E-Commerce


36 วิธี เพื่อความสำเร็จใน e-Commerce

1. หากทำเว็บไซต์ ตั้งคำถามก่อนว่า “ธุรกิจ” ที่ทำอยู่นั้น มีลูกค้า หรือ “สินค้า” ยังเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่? เพราะถ้าเป็นปัญหาล้าสมัย หรือ ตกเทรนด์ไปแล้ว สร้างเว็บไซต์ไปก็ช่วยขยายตลาดไม่ได้

2. หาจุดแข็งของธุรกิจให้ได้ ถ้าบรรยายสรรพคุณในเว็บไซต์เสร็จแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้มีความแตกต่างจากร้านอื่นทั่วไป จะหาจุดขายและช่องทางประชาสัมพันธ์ยาก

3. ข้อดีของเว็บไซต์ ประการหนึ่ง คือทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย แม้อยู่ในห้องนอน ข้อเสียของเว็บไซต์ก็คือความเชื่อถือลดลง (ไม่เหมือนมีร้านที่สยามสแควร์) ดังนั้นก่อนทำเว็บไซต์ ผู้ขายต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ วิธีการหนึ่งคือนโยบายรับคืนสินค้า ให้บัญญัติขึ้นโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรมของทั้งสองฝ่าย และรัดกุมพอที่จะไม่นำไปสู่กรณีพิพาทภายหลัง

4. การสร้างร้านค้าออนไลน์ ความสำคัญอยู่ที่ข้อมูลและภาพ ไม่จำเป็นต้องมาก ขอให้กระชับ ครบถ้วน โดดเด่นและจูงใจให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อก็พอแล้ว

5. หากเป็นสินค้าตราใหม่ ควรมีความคิดเห็นของผู้ที่เคยใช้ประกอบในเว็บไซต์ด้วย เพราะผู้ซื้อส่วนมากไม่ชอบเป็น “หนูทดลอง”

6. การออกแบบระบบ และเว็บเพจแต่ละหน้าควรเรียกดูได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะลิงค์ (ถ้ามี) ตรวจสอบว่าลิงค์ไปยังหน้าที่ถูกต้องหรือไม่ ?

7. การสร้างพันธมิตรด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนป้ายโฆษณาหรือแบนเนอร์ระหว่างเว็บนับเป็นไอเดียที่ดี แต่ควรเลือกธุรกิจที่ส่งเสริมกัน ลองนึกถึงเว็บไซต์ขายอาหารแลกแบนเนอร์กับเว็บยาแก้ท้องเสียแล้วกัน จะมีใครกล้าลิ้มลอง !

8. การออกแบบระบบต่างๆ ควรศึกษาจากเว็บที่ได้รับความนิยม เพื่อผู้ใช้จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้วิธีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ใหม่

9. การออกแบบสีฉากหลัง ควรระวังเรื่องการอ่านตัวอักษรหรือข้อความต่างๆ ด้วย หลายเว็บไซต์อ่านยากมากโดยเฉพาะตัวเลขราคา

10. อย่าประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ในกรณีที่ข้อมูลสำคัญบนเว็บไซต์ยังไม่เสร็จ

11. การประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ ควรใช้หลายสื่อประสมประสานกัน แต่สาระหรือความหมายของการสื่อสารควรตรงกัน

12. การใช้อีเมล์แจ้งข่าวสาร เป็นวิธีประหยัด แต่หากจะให้ได้ผล ควรเลือกส่งเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการสินค้านั้นจริงๆ

13. ลูกค้าส่วนใหญ่จะไม่เปิดอ่านข้อความอีเมล์จากคนแปลกหน้า เนื่องจากเกรงไวรัส ดังนั้น หัวข้อควรระบุเจาะจง และมีข้อความกระตุ้น ให้ลูกค้าเกิดความสนใจติดตาม

14. ระมัดระวังชื่อที่ใช้ส่งอีเมล์ หากธุรกิจเกี่ยวข้องกับความเชื่อถือ ควรหลีกเลี่ยงชื่อเล่น หรือชื่อที่อ่านแล้วชวนขบขัน

15. สารที่ส่งถึงผู้รับทางอีเมล์ ไม่ควรมีข้อความหรือรูปภาพประกอบที่มีขนาดไฟล์ใหญ่เกินไป หากจำเป็นควรลิงค์ไปยังเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นรองรับโดยเฉพาะ

16. หากส่งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงสื่อมวลชน เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ควรโทรศัพท์ตรวจสอบทุกครั้งที่ทำการส่ง ว่าผู้รับได้เปิดอ่านหรือไม่ ?

17. ข้อมูลในการส่งข่าวประชาสัมพันธ์ ควรตรวจสอบความถูกต้อง และมีเนื้อหาครบถ้วน (Who, What, When, Why, Where, Web)

18. ข้อมูลและภาพประกอบสินค้าในเว็บไซต์ควรสนับสนุนกัน เช่น “ภาพ” สนับสนุนเรื่องความชัดเจนของสี รายละเอียดของรูปลักษณ์ โดยมี “ข้อมูล” (อักษร) สนับสนุนเรื่องของวัสดุที่ภาพไม่สามารถอธิบายได้ เช่นทำจากอะไร มีขนาดเท่าไร ฯลฯ

19. การประกาศประชาสัมพันธ์ในเว็บบอร์ดต่างๆ ควรเลือกเว็บที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย และปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด เลี่ยงการโพสต์ขายสินค้าในกระทู้แสดงความคิดเห็นทั่วไป

20. หากต้องซื้อแบนเนอร์โฆษณาในเว็บต่างๆ พิจารณาความคุ้มค่าของเงินลงทุน มีหลายเว็บไซต์ที่ลดราคาให้สำหรับผู้ที่ซื้อติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

21. การมีระบบเว็บบอร์ดภายในเว็บธุรกิจของตน ทำให้ลูกค้าสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ควรมีผู้รับผิดชอบ คอยตรวจสอบเรื่องการใช้ภาษา สำนวน และการโจมตีจากคู่แข่ง

22. การแบ่งหมวดหมู่สินค้าในเว็บไซต์ ควรพิจารณาจากลักษณะประโยชน์ใช้สอยของสินค้าเพื่อสะดวกต่อการค้นหา

23. การทำเว็บขึ้นอันดับต้นๆ ในเว็บค้นหาอย่าง google.com, yahoo.com ควรเลือกเฉพาะคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเท่านั้น

24. หมั่นตรวจสอบอันดับบนเว็บเสิร์ชเอ็นจิ้น เมื่อขึ้นอันดับต้นๆ แล้วอย่านิ่งนอนใจ พยายามหาวิธีให้ผู้เข้ามาในเว็บไซต์แล้ว อยู่นานที่สุด มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาก (หรือทำลิงค์ไปยังเว็บที่เกี่ยวข้อง) โดยผู้ใช้บริการไม่รีบกลับไปเว็บเสิร์ชเอ็นจิ้นเพื่อหาค้นหาคำเดิม

25. ควรตรวจสอบระบบสถิติของผู้เข้าชมเว็บไซต์ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของแผนประชาสัมพันธ์ และหากพบข้อบกพร่องควรปรับปรุงทันที

26. การลดราคาสินค้าเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าใหม่ทดลองใช้ อย่ากำหนดเวลานานเกินไป และหลีกเลี่ยงการประกาศลดราคาสินค้านั้นล่วงหน้าหลายวัน

27. การทำเว็บไซต์จำหน่ายสินค้านั้น ควรมีความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยทุกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจเมื่อใช้สินค้านั้นๆ

28. ตรวจสอบคำ ข้อความ ตัวสะกด และทุกประโยคในเว็บไซต์ ว่ามีความถูกต้อง และไม่สร้างความคลุมเคลือ หรือปล่อยให้ผู้อ่านต้องตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา

29. หากมีใบรับรอง, รางวัลชนะประกวด อย่าลืมนำมาอวดบนเว็บไซต์ด้วย

30. ตั้งผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นการเฉพาะ เพื่อรับผิดชอบในเรื่องการปรับปรุงข้อมูลใหม่ ๆ การประชาสัมพันธ์, การจัดกิจกรรม และเปิดอีเมล์ (ที่มีในเว็บไซต์) ดูทุกวัน เพื่อจะได้ตอบทุกคำถามที่ลูกค้าเมล์มาได้อย่างทันท่วงที

31. ในกรณีที่เว็บไซต์มีระบบรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ควรศึกษาเรื่องความเสี่ยง จากการนำบัตรผู้อื่นมาใช้ซื้อสินค้า หากเป็นลูกค้าหน้าใหม่, หรือซื้อสินค้าในปริมาณที่มากผิดปกติ ควรตรวจสอบกับธนาคารฯ และให้ผู้ซื้อสแกนใบแจ้งหนี้ (เพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของบัตร) มาเพื่อประกอบเอกสารการสั่งซื้อทุกครั้ง

32. กรณี เว็บรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิต อย่าเรียกเก็บเงิน จนกว่าจะตรวจสอบความถูกต้อง ว่ามีสินค้าพร้อมส่งทันเวลา และผู้ซื้อเป็นเจ้าของบัตรตัวจริง เพราะทุกครั้งที่เรียกเก็บเงิน ทางร้านค้าออนไลน์ต้องชำระค่าธรรมเนียม 2.5-3% จากยอดขายให้ธนาคาร

33. การตั้งชื่อโดเมนเนม ควรสั้น สะกดผิดยาก และสื่อถึงธุรกิจได้

34. ประสบการณ์, ความชำนาญ, กระบวนการผลิต , ความใส่ใจต่อชีวิต, สังคม และ สภาพแวดล้อม ล้วนเป็นจุดขายในเว็บไซต์ได้ เช่นเว็บไซต์ขายหมูสะเต๊ะ ที่ใช้เตาปิ้งหมุนที่ไม่เกิดควัน และขอบไหม้ให้ผู้รับประทานเกิดสารตกค้างที่ก่อมะเร็งได้ภายหลัง

35. หาคำตอบให้ได้ ก่อนทำเว็บไซต์ว่า “ทำไมลูกค้าจึงต้องซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากเว็บไซต์ของท่าน ?”

บทความจาก www.bananatoday.com ของคุณพี่ สิทธิเดช ลีมัคเดช ขอบพระคุณบทความดีๆนี้ด้วยนะครับ.

จาก ธารินทร์ (โกย)  ไกรศรีวาณิช 

คำสำคัญ (Tags): #e-commerce
หมายเลขบันทึก: 123267เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2007 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท