จิตตปัญญาเวชศึกษา 20: Poverty Mentality อุปสรรคที่พึงระวัง


Poverty Mentality อุปสรรคที่พึงระวัง

หัวใจของการเรียน การศึกษาแบบจิตตปัญญาคือ เรียนด้วยจิตที่จะให้ จิตที่รุ่มรวย จิตที่เมตตากรุณา ดังนั้นอุปสรรคต่อการเรียนแบบนี้ก็คือ ิPoverty Mentaility หรือกระบวนทัศน์ขัดสนนั่นเอง

อันว่าด้วย "จิตอันเป็นผู้ให้" นี้ ก็ต้องผ่านการฝึกฝนเหมือนกัน บางคนอาจจะโชคดีที่ได้บริบทมาเสริมตั้งแต่ยังเด็กๆ เช่น ที่บ้านตักบาตรทำบุญบ่อยๆ ก็จะค่อยๆซึมซับไปทุกวันทีละน้อย บางบ้านก็จะมีงานบุญ งานชุมชน ที่คนมาเกี่ยวเนื่องข้องแวะกัน เรามีคำพูดว่า "บอกบุญ" ซึ่งมีความหมายที่ดีมากๆ

ในบริบทการเรียน โดยทั่วๆไำปเรามักจะไปเน้นว่า "เด็กมาเรียนแล้วจะได้อะไร" เด็กก็เลยคิดแต่ว่า "จะได้อะไร" อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เด็กจนโต คำถาม "แล้วจะได้่อะไร" เป็นคำถามหลัก ทำงานเพื่อจะได้อะไร ทำอะไรเพื่อจะได้อะไร ไม่ทำแล้วจะได้อะไร เรียนแล้วจะได้อะไร ฯลฯ น่าสนใจว่ากระบวนทัศน์แบบนี้ จะสร้าง mentality ที่รุ่มรวย หรือขัดสน แก่เด็กกันแน่?

วันก่อนมีเรื่องเล่าจากคนไข้รายหนึ่ง บอกว่า เช้า ก็มีนักศึกษาแพทย์มาหา บอกว่า "ขอดูแผลหน่อยนะ "ตอนนั้นคนไข้ก็เจ็บแผลกดทับบริเวณก้นกบมาก แต่ก็ทำไงได้ เอ้า จะพลิกตัวให้ดู นศพ.เห็นคนไข้พลิกตัวก็บอกว่า "เดี๋ยวๆ ป้า ผมจะดูแผลผ่าตัดที่หน้าท้องครับ ไม่ใช่แผลกดทับ" ว่าแล้วก็เปิิดผ้ากอซที่ปิดแผลหน้าท้อง เอาน้ำยา น้ำเกลือ ทาๆ พูด "เสร็จแล้วครับ" แล้วก็ไปสักครู่ก็มีนักศึกษาอีกคนมาถามว่า "ป้าๆ แผลเป็นยังไงบ้างวันนี้ เดี๋ยวขอดูหน่อยนะ" ป้าก็บอกว่า "เอ.... หมอมาดูไปแล้วนี่ เมื่อตะกี้นี้เอง" "แผลอะไร ที่ไหนจ๊ะป้า?" "แผลที่หน้าท้องไงล่ะ" นศพ.ก็บอก "อ๋อ..... ไม่ใช่ๆ ผมจะมาดูแผลผ่าตัดที่ขาตะหาก คนละแผลกันน่ะป้า" ป้าก็ถามไป "แล้วแผลที่ก้นกบจะดูไปด้วยไหมล่ะจ๊ะ?" "ไม่หรอกครับ ผมเป็น นศพ. orthopaedic ผมดูแผลผ่าตัดขาอย่างเดียวครับ" ทำแผลที่ขาเสร็จ จนอีกสักพัก ถึงมี "นศพ.ทีดุแผลกดทับ" มาทำแผลที่ก้นให้

เราแบ่งนักศึกษาแพทย์ เรียนเป็นวิชาๆ แบ่งวิชาตาม expertise ของอาจารย์แพทย์ ตามระบบ consultation นักศึกษาแพทย์ก็เรียนรู้คนไข้เป็นท่อนๆ เป็นส่วนๆ ตามงานที่ได้รับมอบหมายไป แต่ด้วย mentality ที่จะ "ไปเรียน ไปได้ ไปเอาิ" นี้เอง ทำให้โดยไม่รู้ตัว นศพ.ได้ฝึกหัดกระบวนความคิดว่า ณ ขณะนี้ ฉันดู "อวัยวะนี้อยู่ อีกอวัยวะหนึ่ง ไม่ใช่หน้าที่ของฉัน" ครั้นจะดูให้หมด เดี๋ยวเพื่อนก็จะว่า นี่เธอมาเปิดแผลที่ฉันดูทำไม ฉันต้องทำรายงาน ต้องบอก progress ของแผล ฉันก็ต้องเปิดแผลของป้าแกซ้ำอีกที ทำแผลใหม่อีกทีั

ตอนที่เรามีกระบวนทัศน์ขัดสน คิดว่ากำลังขาด กำลังไม่พอ เราจะไม่ค่อยพร้อมที่จะให้สักเท่าไรนัก จะต้องขอดูแลตนเองก่อน ขอได้ก่อน ขอเอาก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะยังไม่ "ให้" อะไรใคร ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าขณะนั้นอาจจะเป็นกิจกรรมที่ "กำลังให้" อยู่ก็ตาม แต่ในกระบวนทัศน์ขัดสนครอบงำ ทำงาน อยู่นั้น ก็จะไม่ได้รู้สึกเป็นผู้ให้ แต่จะรับรู้ว่าเป็นผู้เอาแทน ในกรณีข้างบน นักศึกษากำลังเรียนเรื่องแผลผ่าตัดหน้าท้อง แผลผ่าตัดที่ขา แผลกดทับ นักศึกษาอยู่ในกระบวนทัศน์ขัดสนว่าเรายังไม่ทราบ ไม่รู้ เรื่องนี้ จะมาเรียน มาหัด มาได้ จากการทำแผล ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะน่าเสียดาย ที่จะไม่ได้มาฝึกกระบวนทัศน์จิตแห่งการให้ แห่งการช่วยเหลือ จากกิจกรรมเดียวกันที่กำลังทำอยู่นั้นเอง

พยาธิสรีระของ poverty mentality

กลไกที่สำคัญในการเกิด poverty mentality อยู่ที่กระบวนทัศน์ของนักศึกษา (หรือใครๆก็ตาม) ก็คือ การมองว่าอะไรที่ตนเองขาด มากกว่าอะไรที่ตนเองมี

บางคนอาจจะเีรียก การมองในแง่บวก แต่ผมว่ามันจำเพาะเจาะจงกว่านั้น และไม่ได้ optimistic เกินไป มองว่าเรา "มีอะไร" ต้องมองอย่างเป็นจริง ไม่มากเกิน ไม่น้อยเกิน

นักศึกษาแพทย์ของเราควรจะมีความภาคภูมิใจในวิชาชีพ ในงาน ในสิ่งที่ตนเองเรียนรู้ ตั้งแต่ตอนกำลังเรียน ตอนกำลังเป็นนักเรียนแพทย์ เพราะเราเรียนหนักมาก เรียนเยอะมาก ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเรียน จะได้นำไปใช้่ประโยชน์ทั้งสิ้น แต่ถ้าเราเป็นห่วงอยู่แต่สิ่งที่เรายังไม่ได้เรียน ยังไม่รู้ ยังไม่ได้ทำ แล้วจะไปหวังว่าเราจะรู้สึก "เต็ม" มาทันทีทันใด ตอนได้ใบประกอบวิชาชีำพ หรือวันรุ่งขึ้นหลังจากจบ Externship นั้น คงจะยากน่าดูเหมือนกัน ขณะที่เราเติมน้ำลงในถ้วยของเรา จนใกล้ "ขีดความเป็นแพทย์" เราควรจะมองน้ำที่ค่อยๆเต็มเป็นครั้งคราว บ่อยๆ สร้างความภาคภูมิใจ อยากลอง อยากใช้่ มากกว่ามองอย่างกังวลถึงระยะห่างจากระดับน้ำกว่าจะไปถึงขีดที่กำหนดไว้

สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่ง ที่นักศึกษาแพทย์ควรตระหนักก็คือ วิชาความรู้ที่เราเรียนทั้งหมดนั้น จะต้องนำไปสอดประสาน รวมเป็นหนึ่งเดียว กับคุณสมบัติของแต่ละคนด้วยเสมอ นั่นคือ "ความเป็นมนุษย์" ที่เรามีกันอยู่ทุกคนมาก่อนแล้ว และคุณสมบัตินี้เองที่เป็นแรงผลักดันอันทรงพลังที่สุด ในการที่จะทำให้เรามองความรู้แบบองค์รวม ก็คือ ต่อเมื่อเราทราบว่าเราเรียนกายวิภาค ภูมิคุ้มกันวิทยา สูติศาสตร์ ฯลฯ ก็เพื่อใช้ลดความทุกข์ทรมานของคน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ความก้าวหน้าส่วนตน ไม่ใช่เพื่อวิจัย ไม่ใช่เพื่อตำแหน่งวิชาการ เมื่อนั้นวิชาความรู้ที่เราเรียนจึงจะมีำพลังชีวิตอันสมบูรณ์ และหล่อหลอมกลายเป็น จิตที่รุ่มรวย จิตแห่งความเป็นผู้ให้ จิตอันเบิกบานจากการให้ ขึ้นมาได้ตามที่คาดหวังไว้

หมายเลขบันทึก: 124580เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2007 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านตอนนี้ของอาจารย์  คิดถึง   "คนจะรวยรวยสินทานใช่บ้านโต"    แต่สังคมขณะนี้วัดความรวยที่บ้านโตนะคะ    เรื่องความรุ่มรวยจะเกิดได้เมื่อเราวัดความรวยด้วยตัวชี้วัดใหม่  คือความสมดุลระหว่างเพื่อตนเองและเพื่อส่วนร่วม   ต้องทำไปพร้อมกัน  หากจะหวังเมื่อมั่งคงแล้วจะช่วยส่วนรวม  ขอให้ฉันเข้มแข็งก่อน  จะช่วยคนอื่นได้เต็มที่  พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง    ดังนั้นคนทำงานอย่างเราต้องร่วมหาสมดุลเกี่ยวกับ   ความมั่งคั่งของวิชาชีพ    กับความมีสุขภาพดีของประชาชน 

          สวัสดีค่ะ

ขอบคุณครับคุณอุดม

ที่น่าสนใจ (และอาจจะท้าทาย) ก็คือ สภาวะจิต (รุ่มรวย ขัดสน) นี้เป็นระดับจิตร่วม หรือเป็นเพียงปัจเจก และเรา (แต่ละคน) จะมีบทบาทเช่นไร บนเวทีแห่งความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงสัมพันธ์ไร้สิ้่นสุดเช่นนี้บ้าง? 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท