วิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์



 

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2549 เวลา 13.00-17.00 น.  ได้มีการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “วิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์” ขึ้นที่ห้องประชุม 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสีเป็นประธานในการเสวนา

 นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ว่า เพื่อรับทราบปัญหาและหาทางออกร่วมกันในเชิงสร้างสรรค์  รวมทั้งหาประเด็นที่ต้องทำวิจัยต่อ  

อาจารย์ประเวศ วะสี ได้กล่าวเกริ่นนำถึงความสำคัญของปัญหาและแนวทางในการเสวนาดังนี้

 เป็นโอกาสดีที่จะมารวมตัวกันแก้ปัญหาที่ก่อตัวมาหลายปี ปัญหานั้นคือการฟ้องร้อง ซึ่งเป็นสภาพที่บีบคั้นทุกฝ่าย  ฝ่ายผู้รับบริการก็สูญเสีย ฝ่ายผู้ให้บริการทำงานเหนื่อยแล้วยังถูกฟ้องถูกกล่าวหาอีก  ทั้งหมดนำความเศร้าเสียใจมาสู่ทุกฝ่าย  ถ้าปล่อยให้ลุกลามต่อไปจนเหมือนอเมริกาซึ่งมีการฟ้องร้องสูงมาก  แม้แพทย์ไปช่วยอุบัติเหตุก็อาจจะถูกฟ้องว่าช่วยไม่ถูก  แพทย์ต้องมีประกันการถูกฟ้องทุกคน ทำให้ค่าบริการสูงขึ้น ตัวเลขที่ได้รับจากเพื่อนที่อยู่อเมริกาบอกว่าขณะที่ 15% ของค่าบริการทางการแพทย์อยู่ที่เอกสารและกระบวนการทางกฎหมาย  แทนที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อช่วยคนไข้ ถ้าเหตุการณ์ของเราลุกลามไปอย่างนี้จะเป็นที่น่าเสียใจ  ค่าบริการทางการแพทย์จะสูงขึ้น แพทย์ทุกคนจะประกันการถูกฟ้อง   

พวกเรามองตรงนี้มาหลายปีและรู้สึกว่าต้องเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข  ผู้ใหญ่หลายคนมองเรื่องนี้  เป็นโอกาสดีที่ทุกฝ่ายมาที่นี่  ฝ่ายผู้รับบริการและองค์กรที่ดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภค  องค์กรวิชาชีพ  คนที่ดูแลระบบบริการ กฎหมาย สื่อมวลชน ท่านรัฐมนตรีในฐานะผู้แทนราษฎรเข้ามาใช้อำนาจรัฐเพื่ออำนวยความผาสุกให้เกิดขึ้นกับมหาชน

 ปัญหาก่อตัวมาหลายปี แต่คุณพินิจมาแสดงความเดือดร้อน ทำให้ฝีที่กลัดหนองแตกออกมาจะได้รีบรักษา  ที่ใช้คำว่าวิกฤติ ที่จริงเป็นโอกาส เพราะปัญหาหลายอย่างมันยาก  เช่น เยอรมันและญี่ปุ่นแพ้สงคราม เขาถือเป็นโอกาสแก้ปัญหาต่างๆ แล้วเจริญอย่างรวดเร็ว  ภาษาจีนคำว่าวิกฤตมีคำว่าโอกาสอยู่ในนั้นด้วย

 เรามีหลักการอย่างนี้  ที่มาคุยกันเรียกว่า dialogue หรือสุนทรียสนทนา  ไม่ได้เน้นการทะเลาะ แต่เน้นการฟังอย่างลึก  ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพูด อีกฝ่ายหนึ่งก็เน้นการฟังอย่างลึก ไม่เน้นการโต้เถียง  เพราะการโต้เถียงมันตื้น ไม่ผ่านกระบวนการทางปัญญา  การฟังอย่างลึกเป็นการเคารพอีกฝ่ายหนึ่ง  ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation)   

ในโครงการครอบครัวเข้มแข็ง จะมีการตกลงกันว่าวันนี้สามีจะฟังอย่างเดียว ไม่พูด  ฟังแล้วเกิดความรู้สึกน้ำตาไหลว่าอยู่ด้วยกันมาตั้งนานแต่ไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองทำให้ภรรยาทุกข์ขนาดนี้  พอรู้เข้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง  ต่อมาอีกวันให้สามีพูด ภรรยาฟัง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ลูกพูดให้พ่อแม่ฟัง  พ่อแม่น้ำตาไหลที่ได้รับรู้  หลักการสุนทรียสนทนา ไม่ถือหลักการทะเลาะ ถือการฟังอย่างลึก  เอาใจเราไปใส่ใจเขา  พวกเรากำลังทำเรื่องนี้กันมาก รวมทั้งไปทำที่ปัตตานีด้วย  เอาฝ่ายที่ทะเลาะกัน นักศึกษา ตำรวจ ทหาร ครู มาคุยกัน  มันเกิดการรักกันขึ้น  ทำอะไรร่วมกัน 

 ถ้าเราได้ผ่านกระบวนการนี้จะเกิดความเข้าใจแง่มุมของอีกฝ่ายหนึ่ง  เกิดความเห็นใจ  เกิดความร่วมมือ ซึ่งจะแก้ปัญหาได้ทุกชนิด  สิ่งที่เราต้องการแก้ไขคือให้มีบริการที่ดีทั้งทางเทคนิค ทางจิตใจ ความสัมพันธ์  ตัวที่จะลดการฟ้องร้องได้มากที่สุด  ถ้ามีการฟ้องร้องจะมีกลไกอะไรรับฟังอย่าให้บานปลาย  เราต้องมาร่วมกันคิดให้แฟร์กับทุกฝ่าย  ผมหวังว่าการพูดคุยหรือสุนทรียสนทนาในวันนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหา และสร้างกลไกเพื่อป้องกัน ลดการฟ้องร้องแพทย์ และผู้ป่วยได้รับบริการดีขึ้น มีความรักกันมากขึ้น   

นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ข้อคิดเห็นเบื้องต้นต่อที่ประชุมดังนี้

 สืบเนื่องจากแพทยสภาได้มาพบผมและมีข้อเสนอมาหลายเรื่อง เรื่องนี้มีความสำคัญเร่งด่วนที่ต้องหาข้อสรุป  ปัญหานี้เราต้องทำใจให้ว่างเปล่า ผมเป็นรัฐมนตรีต้องวางตัวเป็นกลาง ให้ความเป็นธรรม และต้องพัฒนาในการแก้ไขปัญหา  ต้องรับฟังเหตุผลข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย  ทุกฝ่ายต้องใจว่างเปล่า  ทุกคนต้องใจกว้างและเป็นธรรม ต้องว่างและเอาภาพรวมของทุก รพ. ปัญหาจะแก้ได้  win-win กันหมด ประชาชนได้ประโยชน์  ระบบได้รับการพัฒนา  กระทรวงก้าวหน้า  หมอมีความสุข   

ปัญหาแพทย์ถูกฟ้องร้องมีมานาน โดยกฎหมาย โดยระบบ โดยวัฒนธรรม สืบเนื่องกันมา ยังไม่มีการทำความเข้าใจ  วันนี้สังคมสลับซับซ้อนมากขึ้น  นับวันคนในสังคมห่างไกลกันมากขึ้น  ที่จะรุ้สึกสนิทชิดเชื้อไม่มีทาง  ความสัมพันธ์ห่างไกล

 

ที่เกิดการประชุมสัมมนาในวันนี้ก็เกิดจากองค์กรของแพทย์ คือแพทยสภา  จึงเชิญในระดับกว้างรับฟังทั้งหมด แล้วมาสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร  อย่างที่ท่านอาจารย์ประเวศกล่าวว่าวิกฤติคือโอกาสนี้ถูกต้อง เพราะต้องการให้เกิดการแก้ปัญหาให้แพทย์มีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่  ถ้าแพทย์ไม่มั่นใจหรือหมดกำลังใจจะเกิดปัญหามากกับระบบบริการสาธารณสุข  ในทางตรงข้าม วันนี้ประชาชนคาดหวังมาก มีความต้องการสูง มีการร้องเรียนต่างๆ มากขึ้น  เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญมีการพัฒนาขึ้น ระบบโปร่งใสมากขึ้น  ทำอย่างไรให้การพัฒนาทั้งระบบเกิดความมั่นคงมั่นใจ  สำหรับแพทย์และประชาชน

 

การบริหารบริการทางการแพทย์ทุกวันนี้อยู่บนพื้นฐานของปัญหาอุปสรรค หนักมาก ความขาดแคลนบุคลากร เครื่องมือ การพัฒนาระบบ R&D ไม่มีการส่งเสริมงบประมาณด้านนี้  แพทย์แต่ละคนต้องตรวจคนไข้นอกจำนวนมาก และยังต้องดูคนไข้ในอีก  วันนี้ยุทธศาสตร์ในการดูแลด้านสาธารณสุขต้องปรับเปลี่ยน  แผนและโครงการต่างๆ ต้องสู่การป้องกัน ต้องลดการเจ็บป่วยที่สามารถทำได้  ที่บุ่งคล้าเจ็ดปีไม่มีไข้เลือดออก ต้องให้รางวัลที่นั่น  เราจะรณรงค์ลดการติดเชื้อเอดส์ในระดับเยาวชน นักศึกษา  ที่พัทยา เกาะสมุย เกาะภูเก็ต ที่กรุงเทพ ที่เป็นจุดล่อแหลมต่อการแพร่เชื้อ ต้องทำงานเชิงรุก  เห็นด้วยกับอาจารย์หมอประเวศว่าวิกฤติคือโอกาส โอกาสที่จะบอกกับรัฐบาลและประชาชนว่าระบบบริการสาธารณสุขของเรามีปัญหาอะไรบ้าง

 

ปัญหาหนึ่งคือการฟ้องร้อง การฟ้องร้องเกิดจากอะไร และจะแก้อย่างไร  เรื่องนี้หยิบยกขึ้นมา จะช่วยแก้ปัญหาอื่นอีกมาก  วันนี้ ก.พ. สำนักงบประมาณ ก.พ.ร. เริ่มเข้าใจ ว่าโครงสร้างและระบบบริหารจัดการของกระทรวงต้องมีการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดี

 

วันนี้ ตัวแทนของประชาชนที่มา ขอให้เสนอแนวความคิดในทางสร้างสรรค์  วันนี้ต้องพูดกันในหลักการเพื่อจะได้เกิดผลบุญกุศล  เราจะมาหาแนวทางในการทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์  แพทย์มีความมั่นใจ มีขวัญกำลังใจ  ประชาชนสังคมมีความเชื่อมั่น  การแพทย์เรามีความเจริญ  เราจะพูดกันด้วยความเคารพ  พูดกันฉันพี่ฉันน้อง  บรรยากาศจะได้ประสบความสำเร็จอย่างที่อาจารย์ประเวศเสียสละ เพราะไม่มีใครจะช่วยดับทุกข์ได้เท่าอาจารย์  ในเรื่องกฎหมายถ้าจะมีข้อเสนอก็เสนอมา 

 

เห็นด้วยว่าแพทย์ประสบความสำเร็จมาก  รักษาคนไข้หายหมื่นคน แต่พอเกิดปัญหารายเดียวก็น่าเห็นใจ  แต่อย่างที่เรียนว่าประชาชนไปหาหมอก็หวังจะรักษาให้หายจากความเจ็บป่วย  ปัญหาคุณภาพต่างๆ เป็นปัญหาระบบที่เราต้องมาพัฒนา  สิ่งเหล่านี้ แพทย์ กระทรวงสาธารณสุขไม่อยากให้เกิดขึ้น  แต่อาจจะเกิด error ขึ้น โดยรวมเราต้องพัฒนาปรับปรุงระบบ  ทำอย่างไรไม่ให้มีการหยิบผิด ไม่ว่าใครจะมาหยิบ  ต้องวางระบบให้ดี 

 

นี่คือจุดยืนของผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการ  เราต้องสร้างสิ่งที่เป็นคุณ  ตรงไหนมีจุดบกพร่องต้องแก้เพื่อประเทศ ไม่ใช่แก้เพื่อใคร  ประชากรเราจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรง เจ็บป่วยมาได้รับบริการทางการแพทย์  บริการได้รับการพัฒนาให้ประชาชนฝากผีฝากไข้ได้  ถ้าที่ประชุมมีข้อเสนออย่างไร จะได้นำไปแก้ไข  ผมรับฟังทุกฝ่าย

 
 
เมื่อวานได้สั่งการให้รองมานิตย์จัดจ้างพนักงานราชการมาจำนวนหนึ่ง 12 เขต เขตละคน มาช่วยให้คำปรึกษาแก่แพทย์ที่ถูกฟ้อง  ผมให้นโยบายว่าพยายามให้หมอมีความสัมพันธ์กับท้องถิ่นให้มาก  ท้องถิ่นเขาจะเข้าใจ  ไม่มีหมออยากแกล้งคนไข้  เจตนาหมอดี อยากให้คนไข้หาย  แต่เป็นเรื่องของยา ระบบ หรือคนป่วย 
 
ไปพบกับเหตุการณ์ตนเองที่โรงพยาบาล  พยาบาลเปิดห้องมาร้องว่าหมออยู่ไหน  ผู้หญิงคนหนึ่งคลอดลูก แกดิ้นมาก  จะเอาขึ้นเตียงแล้วมัด  หมอปราชญ์บอกไม่ต้องมัด เอาคลอดข้างล่าง จบเลย  อยู่ข้างล่างไม่ดิ้น  ถ้าไม่มีคนมีประสบการณ์อยู่  เอาขึ้นไปแล้วตกลงมาเขาก็ฟ้องหมออีก  แต่ละเรื่องเราต้องดู  ว่ากันตามข้อเท็จจริงซึ่งอาจจะถูกบ้างผิดบ้าง
 

จากนั้นทั้งฝ่ายผู้รับบริการและแพทย์ต่างก็นำเสนอทุกข์ของตัวเอง รวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาระบบ

 

ในส่วนของผู้รับบริการหรือผู้บริโภคได้พูดกันถึงเรื่องกองทุนเยียวยาความเสียหาย ให้คุ้มครองคนที่กำลังมีปัญหามีความทุกข์ในปัจจุบันด้วย การทำให้บริการสาธารณสุขเป็นสินค้ามนุษยธรรม การนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนสอนคนอื่น  มาตรฐานของการตรวจวินิจฉัยโรคและความทุกข์ของผู้ป่วยที่เกิดจากการวินิจฉัยผิดพลาดหรือล่าช้า  ความสำคัญของข้อมูลในเวชระเบียน  จรรยาบรรณของแพทย์  ความล่าช้าในการทำงานของแพทยสภา  คำพูดของแพทย์ที่กดดันผู้ป่วยและครอบครัว ความต้องการคำขอโทษซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องพิจารณาประเด็นทางกฎหมายด้วยเพื่อไม่ให้การขอโทษเป็นการยอมรับผิด การฟ้องเพราะหมอท้าให้ฟ้อง ความต้องการทราบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการเสียชีวิต

 

อาจารย์ประสบศรี อึ้งถาวร ได้เล่าให้ฟังถึงงานของแพทยสภา การดูแลมาตรฐานของการผลิตแพทย์   ขั้นตอนการทำงานในการพิจารณาเรื่องร้องเรียน  ความเป็นจริงทางการแพทย์เกี่ยวกับความซับซ้อนของโรคซึ่งการเสียชีวิตอาจจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ดุลยพินิจในการตัดสินใจในแต่ละสถานการณ์  การทำงานเป็นทีมของบุคลากรทางการแพทย์  ข้อจำกัดของระบบบริการทางการแพทย์ที่ไม่สามารถตอบสนองคาดหวังของประชาชนว่าคุณภาพซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับระบบบริการให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบสุขภาพตนเองด้วย ชีวิตการทำงานของแพทย์ในชนบทซึ่งเป็นแพทย์ที่เพิ่งจบ ภาระงานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น  การที่แพทย์ยึดถือผู้ป่วยทุกคนเป็นครูให้เราได้เรียน

 

อาจารย์อนงค์ เพียรกิจกรรม ได้นำบทความเรื่อง “ทำอย่างไรจึงไม่ถูกฟ้อง เมื่อถูกฟ้องควรทำอย่างไร” มาแจกที่ประชุม และชี้ให้เห็นความยากลำบากในการวินิจฉัยโรคซึ่งก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจของผู้รับบริการ เช่น โรคไวรัสทุกชนิดแยกไม่ได้เลยในวันแรกว่าเป็นอะไร โรคไข้เลือดออกมีโรคที่ต้องแยกโรคมากกว่า 20 โรค  และอาจจะมีอาการเหมือนการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือตับวายก็ได้  คนไข้ที่มีอาการเหมือนไส้ติ่งอักเสบอาจจะเป็นไส้ติ่งแตกหรือเป็นโรคอื่นได้อีกมากกว่า 20 โรค  คนไข้ถูกงูกัดอาจจะเสียชีวิตเพราะ compartment syndrome ไม่ได้เกิดจากพิษงู  โดยสรุปคือเราขาดทั้งจำนวน ทักษะความสามารถ และการบริหารจัดการ

 

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ได้กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยว่าบางครั้งเกิดจากความไม่เข้าใจกัน  ทำให้การซักประวัติของแพทย์ถูกมองว่าเป็นการดูถูก  หลังจากตรวจเสร็จแพทย์ต้องคิดว่าเป็นโรคอะไร อยู่โรงเรียนแพทย์ต้องคิดมา 5 โรค อะไรน่าจะเป็นมากที่สุด อะไรน่าจะเป็นมากที่สุด จะรักษาอย่างไร ต้องลองรักษา ต้องติดตามดูอาการ เพราะฉะนั้นการรักษาของหมอจึงเป็นการใช้ดุลยพินิจ ไม่สามารถฟันธง  ในต่างประเทศ รักษาคนไข้เกิน 6 คนต่อหนึ่งชั่วโมงก็ไม่รักษาแล้ว เพราะจะเกิดความผิดพลาด  ในระบบสามสิบบาท ดูคนไข้ชั่วโมงละ 30-50 คน  ผู้ป่วยเสียชีวิตส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุของผู้ป่วยเอง เช่น อาการเกินเยียวยา ไม่ตอบสนองต่อการรักษา แพ้ยา  เมื่อเกิดการสูญเสียขึ้นและมีการพูดคุยกันน้อย ญาติก็จะ project ไปที่คนอื่น หมอรักษาไม่ดีเป็นสาเหตุอันแรก  ปัญหาที่ทับถมเพราะหมอส่วนหนึ่งทนความกดดันไม่ได้ลาออกจำนวนมาก

 

นพ.พินิจ หิรัญโชติ ยกตัวอย่างกรณีแพทย์ถูกฟ้องให้ฟังเพื่อให้เห็นความสำคัญว่าแพทย์ต้องรู้กฎหมายและต้องอ่านคำฟ้อง  ส่วนใหญ่คนที่ฟ้องมีใครอยากเอาหมอติดคุกหรือไม่ ไม่มี แต่อยากจะเอาคำพิพากษาคดีอาญาไปมัดคดีแพ่ง

ฯลฯ

ในตอนสุดท้าย อาจารย์ประเวศ วะสี ได้กล่าวสรุปว่า

 

วันนี้เป็นครั้งแรกที่ทุกฝ่ายมาพูดจากกัน เอาความทุกข์มาพูดกัน พยายามหาวิธีการแก้ไข  ในการพบปะกันวันนี้ได้แสดงให้เห็นขันติธรรมของทุกฝ่าย รับฟังความทุกข์จริงของทุกฝ่ายโดยไม่เข้าไปเถียงไม่เข้าไปแก้  ในการแก้ปัญหาต้องเริ่มด้วยความจริง ถ้าเข้าไปสู่การทะเลาะกันมันแก้ไม่ได้  ใครจะคิดว่าแพทย์จะมีความทุกข์ แต่ฟังดูความทุกข์เต็มไปหมด  คนไข้นี่แน่นอน พ่อตาย แม่ตาย มันเรื่องใหญ่ จะไปอ้างสถิติไม่ได้  เมื่อเกิดขึ้นกับเขามันคือ 100% ของเขา  เรื่องนี้มันซับซ้อนและยาก ไม่มีใครสางออก นอกจากต้องมาเรียนรู้ร่วมกัน ต้องมีเมตตา เปิดเผย จริงใจ เชื่อถือได้  และพยายามแก้ไขออก  ฟังดูเป็นทุกข์ทั่วโลก

 

จะสรุปและจ่ายงานไปทำห้าประการ

 

1. สร้างความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้ป่วย ญาติ และผู้ให้บริการ ไม่มีใครอยากฟ้องหมอ นอกจากมันเจ็บแค้น  ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดี เขาก็ไม่อยากเอาเรื่องแม้จะมีความผิดพลาดทางเทคนิค  เรื่องการสื่อสาร  เมื่อ 30 ปีก่อน มีศาสตรจารย์เยอรมันเข้าไปสังเกตดูการพูดคุยระหว่างหมอกับคนไข้ของเราแล้วบอกว่าไม่มี communication ผมพูดมานานแล้ว ตอนหมอธาดาเป็นคณบดีที่สงขลานครินทร์ ถามว่าน่าจะปรับปรุงหลักสูตรเรื่องอะไร  ผมบอกว่าน่าจะปรับปรุงเรื่องการสื่อสาร  เราต้องเรียนจากคนเป็นๆ ที่มีชีวิต  หลักของการสื่อสารคือการเคารพผู้ป่วย ญาติ  ตรงนี้ สปสช. พยายามริเริ่มทำเรื่องความสัมพันธ์ เพื่อนให้เพื่อน มิตรภาพบำบัด มิตรภาพจะช่วยเยียวยา  สปสช.กำลังทำอยู่แล้ว  ไปสร้างแรงจูงใจให้ รพ.ต่างๆ ทำเรื่องนี้ เรื่องมิตรภาพบำบัด แรงจูงใจ  แพทยสภาลองช่วยทบทวนตรงนี้ จะเรียนกับคนเป็นๆ จะสร้างความสัมพันธ์อย่างไร จะสื่อสารอย่างไร รวมทั้ง in-service training สำหรับแพทย์ที่จบไปแล้ว

 

2. การปฏิรูประบบบริการและกำลังคน มันไปไม่ไหว ภาระมันท่วมท้นก็ไม่มีเวลาไปสนใจอะไรต่างๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่  กระทรวงสาธารณสุขเองทำงานวันต่อวัน ไม่มีเวลาคิดเรื่องนี้  สวรส.ต้องไปคิดเรื่องนี้มาอย่างเร็ว รัฐมนตรีมอบหมายมาแล้ว รวมทั้งต้องลดการพึ่งพา รพ.และแพทย์ลง  คนอเมริกันที่ไปหาแพทย์ตายเพราะไปหาแพทย์ประมาณแสนคน ต้องพยายามอย่าไปหาโดยไม่จำเป็น  ต้องดูว่าอะไรที่จำเป็นจึงไปหา  เรื่อง emergency กับ non-emergency  ซึ่ง emergency ไม่มีทางเลือก แต่ non-emergency มีทางเลือกตั้งเยอะแยะ

 

3. การเยียวยาและสมานฉันท์  เวลาพ่อแม่เขาตาย อย่าไปต่อสู้ว่าเราทำดีที่สุด  ต้องเยียวยาและสมานฉันท์เพราะเขากำลังทุกข์อย่างหนัก  เรามีศูนย์สันติวิธีและสมานฉันท์ ซึ่งฝึกอบรมคนไปหลายพันคน  กระทรวงต้องให้งบประมาณเขา  ผมเห็นว่าหมอบรรพตจริงใจที่จะทำเรื่องนี้   กระทรวงต้องเห็นคุณค่าของศูนย์สันติวิธีตรงนี้มากขึ้น

 

4. ต้องมีองค์กรกลางเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม ต้องไปคิดว่าจะประกอบด้วยใครบ้าง กระทรวง แพทยสภา ผู้บริโภค เข้ามาทำงานร่วมกัน  กระทรวงน่าจะเข้ามาดูแลตรงนี้

 

5. เข้าไปร่วมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ซึ่ง ดร.กิตติพงศ์ กิตติยารักษ์ ขณะเป็นอธิบดีกรมคุมประพฤติ ได้พยายามทำไว้ เพราะกระบวนการธรรมดาทำไม่ไหวแล้ว  ทางนี้ต้องร่วมกับ ดร.กิตติพงศ์ มีคนไปร่วมทำตรงนี้  ไม่อย่างนั้นก็จับไปเข้ากระบวนการเกิดเรื่องแล้วจับเข้ากุญแจมือ  ส่วนจะเรียกอะไรก็ไปดูรายละเอียดกัน 

 

กระทรวงควรตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยฝ่ายต่างๆ มีตัวแทนเข้ามา  เอาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เข้ามาด้วย  กระทรวงรับเป็นเจ้าภาพ และให้คณะกรรมการรับดูแลเรื่องทั้งหมด เป็น academic social process

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12449เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2006 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นคนนึงที่อยากเรียนแพทย์นะคะ

แต่ว่าก็มีคนพูดเรื่องแพทย์ถูกฟ้องร้องเยอะ

แต่ก็ยังคิดที่จะเรียนอยู่นะคะ

และหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้

แล้วก็เห็นด้วยกับแนวทางแก้ไขทั้ง 5 ข้อนี้ด้วยนะคะ

แพทย์ตามรพ.ตจว.บางคนก้ยังไม่ได้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ยังล้าหลัง ยังเห็นคนไข้เป็นภาระงาน ถ้าไม่มีการปรับตัว การฟ้องร้องก็สูงเป็นเรื่องปกติค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท