แสดงถึงความชำนาญ ประสบการณ์ สามารถนำไปใช้เป็นผลงานเพื่อขอกำหนดตำแหน่งชำนาญการได้อีกด้วย
     บันทึกนี้เป็นเรื่องเล่า ที่มีดาราจำเป็นอยู่ 2 คน คือ พี่เม่ย กับ น้องกระปุกคนสวย(สมาชิกคนหนึ่งของชาวฮีมาโต) เรื่องมีอยู่ว่า น้องกระปุก รับผิดชอบทำการทดสอบ "DCIP precipitation test" ซึ่งเป็นการตรวจกรองเพื่อค้นหาพาหะของฮีโมโกลบินผิดปกติชนิดอี (Hb E) วิธีทดสอบก็ใส่เลือดผู้ป่วยปริมาตร 20 ไมโครลิตรลงในหลอดน้ำยา  นำไปอุ่นและเมื่อครบเวลาก็นำมาอ่านผลว่าเป็นบวก หรือลบ การอ่านผลบวกต้องเห็นตะกอนสีน้ำตาลแดงแขวนลอยอยู่ในส่วนผสมสีแดง ซึ่งเป็นสีของน้ำเลือด  (ถ้ามีโอกาสจะนำภาพมาใส่ไว้ตรงนี้ด้วยค่ะ)
ปัญหาที่พบบ่อยก็คือถ้าเลือดผู้ป่วยซีด (มีส่วนของเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ) สีน้ำเลือดก็จะจาง ทำให้เห็นปฏิกิริยาไม่ชัดเจน  ในคู่มือที่แนบมากับน้ำยาก็จะบอกไว้ว่าให้เติมเลือดลงไปอีก เล็กน้อย กระปุกของเราก็ทำตามคู่มืออย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด
   วันหนึ่งพี่เม่ยได้มีโอกาสเข้าไปดูตอนที่กระปุกกำลังอ่านผลปฏิกิริยาการทดสอบนี้พอดี  และต่อไปนี้คือบทสนทนาระหว่างพี่เม่ยกับน้องกระปุก......
พี่เม่ย : กระปุกทำอย่างไงเนี่ย สีน้ำเลือดเท่ากันทุกรายเลย ไม่เห็นมีจางบ้างเข้มบ้าง
กระปุก: หนูก็ กะ เอาค่ะ ถ้าเห็นรายไหนดู ซีดๆ ก็เติมเลือดลงไปให้มากขึ้นอีกหน่อย
พี่เม่ย : แล้วกะได้ยังไง ใช้สายตาดูเท่านั้นเหรอ
กระปุก : ใช่ค่ะ  ซีดมากก็เติมเลือดมาก  ซีดน้อยก็เติมเลือดน้อย
พี่เม่ย : (คิด.. นี่มันความรู้จากประสบการณ์ชัดๆ.. ทำไงให้คนอื่นรู้ได้ด้วยหนอ?.)อ้าว! แล้วทำไมถึงไม่ วัดค่าออกมาได้ไหมว่า ซีดเท่าไร
กระปุก : (ขมวดคิ้ว คิดเล็กน้อยแล้วตอบ) น่าจะได้ค่ะ ก็วัดเป็นค่า ฮีมาโตคริต (ร้อยละของปริมาตรเม็ดเลือดแดงอัดแน่น)
พี่เม่ย : แล้วเติมเลือดไปเท่าไร วัดได้ไหม
กระปุก : ก็น่าจะได้ค่ะ ก็ใช้ autopipette เป็นตัววัดปริมาตรเลือดที่ต้องเติมลงไป
พี่เม่ย : อย่างนี้ก็ให้บันทึกค่าฮีมาโตคริต ของเลือดผู้ป่วยทุกราย พร้อมกับปริมาตรเลือดที่เติมลงไป นำมาสรุปเป็นตารางความสัมพันธ์ แล้วเขียนเป็นวิธีปฏิบัติให้ชัดเจน เผื่อมีคนอื่นมาฝึกงาน หรือต้องฝากงานคนอื่น เขาจะได้ทำได้อย่างที่กระปุกทำด้วย ...นะ..(เสียงเข้มๆ)
กระปุก : ค่ะ (ในใจอาจจะคิดว่า..ทำไมพี่เม่ยไม่มาทำเอง xx? พี่เม่ยก็รีบคิดตอบในใจว่า ก็ฉันไม่มีประสบการณ์เหมือนเธอนี่ยะ!)
     และแล้ว พี่เม่ยก็พยายามแปลง tacit knowledge ของกระปุก ให้ออกมาเป็น explicit knowledge ได้เรื่องหนึ่งแล้ว ด้วย "สุนทรียสนทนา" ในระหว่างการปฏิบัติงาน  ตอนนี้ก็แนะนำให้กระปุกเขียนเป็นตารางว่า ซีดเท่าไร เติมเลือดเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร เขียนบรรจุลงในคู่มือการทดสอบโดยละเอียดอีกด้วย ซึ่งคู่มือนี้ก็จะแสดงถึงความชำนาญ ประสบการณ์ ซึ่งผู้เขียนสามารถนำไปใช้เป็นผลงานเพื่อขอกำหนดตำแหน่งชำนาญการได้อีกด้วย
.......
หมายเลขบันทึก: 12508เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2006 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบจังที่พี่เม่ยสามารถโยงสายใยของการงานให้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตนเองได้เรื่อยๆในลักษณะของรูปธรรม ทำให้คนหน้างานรู้สึกว่าเค้าได้อะไรจากการทำงานแบบใช้สมองไปด้วยตลอดเวลา แม้ในงานที่แสนจะเป็น routine ขอปรบมือให้ค่ะ (เชียร์กันเองไปไหมเนี่ย)

ขอปรบมือให้ด้วยคน ก่อนไปขอถามสักนิดว่ามีเคล็ดลับอย่างไร ถึงมองภาพหน้างานออกว่า ควรจะปรับปรุงตรงนั้น ควรจะปรับปรุงตรงนี้ ทั้งๆที่งานที่อยู่ตรงหน้านี่ เราทำมาทั้งปีทั้งชาติ ก็รู้สึกเฉยๆ ถ้ามันไม่ลำบากจนเหลือบ่ากว่าแรง ก็จะไม่รู้สึกว่าต้องปรับปรุงอะไร มันเหมือนกับการใช้ spinal cord ทำงานไปแล้ว สงสัยคงต้องเริ่มปรับปรุงตัวเองบ้างจากอย่างแรกเลย คือ ต้องแคะเอาขี้เลื่อยออกจากหัวก่อนมั้ง
ทำตัวให้เป็นคนขี้สงสัยอยู่เสมอ และคิดหาคำตอบ (ด้วยวิธีใดก็ได้ที่อยากจะทำ) พร้อมกับท่องสูตรสำเร็จนี้ไว้ด้วยค่ะ
เอ๊ะ?....อืมมมมมมม์.....อ๋อ!
ส่วนเรื่องที่คุณ"ไมโต.."จะแคะขี้เลื่อยออกจากสมองนั้น ที่บ้านมีกบไสไม้ไฟฟ้าอยู่เครื่องหนึ่ง สนใจยืมใช้งานไหมคะ?
สนใจนะ ว่าแต่ว่าจะส่งมาให้ถึงญี่ปุ่นหรือเปล่า  ถามต่ออีกหน่อย ว่าเมื่อทำตัวให้เป็นคนขี้สงสัยแล้ว คนที่อยู่บ้านเดียวกันจะหูยาวเพิ่มขึ้นหรือเปล่า (อาจจะเป็น site effect ของการขี้สงสัย)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท