บันทึกความดี


หลวงพ่อจรัญให้ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่านนำไปปฏิบัติให้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเราอย่างมากครับ

   ผมห่างเหินจาก Blog ไป 3 วัน (13-15 มกราคม 49) เมื่อวานนั่งพิมพ์บันทึกใน Blog อยู่พอพิมพ์เสร็จจะตีพิมพ์ก็เกิด error ขึ้นมา วันนี้จึงมานั่งพิมพ์ใหม่ เห็นสมาชิกใน NUKM เพิ่มขึ้นมาเพรียบ คงเนื่องมาจากหน่วยประกันคุณภาพจัดโครงการอบรมการใช้ Blog ทางคณะสหเวชศาสตร์ มีดร.สุรพล ผู้ช่วยคณบดีฯ ไปเข้าร่วมอบรม ได้เห็น Blog ของอาจารย์แล้ว แต่ที่น่ายินดีคือ Blog ของเจ้าหน้าที่หน่วยประกันคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ทำงานอยู่เบื้องหลังกันมาโดยตลอด

   Blog นี้ขอว่างเว้นจากการเขียนพัฒนาคุณภาพของสำนักงาน มาในการพัฒนาตนเองบ้าง ความจริงการพัฒนาอะไรก็ตามแต่ ลำดับแรกควรเริ่มจากตนเองก่อน โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพจิต จึงมีคำกล่าวที่ผมคุ้ยเคยคือ "พัฒนาอะไรก็ติด ถ้าจิตไม่พัฒนา" ช่วงเวลาที่ห่างเหินจาก Blog ได้ไปเข้าร่วมโครงการธรรมะสัญจร ที่วัดอัมพวันจ.สิงห์บุรี เพื่อชาร์ตแบตเตอรี่ให้กับตัวเอง ตัดจากเรื่องภายนอกและหันมามองตัวเอง โครงการนี้คุณสุภาพร หัวหน้างานวินัยและพัฒนานิสิต กองกิจการนิสิต เป็นเจ้าภาพในการจัดและนำผู้เข้าร่วมโครงการทั้งจากคณาจารย์ นิสิต และบุคลากรไปเข้าร่วมโครงการ ผมดูรายชื่อของจำนวนนิสิตแล้ว เป็นนิสิตจากคณะนิติศาสตร์ทั้งหมด มีอาจารย์จากคณะพยาบาลฯ จำชื่อจริงไม่ได้ทราบแต่ชื่อเล่นคือ อาจารย์ต้อย ปกติไม่ได้พูดคุยกับอาจารย์ แต่พอได้ไปเข้าร่วมโครงการแล้วก็ทำให้คุ้ยเคยกันเป็นอย่างดี สำหรับอาจารย์ของคณะสหเวชศาสตร์ อาจารย์สุวรรณา ส่งรายชื่อไปเข้าร่วม แต่พอมาถึงวันที่จะเดินทางไป อาจารย์แจ้งว่าบุญไม่ถึง เนื่องจากติดภารกิจ จึงไม่ได้ไปร่วมปฏิบัติธรรมด้วย

    วันแรกของการปฏิบัติธรรม (13 มกราคม 49) ทางคณะจากม.นเรศวรไปถึงที่วัดอัมพวันเวลาประมาณใกล้ ๆ เที่ยง  สำหรับการปฏิบัติธรรมในครั้งนี้มีคณะจากสำนักงานอัยการสูงสุดมาร่วมปฏิบัติธรรมกันโดยไม่ได้นัดหมายกับม.นเรศวรด้วยประมาณ 100 กว่าคน รวมจากม.นเรศวรแล้วประมาณ 160 คน คงได้มีโอกาสทำบุญกุศลร่วมกันมาแต่ปางก่อน ครั้งนี้จึงมีโอกาสได้มาปฏิบัติธรรม  ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ส่วนใหญ่เรียนมาทางกฎหมายทั้งสิ้น ทางคณะจากสำนักงานอัยการสูงสุด หัวหน้าคณะที่มาคือ คุณยงยุทธ อัยการเชี่ยวชาญพิเศษ ช่วยดูแลในเรื่องที่พักของคณะจากม.นเรศวรให้ด้วย บังเอิญทางอัยการยงยุทธ ให้ผมพักร่วมกับท่านด้วย (นึกในใจโดยส่วนตัวว่าคงมีโอกาสได้ Tacit Knowledge ทางธรรมะจากอัยการยงยุทธบ้าง) พิธีเปิดเริ่มเวลา 14.00 น. ช้าไปนิดหน่อยรอความพร้อมของผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรม และเตรียมความพร้อมในพิธีเปิด พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ) ทรงเมตตามาเป็นประธานเปิด ท่านให้แง่คิดในหลักการปฏิบัติธรรมกับผู้เข้าร่วมโครงการ และให้ผู้ปฏิบัติธรรมตั้งใจให้เต็มที่เพราะเวลาในการปฏิบัติธรรมค่อนข้างน้อย เพียง 3 วัน 2 คืนหลังจากนั้นพระวิทยากรก็นำสวดมนต์ และเทศน์สอนผู้ปฏิบัติธรรม วันแรกเริ่มต้นจากการรับศีล 8 ทันทีนั้นหมายถึง อาหารมื้อเย็นต้องงดทาน ยกเว้นน้ำปานะที่ทางวัดได้จัดเตรียมไว้ให้กับผู้ปฏิบัติธรรม พระวิทยากรท่านให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ท่านบอกว่าคุณโยมมาวันนี้ ทางวัดไม่ได้มีของดีเมืองสิงห์มาต้อนรับให้กับญาติโยม แต่อยากให้ของดีจากวัดอัมพวันไป บทสวดมนต์ที่ทางพระวิทยากรแนะนำคือ บทสวดพาหุง คาถาชินบัญชร บทสวดอิติปิโส สวดเท่าจำนวนอายุและบวกเพิ่มอีกหนึ่ง เช่น ถ้าอายุ 25 ปี ก็สวด 26 จบ ขอให้ญาติโยมตั้งใจปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมของวัดอัมพวัน คือ การสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ แผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศล และอธิษฐานจิต การอุทิศส่วนกุศลในการปฏิบัติธรรมจะอุทิศให้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถ หลวงพ่อจรัญ มารดาบิดา ครูอาจารย์ เทวดา เจ้ากรรมนายเวร เปรด และสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ การปฎิบัติธรรมจะเริ่มตั้งแด่เวลาตี 4 ครึ่ง เสร็จสิ้นจากปฏิบัติธรรมเวลา 3 ทุ่มทุกวัน

        วันที่สองของการปฏิบัติธรรม วันเด็กแห่งชาติ (14 มกราคม 49) ระฆังทางวัดดังขึ้นเวลาตีสอง ผมรีบลุกขึ้นจากที่นอน เก็บพับผ้าห่มและรีบแป้งฟันล้างหน้า นึกถึงสมัยเป็นพลทหาร ที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัย รีบตรงไปที่ศาลาการปฏิบัติธรรม ปรากฎว่ายังไม่มีใครมา แต่ได้ยินพระสวดมนต์อยู่ในโบสถ์ มาทราบจากพระวิทยากรที่หลังว่า วันนี้ทางวัดมีการทำบุญให้แผ่นดิน เป็นวันทำบุญให้แผ่นดิน ไม่เคยทราบมาก่อน ปกติวันพระทางวัดจะมีการสวดปาฎิโมกข์ ตั้งแต่เวลาตีสอง จึงถึงบางอ้อ ในระหว่างที่ผมตื่นมาตีสองยังไม่เห็นผู้ปฏิบัติธรรมมาผมก็กวาดลานวัดไป หลังจากกวาดเสร็จทนกิเลสความง่วงครอบงำไม่ไหว จึงไปหลับที่ห้องพักต่อ ท่านอัยการยงยุทธก็ยังนอนหลับอย่างมีความสุข ระฆังทางวัดดังขึ้นอีกทีตอนตี 4 คราวนี้ผมเดินไปที่ศาลาปฏิบัติธรรมเลย ท่านอัยการยงยุทธ ท่านต้องคอยดูความเรียบร้อยจากบุคลากรของสำนักงานอัยการสูงสุด ผมจึงไม่ได้มีเวลาพูดคุยกับท่านตามที่คาดหวังไว้ การเริ่มปฏิบัติธรรมเริ่มด้วยการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ทำวัตรเช้า เดินจงกรม นั่งสมาธิ แผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศล และอธิษฐานจิต (เมื่อวานพระวิทยากรได้สอนภาคปฏิบัติไปเรียบร้อย) หลังจากนั้นท่านก็จะเทศน์สอนผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะการมาครั้งนี้ผมได้หลักปฏิบัติธรรมเพิ่มเติมจากการมาคราวก่อน ท่านสอนในเรื่องสติปัฎฐาน 4 (กาย เวทนา จิต ธรรม) ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การนั่งสมาธิท่านให้กำหนดจิตไว้ที่ท้อง หายใจออก ภาวนาว่า พองหนอ หายใจเข้า ภาวนาว่า ยุบหนอ แต่เมื่อจิตเผลอไปเรื่องอื่น ปวดเมื่อย คิดเรื่องงาน เรื่อง KM  เรื่อง Blog ต้องกำหนดจิตไว้ที่ลิ้นปี่ เพราะหลวงพ่อจรัญท่านรอดพ้นจากวิบากกรรม ในการทนทุกข์เวทนาจากการประสบอุบัติเหตุจนคอหัก และรอดมาได้ด้วยการกำหนดจิตไว้ที่ลิ้นปี่ เช่น ถ้าเราปวดหัวเข่าในขณะที่นั่ง ก็กำหนดจิตไว้ที่ลิ้นปี่ว่า ปวดหนอ มีสติระลึกได้ตลอด เป็นความรู้ที่ท่านได้จากการปฏิบัติจริงของตัวท่าน (Tacit Knowledge)  สำหรับสติปัฎฐานเกี่ยวกับกาย (ยืน เดิน นั่ง นอน) พระวิทยากรท่านก็สอนให้แบบครบหลักสูตร อาทิการยืน ทางวัดอัมพวัน สูตรเฉพาะของวัดอัมพวันคือ การกำหนดยืนหนอ 5 ครั้ง เริ่มจากกำหนดจิตตั้งแต่กระหม่อมมาถึงท้อง ภาวนาว่ายืน (ลากเสียงยาว ๆ ) และจากท้องมาถึงปลายเท้า ภาวนาว่า หนอ นับเป็น 1 ครั้ง และกำหนดจิตจากปลายเท้ามาถึงท้อง และจากท้องมาถึงกระหม่อม นับเป็นครั้งที่ 2 ทำแบบนี้จนครบ 5 ครั้ง ไล่จากบนลงล่้าง จากล่างขึ้นบน แต่มาพักหยุดตรงกลางระหว่างบนลงล่าง และล่างขึ้นบน เป็นการกำหนดสติให้ระลึกรู้ตัวอย่างช้า ๆ โดยตลอด พระท่านก็เทศน์สนุกบางคนใช้ศรีษะช่วยด้วยในระหว่างการปฏิบัติ ท่านบอกไม่ต้องให้ใช้ตาใน ในการกำหนดจิต สำหรับการเดินก็จะกำหนดตั้งแต่ยกมือขึ้นข้างลำตัวตาม step คือ ยกหนอ หงายหนอ มาหนอ วางหนอ (ข้างขวา) ยกหนอ หงายหนอ มาหนอ วางหนอ (ข้างซ้าย) จับหนอ (ข้างขวา) ก้มหน้าหนอ ลืมตามหนอ ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ทุกขั้นตอนต้องทำอย่างช้า ๆ (นาน ๆ จะได้ทำอะไรแบบช้า เป็นการฝึกสติในทุกอิริยาบทของเราอย่างช้า ๆ ) เล่ามาเยอะหลายท่านอาจจะเบื่อหนอ... แต่ถ้าลองนำไปปฏิบัติจะช่วยยกระดับคุณภาพจิตของเราได้เป็นอย่างดีครับ คนเขียนเองก็ยังไปไม่ถึงครับ

     วันที่สามของการปฏิบัติธรรม (15 มกราคม 49) หลวงพ่อจรัญทรงเมตตามาทำพิธีปิดและแจกใบประกาศให้กับผู้ร่วมปฏิบัติธรรมทุกท่าน เพื่อให้ทุกคนระลึกถึงคุณงามความดีที่ได้มาปฏิบัติธรรม ท่านให้คติธรรมของการปฏิบัติธรรมว่า พูดน้อย กินน้อย นอนน้อย ทำความเพียรให้มาก วันนี้ผมได้ปฏิบัติธรรมแล้วรู้สึกจิตเริ่มจะนิ่งได้มากกว่าวันแรกที่มา แต่เป็นอันจบการปฏิบัติธรรม หลวงพ่อจรัญให้ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่านนำไปปฏิบัติให้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเราอย่างมากครับ

บอย

ชุมชนสำนักงานเลขานุการ

หมายเลขบันทึก: 12462เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2006 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ได้อ่านแล้วน่าสนใจมากค่ะ  อยากไปทำได้อย่างพี่บอยบ้าง 
แต่ตอนนี้คงต้องพยายาม  "พูดน้อย กินน้อย นอนน้อย" 
ให้ได้ก่อนค่ะ

ขอรบกวนคุณบอยช่วยประชาสัมพันธ์ให้นิสิตปี 4 ที่จะจบการศึกษาในสาขากายภาพบำบัด ทางโรงพยาบาลบ้านตากจะรับนักกายภาพบำบัด 2 ตำแหน่งครับ โทรติดต่อได้ที่ นพ.พิเชฐ 01-888-9011 ครับ
   ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

เรียน คุณหมอพิเชฐ ครับ

     ผมได้แจ้งให้ผศ.ปนดา เตชทรัพย์อมร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ อาจารย์ประจำภาควิชากายภาพบำบัด ช่วยประชาสัมพันธ์ให้นิสิตปี 4 ของสาขากายภาพบำบัดทราบแล้วครับ

      ขอขอบพระคุณ คุณหมอพิเชฐเป็นอย่างยิ่งครับ  ที่ให้ความสนใจนิสิตปี 4 สาขากายภาพบำบัดของคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร                                         

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท