เทคนิคการจูงใจเพื่อให้นักเรียนชอบเรียนภาษาไทย


Literature-Based Approach

          เด็กวัยประถมศึกษา  เป็นวัยแห่งการเรียนรู้  ยิ่งเมื่อเจริญเติบโตขึ้นเขายิ่งมีความต้องการที่จะศึกษาหาความรู้ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในเรื่องใดๆก็ตาม(เป็นความรู้สึกส่วนตัวตามประสบการณ์การทำงานของครูโอ๋นะคะ)การจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กๆ จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิควิธีการอันหลากหลายซึ่งเทคนิคต่างๆเหล่านั้นครูผู้สอนจะเป็นผู้นำเสนอและนำทางความรู้ให้แก่นักเรียน  จากประสบการณ์การสอนที่ผ่านมา  ครูโอ๋พบว่าในเรื่องของหลักภาษา หรือการใช้ภาษาให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่จะต้องกล่าวถึงอยู่เป็นประจำสำหรับนักเรียน เพราะนักเรียนมักจะคิดว่าหลักภาษาเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก น่าเบื่อ  มีขั้นมีตอนที่เยอะแยะมากมายในการใช้และแทบจะทุกครั้งที่มีการเรียนการสอนก็มักจะต้องเกิดการเคี่ยวเข็ญ  หรือสอนผ่านไปแล้วก็ยังต้องย้อนกลับมาสอนใหม่  ต้องสอนซ้ำๆซ้ำแล้วซ้ำเล่าซึ่งบางทีการสอนของเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในรูปแบบเดิมเสมอไปครูอาจสอนโดยใช้เทคนิคอื่นๆที่นักเรียนอาจจะไม่รู้ว่าเรื่องนี้ได้เรียนมาแล้วและกำลังเรียนอยู่เพื่อย้ำความเข้าใจและเทคนิคที่ครูโอ๋นำมาใช้เป็นประจำและได้ผลเป็นที่น่าพอใจคือ  ใช้รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาแบบ   Literature-Based  Approach  คือใช้วรรณคดีและวรรณกรรมเป็นเนื้อหาหลักแล้วบูรณาการเข้ากับทุกทักษะทั้งการอ่าน  การพูด  การเขียน  และการคิด ในสาระการเรียนรู้เดียวกันและบูรณาการกับสาระการเรียนรู้อื่น                                                                        

วิธีการ

1.  คัดสรรวรรณกรรมมาให้นักเรียนอ่านที่มีความหลากหลายโดยเป็นคำประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ได้แก่ นิทาน  ตำนาน  กลอนสุภาพ  กลอนเสภา  สำหรับวรรณคดีก็ได้คัดเลือกเรืองที่เหมาะสมกับวัยของนักเรียน

2. จัดทำเป็นใบความรู้ที่มีรูปลักษณ์น่าอ่านน่าสนใจ

3. ฝึกทักษะการอ่านของนักเรียน  โดยครูพาอ่านก่อน

4. ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มการอ่านใบความรู้ในกลุ่มของตนเอง

5.  เมื่อนักเรียนอ่านเรื่องจบแล้วจะเป็นการฝึกทักษะจากกิจกรรมหลังการอ่านและกิจกรรมสัมพันธ์ทักษะ ที่จะช่วยย้ำความเข้าใจจากการอ่านโดยแสดงออกในรูปแบบของการเขียนหรือกาพูดอภิปรายแสดงความคิดเห็น                                 -  กิจกรรมหลังการอ่าน และกิจกรรมสัมพันธ์ทักษะ เช่น             

1.1  คิด- พูด ( เกี่ยวกับเนื้อหา  ข้อคิด การนำไป  ใช้ )           

1.2  คิด- เขียน  (  เป็นการจัดทำแผนภาพโครงเรื่อง  )           

1.3  คิด- วาด  (  วาดภาพตามจินตนาการจากเรื่อง  แล้วตั้งชื่อเรื่องจากภาพ )

6. นักเรียนแต่ละกลุ่มออกมานำเสนอผลงานของสมาชิกในกลุ่ม โดยกลุ่มอื่นจะเป็นผู้พิจารณาและวิจารณ์ผลงาน7.          ครูสนับสนุนความคิดเห็นและให้กำลังใจในการทำกิจกรรมครั้งต่อไปโดยการชม             

               วิธีการสอนต่างๆเหล่านี้ครูผู้สอนทุกคนสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม หรือตามแต่วิธีการสอนที่ครูจะนำมาใช้เพิ่มเติม เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้

               จากการนำไปใช้พบว่า  นักเรียนส่วนใหญ่หันมาสนใจการอ่านวรรณกรรมและวรรณคดีมากขึ้น  โดยที่ครูไม่ต้องมาคอยกำกับดูแล สนใจที่จะศึกษาในเรื่องของหลักการใช้ภาษามากขึ้นจากการอ่านและการทำกิจกรรม  ที่นักเรียนทำกันเป็นกลุ่มและให้คำปรึกษาซึ่งกันและกัน  ครูก็เป็นเพียงผู้คอยสนับสนุนและชื่นชมในความใฝ่รู้ใฝ่เรียนของนักเรียน  และยังเป็นการเพิ่มกำลังใจให้ครูในการที่จะไปคิดค้นเทคนิคใหม่ๆมาสอนอีกครั้งต่อไป 

                 อาจจะมีเทคนิคใหม่ๆที่น่าสนใจมาให้ได้ทดลองทำดูในการเรียนการสอนอีก  อดใจรออีกนิดนะคะ คงไม่นานเกินรอหรอกค่ะ 

นางจารุณี  จันมี   (  ครูโอ๋ ) โรงเรียนนพคุณวิทยา  สพท. สมุทรปราการเขต  1  ส่งเรื่องนี้ไปเมื่อวันที่   1 กันยายน  2550  

คำสำคัญ (Tags): #คุณครู
หมายเลขบันทึก: 124036เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2007 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท