ชีวิตที่พอเพียง : 355. สุขใจไปกับ R2R ศิริราช


         วันที่ 17 ส.ค. 50 ช่วงเช้า ผมไปร่วมประชุมวาระพิเศษของโครงการ R2R ที่ศิริราช     เป็นการประชุมที่นัดยากมาก    เพราะเขาต้องการเอามนุษย์ที่หาเวลาว่างยาก 3 คนมาร่วมประชุมกัน      คือ ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย    นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์   และผม

         เขาต้องการคุยกันแบบเปิดใจ (reflection) ว่าเจ้าอาชีพนักจัดการงานวิจัย R2R มันจะมีอนาคตไหม     โครงการ R2R ของศิริราชจะมีอนาคตเป็นอย่างไร     เป็นประเด็นที่ผมชอบ พลาดไม่ได้

เป็นการประชุมที่ผมมีความสุขที่สุดครั้งหนึ่ง      เพราะ
     1. ผมได้ร่วมอยู่ในวง “พูดด้วยใจ” หรือ “พูดออกมาจากใจ” ที่มีพลังสร้างสรรค์สูงมาก     ผู้บริหารโครงการ R2R ศิริราช 3 คน เล่าเหตุการณ์และความรู้สึกลึกๆ ของตนออกมาทำให้เกิดความเข้าใจ R2R และทีมงานมากขึ้นอย่างนึกไม่ถึง      ผู้บริหารโครงการทั้ง 3 มีความกังวลใจอยู่ลึกๆ คนละแบบ
     2. ผมนึกแบบเข้าข้างตัวเองว่า ถ้าอาจารย์แพทย์หนุ่มๆ 3 คนนี้ ไม่ได้สัมผัสกับ KM     ท่านเหล่านี้จะ “เปิดใจ” ได้ไม่เก่งอย่างนี้     การเปิดใจเป็นทักษะอย่างหนึ่ง ที่สำคัญมากต่อการเรียนรู้จากชีวิตจริง
     3. “ความฝัน” ของ อ. หมอปรีดา มาลาสิทธิ์ ที่อยากเห็นศิริราชเคลื่อนตัวไปเป็นส่วนหนึ่งของ “มหาวิทยาลัยวิจัย” ที่มีการนำการวิจัยเข้าไปเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนางานประจำ     การสร้างความรู้ใหม่ (วิจัยพื้นฐาน)     และการเรียนการสอน     โดยใช้ “การจัดการงานวิจัย” เป็นพลังขับเคลื่อน     “ฝัน” ของ อ. หมอปรีดา ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมาก
     4. ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย ให้คำแนะนำผู้บริหารโครงการให้ “ยืนสองขา” คือทำงานหลักในภาควิชาของตน ไปพร้อมๆ กับการเป็น CF (Cluster Facilitator) ของโครงการ R2R    คือต้องอย่าทิ้งวิชาการในสาขาหลักของตน   

         การพูดคุยกันแบบเปิดใจ ทำให้เราเห็น “ความจริง” เต็มภาพมากขึ้น ชัดขึ้น      เห็นทั้งโอกาส ศักยภาพ ข้อจำกัด และหลุมพราง     ผมได้เรียนรู้มากอย่างไม่น่าเชื่อ     มีการพูดกันถึงอาชีพนักบริหารงานวิจัย ที่ชีวิต อ. หมออัครินทร์ ดูจะค่อยๆ เคลื่อนเข้าไป     มีการมองภาพรวมของระบบการจัดการงานวิจัยที่ศิริราช     ที่คนแก่อย่าง ศ. นพ. ธาดาและผม (หมอสมศักดิ์ยังไม่แก่ แต่เก่งยิ่งกว่าผม) สามารถเอาประสบการณ์ไป โค้ช พวกน้องๆ (จริงๆ คือลูก) ทำประโยชน์แก่สถาบันและบ้านเมืองได้
 
         R2R เริ่มต้นที่ศิริราช  แต่เวลานี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในศิริราช     แต่ได้สร้างแรงบันดาลใจ     สร้างพลังร่วม ขึ้นในเครือข่าย R2R ของประเทศไทย

         ภาพฝัน R2R เมื่อ 3 ปีที่แล้ว กับภาพปัจจุบันต่างกันมาก     ภาพปัจจุบันงดงามและสง่างามกว่ามาก     แสดงว่างานสร้างสรรค์อย่างนี้ไม่มีใครเก่งพอที่จะเห็นภาพอนาคตได้ชัด      หรือจริงๆ แล้วเมื่อทีมสร้างสรรค์มีพลังมาก     เราจะค่อยๆ สร้างสรรค์ทีละน้อย ทีละน้อย พอถึงจุดหนึ่ง “ภพภูมิใหม่” ก็เกิดขึ้น เป็นภาพที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม     และพร้อมที่จะไม่ชัดเพราะเราเติมฝันเข้าไปอีก     ฝันที่ว่านี้คือความท้าทายต่อพวกเราเอง       และนั่นคือสิ่งที่ อ. หมอปรีดาทำในวันที่ 17 ส.ค.

         แต่ผมบอกว่า คนที่จะฝันและมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ฝันเป็นจริง คือรองคณบดีฝ่ายวิจัยคนปัจจุบัน (อ. หมอปรีดาเป็นอดีต) รศ. นพ. ประเสริฐ เอื้อวรากุล     เราจึงนัด อ. หมอประเสริฐ มาวาดฝันให้เราฟัง      เพื่อสานเสวนาไปสู่แผนยุทธศาสตร์ของโครงการ R2R ระยะที่ 2     ซึ่ง ศ. ธาดา แนะให้ขอทำความตกลงเป็นโครงการ 5 ปี

         วันที่ 22 ส.ค. 50 อ. หมอประเสริฐ เอื้อวรากุล ก็มาวาดฝันตามนัด     ปรอท เอ็นดอร์ฟิน ของผมก็พุ่งปรู๊ด ไปทะลุ 100 องศา      เพราะนี่คือภาพฝันของผมสมัยเกือบ 40 ปีก่อน      คือการขับเคลื่อนศิริราชไปสู่ความเป็นคณะในมหาวิทยาลัยวิจัย      รูปธรรมคือการมี “อาจารย์พันธุ์ใหม่” ที่มีภาระหน้าที่เน้นงานวิจัย และทำงานบริการผู้ป่วยและงานสอน นศพ. เป็นงานรอง      อ. หมอประเสริฐ หวังว่าจะมีอาจารย์แพทย์ประเภทนี้สัก 20% ของทั้งหมด (เวลานี้ศิริราชมีอาจารย์แพทย์ 700 คน)
       
         เราแลกเปลี่ยนความเห็นกันเรื่องการพัฒนาอาจารย์แพทย์พันธุ์ใหม่นี้     ผมให้ความเห็นว่า ต้องพัฒนาแนวใหม่ ที่เป็นแนวทางของมหาวิทยาลัยวิจัย      ต้องไม่ตกหลุมพรางของวิธีคิดแบบเดิม ที่มุ่งส่งคนไปเรียนหรือฝึกอบรมต่อในต่างประเทศ     ต้องฝึกภายใต้เครือข่ายวิจัยคลินิกที่เราคิดขึ้นเอง และชวนหน่วยงานในประเทศ ในต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมาร่วมมือกัน

         ผมฝันว่า อาจารย์แพทย์พันธุ์ใหม่เหล่านี้ จะเป็น “อาจารย์แพทย์นานาชาติ”      คือทำงานวิจัยอยู่ในเครือข่ายวิจัยคลินิกของประเทศไทย เชื่อมโยงกับเครือข่ายสากล     โดยมีประเทศไทยแสดงบทบาทสำคัญอย่างเทียมบ่าเทียมไหล่กับนักวิจัยชาติอื่นๆ ร่วมกับนักวิจัยจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

         ผมฝันว่า นี่คือ “หัวหอก” ของการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยวิจัยของไทย

                      

การประชุมเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 50 วนตามที่นั่งรอบโต๊ะ จากขวาไปซ้าย นพ. ประเสริฐ, นพ. กุลธร, นพ. อัครินทร์, คุณแอนแห่ง มสช., นพ. เชิดชัย, คุณฝน, นพ. สมศักดิ์

                     

                                    อีกบรรยากาศหนึ่ง

                     

                         คนสวมเสื้อแดงคือ พญ. ลัดดา

วิจารณ์ พานิช
22 ส.ค. 50

หมายเลขบันทึก: 123644เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2007 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท