Peace Journalism: เป้าหมายสู่สันติภาพ


การทำงานของผู้สื่อข่าวมืออาชีพไม่ได้มุ่งหวังที่จะลดปัญหาความขัดแย้ง แต่การรายงานข่าวที่ดี ถูกถ้วน ไม่เอียงเอนนั้น บ่อยครั้งก็นำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง

นับเนื่องจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายขับเครื่องบินชนตึกเวิร์ลดเทรดที่สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 11 กันยายน 2544 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในหลายประเทศ แม้ความรุนแรงนี้จะอยู่คนละซีกโลกกับบ้านเรา แต่เหตุการณ์เผาโรงเรียนวันที่ 4 มกราคมเมื่อ 3 ปีก่อน ที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กลับทำให้รู้สึกว่าความรุนแรงมันได้ขยับเข้ามาอยู่ใกล้ๆ เราแล้ว จนวันนี้เหตุการณ์ความรุนแรง การประหัตประหารเอาชีวิตกันก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างไม่มีท่าทีจะลดน้อยลงแต่อย่างใด
ขณะที่ความขัดแย้ง และความรุนแรงยังคงเกิดขึ้น การปฎิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวดังกล่าว กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการวารสารศาสตร์ และสาธารณชนมากขึ้นทุกขณะ ว่า เนื้อหาเหล่านั้นโหมกระพือให้เกิดการใช้กำลังเข้าเผชิญหน้ากัน เกิดการแบ่งแยกฝ่ายเขาฝ่ายเรา และบางครั้งยังค่อนขอดผู้สื่อข่าว และองค์กรสื่อมวลชนว่า ขาดความเข้าใจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเพียงพอ คำถามที่ตามมาติดๆ คือ ความรู้ และทักษะการสื่อข่าวที่สั่งสอนกันในสถาบันผลิตนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนั้น เพียงพอที่จะนำไปใช้ในการปฎิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ตึงเครียดแบบนี้หรือไม่ 
นี่จึงเป็นที่มาของการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ในทางวารสารศาสตร์ ที่จะเปิดกรอบความคิดของนักวิชาการ และนักวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้การสื่อข่าวเป็นส่วนหนึ่งของความหวังในการคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นั่นคือแนวคิดที่เรียกว่า “Peace Journalism” หรือ การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ
จากข้อเขียนของ Ross Howard นักวิชาชีพและนักวิชาการด้านการสื่อสารข่าวเพื่อสันติภาพ เจ้าของหนังสือ Conflict sensitive Journalism เขียนเตือนใจแก่ผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ความขัดแย้งว่า
การทำงานของผู้สื่อข่าวมืออาชีพไม่ได้มุ่งหวังที่จะลดปัญหาความขัดแย้ง แต่การรายงานข่าวที่ดี ถูกถ้วน ไม่เอียงเอนนั้น บ่อยครั้งก็นำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง
Howard ย้ำว่า สังคมถูกคุกคามจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งมากขึ้นทุกขณะ ก็ส่งผลให้วิชาชีพวารสารศาสตร์เผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการปฎิบัติหน้าที่ เพราะฝ่ายที่ขัดแย้งกันต่างก็พยายามเข้ามาควบคุมสื่อ ข้อมูลข่าวสารจึงเชื่อถือไม่ได้ หรืออาจถูกกลั่นกรอง ตัดทอน ประกอบกับมีประเด็นความเสี่ยงในความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว ซึ่งการสื่อข่าวที่ดีและมีคุณภาพก็ยิ่งมีความจำเป็นมากที่สุดต่อสังคม
การสื่อข่าวที่น่าเชื่อถือแก่สาธารณะในช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงนั้น จำเป็นต้องใช้ทักษะทางวิชาชีพมากเป็นพิเศษกว่าการรายงานข่าวในภาวะปกติ ซึ่งผู้สื่อข่าวต้องมีความเข้าใจมากขึ้นว่าอะไรคือต้นตอของความขัดแย้ง และความขัดแย้งนั้นจะดำเนินไปหรือจะมีจุดจบลงอย่างไร  ผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องรู้ว่าจะไปหาข้อมูลถึงสาเหตุและทางออกของความขัดแย้งได้จากที่ไหน การที่ผู้สื่อข่าวให้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้แก่สาธารณชนจะทำให้ประชาชนมีความรู้และความเข้าใจมากยิ่งขึ้นต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรง และมีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้
รายงานการวิจัยโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติ เรื่อง สื่อเพื่อสันติภาพ: จริยธรรม การจัดการ และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา โดยนางวลักษณ์กมล จ่างกมล  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพมีการใช้กันมาตั้งแต่ ค.ศ.1970 โดยศาสตราจารย์ Johan Galtung นักวิชาการชาวนอร์เวย์ ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการ TRANSCEND Peace and Development Network ซึ่งเป็นองค์กรที่เผยแพร่และรณรงค์แนวคิดเรื่องสื่อเพื่อสันติภาพ หวังที่จะกระตุ้นและสนับสนุนให้สื่อมวลชนเห็นความสำคัญของสันติภาพ ซึ่ง Galtung กังวลว่าสงครามการรายงานข่าวความขัดแย้งของสื่อมวลชนคล้ายคลึงกับการรายงานข่าวกีฬา ที่มุ่งหาผู้แพ้ผู้ชนะ เขาจึงเสนอว่าการรายงานในสถานการณ์เช่นนี้ควรเหมือนกับการรายงานข่าวสุขภาพที่ผู้สื่อข่าวจะต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่ากำลังเผชิญกับโรคอะไร และสาเหตุของโรคคืออะไร ขณะเดียวกันก็ต้องนำเสนอด้วยว่า จะมีทางเลือกอะไรบ้างที่จะป้องกันและรักษาโรคร้ายนี้ ดังนั้นการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพต้องคำนึงถึงความครอบคลุม เป็นธรรม และถูกต้องให้มากขึ้น เพื่อนำเสนอเหตุการณ์และมองลึกไปถึงการวิเคราะห์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รวมถึงหาหนทางที่จะก้าวพ้นไปจากความขัดแย้งนั้น
ผศ.วลักษณ์กมล นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานี เห็นว่า การรายงานข่าวเพื่อสันติภาพต้องก้าวพ้นไปจากการตอบคำถาม 5W1H (What, Where, Who, When, Why, How) ตามหลักวารสารศาสตร์แบบเดิม แต่ต้องเพิ่มเติม “S” Solution หรือ การแก้ปัญหา และ “C” Common Ground หรือ การนำเสนเบื้องลึกของความขัดแย้ง ผนวกเข้าไปด้วย เราจะเห็นว่าหลักการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพไม่ได้มองสื่อมวลชนเป็นแค่ผู้ส่งข่าวสาร แต่เป็นกลไกในการสร้างสันติภาพด้วย
แม้ว่าแนวคิดการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพอาจทำได้ยาก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสาเหตุและเบื้องหลังของปัญหาที่สลับซับซ้อนเกินกว่าที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะหาคำตอบได้เพียงลำพัง แต่หากสื่อมวลชนได้พยายามอย่างเต็มกำลังที่จะใช้เทคนิคการสื่อข่าวแบบสืบสวนสอบสวน ผนวกกับแนวปฏิบัติของการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ ที่ยึดเป้าหมายของความสงบสุขที่ปราศจากความรุนแรงเป็นสำคัญ ความสลับซับซ้อนนี้ก็อาจจะสามารถคลี่คลายลงได้
“ขณะนี้สื่อมวลชนไทยมีแนวโน้มที่จะรายงานข่าวเพื่อสันติภาพมากขึ้นกว่าตอนที่เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นใหม่ๆ ตัวอย่างรูปธรรม เช่น การเกิดขึ้นของศูนย์ข่าวอิศรา การรายงานข่าวที่เน้นเบื้องหลังความขัดแย้งมากขึ้น การมีรายงานพิเศษที่ให้มุมมองใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากปรากฏการณ์ที่มองเห็น แต่เราก็คงต้องผลักดันให้แนวคิดการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพให้แพร่หลายมากขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันสร้างสังคมที่สันติสุข” นักวิชาการคณะวิทยาการสื่อสาร กล่าว
ในงานวิจัยของผศ.วลักษณ์กมล ยังพบว่า งานวิชาการที่ศึกษาเรื่องการเสนอข่าวความขัดแย้งในต่างประเทศ ซึ่งใช้วิธีการศึกษาเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ จำนวน 10 ฉบับในเอเชีย 4 ประเทศ ที่นำเสนอผ่านเว็บไซต์ คือ อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา และอินโดนีเซีย โดยกำหนดประเด็นข่าวความขัดแย้งที่ใช้ในการศึกษา 4 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ความขัดแย้งในแคชเมียร์ระหว่างปากีสถานและอินเดีย เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลมกับรัฐบาลศรีลังกา เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอาเจะห์และมาลุกุกับรัฐบาลอินโดนีเซีย  และเหตุการณ์ในเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปินส์
ผลการศึกษาพบว่า การนำเสนอข่าวเหล่านี้โน้มเอียงไปในทางการสื่อข่าวเพื่อขยายความขัดแย้ง หรือ War Journalism มากกว่า โดยเฉพาะเหตุการณ์ในแคชเมียร์ที่หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวในทาง War Journalism อย่างเข้มข้น คือ นำเสนอแต่เหตุการณ์เฉพาะหน้า ขาดการสืบค้นหาที่มาที่ไปของเหตุการณ์ ไม่นำเสนอหนทางการแก้ปัญหาในระยะยาว และให้ความสำคัญกับผู้นำทางการเมืองและการทหาร ซึ่งจัดเป็นคุณลักษณะของ War Journalism อย่างชัดเจน
“หนังสือพิมพ์ละเลยที่จะนำเสนอข้อมูลของกองกำลังที่ต้องบาดเจ็บในสนามรบ หรือ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสังคม ขณะเดียวกันก็มักนำเสนอข่าวโดยแสดงการแบ่งแยก และชี้ชัดฝ่ายดีกับฝ่ายร้าย ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงอคติส่วนตัวในการด่วนตัดสินว่าใครเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น” งานวิจัยในต่างประ เทศ ระบุ
ผศ.วลักษณ์กมล ยังได้ศึกษาทิศทางการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย จำนวน 3 ฉบับ คือ กรุงเทพธุรกิจ ไทยรัฐ และมติชน ในการรายงานข่าวเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่จ.นราธิวาส เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่จ.ปัตตานี และเหตุการณ์ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จำนวน 232 ชิ้นข่าว พบว่า มีเพียง 43 ชิ้นข่าว หรือร้อยละ 18.53 จัดอยู่ในการายงานข่าวเพื่อสันติภาพ ขณะที่อีก 169 ชิ้นข่าว หรือร้อยละ 72.85 จัดอยู่ในการรายงานข่าวเพื่อขยายความขัดแย้ง และจำนวน 20 ชิ้นข่าวหรือร้อยละ 8.62 จัดอยู่ในประเภทของเนื้อหาที่เป็นกลาง
“หนังสือพิมพ์มติชนเป็นหนังสือพิมพ์ที่รายงานข่าวเชิง Peace Journalism มากที่สุด ร้อยละ 30 รายงานข่าวแบบ War Journalism ร้อยละ 60 รองลงมาเป็นหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ นำเสนอข่าวแบบ Peace Journalism ร้อยละ 17.65 และนำเสนอข่าวแบบ War Journalism ร้อยละ 74.11 ส่วนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนำเสนอข่าวแบบ Peace Journalism น้อยที่สุด เพียงร้อยละ 5.97 นำเสนอข่าวแบบ War Journalism มากที่สุด 86.57”
ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และหัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวคิดการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพมีความจำเป็นกับนักวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะสื่อมวลชนเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนและเราพบว่าเนื้อหาในสื่อมวลชนมีแนวโน้มการแบ่งฝ่ายเขาฝ่ายเรามากขึ้น ขณะที่แนวคิดเรื่องคุณค่าข่าวในทางวารสารศาสตร์ หรือ บัญญัติ 10 ประการ มีโอกาสที่จะเอื้อให้สื่อมวลชนละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และที่สำคัญขาดการผนวกประเด็นเรื่องความเข้าอกเข้าใจกัน ความสมานฉันท์ เป็นส่วนหนึ่งคุณค่าข่าว
“โลกเราเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสื่อมวลชนต้องปรับตัว และนำแนวคิด Peace Journalism ไปประยุกต์ใช้ในการปฎิบัติหน้าที่ แม้ Peace Journalism จะไม่ใช่ความหวังเดียว แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ” ดร.พิรงรอง กล่าว
ต่อข้อถามที่ว่า ถ้ามี Peace Journalism แล้วจะเกิดผลดีอย่างไร ดร.พิรงรอง มองว่า แนวคิดนี้จะช่วยปรับปรุงคุณภาพทางวิชาชีพสื่อมวลชน ที่เดิมนั้นมุ่งเน้นการผลิตเนื้อหาบันเทิง ที่เกี่ยวพันกับ Rating Culture เพียงอย่างเดียว แต่ไม่นำไปสู่ความสมานฉันท์ แนวคิด Peace Journalism เป็นแนวคิดที่จะเปลี่ยนค่านิยมสื่อมวลชนให้เห็นความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศีลธรรม และจริยธรรม และเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับกลุ่มคนต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันในพื้นที่สื่อมวลชน รวมถึงเป็นการเปิดกรอบความคิดทางวิชาการ และวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น เพราะแนวคิด Peace Journalism เป็นแนวคิดใหม่ที่ต้องร่วมกันศึกษา ปรับประยุกต์ให้เข้ากับสังคมไทย และผลักดันไปสู่การปฎิบัติให้เป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ ยังแสดงความเป็นห่วงว่า แนวคิดนี้จะเป็นรูปธรรมได้จริงมากน้อยเพียงใด เพราะสื่อมวลชนเป็นลักษณะอุตสาหกรรมภายใต้ลัทธิโลกาภิวัฒน์ เป็นธุรกิจผูกขาด มุ่งเน้นผลกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด ขณะเดียวกันสื่อมวลชนส่วนใหญ่มีรัฐเป็นเจ้าของ และบรรทัดฐานสื่อมวลชนยังให้ความสำคัญกับผู้มีอำนาจ นี่เป็นปัญหาทั้งระดับโครงสร้าง และกรอบคิดของนักวิชาชีพ ที่ต้องร่วมกันตั้งคำถามว่า ถ้าเราจะมีสื่อมวลชนเพื่อสันติภาพ เราควรจะมีสื่อทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่เราควรแสวงหาทางออกร่วมกัน
นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน อดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา ซึ่งเป็นความพยายามหนึ่งของนักวิชาชีพสื่อมวลชนที่นำโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่จะรายงานข่าวเพื่อจรรโลงสันติภาพให้เกิดแก่สังคม มองว่า การมีสถาบันสื่อมวลชนเพื่อสันติภาพ คงไม่ได้หมายถึงการมีองค์กรสื่อมวลชนขึ้นมาเพียงลำพัง แต่จะต้องเกิดจากการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายร่วมกันกับสื่อกระแสหลัก สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมาศูนย์ข่าวอิศราได้ทำหน้าที่ในการแบ่งเบาความรู้สึกคับข้องใจในสถานการณ์ชายแดนใต้
ศูนย์ข่าวอิศราเป็นเวทีสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เป็นสื่อกลางแห่งการเรียนรู้ของคนที่ต่างกัน ทั้งในเชิงพื้นที่ ความเชื่อ วัฒนธรรม ศาสนา ให้ข้อมูลข่าวสารที่มาจากชีวิตจริง และเป็นสื่อแนวราบและแนวดิ่ง คือ การปฎิบัติหน้าที่มีการเชื่อมประสานกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับสื่อมวลชนกระแสหลัก
“โจทย์สำคัญ คือ สื่อสันติภาพจะต้องเป็นพลังขับเคลื่อนของภาคประชาชน เป็นโต๊ะข่าวที่อธิบายปรากฎการณ์ในเชิงลึก ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาสื่อเดิมที่มีอยู่ด้วยจะดีหรือไม่” อดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา กล่าว
ส่วนนายมันโซร์ สาและ เจ้าหน้าที่จากโครงการสื่อเพื่อความยุติธรรม กลับยังไม่เห็นความหวังว่า สื่อมวลชนในปัจจุบันจะให้ความสนใจกับการรายงานข่าวเพื่อสันติภาพอย่างเพียงพอกับระดับความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสื่อมวลชนกระแสหลักไม่สามารถข้ามพ้นปัญหาทางโครงสร้างของสื่อมวลชนได้
“สถาบันการศึกษาอาจเริ่มสร้างสื่อเพื่อสันติภาพเป็นต้นแบบเล็กๆ เพื่อบ่มเพาะนักวิชาชีพรุ่นใหม่ ที่มีหัวใจสันติภาพและเข้าหาพื้นที่มากขึ้น เป็นพลังสำคัญของการสร้างสื่อชุมชน” เจ้าหน้าที่โครงการสื่อเพื่อความยุติธรรม กล่าวทิ้งท้าย

ที่มาของข้อมูล
วลักษณ์กมล จ่างกมล 2550 รายงานวิจัย เรื่อง สื่อเพื่อสันติภาพ: จริยธรรม การจัดการ และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สนับสนุนการวิจัยโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
งานสัมมนาเชิงปฎิบัติการ เรื่อง การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ จัดโดยคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2550 ณ จ.สงขลา
หมายเลขบันทึก: 123173เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2007 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์ครับ

  • ดีใจครับที่รู้ว่า มีสื่อดีๆแบบนี้
  • แต่ไม่ทราบว่า ข้อมูลแบบนี้จะสื่อไปถึง ผู้สื่อข่าวทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ของบ้านเราได้มากน้อยเพียงใด
  • ระหว่างข่าว สมานฉันท์ กับ ข่าว หายนะ ข่าวประเภทหลังดูจะขายได้มากกว่านะครับ

สวัสดีด้วยความระลึกถึงค่ะอาจารย์Phirakan : )

อาจารย์สบายดีนะคะ  เพื่อนรุ่นพี่ดิฉันอยู่ ม.เดียวกันกับอาจารย์ บอกว่าโทรศัพท์มือถือบางทีจะโทรยากอยู่บ้าง    เลยใช้โทร.พื้นฐานแทน  ได้คุยกันหลายเรื่องพอหายคิดถึง 

ดิฉันขออนุญาตนำบทความนี้ไปให้นักศึกษาเรียนในชั้นด้วยนะคะ  อาจารย์เขียนเห็นภาพรวมดีจังค่ะ  เด็กเจอาร์คงได้อ่านเป็นกลุ่มแรก  หลังๆนี้ดิฉันรู้สึกว่าเด็กที่เรียนเจอาร์ด้วยอุดมการณ์มุ่งมั่นมีน้อยลง   ไม่ทราบว่าเพราะอะไรเหมือนกันค่ะ

ยินดีครับอาจารย์หากจะนำข้อมูลไปให้นักศึกษาได้ศึกษา เพราะคิดว่าเราคงต้องช่วยกันเผยแพร่แนวคิดนี้ให้มากขึ้น เผื่อว่าสื่อมวลชนรุ่นใหม่ของพวกเราจะได้มีหัวใจที่มุ่งให้เกิดสันติภาพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท