ทำอย่างไรให้ "งานได้ผล และ คนเป็นสุข"


ผมได้เปิดประเด็นโดยชี้ให้เห็นตัวอย่างการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน blog (gotoknow) ว่าผมได้เอาประเด็นเรื่องนี้ Post ไว้ใน gotoknow เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ปรากฎว่าถึงวันนี้มีคนอ่านแล้ว เกือบสองร้อยคน และมีคนช่วยกัน Comment เสนอประเด็น "การทำงานอย่างมีความสุข" มากกว่า 10 คน Comment ของแต่ละคนนั้นเรียกได้ว่าเป็น "หัวกะทิ" Tacit Knowledge ในเรื่องนี้เลยที่เดียว

     เมื่อวันเสาร์ที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา (ระหว่างเวลา 19.00-20.30 น.) ผมได้ไปนำการพูดคุยเรื่อง "การทำงานอย่างมีความสุข" ให้กับคณะผู้บริหารของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)  ผมเริ่มต้นด้วยการมองเรื่องการทำงานอย่างมีความสุข เป็น 2 มุมมอง ดังนี้:


     มุมมองแรก เป็นมุมมองเชิงปัจเจก คือ มองว่าถ้าคนที่ทำงานนั้นๆ รักงานที่ทำ หรือ ได้ทำงานที่ตนรัก ก็จะเป็นผู้ที่มีความสุขในการทำงาน  ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริหารสามารถจะทำได้ก็คือการใช้คนให้ตรงกับงาน มอบหมายงานที่เห็นว่ามีความเหมาะสมกับคนๆ นั้น เหมือนกับที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่า "Put the right man in the right job" อะไรทำนองนั้น

     มุมมองที่สอง เป็นมุมมองเชิงองค์กร คือมองว่าแค่ "ความรักในงาน" นั้นคงยังไม่พอ ทั้งนี้เนื่องจากเป้าหมายของทุกองค์กรจะโยงอยู่กับผลงานที่คนในองค์กรจะต้องร่วมกันทำ คำว่า "ร่วมกัน" นี่แหละครับที่อาจจะนำไปสู่ปัญหา พาไปสู่ความขัดแย้ง และทำให้ไม่มีความสุขในการทำงานได้ โจทย์สำหรับมุมมองที่สองนี้ ถ้าจะดีอาจจะต้องพูดว่า "การทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข" คือนอกจากจะ "รักในงาน" แล้ว ยังต้อง "รักในคน" อีกด้วย เป้าหมายของการทำงานในองค์กรจึงน่าจะอยู่ที่ "งานได้ผล และคนเป็นสุข"

     ผมได้เปิดประเด็นโดยชี้ให้เห็นตัวอย่างการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน blog (gotoknow) ว่าผมได้เอาประเด็นเรื่องนี้ Post ไว้ใน gotoknow เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ปรากฎว่าถึงวันนี้มีคนอ่านแล้ว เกือบสองร้อยคน และมีคนช่วยกัน Comment เสนอประเด็น "การทำงานอย่างมีความสุข" มากกว่า 10 คน  Comment ของแต่ละคนนั้นเรียกได้ว่าเป็น "หัวกะทิ" Tacit Knowledge ในเรื่องนี้เลยที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นของคุณวีรยุทธ จากกำแพงเพชร   คุณ "อัตตาโร" ซึ่งผมได้ลองให้ที่ประชุมทายดูว่ารู้ไหมว่าเป็นใคร  ก่อนที่จะเฉลยว่าเป็น ดร. วรภัทร  ภู่เจริญ  คุณ "ptk" แห่งมูลนิธิฟูลไบร์ท   ดร. จันทวรรณ  แห่ง มอ.   อาจารย์มาลินี  ธนารุณ แห่ง มน. คุณตุ่ม คุณน้ำ คุณชายขอบ   คุณใบบุญ  และ คุณสุกัญญา ....ซึ่งผมขอขอบคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

     สำหรับประเด็นหลักๆ ที่ผมได้จากผู้บริหาร พอช. ในค่ำคืนวันนั้น  สรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้  

(1) ในฐานะที่ผู้บริหารมีหน้าที่รับผิดชอบระบบ จะต้องพยายามโยงสิ่งที่ทำกับความสำเร็จ (ความก้าวหน้า) ที่เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเห็นผลของสิ่งที่ทำ เป็นการสร้างความภูมิใจ สร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ที่ปฏิบัติงาน 

(2) ทำอย่างไรจึงจะให้คนได้เข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ล้วนเป็นผลมาจากการกระทำ (กรรม) ของเราทั้งสิ้น  หากเราไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผลที่ออกมาก็จะซ้ำเดิมอีก

(3) หลายครั้งที่เราทุกข์นั้นเป็นเพราะกรอบความคิด (Mental Model หรือ Paradigm) ของเรานั้นผิด  จะต้องเข้าไปแก้ไขที่ตรงนั้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ   

(4) นอกจากผู้บริหารจะต้องชื่นชมคนอื่นแล้ว  จะต้องไม่ลืมที่จะชื่นชมตนเอง ยอมรับ และเห็นคุณค่าของตนเอง พร้อมทั้งต้องรู้ด้วยว่าข้อจำกัด และจุดอ่อนของตนเองอยู่ตรงไหน  จะได้พัฒนาหรื่อหาคนอื่นมาช่วยเสริมในจุดนั้นๆ     

(5) ต้องรู้จัก "ให้อภัย" ได้ในทุกเรื่อง บางเรื่องที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (ไม่ได้อยู่ใน Control) ก็ต้องรู้จัก "ทำใจ" และให้หันมาเน้นที่การเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นหลัก

(6) จิตจะต้องว่าง ต้องรู้จักปล่อยวาง ไม่กังวลจนเกินเหตุ 

     ในช่วงใกล้จบ ผมได้เสริมว่า ที่องค์กรส่วนใหญ่มีปัญหา  เพราะเราขาด "การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking)"   การคิดแบบแยกส่วน ทำให้เราเน้นไปเฉพาะจุด  เน้นเฉพาะส่วนที่เป็นงานของเรา  ไม่เข้าใจภาพใหญ่  ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาพรวม  ผู้ที่เข้าใจในภาพรวม นอกจากจะเห็นความเชื่อมโยงของงานที่ทำกับความสำเร็จขององค์กรแล้ว  ยังจะเห็นอีกด้วยว่า แท้จริงแล้ว เรื่อง "ชีวิต งาน การเรียนรู้ และความสุข" นั้น เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย  ที่บางคนไม่มีความสุขในการทำงานนั้น อาจเป็นเพราะว่า มองความสุขกับงานเป็นคนละเรื่องกัน ไม่มีการเรียนรู้เป็นตัวเชื่อมระหว่างงานและความสุข มองไม่เห็นว่าในที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็น งาน ความสุข หรือการเรียนรู้   มันก็คือส่วนหนึ่งของชีวิตเรานี่เอง  (ดังรูปข้างล่างนี้)

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12409เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2006 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

   "งานได้ผล   คนเป็นสุข" เป็นความมุ่งหวังของคนทำงานทุกคนครับ ผมเข้าร่วมสัมมนาเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการของ พอช.เมื่อวันที่ 14-15 มกราคม 2548 ที่บ้านผู้หว่าน อ.สามพราน จ.นครปฐม ในครั้งนี้ด้วยครับ

   การนำพูดคุยของ อ.ประพนธ์   ผาสุขยืด ในประเด็นการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข ที่อาจารย์ได้ให้ข้อเสนอว่า "คนเรานอกจากจะรักในงานแล้วจะต้องรักในคนอีกด้วย" เป้าหมายการทำงานในองค์กรจึงอยู่ที่ว่าการทำให้ "งานได้ผลแล้วคนเป็นสุข" คำถามจึงมีอยู่ว่า แล้วจะทำอย่างไรจึงจะเกิดผลทางการปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง ระหว่างการพูดคุยเสวนา ผมเกิดปิ๊งไอเดียที่ว่า "นอกจากผู้บริหารจะต้องชื่นชมคนอื่นแล้ว จะต้องไม่ลืมที่จะชื่นชมตนเอง ยอมรับ และเห็นคุณค่าของตนเอง เพื่อที่จะได้แสดงศักยภาพในงานได้เต็มที่ พร้อมทั้งต้องตระหนักรู้ด้วยว่า ตนเองมีข้อจำกัดและจุดอ่อนอยู่ตรงไหน จะได้พัฒนาหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่นมาเสริมในจุดนั้นๆ รวมทั้งจะได้มอบหมายภาระกิจนั้นๆ ให้คนที่เขามีความถนัดทำ"

   ซึ่งก็คือกระบวนการเรียนรู้/พัฒนาบนฐานจุดแข็ง (Strengths Base Learning) หรือ กระบวนการเรียนรู้/พัฒนาบนฐานความสามารถ (Competency Base Learning) นั่นเอง ทำให้ผมมีความสนใจจะศึกษาค้นคว้าในเรื่องดังกล่าว เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในงาน เพื่อให้ "งานได้ผล คนเป็นสุข" ใครมีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวนี้ช่วยให้คำแนะนำผมด้วยครับ

   สุเทพ   ไชยขันธุ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท