การทำแผนกับการทำจริง (1)


ว่าแต่ว่าใครเคยเขียนแผนเลี้ยงลูกบ้างไหมครับ

การทำแผนกับการทำจริง (1)

ผมมาคุยต่อตามสัญญาว่าด้วยเรื่อง แผนกับการทำงานจริง ขอเริ่มเล่าเรื่องที่หนึ่งเลยนะครับ เมื่อครั้งผมเป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลชุมชน (รพช) หลังจบใหม่ๆ ผมไปทำงานที่อำเภอท่าตูม จ สุรินทร์

อยู่มาวันนึง ท่านผู้ตรวจเขตที่ผมอยู่ คืออาจารย์หมออำนวย ไตรสุภา (ตอนนี้ท่านเกษียณแล้ว)ไปเยี่ยมผมที่ รพ ในตอนนึงท่านขอดูแผน รพ ผม ตอนนั้นผมจบใหม่ๆ ไม่รู้หรอกว่าแผนแปลว่าอะไร ก็บอกท่านไปตามตรงว่าไม่มีครับ ไม่รู้จัก ท่านเลยให้การบ้านผมว่าให้ไปเขียนแผนมา คราวหน้ามาตรวจจะขอดู

ผมไม่รู้จะทำไงก็ไปปรึกษาที่กระทรวง สมัยนั้นพวกเราที่อยู่บ้านนอกใกล้ชิดกระทรวงมาก เพราะต้องวิ่งเข้ามาขอของเป็นประจำ และพี่ๆในกระทรวง อย่างพี่ อรุณ บุญมาก (คนนี้ก็เกษียณไปแล้ว เหมือนกัน ) ก็น่ารัก พยายามช่วยทุกอย่าง ผมเข้ามาขอเครื่องมือแพทย์เล็กๆน้อยๆ เพราะไม่มีงบซื้อ แล้วก็เลยแวะถามเรื่องการทำแผน ก็ได้รับชีทชุดหนึ่งให้ไปอ่านเอง

เป็นคู่มือการเขียนแผนที่ พี่หมอยุทธนา สุขสมิตติ(ไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่านี่ก็เกษียณไปแล้ว) เขียนไว้อย่างละเอียด โดยให้ตารางสำหรับกรอกข้อมูล ตัวเลข แถมด้วยหัวข้อแผนหลักๆที่ต้องเขียน และสูตรการคำนวณเป้าหมายงานต่างๆ

ผมเขียนแผนตามคู่มือเสร็จก็ให้สงสัยว่ามันมีประโยชน์แค่ไหน ขอยกตัวอย่าง 3 เรื่อง

ในแผนผมต้องเขียนเป้าหมายการรักษาผู้ป่วยนอก ซึ่งพอเขียนเสร็จผมก็ไม่เคยมาดูอีกเลย เพราะเราต้องเขียนว่าจะรักษาผู้ป่วยนอกกี่คนต่อปี ผมไม่รู้ว่าจะเขียนไปทำไม ในเมื่อจำนวนที่แท้จริงคือมาเท่าไรก็รักษาเท่านั้น เราทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว

อีกอันที่ต้องเขียนคือจำนวนหญิงวัยเจริญพันธุ์อยู่กินกับสามีที่ต้องมีการวางแผนครอบครัว อันนี้มีประโยชน์ เพราะผมเอาไว้ตรวจสอบว่าตัวเองทำได้ตามที่คำนวณไว้หรือเปล่า เพราะเขาบอกว่าต้องช่วยกันทำ ด้วยการให้สุขศึกษาถ้าน้อยไปกว่าเป้า แถมบอกด้วยว่าควรมีการใช้วิธีคุมกำเนิดแบบต่างๆมากน้อยเท่าไรในอำเภอผม

เรื่องที่สามคือการเจาะเลือดผู้ต้องสงสัยมาเลเรียที่ผมก็ไม่ร็ว่าเขียนไปทำไม เพราะท่าตูมไม่ใช่เขตมาเลเรียชุก แต่ผมก็ต้องเขียนตามแผน และเขียนเสร็จก็ไม่เคยทำตาม เพราะเขากำหนดว่าถ้าให้ได้ตามเป้าคือต้องเจาะเลือดคนไข้ที่มาด้วยไข้มาทราบสาเหตุในสัดส่วนตามที่กำหนดในคู่มือ แต่ผมใช้การซักประวัติตรวจร่างกาย ถ้าสงสัยว่าติดเชื้อจึงเจาะเลือดตรวจ ดังนั้นไม่มีวันเข้าเป้า เพราะไม่ใช่เขตมาเลเรีย คนไข้ที่มีอาการเข้าข่ายจึงน้อยมาก ผมได้ยินมาว่าบางสถานีอนามัย เขาเจาะเลือดส่งตรวจมาเลเรยได้เข้าเป้า โดยการเจาะเลือดตัวเองส่ง (คงเจ็บน่าดู)

แต่ถ้าฉลาดหน่อยก็ไปเอาเลือดเป็ด เลือดไก่มา ส่งตรวจแทน เวลาตรวจไม่รู้เพราะเขาใช้วิธีย้อมสีที่ทำให้นิวเคลียสแตกอยู่แล้ว แม้เม็ดเลือดเป็ดไก่ จะต่างกับคนตรงที่มีนิวเคลียส ก็ไม่รู้เพราะเม็ดเลือดแตกตั้งแต่ตอนย้อมสี

นั่นเป็นบทเรียนบทแรกเกี่ยวกับการวางแผนที่สมัยเขียนแผนใหม่ๆผมก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอย่างที่ผมเขียนเล่ามาวันนี้ ตอนนั้นรู้แต่ว่าดีใจมากที่เขียนแผนเป็น และเข้าใจวิธีคำนวณ แต่ไม่เคยเปิดใช้อีกเลยหลังเขียนเสร็จ เพราะมัวแต่ยุ่งกับการตรวจคนไข้กับเซ็นต์แฟ้มที่เป็นงานของจริงที่ต้องเผชิญ และทำให้เสร็จในแต่ละวัน

เอาแค่นี้ก่อนนะครับ คราวหน้าจะมาเล่าอีกตัวอย่างจากของจริง

ว่าแต่ว่าใครเคยเขียนแผนเลี้ยงลูกบ้างไหมครับ

คำเตือน:

ท่านผู้อ่านโปรดอย่าอ้างอิงว่าผมมายุให้ไม่ต้องเรียนรู้เรื่องการทำแผน และไม่ให้ใช้การทำแผนเป็นเครื่องมือในการทำงาน ส่วนจะบอกอะไรบ้างนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละท่านอยู่แล้ว เพราะเรื่องเล่าหนึ่งเรื่องจะมีกี่บทเรียนย่อมขึ้นกับคนอ่านตีความเอาเอง แต่ถ้าสนใจว่าผมจะบอกอะไรก็อาจกลับไปอ่าน blog ที่แล้วของผมที่มีชื่อว่า “ได้เวลาเขียนสักที” ที่อยู่ใน blog ชื่อ “สังคมเรียนรู้ และความรู้”

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12311เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2006 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

     มาติดตามอ่านครับในอดีต (10 ปีโดยประมาณ) เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ครับสำหรับประสบการณ์ผม ที่อนามัยทำไว้แล้วได้เปิด 2 ครั้ง ถ้าเขามานิเทศครบ 2 ครั้ง ในหนึ่งปี

     "แผนเพื่อรับการนิเทศ" ผมเขียนที่สันแฟ้ม โดนพี่ นวก.ประจำ สสอ.ต่อว่าเสียยกใหญ่ ในปีที่ 2 ของการทำงานของผมที่อนามัยเมื่อแรกบรรจุ

ยินดีต้อนรับครับ ผมจะตามอ่าน blog นี้ ฝากพี่ช่วย comment เรื่องของผมด้วยนะครับ blog MedThammasatKM เกี่ยวกับการจัดการความรู้ในคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็น seriesบันทึกเรื่อง เริ่มต้นการจัดการความรู้(1)-(4)

ชาวสาธารณสุขได้ชื่อว่าเขียนแผนเก่งที่สุดในหมู่หน่วยราชการด้วยกัน ทุกวันนี้ผมก็ยังเห็นว่าพวกเราเก่งอยู่

ความจริงการเขียนแผนจะช่วยให้เราคิดอย่างเป็นระบบ แต่ถ้าไม่ระวังก็กลายเป็นคิดแบบหุ่นยนต์ คือกรอกแบบฟอร์มได้โดยไม่เคยคิดว่าคำที่เขียนลงไปแต่ละคำ (ซึ่งมักเป็นคำโตๆ อย่าง สร้างสุขภาพ สร้างการมีส่วนร่วม ฯลฯ) จริงๆแล้วแปลว่าอะไรเมื่อจะต้องเอาไปปฏิบัติ

ไม่รู็คนกระทรวงอื่นใครมีประสบการณืไงนะครับ

ครับ ผมคุณหมอวรรษา

ผมจะไปเชิญชวนให้มาเข้าชุมชนที่ผมสร้างไว้จะได้ตามอ่านได้ง่ายๆ 

มาแจ้งว่าผมพยายามเชิญ blog วรรษาเข้าชุมชนผม แต่ระบบบอกว่าไม่พบ blog medthammasatkm mี่คุณหมอให้มาครับ มีวิธีอื่นที่ผมจะไปอ่าน blog วรรษาได้ไหมนี่
ชื่อเต็มๆของ blog คือ KM Faculty of medicine Thammasat university ครับ
ตกลงหาเจอ และส่งเชิญชวนมาเข้าชุมชนที่ผมสร้างขึ้นแล้วนะครับ ชื่อ k-no-m (knowledge not money) ผมจะได้ตามอ่านของวรรษาได้ง่ายๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท