ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูศิลปะ เมืองกาญจน์ (ตอนที่ 2)


มีบุคคลสำคัญที่ทำให้ผมได้มีโอกาสไปรับความรู้และประสบการณ์

 

ได้รับเชิญไปแลกเปลี่ยน

เรียนรู้ศิลปะกับครูเมืองกาญจน์

สพท.กจ. เขต 2  (ตอนที่ 2)

            ในตอนที่ 1 ผมเล่าให้ครูศิลปะ สพท.กจ. เขต 2 ได้รับรู้  คือ  บทบาทและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดคุณภาพของผู้เรียนเมื่อจบการศึกษาขันพื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ กำหนดเอาไว้  3 สาระ 

             ในตอนที่ 2 นี้  ผมขอนำเอาบรรยากาศในห้องประชุมที่เป็นเรื่องทางวิชาการมานำเสนอ ตามที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ที่โรงแรมริเวอร์แคว กาญจนบุรี ผมนำเสนอสาระเกี่ยวกับหัวข้อและรายละเอียดในการจัดทำผลงานทางวิชาการ เพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะจาก ครู คศ.2 เป็น ครู คศ.3 โดยครูจะต้องศึกษามาตรฐานวิทยฐานะของตน และวิทยฐานะที่จะขอให้เข้าใจ มีดังนี้ ครับ

มาตรฐานวิทยฐานะ 

ชื่อวิทยฐานะ  ครูชำนาญการพิเศษ 

หน้าที่และความรับผิดชอบ

          ปฏิบัติหน้าที่หลักเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน การส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาผู้เรียน ปฏิบัติงานทางวิชาการของสถานศึกษา พัฒนาตนเองและวิชาชีพ ประสานความร่วมมือกับผู้ปกครอง บุคคลในชุมชนและ/หรือสถานประกอบการเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียน การบริการสังคมด้านวิชาการ  และปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย 

คุณภาพการปฏิบัติงาน

          มีความรู้ความเข้าใจในสาระหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่รับผิดชอบในระดับพื้นฐาน  มีความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้ บริหารจัดการชั้นเรียน พัฒนาผู้เรียน โดยแสดงให้เห็นว่า มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีการปรับประยุกต์จากแนวทางที่หลักสูตรกำหนด  และมีการพัฒนาตน  พัฒนาวิชาชีพ          มีทักษะการจัดการเรียนรู้และประเมินผลที่เหมาะสมกับสาระหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่รับผิดชอบและความแตกต่างของผู้เรียน สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ของสาระหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นผู้มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ 

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะ

          1. ดำรงตำแหน่งครู ที่มีวิทยฐานะครูชำนาญการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ. เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ

          2. ผ่านการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด 

การให้ได้รับเงินเดือนและเงินวิทยฐานะ

          ให้ได้รับเงินเดือนอันดับ คศ.3 และได้รับเงินวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ           ในส่วนของมาตรฐานวิทยฐานะ ส่วนใหญ่ครูมีความเข้าใจ และเดินทางโดยการทำงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบ สร้างคุณภาพในการปฏิบัติงาน (ตรงประเด็นแล้ว) จึงไม่มีผู้เสนอความเห็นเสริม  ผมผ่านไปที่ผลงานทางวิชาการ เข้าใจว่าครูศิลปะคงจะทราบบ้างแล้ว จากการประชุมในวันแรก ซึ่งในรายละเอียดนั้น ผมได้นำเสนอบนจอภาพผ่านเครื่องฉายที่พ่วงเอาไว้กับโน้ตบุ๊ก ดังนี้ 

แนวทางในการดำเนินงานจัดทำผลงานทางวิชาการ

ความหมายของผลงานทางวิชาการ 

         ผลงานทางวิชาการ หมายถึง เอกสารหรือหลักฐานที่จัดทำขึ้นจากความรู้ ความสามารถทักษะและประสบการณ์ของผู้จัดทำ โดยศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจัยและได้นำไปใช้ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนางานในหน้าที่จนเกิดผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ 

ขอบข่ายของผลงานทางวิชาการ 

         ผลงานทางวิชาการของสายงานการสอน หมายถึง เอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับการสอนที่แสดงถึงความชำนาญหรือเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ รวมถึงผลงานในลักษณะอื่นซึ่งใช้ประโยชน์ในการสอนหรือการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดีโดยมีลักษณะ ดังนี้

          1. ตรงกับสาขาวิชาที่ขอให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ

          2. เป็นผลงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือสาขาวิชาต่าง ๆ และใช่ประโยชน์ในการเรียนการสอน

          3. เกิดจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบทางด้านการสอน 

ประเภทของผลงานทางวิชาการ 

         ผลงานทางวิชาการที่เสนอขอจะต้องแสดงความรู้ ความสามารถ ความชำนาญและความเชี่ยวชาญของผู้ขอให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ แบ่งตามลักษณะของผลงานทางวิชาการได้ 3 ประเภท ดังนี้ 

         1. ผลงาน การแต่ง เรียบเรียง งานแปลหนังสือหรือเขียนบทความทางวิชาการซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการพิมพ์และเผยแพร่มาแล้ว และผลงานดังกล่าวสามารถนำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาและพัฒนาคุณภาพการศึกษา

          2. ผลงานวิจัย เป็นงานวิจัย ที่ได้รับการพิมพ์เผยแพร่มาแล้วและผลงานดังกล่าวสามารถนำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา 

         3. ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น  เช่น

             3.1 การประเมินงาน หรือการประเมินโครงการที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่

             3.2 สื่อ นวัตกรรมทางการศึกษา เช่น 

                    - ผลงานด้านการจัดทำสื่อการเรียนการสอน

                   - ผลงานด้านการคิดพัฒนารูปแบบนวัตกรรมที่นำไปใช้ในการปฏิบัติงานทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งอาจทำเป็นเอกสาร หรือสื่ออีเล็กทรอนิกส์ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ รวมทั้งเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

             3.3 เอกสารประกอบการปฏิบัติหน้าที่ หรือเอกสารที่สามารถใช้ประกอบในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านการจัดการเรียนการสอน การจัดการศึกษาและนิเทศการศึกษาซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานในหน้าที่ให้สูงขึ้น สำหรับแผนการจัดการเรียนรู้ให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการประเมินคุณภาพปฏิบัติงานเท่านั้น มิให้นำมาเสนอเป็นผลงานทางวิชาการ 

           ผลงานทางวิชาการที่ผู้ขอมิได้จัดทำแต่เพียงผู้เดียว แต่ผลงานทางวิชาการนั้นได้ร่วมกันจัดทำกับผู้อื่นในรูปคณะทำงานหรือกลุ่ม ให้ชี้แจงให้ชัดเจนว่า ผู้ขอมีส่วนร่วมในการจัดทำในส่วนใด ตอนใด หน้าใดบ้าง คิดเป็นร้อยละเท่าไรของผลงานทางวิชาการแต่ละเล่ม และให้ผู้จัดทำทุกรายรับรอง พร้อมทั้งระบุว่า ผู้จัดทำแต่ละรายได้จัดทำส่วนใดบ้าง

            ทั้งนี้ผลงานทางวิชาการดังกล่าวจะต้องไม่เป็นผลงานทางวิชาการที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อขอรับปริญญา หรือประกาศนียบัตรใด ๆ หรือเป็นผลงานทางวิชาการที่เคยใช้ขอเลื่อนตำแหน่งหรือเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะมาแล้ว

           ในช่วงนี้ มีคุณครู เสนอความเห็นเกี่ยวกับ แผนการจัดการเรียนรู้ซึ่ง ไม่มีในประเภทของผลงานทางวิชาการ ท่านเสนอความเห็นว่า ในเมื่อต้องทำแผนแล้ว จะต้องมีสื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยี ประกอบแผนด้วยไหม  ผมขอยืมความเห็นจากครูศิลปะท่านอื่น ๆ นำเสนอความคิดกัน 15-20 นาทีก็ได้บทสรุปว่า  คุณครูควรจัดทำผลงานประกอบแผนด้วย เพราะว่า ผลงานที่ทำประกอบแผน เช่น ชุดฝึกทักษะวาดภาพ  เทปเสียงร้องเพลง  ขั้นตอนการเล่นดนตรีประเภทเป่า คือ ผลงานทางวิชาการของคุณครู  มีอีกประสบการณ์หนึ่งที่ผมจำได้ คือ บทความทางวิชาการ จะทำเป็นผลงานทางวิชาการได้อย่างไร  มีผู้เสนอความเห็นว่า จะต้องนำไปใช้กับนักเรียนให้เกิดผลดีก่อน แล้วทำการเผยแพร่  มีผู้เสนอความเห็นว่า จะเผยแพร่อย่างไร โดยช่องทางใด  ประเด็นนี้มีพูดกันหลากหลาย จนในตอนท้าย ผมเปิดเว็บ gotoknow ที่ผมจัดเก็บเอาไว้ในโน้ตบุ๊กให้คุณครูดูบนจอ  ด้วยบทความต่อไปนี้

          ศิลปะ (7) อาชีพทางศิลปะ

          ศิลปะ (2) ดนตรี นาฏศิลป์เรียนรู้หลักการพื้นฐาน 

          ศิลปะ (3) ทัศนศิลป์ เรียนรู้หลักการพื้นฐาน 

          ศิลปะ (9) สอนวิชาพื้นฐานและวิชาเพิ่มเติมศิลปะ 

          ศิลปะ (8) วิธีสอนเชื่อมโยงแบบครูเก่า

          เรียนรู้วิธีการเขียนสีที่ห้องศิลป์

          ผมเปิดเว็บความรู้จากประสบการณ์ที่ผมถ่ายทอดด้วยการบอกเล่าเอาไว้ในสื่อสารสนเทศ ให้คุณครูเห็นมวลความรู้ที่มีผู้เขียนเอาไว้เป็นจำนวนมากให้เราได้เลือกเรียนรู้ศึกษา เพียงแต่ว่า ต้องยอมรับในความเห็นของผู้อื่นที่เขาเสนอเอาไว้ เพราะความรู้ที่ปรากฏในเว็บ เป็นความสำเร็จของแต่ละบุคคล เป็นประสบการณ์ที่หลากหลาย และเป็นแนวทางในการหยิบยก เก็บเอามาคิด ประยุกต์ใช้ได้ ครับ

           เนื่องจากในสถานการณ์จริงมีเวลาในการแลกเปลี่ยนความรู้ เสนอความเห็นกันได้อย่างกว้างขวาง  แต่พื้นที่บน gotoknow มีข้อจำกัดในการบรรจุตัวอักษร ไฟล์ใหญ่มากก็จะลงได้ไม่ครบ ทั้งที่ยังมีความเห็นดี ๆ อีกหลายประเด็น ผมถามความเห็นครูศิลปะที่เข้าประชุมว่า จะเบรกเพื่อพักดื่มน้ำและรับประทานอาหารว่างกันก่อนดีไหม และเมื่อกลับเข้ามา ผมจะมีเวลาให้ท่านได้ซักถาม หรือแสดงความเห็นอย่างไม่มีข้อจำกัด  แต่ก่อนที่ท่านจะพัก ผมถือโอกาสที่น่าสนใจ อันเป็นรอยต่อของเวลานำเสนอ ชุดฝึกทักษะเพลงอีแซวด้วยคอมพิวเตอร์ โปรแกรมที่ใช้คือ เพาเวอร์พ้อยท์ แต่จุดเด่นของผลงานนี้อยู่ที่ เด็กสามารถเรียนรู้ได้ง่ายด้วยตนเอง ดูภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ฝึกร้องตาม ฝึกพูด ฝึกรำตามสื่อได้ และสุดท้ายฝึกหัดร้องกับเครื่องโดยมีจังหวะ มีเนื้อร้องให้ดูด้วย (ได้รับความสนใจจากครูมาก) 

           ในช่วงเวลาของการพักเบรก มีน้อง ๆยกเครื่องดื่มและของว่างมาให้ผม  แต่ผมไม่มีเวลารับประทานทั้งนี้เพราะครูศิลปะ กาญจนบุรี เขต 2 เกือบ 100 คนมาหาผมที่โต๊ะบรรยาย และมามากขึ้นจนเกือบจะทั้งหมดห้องประชุม  ด้วยจุดประสงค์หลายอย่าง  ได้แก่

           1.     มาขอนามบัตรของผมเอาไว้ติดต่อกัน

           2.     มาขอเอกสารเกี่ยวกับการฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว กิจกรมการแสดง

           3.     มาขอถ่ายข้อมูลจากเครื่องลงในทรัมไดรว์ (thrumb drive) ที่คุณครูเตรียมเอามากันเป็นจำนวนมาก (มากกว่า 30 คน)

           4.     มาขอซื้อแผ่น วีซีดีสอน ศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน (ผมเอาติดไปด้วย)

           5.     มาขอข้อมูล การเขียนรายงานด้านที่ 2 และด้านที่ 3 (5-10 หน้า)

           6.     มาขอสำเนาชุดฝึกเพลงอีแซว (เรียนรู้ด้วยตนเอง)

           7.     มาขอบันทึกภาพ (ถ่ายรูปคู่กับเพื่อนครูศิลปะ) 

           ผมให้ทุกอย่างเท่าที่มีติดตัวไป (ที่เป็นขุมความรู้ และแก่นความรู้เท่านั้นนะ) และเวลาในช่วงสุดท้ายก็มาถึง  เป็นการสรุปในภาพรวมของการจัดทำผลงานทางวิชาการ เมื่อผมบรรยายด้วยเวลาสั้น ๆ จบลง ผมเปิดโอกาสให้คุณครูแสดงความเห็น หรือซักถามผม หรือเสนอความคิดในที่ประชุม

          ท่านที่ 1 ถามในที่ประชุมว่า ผลงานทางวิชาการต้องเขียนรายงานการใช้หรือไม่

คำตอบ  ต้องเขียนรายงานด้วยจึงจะรู้ได้ว่าเป็นผลงานที่จัดทำอย่างเป็นระบบ

          ท่านที่ 2 ถามว่า การบันทึกผลหลังสอนในแผนการจัดการเรียนรู้ จะต้องบันทึกอย่างไรจึงจะถูกต้อง

คำตอบ  จะต้องบันทึกผลเป็นกลุ่มย่อย หรือลงลึกถึงรายบุคคลว่าเรียนรู้ ผ่าน ไม่ผ่านกี่คน  อย่างไร และมีปัญหาอะไรบ้าง มีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร รวม 3 องค์ประกอบ

          ท่านที่ 3 ถามในที่ประชุมว่า การส่งผลงานเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ เมื่อถึงกำหนดส่งแล้วงานไม่เสร็จสมบูรณ์ จะยื่นส่งครั้งใหม่ได้เมื่อไร

คำตอบ  โดยท่าน ศน.เสนอชรบัณฑิต จะต้องห่างกัน 1 ปี นับจากวันที่ยื่นครั้งก่อน จึงจะยื่นครั้งใหม่ได้

           เวลาล่วงเลยมา 16.00 น. อันที่จริงยังมีครูศิลปะที่ให้ความสนใจอีกเป็นจำนวนมาก (ทั้งห้องประชุม ยังอยู่กันครบ) แต่ความเหมาะสมในฐานะวิทยากร  ผมกล่าวขอบคุณครูศิลปะทุกท่านที่ให้ความกรุณาแก่ผม ผมกล่าวขอบคุณ ผู้จัดให้มีการประชุม ผมฝากความหวังทั้งหมดเอาไว้กับคุณครูศิลปะ (เพื่อนครูของผมทุกคน) ใช้เวลาคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ผลงานอย่างใดอย่างหนึ่งแก้ปัญหาการเรียนรู้ให้กับนักเรียน และนำเอาผลที่ได้นั้นมาปรับปรุงตำแหน่งของเรา  ทำไปแล้วจะผ่านหรือไม่ผ่าน เป็นเรื่องของคุณภาพ และโอกาส แต่เด็ก ๆ ที่เรียนรู้กับคุณครูได้มีการพัฒนา สมองของเขาได้รับการเปลี่ยนแปลงไปในทางสร้างสรรค์แน่นอนครับ (ผมเปิดซาวด์จังหวะและผมก็ร้องแหล่ด้นสดจนจบคำขอบคุณและอายพร) ห้องประชุมยังคงเงียบ ไม่มีเสียงหัวเราะ มีรอยยิ้มบ้าง ทุกคนยังนั่งนิ่งอยู่กับที่ (ลืมปรบมือ) ผมต้องพูดว่า จบการบรรยายเพียงเท่านี้ ขอบคุณมาก ครับ

           ผมคือครูธรรมดาคนหนึ่ง แต่มีบุคคลสำคัญที่ทำให้ผมได้มีโอกาสไปรับความรู้และเล่าประสบการณ์ที่ค่อนข้างจะยาวนานเกือบ 38 ปีของผม ให้เพื่อนครูศิลปะ กาญจนบุรี เขต 2 ได้รับรู้ คือ ท่านผู้อำนวยการอดิศร ถวิลประวัติ  ผอ.โรงเรียนพนมทวนชนูปถัมภ์ ครับ 

           ผมขอขอบคุณศิษย์เก่าเพาะช่างคนนี้ ที่ไม่เคยลืมผมเลย แม้เวลาที่รู้จักกันจะผ่านไปนานมากแล้วก็ตาม

ชำเลือง  มณีวงษ์ / จิตรกรรม, เทคโนโลยีการศึกษา, เพลงพื้นบ้าน 19 ชนิด และด้นกลอนสด

 

หมายเลขบันทึก: 124511เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2007 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • มาแสดงความยินดีด้วยครับ
  • เท่าที่เล่าประสบความสำเร็จดีมากครับ
  • คุณครูไม่ค่อยมี
  •  2. ผลงานวิจัย เป็นงานวิจัย ที่ได้รับการพิมพ์เผยแพร่มาแล้วและผลงานดังกล่าวสามารถนำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา         
  • ถึงแม้นบางท่านเก่งและทำงานมานาน
  • น่าเสียดายจังเลยครับ
  • ไม่ลืมเสียงเหน่อๆๆ

สวัสดี อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง

  • ผลงานทางวิชาการ ในข้อ 2 ผลงานวิจัย มีน้อย เป็นจริงตามที่อาจารย์มีความเห็น
  • ในส่วนตัวผมก็ทำงานวิจัยอยู่ตลอดมา เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ แต่วิธีการของผมอาจเก่าไปนะ ไม่ทันสมัย (ทำตามที่เคยเรียนมา)
  • แม้ว่าจะศึกษาเพิ่มเติมอยู่ตลอดก็ยังมีความรู้ ความเข้าใจไม่ทันนักวิชาการใหม่ ๆ
  • ผมจะเป็นอีกคนหนึ่งที่ เดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป
  • เพราะถึงอย่างไร พี่ก็ยังมีคนเก่งคอยดูแล (จริงหมายเล่า)
นางกมลธร สุวรรณวัฒน์ ครูชำนาญการพิเศษ (ศิลปะการทำผ้าบาติก)

ยินดีแลกเปลี่ยน การทำผลงานวิชาการ กำลังเริ่มเก็บงานเพื่อทำ คศ. ๔ แต่งานเยอะยังมืด ๘ ด้านเลยละ่ ได้มานาน ก็รุ่นโหดนั้นแหละ รุ่นสุดท้ายแบบเก่า ปี ๔๕ กำลังมาหลายรอบ งานนอกก็เยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นการเป็นวิทยากร การอบรมการสอนทำผ้าบาติกนั้นแหละ การอบรมการผลิตสื่อนวัตกรรม การทำผลงานต่างๆของคุณครู คศ.๓ ช่วยๆกันนั้นแหละคิดว่าจะเริ่ม เริ่มแล้วก็มาสดุด ช่วงนี่เรื่อง onet ศิลปะมาแรง การออกข้อสอบด้วย นี้เมื่อวานก้เพิ่งอบรมกัน เท่านี้ก่อนนะ ติดต่อ เข้าเว้ป รร.หอวัง กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ได้เลยนะ

ขอบคุณ

ครูรี

P..ครูชำเลือง..นักเทคโนฯรุ่นปัจจุบันตอนนี้เน้นวิธีการเรียนแบบผสมผสานอีกแล้วจ้า..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท