ชีวิตที่พอเพียง : (356) ชีวิตที่หลีกเลี่ยงทุกขภาวะ


         ผมมีนิสัยขี้ขลาด     กลัวโน่นกลัวนี่เป็นนิสัย      จึงคิดอยู่เสมอว่าอะไรบ้างที่อาจก่อความทุกข์ให้แก่ตนเอง     ทั้งที่เป็นความทุกข์ระยะสั้น และความทุกข์ระยะยาว     ก็จะหาทางหลีกเลี่ยง

         ที่จริงนิสัยแบบนี้ มองเชิงบวก อาจเรียกว่า มีสติ     ไม่ประมาท

         ชีวิตของผมจึงมีหลักการที่กำหนดให้ตัวเองปฏิบัติมากมาย

         แต่ในความเป็นจริง บ่อเกิดของทุกขภาวะเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เราควบคุมได้ด้วยตนเอง      มีบ่อเกิดของทุกขภาวะมากมายที่เรา ควบคุมด้วยตัวเองไม่ได้     เพราะมันเกิดขึ้นเพราะระบบสังคม  ระบบเศรษฐกิจ  ระบบวัฒนธรรม  ฯลฯ ที่มีการสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์หรือข้อดีเรื่องหนึ่ง     แต่มันอาจก่อทุกขภาวะแก่คนจำนวนมาก  หรือต่อคนบางกลุ่ม  และเราเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนั้น    

         ผมจึงนับว่าเป็นคนที่โชคดี  ได้เข้าไปอยู่ในองค์กรต่างๆ ที่เข้าไปมีส่วนจัดการ หรือพัฒนาระบบ เพื่อลดสาเหตุของทุกขภาวะของคนส่วนใหญ่     ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีก็เพราะ การเข้าไปทำหน้าที่ในองค์กรเหล่านี้ได้ช่วยให้ผมเรียนรู้เรื่องบ่อเกิดของทุกขภาวะเชิงระบบ     ได้เรียนรู้ความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของสังคมและของชีวิต     ได้เห็นว่า “เหตุแห่งทุกข์” มันอยู่ลึก และซ่อนตัวอยู่ในตัวเราเอง และในสังคมของเราอย่างไร    เห็นโอกาสทำงานเพื่อสังคมอย่างที่เรียกได้ว่า ไม่รู้จบ

         บันทึกนี้เขียนระหว่างประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนหลักประจำปี 2551 – 2553 ของ สสส.    ซึ่งก็คือแผนหลักของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ    ทำให้ผมนึกออกว่า    การสร้างเสริมสุขภาวะนั้น โดยหลักการมี 4 ส่วน
1. ระดับจุลภาค คือบุคคล หรือครอบครัว ชุมชน    ลดบ่อเกิดของทุกขภาวะ
2. ระดับจุลภาค  จัดกระบวนการ/กิจกรรม เพื่อสร้างสุขภาวะในชีวิตประจำวัน
3. ระดับมหภาค  คือประเทศ  กระทรวง  จังหวัด  เทศบาล  อบต.  ลดบ่อเกิดของทุกขภาวะโดยระบบ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์   โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA – Health Impact Assessment) ในโครงการพัฒนาต่างๆ
4. ระดับมหภาค  จัดส่งเสริมกระบวนการ/กิจกรรม ที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ  เช่น มีสวนสาธารณะ/พื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่ทางสังคม และพื้นที่แวดล้อม เพื่อสุขภาวะ

         ผมได้เรียนรู้ว่า แนวที่ 2 & 4 ใช้ทฤษฎี Empowerment Theory     ซึ่งไม่เน้นศึกษาหรือเอาใจใส่ Risk Factors (แนวที่ 1 & 3)    แต่เน้นเอา Success Factors มาแพร่     จริงๆ แล้วเราต้องใช้ทั้ง 2 แนว     

วิจารณ์ พานิช
3 ก.ย. 50

หมายเลขบันทึก: 124541เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2007 08:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์มีมีความสนใจ การเสริมสร้างสุขภาวะระดับจุลภาคที่เกี่ยวกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน  เพื่อการสร้างสุขในชีวิตประจำวันมีข้อแนะนำไหมครับ.....ณ ตอนนี้เริ่มมีความรู้สึกว่าชีวิตถูกพันธนาการ..ด้วยกระแสแห่งวัตถุนิยมเยอะไม่อยากถลำเข้าไปมากกว่านี้..กำลังหาแก่นสารยึดเหนี่ยวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท