ความรู้นอกโรงเรียน


สมุนไพร
รางจืด : แก้พิษ แก้เมา (ค้าง)

สรรพคุณรางจืดตามตำรายาไทย กล่าวไว้ว่า รางจืดรสเย็น ใช้ปรุงเป็นยาเขียวถอนพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดง และพิษอื่นๆ ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ รักษาโรคหอบหืดเรื้อรัง และแก้ผื่นคันจากอาการแพ้ต่างๆ ด้วย ใช้แก้พิษเบื่อเมา เนื่องจากเห็ดพิษ สารหนู หรือแม้ยาเบื่อประเภทยาสั่ง ได้ผลชะงัดนักแล สำหรับในหมู่นักเลงเหล้ารุ่นเก๋ากึ๊ก ย่อมรู้ดีว่ารางจืดช่วยถอนพิษสุราด้วย จากประสบการณ์ผู้ใช้ สิ่งที่ยอมรับคือ หากดื่มสุราจัดเกินขนาด แล้วเกิดอาการแฮงก์โอเวอร์หรือเมาค้าง รางจืดถอนได้แน่ หรือตามประสบการณ์ในวงเหล้า หากเคี้ยวหรืออมเถารางจืดไว้ใต้ลิ้น เมื่อดื่มเหล้ามากแต่เมาน้อย

ยังมีรายงานการศึกษารางจืดพบว่า แก้โรคพิษสุราเรื้อรัง นอกจากนี้ผู้นิยมสมุนไพรยังแจ้งผลการใช้มาว่า แก้พิษได้อีกหลายอย่าง เช่น สุนัขแสนซื่อซึ่งเฝ้าบ้านเก่งโดนวางยาเบื่อ ก็รอดชีวิตมาเพราะเจ้าของคั้นน้ำรางจืดให้กิน หรือในอดีตใครที่ถูกวางยา ก็มักแก้ด้วยรางจืด รวมทั้งพิษเบื่อเมาจากอาหาร เช่น เห็ด ผักหวาน ว่านพิษ หรือพิษจากสัตว์

สรรพคุณที่เป็นรูปธรรมของรางจืดยังมีอีกมาก เช่น สามารถแก้อาการท้องร่วง อาการแพ้ ผื่นคัน เนื่องจากอาหารเป็นพิษ รางจืดที่ใช้ในการขจัดสารพิษและแก้เมาค้างนั้น คือ รางจืดเถา ชนิดดอกสีม่วง เพราะมีโอสถสารที่รากและใบแรงกว่ารางจืดชนิดอื่น

วิธีใช้ก็ง่ายมาก จะใช้อย่างสดหรืออย่างแห้งก็ได้ อย่างสดก็เด็ดใบรางจืดมา 4-5 ใบ โขลกตำผสมน้ำหรือน้ำซาวข้าวยิ่งดี แล้วคั้นเอาน้ำดื่ม หรือจะใช้ รางจืดแห้ง 300 กรัม (3 ขีด) ต่อน้ำ 1 ลิตร และให้ดื่มน้ำรางจืด 200 cc. ทุก 2 ช.ม. แต่หากท่านใดสนใจจะชงดื่มเป็นชา มีวิธีชงดังนี้ นำใบรางจืดแห้ง 1 หยิบมือ ชงกับน้ำเดือด 1 กาเล็ก (ใส่น้ำประมาณ 8 แก้ว) ดื่มต่างน้ำทั้งวัน ชงดื่มได้ทุกวันโดยไม่มีอันตรายใดๆ นอกจากจะทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงบ้างเล็กน้อย

ส่วนการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้น มีการศึกษาครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทดลองในหนูขาว ให้หนูได้รับพิษโฟลิดอล ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงชนิดหนึ่ง อยู่ในกลุ่มออร์กาโนฟอตเฟต ก็พบว่าใบรางจืดสามารถลดอัตราการตายของหนูจากพิษโฟลิดอลได้ดีพอควร แม้ยังไม่รู้ถึงกลไกการแก้พิษร้ายนี้ก็ตาม และเมื่อราว ๖-๗ ปีก่อน มีความพยายามแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรที่ได้รับสารพิษทางการเกษตร จำพวกยาฆ่าปราบศัตรูพืชต่างๆ โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี ได้ทำกาศึกษา โดยเก็บ ข้อมูลเบื้องต้น ในการใช้รางจืดรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากยาฆ่าหญ้าตัวฉกาจ คือ "พาราควอท" (ชื่อการค้ากรัมม็อกโซน) ที่โฆษณาว่าปราบหญ้าเก่งนัก ซึ่งก็เท่ากับอันตรายสุดๆ ด้วย ก่อนการทดลอง เมื่อดูข้อมูลย้อนหลังไป ๓ ปี พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับพาราควอทแล้วมาโรงพยาบาลมีแต่หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี แม้ว่าจะทำการักษาตามขั้นตอนของการแก้พิษ ให้ทั้งยาขับปัสสาวะ ยาถ่าย ทำให้อาเจียนและล้างท้องก็ยังไม่รอด แต่หลังจากใช้รางจืดรักษาควบคู่กับวิธีของทางโรงพยาบาล พบความอัศจรรย์ว่า ผู้ป่วยรอดชีวิตร้อยละ ๕๑ ดีกว่าแต่ก่อนครึ่งต่อครึ่ง

สรรพคุณที่ฮิตที่สุดของรางจืดในปัจจุบันเห็นทีจะไม่พ้นการเมาค้าง หรือดื่มหนัก (ไม่ขับ) วิธีใช้ ว่ากันตามแบบฉบับคลาสสิก ใช้ได้ทั้งการกินสดๆ และแห้ง คือ เอาใบสด ๔-๕ ใบ ใส่ครกตำผสมน้ำ ถ้าได้น้ำซาวข้าวยิ่งดี แล้วคั้นเอาน้ำดื่ม หรือจะใช้ส่วนที่เป็นราก และเถารางจืดสดตำคั้นก็ได้ ส่วนวิธีแห้ง ซึ่งเป็นที่นิยมในเวลานี้ คือ การนำใบแห้งมาชงกับน้ำดื่ม เหมือนชงชาจีนนั่นแหละ ส่วนความเข้มของยาแล้วแต่จะชงอ่อนชงแก่ ปัจจุบันมีผู้นำชารางจืดมาทำการค้าหลายราย เชิญเลือกใช้ตามดุลพินิจ
คำสำคัญ (Tags): #รางจืด
หมายเลขบันทึก: 123300เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2007 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ยินดีต้อนรับสู่ Gotoknow ครับ  ขอให้ใช้เวทีนี้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่กศน.ยุคใหม่ที่ใช้การจัดการความรู้เป็นฐานในการพัฒนาคนและองค์การสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กศน.ครับ

การอบรมถึงรุ่น 6 แล้วครับ ใกล้จะเสร็จสิ้น...............

แจ้งให้ทราบถึงแพลนเน็ตรวมรุ่นที่ 1 - 6 ครับ  เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้เลยนะครับ  http://gotoknow.org/planet/rattaketict16 

สวัสดีครับ

   ผมอบรมรุ่น 5 กำลังทดลอง ยินดีที่ได้รู้จักกัน ครับ

ดิฉันเป็นนักศึกษาวิทยาลัยสาธารณสุข กำลังศึกษาเกี่ยวกับสมุนไพรรางจืด เพื่อจะทำโครงการเกี่ยวกับการขับสารพิษยาฆ่าแมลงในชาวสวนที่ปลูกหอม  อยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับ วิธีใช้ที่ถูกต้อง และอาการข้างเคียงที่พบ เมื่อใช้ในขนาดที่แตกต่างกันหรือใช้เกินขนาด และข้อมูลวิจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และวิธีทดสอบหลังการใช้สมุนไพรรางจืด  ถ้ามีข้อมูลขอความกรุณาส่งมาให้ด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

นักศึกษาวิทยาลัยสาธารณสุข ข้อมูลสมุนไพรรางจืด ส่งให้ได้ที่ [email protected] ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท