คนมีการศึกษา คุณให้ความหมายอย่างไรครับ


สวัสดีครับทุกท่าน

         สบายดีกันไหมครับ..... วันนี้ขอเขียนเกี่ยวกับเรื่อง การศึกษา อีกซักนิดนะครับ เพราะว่าได้ยินประโยคต่างๆ เหล่านี้กันค่อนข้างบ่อย ได้แก่

  • ความรู้ คู่คุณธรรม  (นั่นคือ มีความรู้ไม่พอ ต้องมีคุณธรรมอยู่ด้วย)

  • การศึกษาทำให้คนมีความรู้

  • ตั้งใจเรียนนะลูกจะได้เป็นคนดีของสังคม

  • ฯลฯ

ดูๆ แล้ว เหมือนว่า จะมีคำอยู่สามคำหลัก ได้แก่  การศึกษา ความรู้ คุณธรรม

ผมเลยขอตั้งนิยามของตัวเองว่า  

การศึกษา = ความรู้ + คุณธรรม

จึงขออนุญาตขยายความสมการนี้ดังนี้คือ

  • การศึกษาที่ดีนั้น จะต้องมีการให้หรือทำให้เกิด ความรู้ และคุณธรรม

  • มีความรู้ หรือ คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง จะทำให้การศึกษาไม่สมบูรณ์ เพราะ ความรู้ เกิดในสมอง  คุณธรรมเกิดในใจ

  • การศึกษาที่สมบูรณ์ ต้องพัฒนาทั้ง สมองและจิตใจไปพร้อมๆ กัน

  • หากมีความรู้ แต่ไม่มีคุณธรรม ไม่สามารถจะเรียกว่า มีการศึกษาได้ เพราะมีแต่สมองแต่ไม่มีใจ ก็อาจจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิดพลาดได้ เกิดความเสียหายต่อสังคมได้

  • หากมีแต่คุณธรรม แต่ไม่มีความรู้ ก็มีใจที่ดี แต่ขาดปัญญาหรือสมอง อาจจะทำให้ตามคนไม่ทัน ไม่ทันเกมส์คนโกง

  • การให้การศึกษาที่ถูกต้องนั้น เป็นการให้ความรู้คู่คุณธรรมอยู่ในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าผู้เรียนและผู้สอนนั้น จะหยิบสองส่วนนั้นมาให้อย่างสมดุลหรือไม่

  • การศึกษา อาจจะเรียนเอาจากวัดก็ได้สำหรับชาวพุทธ ก็ได้ทั้งความรู้คู่คุณธรรม

  • หรืออาจจะเรียนเอาจากคนที่ดีๆ ปราชญ์ชาวบ้าน ในชุมชนก็ได้ พร้อมการถ่ายทอดคุณความดีผ่านรุ่นสู่รุ่น ให้กับคนในชุมชนก็ได้ ได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งคุณธรรม

  • ดังนั้น คนที่มีการศึกษานั้น ไม่ได้หมายถึงคนที่เรียนสูงนะครับ หรือต้องมีปริมาณปริญญามากกว่าหนึ่งใบนะครับ สำหรับผมแล้วไม่จำเป็นต้องมีกระดาษรับรอง ขอให้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นแล้วเป็นคนดี ทำประโยชน์กับสังคมได้ คนๆนั้น ผมว่าก็มีการศึกษาแล้ว ไม่ด้อยกว่าคนดีที่จบได้รับปริญญาเลย

  • ผมเน้นความหมายในระบบคิดที่พอจะคิดได้แค่นี้ครับ ท่านญาติมิตรเห็นด้วยหรือแย้งอย่างไร เชิญบรรเลงได้เลยนะครับ


  • ขอบพระคุณมากครับ

  • เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

หมายเลขบันทึก: 123240เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2007 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดียามดึกที่เมืองไทยจ๊ะน้องเม้ง  ณ เยอรมัน

  • การศึกษาของไทย ก็คงเหมือนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา กระมังครับ คือยังไม่นิ่ง ไหลลงทะเลตลอดเวลา
  • น่าจะมีใครสักคน ที่มีความสามารถขั้นสูงที่มาช่วยสร้างเขื่อน ทดน้ำให้หยุดนิ่งได้
  • อาจจะเป็นน้องเม้ง  ก็ไม่แน่นะครับ
  • ดูจากกระบวนการทุกวันนี้ ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ไปคนละทิศละทาง เหมือนเรือที่ขาดหางเสือนั่นแหละครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดียามเย็นครับพี่สะมะนึกะ

  • ขอบคุณมากครับผม
  • จริงๆ ก็เปรียบเทียบได้โดนใจผมนะครับ การศึกษากับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะไหล เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง และการศึกษาก็ต้องไม่ควรจะหยุดนิ่งด้วยในเชิงของการพัฒนา ศึกษาธรรมชาติ และตนเองสังคมและด้านอื่นๆ เพราะต้องศึกษาตลอดเวลา
  • แต่หากไหลอย่างไม่มีทิศทางอย่างที่พี่ว่านั้นก็เป็นการไหลวนๆ ไหลไปในทางแยกต่างๆ ความจริงก็เป็นสิ่งดีด้วยหากน้ำนั้นเป็นน้ำดี นำไปสู่การนำไปใช้ให้ถูกที่ถูกทางขึ้นกับแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่เข้าไปท่วมชาวบ้านจนต้องล้มตาย เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ
  • อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้คงต้องทำร่วมกัน มีแนวทางร่วมกัน เดินไปด้วยกัน อาจจะคนละทางก็ได้ แต่เป้าเดียวกัน เดินไปเจอเป้าหมายเดียวกัน แม้ว่าจะใช้เวลาต่างกันบ้างในแต่ละเส้นทาง
  • ใช้เวลาที่มีอยู่ ไม่เกินหนึ่งพันล้านรอบของการหายใจ เพื่อเดินไปถึงเป้าหมาย แล้วได้ดูผลของดอกกล้วยไม้ก่อนจะร่วงโรยราครับ
  • ขอเป็นกำลังใจนะครับผม สร้างคนให้มีคุณธรรมนำความรู้ ที่ให้ไปพร้อมๆ กัน สังคมจะร่มเย็นสบายใจ สบายสมอง เองครับ (สบายสมองเพราะได้เอาสมองไปคิดเรื่องอื่น ให้สบายใจครับ อิๆๆ)
  • หลับฝันดีนะครับผม

สวัสดีน้องเม้ง

  • คนสมัยก่อนแถบบ้านพี่นะ ถ้าเป็นผู้ชายจะต้องบวช  ไม่ว่าไปเรียนมาจากไหนๆก็ต้องมาบวช  และบวชก็ต้องครบพรรษา
  • เมื่อสึกออกมาก็เรียก "ไอ้ทิต"  "พี่ทิต" จริงๆคือ บัณฑิต เพราะเป็นผู้ผ่านโลกผ่านธรรมมาแล้ว และพร้อมที่จะมีครอบครัว เรียกคนสุก  ไม่ใช่ดิบ  และมักจะเป็นคนที่ถูกสังคมหมู่บ้านยอมรับกันว่าเป็นคนดี
  • แต่การศึกษาสมัยนี้เป็นการศึกษาวิชาการล้วนๆ ห่างเหินจากธรรมค่อนข้างมาก น่าเป็นห่วงครับ
  • ดังนั้นคนที่มีการศึกษา จึงไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนดี มีตัวอย่างมากมายยกมาสาธายายไม่หมดจริงๆ

สวัสดีครับพี่บางทราย

  • ขอบคุณมากครับพี่
  • นั่นไงครับ ผมเลยถึงต้องนิยามคำว่าการศึกษาใหม่ ให้ มีทั้งความรู้ คู่กับคุณธรรม ไม่ใช่แค่เรียนสูงอย่างเดียว หรือเน้นแต่ความรู้อย่างเดียว หรือเน้นวิชาการอย่างเดียว ต้องมีธรรมนำอยู่ด้วย
  • การมีคุณธรรม เสมือนมี อัตธรรมนูญ (ธรรมนูญที่คุมตัวตน) เราอยู่ไม่ให้ทำผิด รู้จักผิดชอบชั่วดี หากมี อัตธรรมนูญคุมเราอยู่แล้ว เราไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญสามร้อยมาตรา หรือมากมายครับ เพราะไม่มีคนที่จะจ้องมองหา ลู่ทางโกงในช่องว่างของ รัฐธรรมนูญอยู่ครับ
  • ผมชอบคำว่า การศึกษานะครับ ทำให้ผสมเข้ากับ การบวชหนึ่งพรรษา ได้เลยนะครับ
  • การศึกษา (การไปบวชใจแล้วสึกออกมาเมื่อบวชครบจำนวนหนึ่งพรรษา ) ได้ครบทั้งธรรมและความรู้เลยครับ  ส่วนผู้หญิงก็ศึกษาธรรมได้เช่นกัน
  • ขอบคุณมากๆ เลยครับพี่ 

คุณค่าของการศึกษา อยู่ที่การเปลี่ยนความรู้ไปเป็นการกระทำที่ดี+มีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่นได้ครับ หากรู้แล้วไม่ได้ทำ การมีที่ผู้รู้ผู้นี้อยู่หรือไม่ ก็ไม่ต่างกันเลยครับ

หลักสูตรการศึกษามาตรฐาน มุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้พื้นฐานเพื่อดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นการตอบคำถาม what (เพื่อสอบ เพื่อให้ผ่านหลักสูตร) ไม่ค่อยมีใครก้าวไปที่ how (how ทดลอง = what + action) ยิ่งกว่านั้น การข้ามไปสู่ why ยิ่งน้อยลงไปใหญ่ why เป็นเรื่องของการวิจัย เป็นการสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และสร้างองค์ความรู้ใหม่

เป็นเรื่องพิลึกเช่นกันที่จะบอกให้ "เด็ก" ที่ยังไม่มีเป้าหมายในชีวิตมาทำวิจัย แต่ว่า inquisitive minds ควรบ่มมาตั้งแต่เด็ก

หากเป็นการเรียนรู้ที่ได้ผล เวลาเรียนควรเข้าใจมากกว่าผู้สอน เวลาอ่านควรเข้าใจมากกว่าผู้เขียน เป็นเรื่องพิสดารมากที่เวลาอ่านหนังสือแล้วเชื่อตามผู้เขียนทั้งดุ้น ทั้งๆ ที่ผู้เขียนไม่ได้รู้จักเราเลย ไม่ได้เข้าใจสภาวะแวดล้อม/ข้อจำกัดของเราเลย

เวลาอ่านหนังสือ เราสามารถอ่านแล้วค้นหาประเด็นที่ดีในสิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อ แล้วนำมาปรับให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม/ข้อจำกัดของเราได้ นั่นแหละคือที่ผมหมายความว่ารู้มากกว่าผู้เขียน เป็นความรู้ที่เกิดความความเข้าใจในสิ่งใหม่+สิ่งที่เป็นอยู่ จนนำไปสู่การกระทำที่เกิดประโยชน์ได้

เราควรจะเลิกเรียนเหมือนฟังนิทานเสียทีครับ นอกจากความรู้คู่คุณธรรมแล้ว ความรู้ควรจะคู่กับการกระทำด้วย คุณธรรมกำกับการกระทำ แต่ถ้าคุณธรรมที่ไม่มีการกระทำ ก็จะไม่ช่วยให้ความรู้เป็นสิ่งที่มีค่าสมกับที่ได้ลงทุนร่ำเรียนมา ต่อให้เรียนฟรีก็ต้องลงทุนในเวลาครับ

สวัสดีครับคุณ Conductor

  • ขอบคุณมากๆ เลยครับ ได้อาหารสมองอีกชามโตครับผม ยอดจริงๆ ครับ ว่าแล้วก็มาลอง เขียนสูตรกันให้สนุกๆ ไปเลยก็ดีนะครับผม
  • สมการด้านบน
    • การศึกษา (Education) = ความรู้ (Knowledge) + คุณธรรม (Moral)
    • E = K + M
  • สมการนี้ ผมมองจากในเซลล์เดียวก่อนนะครับ หรือว่าระดับบุคคลก่อนนะครับ มองว่าคนแต่ละคนที่ได้มีการศึกษา ควรจะมี ความรู้คู่คุณธรรม
  • แต่ไม่ว่าจะ ความรู้ K หรือ คุณธรรม M จะต้องมีการปฏิบัติมาก่อนเพื่อการสั่งสม และเกิดเกลียวขวั้นของความรู้ K และเกลียวขวั้นของคุณธรรม M นั่นคือ ใน
    • ความรู้ = ฟังก์ชันของการ(เรียนรู้ +ปฏิบัติ+วิเคราะห์+สังเคราะห์ + ข้อมูล + สารสนเทศ + ....)
    • คุณธรรม =ฟังก์ชันของการ(เรียนรู้ + ฝึกปฏิบัติทางจิต ทางกาย +....)
  • คราว นี้ หากเรามาลองมองว่า การนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือการนำผลของการศึกษาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้สอดคล้องกับคำที่พี่นำเสนอ ว่าด้วยเรื่องของ คุณค่าของการศึกษา อาจจะเขียนได้ดังนี้ เช่น
    • คุณค่าของการศึกษา (Productivity) = การศึกษา (Education) x การนำไปใช้ (Action)
    • P = E x A
  • นั่นคือ ลองสรุปอีกทีเล่นๆ ครับ
  • ความรู้จะมีการกระทำอยู่ภายในก่อนจึงจะเกิดเป็นความรู้ได้ (ไม่ใช่แค่ท่องหนังสือ) เพราะความรู้เกิดในสมอง
  • คุณธรรมจะมีการปฏิบัติอยู่ในก่อนเช่นกันถึงจะมีการคุณธรรม (ไม่ใช่แค่ท่องศีลได้) เพราะคุณธรรมเกิดในจิตใจ
  • ดังนั้น ความรู้ และคุณธรรม จะมี การปฏิบัติฝังอยู่ภายในด้วยแล้วในระดับบุคคล ซึ่งเป็นเซลล์ปฐมภูมิ
  • มอง ในระดับให้ใหญ่ขึ้น เป็น คุณค่าของการศึกษา P นั้น มีการศึกษา (ความรู้ คู่คุณธรรม)อย่างเดียวก็ไม่ได้ทรงคุณค่าอะไรมาก เพราะยังวิ่งไปไม่ถึงเป้าหมายคือ การนำไปใช้ การทำให้ออกดอกออกผล
  • ดัง นั้น คุณค่าของการศึกษา (P) จึงต้องมีการนำตัว การศึกษา(E)ไปประยุกต์ใช้จริง(A) แล้วเกิดผลจริงๆ นั่นคือ จะมีทั้ง ความรู้คู่คุณธรรม(K+M) มีความรู้คู่การนำไปใช้(K+A) มีคุณธรรมคู่กันการกระทำ(M+A) มีการศึกษาคู่การกระทำ(E+A) ครบเครื่องเลยครับ
  • คือผมมองนวัตกรรมเป็นผลของการศึกษาที่ผ่านการกระทำแล้ว ไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ครับ
  • ขอยกตัวอย่าง เรื่องราวของคนค้นคนตอน มนุษย์กังหันลมนะครับ คุณบรรจง
  • คุณ บรรจง ศึกษาเรื่องกังหันลมประมาณหกเดือน แล้วลองทำดู เป็นการหาความรู้ ผ่านการปฏิบัติในตัวเอง คือการทดลองจนเกิดเป็นองค์ความรู้ภายในบุคคล ตรงนี้ คุณบรรจงมี K
  • คุณบรรจง มีแนวคิดที่ดีคือมีคุณธรรม ที่จะคิดในการเผยแพร่ความรู้นี้ให้คนอื่นได้รับทราบ มีการคิดถึงการช่วยเหลือ นับว่ามีกระบวนการฝึกจิตจนมีคุณธรรม ตรงนี้คุณบรรจงมี M
  • ต่อมาคุณบรรจงเอาความรู้นี้ไปใช้จริง และติดตั้งให้กับสำนักแม่ชี และที่ต่างๆ ให้มีไฟฟ้าจากกังหันลม นั่นคือ มีการสนอง คุณค่าของการศึกษา P จากการศึกษา E ที่มีมา ผ่านการนำไปใช้จริง A เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่น
  • มีข้อความอันหนึ่งครับ ผมขอประยุกต์เอาตรงนี้แล้วกันนะครับ
  • Action without Education is Rootless, Education without Action is Fruitless.
  • การกระทำที่ไร้การศึกษานั้นไร้ราก แต่การศึกษาที่ไร้การนำไปใช้นั้นย่อมไร้ผล
  • จะแทนที่ Education ด้วย Knowledge ก็ได้นะครับ
  • ผมดัดแปลงมาจาก
  • Practice without Theory is Rootless, Theory without Practice is Fruitless.ซึ่งก็แนวทางเดียวกันครับ
  • มีความเห็นเพิ่มเติมอย่างไร รบกวนช่วยชี้แนะด้วยนะครับผม
  • ขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีครับคุณ Conductor

  • รอบสองครับ เก็บตกครับผม
  • ผมชอบชุดนี้ของพี่ครับ

  • หลักสูตรการศึกษามาตรฐาน มุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้พื้นฐานเพื่อดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นการตอบคำถาม what (เพื่อสอบ เพื่อให้ผ่านหลักสูตร) ไม่ค่อยมีใครก้าวไปที่ how (how ทดลอง = what + action) ยิ่งกว่านั้น การข้ามไปสู่ why ยิ่งน้อยลงไปใหญ่ why เป็นเรื่องของการวิจัย เป็นการสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และสร้างองค์ความรู้ใหม่

  • เป็นเรื่องพิลึกเช่นกันที่จะบอกให้ "เด็ก" ที่ยังไม่มีเป้าหมายในชีวิตมาทำวิจัย แต่ว่า inquisitive minds ควรบ่มมาตั้งแต่เด็ก
  • หาก เป็นการเรียนรู้ที่ได้ผล เวลาเรียนควรเข้าใจมากกว่าผู้สอน เวลาอ่านควรเข้าใจมากกว่าผู้เขียน เป็นเรื่องพิสดารมากที่เวลาอ่านหนังสือแล้วเชื่อตามผู้เขียนทั้งดุ้น ทั้งๆ ที่ผู้เขียนไม่ได้รู้จักเราเลย ไม่ได้เข้าใจสภาวะแวดล้อม/ข้อจำกัดของเราเลย
  • เวลาอ่านหนังสือ เราสามารถอ่านแล้วค้นหาประเด็นที่ดีในสิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อ แล้วนำมาปรับให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม/ข้อจำกัดของเราได้ นั่นแหละคือที่ผมหมายความว่ารู้มากกว่าผู้เขียน เป็นความรู้ที่เกิดความความเข้าใจในสิ่งใหม่+สิ่งที่เป็นอยู่ จนนำไปสู่การกระทำที่เกิดประโยชน์ได้
  • ทำให้น่าคิดมากๆ เลยทีเดียวว่าที่เราศึกษากันอยู่ตอนนี้ เราพยายามปรับสภาพเราให้ตรงกับหนังสือ แล้วตรวจเทียบคำตอบว่าตรงกับหนังสือ หรือไม่
  • หรือว่า เราจะเลือกเส้นทางการนำสิ่งที่ได้จากในหนังสือมาทดลองแล้วประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของเรา
  • บรรยากาศทางการเรียนผมว่าสำคัญมากๆ ตลอดจนการจุดประกายของคนที่จะแนะนำ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เด็กเดินด้วยตัวเอง อาจจะสำคัญกว่าการยืนสอนหน้าชั้น แต่จะเกิดภาวะนี้ได้ก็ต้องมีฐานรากที่ดีตั้งแต่ระดับครอบครัว ที่มีการฝึกให้หน่อจินตนาการของเด็กไม่หดหายไปก่อนที่เด็กจะเข้าสู่โรงแนะนำ (โรงสอน หรือเปล่าครับ อิๆๆ)
  • เพราะว่า ครูไม่ได้อยู่กับเด็กตลอดที่จะช่วยย่อยกล้วยให้ละเอียดแล้วป้อนเข้าปาก เด็กต้องรู้จักปอกกล้วยเป็นแล้วกินเองนั้นคงไม่พอ เด็กต้องรู้จักการปลูกกล้วยเองได้ด้วย ในสภาพพื้นที่ต่างๆ พร้อมขยายพันธุ์กล้วยได้เอง
  • ขอบคุณมากครับผม
สวัสดีค่ะคุณเม้งขออนุญาตนำบล็อกเข้าแพลนเน็ตนะค่ะ ขอบคุณคะ
P
MOO

 

สวัสดีครับคุณหมู

  •  ยินดีที่ได้รู้จักครับผม และด้วยความยินดีนะครับ
  • ขอให้ร่วมงานที่ดงหลวงอย่างสนุกสนานได้ประสบการณ์ร่วมกันกับทุกๆ ท่านนะครับผม
  • สนุกในการทำงานนะครับ ขอบคุณมากครับ
  • มาขอบคุณน้องบ่าว
  • การศึกษาในความหมายของผมคือการปฏิบัติจริง ลงมือทำจริงๆๆไม่แปลกแยกจากชีวิตจริง
  • การศึกษาต้องไม่ทอดทิ้งชุมชน ภูมิปัญญาชาวบ้านและสังคมครับผม
  • แต่บ้านเราเป็นการศึกษาที่ลอกเลียนแบบชาวต่างประเทศมา ขาดรากเหง้าของปัญญา เป็นการศึกษาแบบแยกส่วน คงต้องช่วยเหลือกันทำการบูรณาการ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

  • ตามมายกมือเห็นด้วยทุกประการเลยค่ะ  กับสมการข้างบน  เพราะเท่าที่เห็นในสังคมปัจจุบัน  ยกย่องกันมากมายกับคนที่มีการศึกษาที่อ้างเอาถึงเรื่องใบรับรองที่มีมากกว่า 1  ใบ  และมีกะตังค์เท่านั้น  แล้วก็เข้ามาในระบบที่พอจะกำหนดอะไรต่อมิอะไรในระดับสูงๆ แต่ไม่มีใจที่เป็นคุณธรรม( ขอเน้น คุณธรรมค่ะ  ไม่ใช่ คุน-น่ะ-ทำ) 
  • เหมือนอย่างที่คุณเม้งว่านั่นล่ะค่ะ  สองอย่างจะต้องเป็นรูปธรรมสำหรับหยิบจับได้ในตัวบุคคล  แล้วเราจะได้คนที่มีการศึกษาอย่างแท้จริงซะที
P

เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

มีกัลยาณมิตรแนะนำว่าน่าจะมาเยี่ยมบันทึกนี้... ลองอ่านไปทั้งของอาจารย์เม้งและท่านอื่นๆ ก็รู้สึกว่า งั้นๆ ...

ในความว่า งั้นๆ จะต้องขยายความ ... หมายความว่า สำนวนและแนวคิดทำนองนี้ผู้เขียนเคยอ่านเคยเห็นมามาก แต่ยังคงเป็นจริงน้อยในสังคมไทย........

ใน ผลูปมสูตร ได้จำแนกผลไม้ออกเป็น ๔ กลุ่ม กล่าวคือ

  • ผิวนอกสดใส เหยื่อในเน่า
  • ผิวนอกสดใส เหยี่อในหวานหอม
  • ผิวนอกหม่นหมอง เหยื่อในเน่า
  • ผิวนอกหม่นหมอง เหยื่อในหวานหอม

บุคคลากร องค์การ และรูปแบบทางการศึกษาของไทย เมื่อมองดูจากภายนอกมักจะคล้ายผิวผลไม้ที่สดใสน่าดูชมควรแก่การรับประทาน... แต่ภายในจะหวานหอมหรือเน่าแฟะ ก็ต้องเข้าไปสัมผัสเองในแต่ละบุคล องค์การ และรูปแบบนั้นๆ...

ก็บ่นแค่นี้ก่อน มีโอกาสอาจจะมาบ่นอีก....

เจริญพร 

P
ขจิต ฝอยทอง

 

สวัสดีครับพี่บ่าว

  • ขอบคุณมากครับพี่ที่ทำให้ผมได้รับทราบอะไรดีๆ เป็นอาหารสมองที่ดีที่กลั่นมาให้ผมในครั้งนี้ มีคุณค่ามากๆ ครับ
  • การศึกษาต้องอยู่คู่ชุมชน และซึมอยู่ในทุกๆ ส่วนของสังคมครับ
  • หากเราเริ่มที่จะทำเองจาก ไทยคิด ไทยทำ ไทยใช้ มาจากรากเหง้าของบ้านเราเอง เราก็ทำได้ครับ
  • วันหนึ่งจะมีโอกาสนั้นได้หากเราช่วยเหลือกันจริงๆ
  • ขอบคุณมากครับ
P
Lioness_ann

 

สวัสดีครับคุณครู

  • ขอบคุณมากครับ
  • ปริญญาเป็นเพียงผลพลอยได้นะครับ แต่คุณค่าของปริญญาอยู่ที่ผลของการศึกษานั้น
  • การศึกษาใช้เวลากว่าจะได้เห็นดอกครับ แต่หากการศึกษานั้นมีทั้งความรู้และคุณธรรม ดอกผลนั้นจะเกิดและอยู่นาน หากมีการนำไปใช้ให้เกิดคุณค่าต่อสังคม
  • ขอบคุณมากครับ
P
BM.chaiwut

 

กราบนมัสการหลวงพี่

  •  กราบขอบพระคุณหลวงพี่มากครับ
  • ผมเห็นด้วยนะครับว่าจริงๆ สิ่งเหล่านี้คือ ธรรมดาและงั้นๆ นะครับ เพราะแนวคิดก็เป็นต้องการความร่วมมือ ร่วมกันครับ ไม่มีใครจะสามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว แต่หากเราทำได้จากในตัวบุคคล แล้วสานเชื่อมต่อกัน ระบบการศึกษาจะเกิดคุณค่าได้ครับ
  • สำหรับเรื่องผลไม้นั้น ผมขอมองไปอีกทางเล่นๆนะครับ โดยมีสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะผิวนอกสดใสหรือหม่นหมอง และเนื้อภายในจะเน่าหรือหอมก็ตาม เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะไปสู่การหมักหมมและเน่าเสมอ แล้วปลดปล่อยออกไปสู่ ธาตุดินน้ำลมไฟสู่ธรรมชาติอยู่ดีครับ อิๆๆ มองฉีกมุมไปเลยครับ
  • จริงๆ แล้วถูกต้องของหลวงพี่ครับผม ต้องเข้าไปศึกษาในแต่ละส่วนสัมผัสรับรู้ครับ ถึงจะได้รู้ว่า มีอะไรในกอไผ่
  • เข้ามาบ่นไว้ได้นะครับ ใช้เวลากันอีกหน่อยครับ กว่าจะได้ผลให้เห็นกันครับ
  • กราบขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท