ชีวิตที่พอเพียง : (354) ขัดหม้อ


         วันที่ 20 ส.ค. 50 ผมได้ฟังคุณประยงค์ รณรงค์ เอ่ยถึงภูมิปัญญาชาวบ้านในการใช้ขี้เถ้าขัดหม้อ     ทำให้ผมรำลึกถึงชีวิตสมัยเด็ก     อายุ 7 – 12 ขวบ     ในฐานะลูกคนโต แม่จะมอบหมายงานหลายอย่างให้      งานอย่างหนึ่งคืองานขัดก้นหม้อ    

         สมัยนั้นเราหุงข้าวและทำกับข้าวโดยใช้เตาอั้งโล่      ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง     ผมเคยทำหน้าที่เป็นพนักงานผ่าฟืน  เอาฟืนไม้เสม็ด ไม้โกงกาง ที่ซื้อมาจากคนตัดไม้     เอามากองเป็นภูเขา หรือกองเป็นชั้นๆ สี่เหลี่ยม     ตากแดดให้แห้ง     สำหรับใช้ในเตาเคี่ยวน้ำตาล (มะพร้าว)     แล้วผมทำหน้าที่ผ่าเป็นฟืนชิ้นเล็กๆ สำหรับใช้กับเตาอั้งโล่ในครัว

         นั่นคือที่มาของการขัดหม้อครับ     คือไฟจากฟืนมันมีเขม่ามาก     ก้นหม้อจะมีเขม่าจับจนดำสนิท     ไปโดนอะไรเขม่าก็ติดเลอะเทอะต่อไป     เราจึงต้องขัดก้นหม้อ ทั้งหม้อดิน หม้ออะลูมิเนียม และหม้อทองเหลือง (ที่บ้านผมหุงข้าวด้วยหม้อทองเหลืองใบเก่าอายุคงจะหลายสิบปี เป็นมรดกตกทอด)     วิธีขัดหม้อ เราเอาขี้เถ้าจากใต้เตาอั้งโล่นั่นแหละ     ใช้ “กะพด” (คือกาบมะพร้าว ส่วนที่เป็นใยนุ่ม) แช่น้ำจนนุ่ม     เอามาจุ่มขี้เถ้าขัด     ตอนนั้นยังไม่มี สก็อตไบรท์  ไม่มีผงขัดวิม     และจริงๆ แล้วแม้เวลานี้กาบมะพร้าว-ขี้เถ้า ก็มีคุณสมบัติไม่แพ้ สก็อตไบรท์-วิม 

         ตอนที่พ่อแม่ทำโรงสีแล้ว เรามี “ผงขัด” อย่างดีเยี่ยม และฟรี คือแกลบจากโรงสี     แกลบมันมีความคมของเปลือกข้าว จึงขัดก้นหม้อได้เร็ว     โดยใช้แกลบกับน้ำ  ตามด้วยกาบมะพร้าว-ขี้เถ้า  

         น้ำขี้เถ้านี้ ไม่ใช่แค่ใช้ขัดหม้อเท่านั้น     ตอนนั้นยังไม่มีผงซักฟอก และสบู่ก็แพง     การล้าง จานชามหม้อที่มีคราบน้ำมัน     เราก็ใช้น้ำขี้เถ้า     ผมเป็นพนักงานล้างชามด้วยน้ำขี้เถ้าอยู่หลายปี     จนผงซักฟอกมาถึง เราก็เลิกใช้น้ำขี้เถ้า  และผงขี้เถ้า  

วิจารณ์ พานิช
20 ส.ค. 50
เกาะยอ สงขลา  ระหว่างนั่งฟังการอภิปราย      

หมายเลขบันทึก: 123321เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2007 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
                  อ่านบันทึกอาจารย์แล้วผมนึกภาพตามไปด้วย คิดถึงบ้านครับ วิถีชีวิตใกล้เคียงกัน เป็นพี่คนโตรับภาระมากหน่อย แต่ได้ความรู้ติดตัวเยอะครับ สวัสดีครับ

สวัสดีค่ะ

คนที่เป็นพี่คนโตมักมี จุดเด่นอย่างหนึ่งคือ เป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง ทำอะไรเป็นการเป็นงาน จะพูดอะไร ก็ดูเป็นผู้ใหญ่น่าเชื่อถือ

เคยมีประสบการณ์ เวลาฝรั่งสัมภาษณ์งาน ถ้าพบใครบุคคลิกคล้ายๆอย่างนี้ ชอบถามว่า เป็นพี่คนโตหรือ

แสดงว่า ถ้าใครเป็นน้องคนเล็ก  การมีโอกาสได้งานที่ต้องใช้ความรับผิดชอบมาก  อาจมีน้อยกว่าหรือเปล่า  ไม่ทราบมีใครทำสถิติไว้หรือเปล่าคะ แต่ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จนะคะ

ส่วนตัวดิฉัน ถ้าเจอใครที่พูดจาหน่อมแน้มมาก ก็ไม่ค่อยอยากคุยค่ะ มีความรู้สึกเหมือนเสียเวลา แต่ก็เป็นเพื่อนกันได้ ไม่มีปัญหาเลยค่ะ

วุฒิชัย สังข์พงษ์

อ่านบทความท่านอาจารย์แล้วเกิดความคิดมากมาย ทั้งความคิดที่ทำไมเรา(กระผมหรือคนไทยที่ชอบคิดชอบทำ)ไม่พัฒนาเทคโนโลยีชาวบ้านในอดีต แต่มาพัฒนาตามเทคโนโลยีที่ใช้ง่ายสะดวกให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น แต่มีผลกระทบมากมาย 

แต่อีกมุมจะว่าไปแล้วหลายๆอย่างคนไทยก็พัฒนามาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่พัฒนาจนเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้สะดวกขึ้น  อยากให้มีคนช่วยกันคิด และทำเยอะๆจังเลยครับ แต่บางทีก็ติดขัดที่งบประมาณ และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท