การสอนงานมือใหม่ เดือนมกราคม 2549 (3)


หลักการทำงานในพื้นที่ ต้องจริงจังและมุ่งมั่นในการทำงาน จริงใจ และภูมิใจในศักดิ์ศรีของนักส่งเสริมการเกษตร เข้าถึงเกษตรกร และเข้าใจพื้นที่/เกษตรกร

          เรื่องเล่าของคุณปรารภ  คันธวัน  (ลิงค์ ตอนที่ 1 / ตอนที่ 2 / ตอนที่ 4 )


            คุณปรารภ  คันธวัน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6 ว สำนักงานเกษตรอำเภอทรายทองวัฒนา จบการศึกษาสูงสุดในระดับปริญาโท ศิลปศาสตรมหบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา จาก มรภ.กำแพงเพชร  มีประสบการณ์ในการทำงานในการส่งเสริมการเกษตร มากกว่า 20 ปี  ปัจจุบันได้รับฉายา “เกษตรสามตำบล” เพราะที่อำเภอทรายทองวัฒนามีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรเพียงคนเดียวครับ
          เรื่องที่ได้มาเล่าก็เกี่ยวกับการทำงานในพื้นที่ ซึ่งมีระบบการทำงานตั้งแต่ระบบการฝึกอบรมและเยี่ยมเยียน และพัฒนาปัจจุบันใช้ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลเป็นกลไกในการทำงาน


            การทำงานในพื้นที่ ได้ดำเนินการตามบทบาทของศูนย์ฯ คือ
          1. การจัดทำข้อมูล
          2. การจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรประจำตำบล
โดยใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก  ต้องมีการจัดทำเวทีชุมชน อาจทีละหมู่  แต่ส่วนใหญ่จะทำรวมทั้งตำบลเพราะรับหลายตำบล เทคนิคการจัดทำแผนคือ
            2.1 การคัดเลือกคนมาร่วมในการจัดทำแผน ต้องเลือกให้ดี เป็นตัวแทนของเกษตรกรอย่างแท้จริง เช่น ผู้นำชุมชนที่ทำนา หรือคนที่เกษตรกรให้ความนับถือ ตัดสินใจได้
            2.2 แบ่งกลุ่มพืชแล้วให้ตัวแทนของชุมชนได้ร่วมกันคิด วิเคราะห์สภาพและปัญหาของกลุ่มอาชีพนั้น โดยการระดมความคิด เช่น คิดต้นทุนกระบวนการทำนา แจกแจงว่าแต่ละกระบวนการใช้ค่าใช้จ่ายเท่าไร แล้วกลุ่มพิจารณาดูว่า กระบวนการใดที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ หรือกิจกรรมอื่นๆ แล้วหาวิธีการปฏิบัติเพื่อลดต้นทุนกระบวนการทำนา
            2.3 ปัญหาที่มักจะพบในพื้นที่ก็คือ การขาดการบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ วิธีแก้ ต้องมีการประสานงานที่ดีเน้นการประสานงาน จะทำให้ทำงานในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น
            2.4 ทำอย่างไรทำแผนแล้วจะไปสู่การปฏิบัติ  แผนบางอย่างไม่จำเป็นต้องรอการสนับสนุนแผนจากกรมส่งเสริมฯ ดังนั้นจึงต้องนำเสนอแผนสู่ อบต.
                 1) เทคนิคคือต้องพยายามดึง อบต.มามีส่วนร่วมในการวางแผนให้ได้
                 2) การคัดเลือกตัวแทนของ อบต. ให้มาเป็นคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ หรือเชิญนายก อบต.มาเป็นที่ปรึกษาศูนย์ ฯ เพื่อให้เห็นความสำคัญ
การประสานงาน  ใช้การประสานงานเป็นหลัก
          3. การให้บริการ
          4. การถ่ายทอดเทคโนโลยี 

                                        การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักส่งเสริมมือใหม่

         หลักการทำงานในการจัดตั้งกองทุนศูนย์ฯ ที่ประสบความสำเร็จ

          การจัดตั้งกองทุนศูนย์บริการและถ่ายทอดฯ  โดยการตั้งคณะกรรมการ และจัดทำข้อตกลงให้งบประมาณสนับสนุน โดยให้เกษตรกรนำเงินมาคืนเพื่อก่อตั้งเป็นกองทุนศูนย์ฯ  เพื่อนำมาช่วยเหลือเกษตรกรรายอื่นต่อไป โดยไม่มีการให้เปล่า การคืนหรือกฏระเบียบต่างๆ ให้คณะทำงานเป็นคนกำหนด/จัดทำข้อตกลงร่วมกัน

          การสนับสนุนงบประมาณ จะสนับสนุนเป็นปัจจัย ไม่ให้เงินสดและการจัดตั้งกองทุน ให้รวมทุกกองทุนเป็นกองทุนศูนย์ ไม่ใช่กลุ่มใครกลุ่มมัน จะทำให้เกิดพลังในการทำงานกองทุนและสนับสนุนการทำงานส่งเสริมการเกษตรในตำบล
          ก่อนการรับการสนับสนุน จะต้องทำการชี้แจงเงื่อนไขต่างๆ ทุกครั้ง โดยมีคณะกรรมการกองทุนศูนย์เป็นผู้บริการจัดการ ปัจจุบันมีกองทุนศูนย์ฯ ประมาณ 8 แสนกว่าบาท สามารถนำมาสนับสนุนแผนพัฒนาการเกษตรของศูนย์ได้เลย ไม่ต้องรอกรมส่งเสริมฯ  โดยใช้คณะกรรมการกองทุนเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ

          ทำอย่างไรจะทำให้กองทุนศูนย์ฯ งอกเงย

  • ถ้าเงินกองทุนศูนย์ฯ ไม่พอขอรับการสนับสนุนจาก อบต.
  • การทำงานต้องโปร่งใส มีการประชุมและติดตามการคืนเงินกองทุนของคณะกรรมการฯ อย่างสม่ำเสมอ
  • รวมกองทุนย่อยๆ ทุกกองทุนในตำบลเข้าเป็นกองทุนศูนย์ฯ เกษตรกรทุกคนของตำบลสามารถมาใช้บริการได้ ทุกคนเป็นเจ้าของ
  • การทำงานในรูปของคณะกรรมการซึ่งกรรมการจะมีในทุกหมู่บ้าน จะรับผิดชอบในการพิจารณาการใช้เงินกองทุน  ติดตามจัดเก็บ พิจารณากิจกรรมที่จะสนับสนุน และทำสัญญากับกองทุน ซึ่งเกษตรกรไม่ต้องมาทำสัญญากับกองทุนโดยตรง  เพื่อแบ่งความรับผิดชอบ

          หลักการทำงานในพื้นที่
          1) จริงจังและมุ่งมั่นในการทำงาน
          2) จริงใจ และภูมิใจในศักดิ์ศรีของนักส่งเสริมการเกษตร
          3) เข้าถึงเกษตรกร การทำงานต้องให้เกษตรกรรู้จัก เช่น การให้ผู้ใหญ่นัดหมายเพื่อพูดคุยชาวบ้าน หรือมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เป็นต้น
          4) เข้าใจพื้นที่และเกษตรกร


          หลักการมีส่วนร่วมในการทำงาน ซึ่งมีหลักดังนี้
          1) ร่วมศึกษาข้อมูล
          2) ร่วมคิด
          3) ร่วมตัดสินใจทางเลือก
          4) ร่วมลงมือทำ
          5) ติดตามประเมินผล
          6) ร่วมรับความสำเร็จร่วมกัน

          นักส่งเสริมมือใหม่ ได้สนใจในกระบวนการทำงานเพื่อสร้างกองทุนศูนย์ฯ เป็นอย่ายิ่ง ได้มีการซักถามและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคุณปรารภมาก แต่ในพื้นที่ซึ่งมีกองทุกการเกษตรของกลุ่มต่างๆ ในแต่ละหมู่อยู่แล้ว ได้ขอคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางในการรวมเงินกองทุนจากคุฯปรารภ ซึ่งได้ให้หลักการปฏิบัติเพื่อรวมกองทุนเดิมให้เป็นกองทุนศูนย์ฯ จากประสบการณ์จริง ดังนี้
          1) ต้องเน้นการทำความเข้าใจกับคณะกรรมการ เกษตรกร หรือทุกคนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นความสำคัญของการรวมเป็นกองทุนใหญ่ จะได้มีพลังในการทำงาน และกองทุนไม่สูญหาย
          2) โครงการใหม่ ๆ ต้องกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขหรือจัดทำข้อตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้าตั้งแต่บัดนี้
          3) ในการทำงานต้องชี้แจงให้เกษตรกรเข้าใจ
          4) ไม่จ่ายเงินสด แต่คณะกรรมการฯ จะจัดหาเป็นปัจจัยการผลิตที่จำเป็นจะต้องใช้ เพื่อป้องกันการใช้เงินกองทุนผิดประเภท
          5) เชิญผู้นำชุมชน นักการเมืองท้องถิ่นร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง เพื่อร่วมกันทำงานให้ประสบความสำเร็จ

วีรยุทธ  สมป่าสัก  13 / 01 / 49

หมายเลขบันทึก: 12344เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2006 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท