การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร (กลุ่มข้าวสะอาด) (๑)


เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ
ประเด็นนำเสนอ    เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ : การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร   (กลุ่มข้าวสะอาด)
ผู้ดำเนินรายการ     คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์
ผู้อภิปราย             คุณผดุง  เครือบุษผา และ  คุณจรัล  ติ้งฉิ่น
   (กลุ่มข้าวสะอาด มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร)
วัน/เวลา                           วันที่ 1 ธันวาคม 2548  เวลา11.00-11.45 น.
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
ขอกราบสวัสดีลุงสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ ท่านอาจารย์ ท่านผู้นำชุมชน และผู้เข้าร่วมประชุมที่เคารพ    ทุกท่าน เนื่องจากเวลาค่อนข้างจำกัด 45 นาที เมื่อคืนผมได้คุยกับพี่ผดุงกับ  น้องจรัล  มีเรื่องที่น่าสนใจมากเลยและมีความรู้สึกว่านำเสนอ แค่ 30 นาที ถาม 15 นาที เป็นความยากลำบากของพี่ผดุงที่จะเล่าเรื่องสิ่งที่ตัวเองสำเร็จ มีความก้าวหน้ามีความภาคภูมิใจในตลอดระยะเวลาที่ทำมาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่อย่างไรก็ตามเราก็จะพยายามเรียนรู้จากพี่ผดุงกับน้องจรัลให้มากที่สุด  เมื่อเช้าเราได้เห็นในวีซีดีของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ของพิจิตรซึ่งจริง ๆ แล้ว เกษตรอินทรีย์พิจิตรก็คงทำหลายเรื่องทีนี้เราลงลึกมาเฉพาะเรื่องข้าว   ให้พี่ผดุงเล่าเลยว่าได้เข้ามาสู่กระบวนการทำข้าวอินทรีย์อย่างไร เล่าตั้งแต่เริ่มต้นเลยนะเชิญเลยครับ
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
สวัสดีครับพี่น้องผมนายผดุง  เครือบุษผา  เป็นเกษตรกรอยู่บ้านวังไคร้ หมู่ที่ 6  ตำบลคลองกุม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร  ปัจจุบันเท่าที่ผ่านมาตัวผมเองสนใจเรื่องเกษตร    หลาย ๆ เรื่องแต่เดิมเลยทำนาโดยมีสวนอยู่ประมาณ 2 ไร่ วิธีการทำนาเมื่อสมัยแรก ๆ ที่ผ่านมา มีนา 15 ไร่ ปกติทำนามาตลอดสมัยก่อนผมยอมรับว่าตัวผมเองใช้เคมีมาตลอด ใหม่ ๆ ดี พอนานไปผมเองยอมรับว่าผลผลิตรายได้น้อยลงตกต่ำลงเพราะเราไม่รู้มาก่อนว่าเราใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมีทำให้ดินเสื่อมหมดแร่ธาตุอาหารไปโดยสิ้นเชิง เพราะตอนนี้มันเพิ่มต้นทุนไม่ได้ลดต้นทุนเลย  ดังนั้นผมมองว่าถ้าขืนเราทำไปหนี้สินเรายังไม่ยอมลดมันเพิ่ม รายได้ตกต่ำลง เพราะฉะนั้นตัวผมเองย้อนอดีตกลับมาว่าทำอย่างไรจึงลดต้นทุนได้ เผอิญว่ามูลนิธิร่วมพัฒนาจังหวัดพิจิตรมีคุณสินชัย ทีมงานที่ร่วมกันที่ผ่านมา  คุณสินชัยเป็นชาวนาเหมือนกันแต่เคยมาร่วมงานกับทีมงานของมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรก็เลยเข้าโรงเรียน วปอ. ภาคประชาชน  (วิทยากรการเปลี่ยนแปลงพึ่งพากันเองและพึ่งพาตนเองภาคประชาชน) ตั้งแต่ผมเริ่มเรียนรู้จาก วปอ. ยอมรับว่าผมเจอปราชญ์ของจังหวัดพิจิตรทั้งที่ตัวผมเองสมัยก่อนไม่รู้จักใคร ตัวผมเองรู้จักในตำบลและในอำเภอบางส่วน    พอผมโดดเข้ามาใน วปอ. ผมจะรู้จักพี่น้องมากมายหลายคนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน 
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :  
พี่ผดุงเริ่มไปเรียน วปอ.ปีอะไร
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
รู้สึกว่าเดือนมิถุนายน 2545 ในช่วงนั้นผมยอมรับเลยว่าครอบครัวผมมีวิกฤตมากหนี้สินมันเพิ่มลูกก็เรียน ผมก็มีแนวคิดว่าทำอย่างไรผมต้องลดทุนให้ได้ พอดีได้เข้าอบรม วปอ.  4-5 วัน ทำให้ผมเกิด
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
วปอ.พาไปทำอะไรบ้าง
คุณผดุง   เครือบุษผา  :
สมัยก่อนของผมรุ่นที่ 4 ก็จะมี 50 คน รวมทั้งหมดเลยเรียนรู้ 4-5 วัน ได้ไปเจอปราชญ์ที่เขาประสบผลสำเร็จแล้ว 
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
อันนี้หมายถึงเป็นชาวบ้านเก่งๆที่เราเรียกว่าปราชญ์ชาวบ้านอยู่ที่พิจิตรนี่เองใช่ไหม
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
ครับ อยู่ที่ในพิจิตรแต่ทำมาก่อนเราเขาประสบผลสำเร็จเลยพาไป อำเภอนั้นนะ อาจารย์ณรงค์ เก่งมากเรื่องปุ๋ยอินทรียวัตถุ หรือเรื่องเกษตรประณีตของลุงจวน   ที่เขาเคยทำมาเป็นหนี้สินเยอะแยะเขาก็ลดลง ครอบครัวก็อยู่เย็นเป็นสุขสบายใจ  
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
ลุงจวนที่เราเห็นในวีซีดีเมื่อเช้าใช่ไหมครับ
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
ครับ แต่ที่ผ่านมามันก็เรียนรู้มาเรื่อย ๆ มาเจออาจารย์บำรุงเรื่องการทำบัญชีฟาร์ม เรื่องน้ำหมักชีวภาพ  อาจารย์ณรงค์เรื่องปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรียวัตถุ  หลังจากนั้นมาพอประสบผลสำเร็จแล้วเรียนแล้วรับใบประกาศนียบัตรแล้ว ก็เริ่มพัฒนาตัวเองคิดว่าเราเรียนมาแล้ว 4 คืน 5 วัน มันมีคุณค่ามากจำเป็นที่เราเรียนรู้แล้วเราจะต้องทำก่อน คิดแล้วมันเกิดปัญญา พอเกิดปัญญามันปลื้มมากทำไมถึงทำได้ เราคนไทยเหมือนกันทำไมมันทำไม่ได้ มันอยู่ที่ตัวเรา มันเริ่มจากตัวเราก่อนที่เราจะประสบผลสำเร็จ
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
พอเรียนเสร็จทำอะไรตอนนั้น
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
พอเรียนเสร็จกลับมาก็ต้องมาทำน้ำหมักหอย เป็นฮอร์โมน  พอเสร็จแล้วก็ทำสมุนไพรต่อจนร่มต้นมะม่วงหลังบ้านผมเต็มไปหมด ทำแล้วเอาไปใช้ก็ได้ผล เรามาเปรียบเทียบว่าเราซื้อฮอร์โมนขวดหนึ่ง  260 บาท หรือ 360 บาท แต่เราลงทุนแค่ไม่ถึง 100 บาท เราก็ได้ฮอร์โมนเป็น สิบสิบ ลิตร
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
ที่พี่ผดุงบอกว่าได้ผลมันเป็นอย่างไรครับ
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
ก็ฉีดผลไม้ครั้งแรกเริ่มจากผลไม้ก่อน สี่ ห้าวันเข้าสวนทีหนึ่ง สังเกตดูว่ามันเขียวขึ้น พอเอาไปราดที่โคนไม้ผมสังเกตว่าไส้เดือนมาข้างบนก็มีมดแดงมา คือ เราสังเกตง่าย ๆ เราหยุดใช้สารเคมีระบบนิเวศน์มันเกิดครับอาจารย์เห็นได้ชัด 
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
ทีนี้พอพี่ผดุงได้เรียน วปอ. เริ่มลงมือทำ ได้ข่าวว่าพี่ผดุงได้มีโอกาสไปเรียนการคัดพันธุ์ข้าวที่มูลนิธิข้าวขวัญที่จังหวัดสุพรรณบุรีใช่ไหมครับ
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
ครับ พอดีผมก็ทำไปเรื่อย ๆ ปกติคราวนี้มันไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น  มีคุณชัยมาชวนทั้งหมด 5 คน มีทีม งานมีการสนับสนุนของมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร เราไปเรียนรู้มามันยังไม่พอจริงๆ เกษตรต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จริงอย่างที่เขาพูดพวกเราสนใจการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ตั้งแต่บรรพบุรุษหรือตั้งแต่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ทำข้าวบริโภคมาตลอดปัจจุบันก็ทำข้าว สนใจไปกัน 5 คน 1 คืน 2 วัน  พอเรียนรู้จับประเด็นง่าย ๆ โดยมูลนิธิข้าวขวัญของอาจารย์เดชา  ศิริภัทร  
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
รายละเอียดช่วงบ่ายจะมีมูลนิธิข้าวขวัญมาเล่าเรื่องต่อ 
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
ตรงนี้พอประสบผลสำเร็จตรงนี้พอเรียนรู้คร่าว ๆ ผมก็ทำอีกทำแล้วมันเกิดอะไรขึ้นครับ ทำแล้วประสบผลสำเร็จนักวิชาการทั้งหลายบอกว่าผู้ชายข้าวเปลือกผู้หญิงข้าวสาร แต่นี่ไม่ใช่ข้าวสารมันข้าวกล้อง จมูกข้าวยังอยู่ทำไมจะเกิดไม่ได้ทำไมจะงอกไม่ได้มันสามารถให้การขยายพันธุ์ได้  ตอนนี้พอมาคัดแล้วแกะแล้วลงดินปรับปรุงบำรุงดินโดยไม่ให้ปุ๋ยเคมีให้แต่อินทรีย์ชีวภาพตลอดผลผลิตก็เกิด พอผลผลิตเกิดมันปลื้มใจมันภูมิใจ
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ :  
มันดีกว่าเดิมอย่างไร
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
มันดีกว่าเดิม  หนึ่งผมสังเกตมา  10 วัน ถึง 15 วัน ฉีดสมุนไพรไล่แมลงอยู่อย่างนี้ตลอด ลำต้นแข็งแรงมากและรากเดินได้ไกลมากแล้วโรคแมลงต่าง ๆ ไม่มีเลย ตรงนี้เราได้คุณภาพของข้าวแล้วพอผลผลิตออกมาวันที่เก็บเกี่ยวผลผลิต 1 เมล็ด 1 ต้น ได้ 136 ต้น แต่ได้รวงจริงๆ 110 รวง นี่คือความสมบูรณ์ของที่นี่
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
ซึ่งก่อนนั้นถ้าเราไม่ได้คัดพันธุ์เราจะได้กี่ต้น
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
ก่อนนี้มาผมไม่ได้เรียนรู้จากอาจารย์ ผมจะไม่รู้อะไรเลยก็หว่านไปพันธุ์ไหนดีก็ไปซื้อมาจากพ่อค้า ผมไม่ทราบหรอกพ่อค้าเป็นชาวนาหรือเปล่า แล้วก็มีข้าวปลูกมาขายชาวนาไปซื้อมันถูกไหม เรามีแง่คิดว่าเราเรียนรู้มาก่อนอย่าไปเสียเปรียบพ่อค้า เพราะเราเป็นชาวนาอย่างไรเสียเปรียบทุกรูปแบบอยู่แล้ว ถ้าเรียนรู้มาคิดเป็น เพราะฉะนั้นผมตั้งหลักไว้อีกข้อหนึ่งที่ผมลดต้นทุนในครอบครัวได้ก็คือผมไม่ต้องซื้อพันธุ์ข้าวตั้งแต่ผมเรียนกับอาจารย์เดชา ศิริภัทร
 คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
ก่อนหน้านั้นซื้อพันธุ์ข้าวมาตลอด พันธุ์ข้าวที่เราเคยซื้อเป็นพันธุ์ข้าวที่เราคัดเองคุณภาพเป็นอย่างไร มันต่างกันนอกจากแตกกอแล้วมีอย่างอื่นไหม  ผมได้ยินเกษตรกรหลายคนบอกว่าพันธุ์ข้าวมีปัญหาการปนเยอะใช่ไหมครับ
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
จริง ๆ แล้ว ใช่ครับ ผมคัดพันธุ์ข้าวได้ แต่เกษตรกรพี่น้องชาวนายอมรับเลยว่าไปซื้อข้าวพ่อค้า  ผมเคยพูดคุยในเวทีที่ทำเวทีตรงไหนก็แล้วแต่ ถามว่าพ่อค้าได้ทำข้าวไหมครับ ได้ผลิตข้าวไหมครับเขาไม่ได้ผลิตข้าวแต่เขาเอามาจากไหน ถ้าเขาไม่ได้เอามาจากชาวนา เพราะฉะนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพ่อค้ามันพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไม่ได้ เพราะเป็นการรับซื้อจากชาวไร่ชาวนามา สิ่งเจือปนมีไหม  ข้าวดีด ข้าวเด้งมีไหม ประสบปัญหาตลอด แต่ชาวนาจะแก้ปัญหาได้หรือเปล่าเพราะข้าวข้าวดีด ข้าวเด้งมันมาแล้ว ผมยอมรับว่ามันกลายมาได้อย่างไร เป็นข้าวที่ไม่มีคุณภาพพอตกลงดินชาวนาจุดฟางเลย 3 วัน ปั่นหรือไถกลบเสร็จแล้วข้าวที่ร่วงไปขึ้นผสมผสานพันธุ์ขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นข้าวพวกนี้ถือว่าไม่มีคุณภาพ แต่ที่มองเห็นได้ชัดเลยมันสู้พวกเราไม่ได้หรอกครับ คือพัฒนาขึ้นมาใหม่มันง่าย พัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่าพยายามตั้งศูนย์ใหม่ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ แล้วเราจะได้ข้าวมีคุณภาพ ถามว่าราคาเราตั้งเองได้พอใจว่าขาดต้นเลยไม่ต้องไปตากให้เขา  7,000 บาท ได้ไหม  แล้วผลผลิตเป็นอย่างไร แต่ผลผลิตเรื่องปัจจัยผมยอมรับว่าพี่น้องเคยใช้สารเคมีมาก่อน ดินมันเคยกินปุ๋ยเคมีถ้าเราจะปรับปรุงปุ๋ยอินทรียวัตถุเราค่อย ๆ ลด ละ เลิก ไป ใส่ไร่ละ 10 กิโลกรัม ก็ได้ลดลงมา ถ้าอยู่ ๆ เราไปฟันธงใส่อินทรีย์วัตถุเลยพี่น้องครับอย่าเอาอย่างผมไร่หนึ่ง แค่ 73 ถัง   แค่นี้ชาวบ้านก็บ่นใช้เคมีสมัยก่อน 85 ถัง 90 ถัง แต่เรายกเลิกฟันธงเลยใช้อินทรียวัตถุบวกชีวภาพ จะได้แค่ 73 ถัง 15 ไร่ ได้ 11 เกวียน  ถือว่าร่วงแล้วชาวบ้านคงทำอย่างผมไม่ได้  อย่างน้อยเรามีจุดเลือกเราทำใจก่อนเดี๋ยวมันจะดีขึ้นมา   ทีหลัง
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
หลังจากเราไปเรียนรู้ลงมือทำเรื่องของปุ๋ยชีวภาพแล้วเรียนเรื่องแมลงด้วยไหม เพราะแมลงนี่ก็สำคัญ 
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
เรื่องแมลงเคยทำเวทีคือนักวิชาการของจังหวัดพิจิตร ท่านสอนโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ผมก็ไปร่วมสัมมนามา 2 วัน
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
ใครเป็นคนจัดเวที ครับ
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
ตอนนั้นเป็นเกษตรตำบล เขาจะมาทำเกษตรจริง ๆ เขาก็เลยถามเรื่องการกำเนิดข้าวของเกษตร ตอนนั้นเรียนรู้มาเรียนรู้ว่าแมลงมันมีกี่ชนิด  ไอ้ที่มันแพร่ขยาย ระบาดไว ๆ ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วมีอยู่ 4 ชนิด อายุข้าว 15 วันมีแมลงข้าวมีแมลงมันต้องทำลาย
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
 ถ้าฟังที่พี่ผดุงพูดก็เป็นคนที่ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ถ้ามีการเรียนรู้ที่ไหนเราจะไปตลอด เรื่องปุ๋ย เรื่องยา เรื่องแมลง แล้วก็ไปเรื่องการคัดพันธุ์ที่ข้าวมูลนิธิข้าวขวัญก็มาทำดูเหมือนว่าเดิมใช้เคมี  ได้ 85 ถึง 96 ถัง  แต่ว่าปัจจุบันได้ซักเท่าไหร่
 คุณผดุง  เครือบุษผา  :
ที่ผมบอกว่าทำข้าว 35 หรือสุพรรณ 1 เมื่อปี 45 ต่อปี 46 ผมยอมรับว่าผมเดินทางมาสุพรรณบุรี   อีกครั้ง  ผมมาเอาพันธุ์เหลืองทองซึ่งอาจารย์เดชา ผสมนิ่งแล้วแกก็เลยเอาไปให้ทดลองทำดู  ครั้งแรกเอาไปน้อยสามสี่ถังเอง  พอมาหนสองกลางปี 47  ใส่เข้าไปเลยไม่รู้ว่าเป็นโชคอะไรของผมได้ 105 ถัง ขึ้นมาเลย  ครั้งที่สาม ฟันธง ไม่ใช้เคมีเลยได้ 105 ถัง แล้วผมเดินทางมาเมื่อปี 47 มาที่เมืองทองธานีประมาณวันที่ 7 วันที่ 8 เดือนกันยายน มีคนอยุธยาอยู่อำเภอภาชีเขาบอกว่า จำได้คนที่ออกรายการอยากถามคุณจริง ๆ ว่าเป็นเกษตรกรจริงไหม ตอนนี้มีข้าวไหม คุณจะเกี่ยวเมื่อไหร่  ผมเกี่ยววันที่  11 เดือนกันยายน เขาไปจริง ๆ ครับ เกี่ยวใกล้หมดแล้วตอนนั้นได้ 102 ถัง จากต้นเลย 7,000 บาท ครับ โดยที่เราไม่ต้องขายให้พ่อค้ามีกลุ่มเครือข่ายของจังหวัดพิจิตรและต่างจังหวัดก็หมดครับไม่เหลือเราขายพันธุ์เขามองเห็นคุณภาพข้าวเป็นอย่างไรเขาจะเรียนรู้ไปเอง
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
ผมก็คงคล้าย ๆ กับคนภายนอกครับ  มีคำถามว่าหลังจากที่เราทำเหล่านี้แล้ว ผลผลิตของเราครั้งแรกจะไม่ดีใช่ไหมครับ
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
ครั้งแรกจะไม่ดีแต่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้น
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
แต่คราวนี้หันมามองต้นทุน ตั้งแต่ตอนที่เราใช้สารเคมีจนมาถึงปัจจุบันเราเลิกใช้หรือใช้น้อยลง
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
ตั้งแต่ผมเริ่มฟันธงเลยผมรายได้ต่ำ แต่เรามาดูต้นทุนต้นทุนนี่ต่ำครับ ปัจจุบันข้าวนาปรัง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านเป็นรูปชลประทาน ข้าวนาปรังราคา ระหว่าง 5,800-6,000 บาท หรือ ราคาประกัน 6,000-7,000 บาท พี่น้องเชื่อไหมครับเราอยู่ได้ถ้าเราลดต้นทุนได้ถ้าเรามองเป้าหมายง่าย ๆ ครอบครัวเราก่อน หนึ่งตัวเราเองไปเรียนรู้มาแล้วเกิดปัญญามาสร้างพัฒนาตนเองขึ้นมาในครอบครัว   ถามว่าต้นทุนลดแล้วหนี้สินลดไหมครับตรงนี้คือปัจจัยเป็นหนี้มานานอยากเป็นไทเสียที หนี้สินลดครับตัวเองปลอดภัยเพราะไม่ใช้เลยสารเคมี แม้กระทั่งผักในสวนผมไม่ว่าถั่วไม่ว่าแตง ครอบครัวเริ่มเปลี่ยนมามีความสุขมีเงินทองมีใช้ไม่ขาด
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
พี่ผดุงให้ข้อมูลได้ชัดไหมว่าต้นทุนขนาดนี้จากแต่ก่อนไร่ละกี่พันเดี๋ยวนี้ไร่ละกี่พัน
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
ก่อน ๆ นี้ที่ผมเคยคิด ประมาณ 2,000-2,300 บาท เก็บเกี่ยวแล้ว ถ้าพูดมา 280 บาท ผมก็ประมาณ 500 บาท มันก็ 2,000 กว่าบาท ซึ่งแตกต่างเมื่อปลายปีเข้ามา 1,000 กว่าบาท เกี่ยวครั้งสุดท้าย ผมได้ 12 เกวียน ไร่ละ 3,084 บาท แต่มาเปรียบเทียบเกษตรกร สมัยนี้ เกือบ 3,000 กว่าบาท ถ้าเป็นนาข้าวยิ่งไปกันใหญ่  ถ้าพี่น้องชาวนาไม่เชื่อลองทำบัญชีฟาร์มดูว่าตั้งแต่เริ่มแรกเราซื้อมา จ้างไถ ยาคุม ยาฉีด  แล้วเราจะรู้ว่าลดต้นทุนได้ไหม  ต้นทุนสูงมากไหมลักษณะนี้เราจะรู้
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
ทีนี้หลังจากเราทำประสบผลสำเร็จมีความก้าวหน้า พี่ผดุงเริ่มเป็นแกนขยายผล เดี๋ยวผมจะกลับมาที่พี่ผดุงอีกที  เชื่อมไปที่คุณจรัล เป็นคนรุ่นใหม่  คุณจรัลเข้ามาเกี่ยวข้องกับเครือข่ายได้อย่างไรครับ
คุณจรัล ติ้งฉิ่น :
ครั้งแรกที่ผมเข้ามาเกี่ยวข้องกับเครือข่ายเหล่านี้เรื่องการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวคือ พี่ผดุงแกไปสอน
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
เริ่มต้นอย่างไร ในการเรียนรู้ในเรื่องการคัดเลือกพันธุ์ข้าวเฉพาะของกลุ่มนี้
คุณจรัล  ติ้งฉิ่น :
ผมขอแนะนำตัว ผมอยู่ตำบลวังหว้าคนละตำบลกับพี่ผดุงแต่อยู่อำเภอเดียวกัน  มีกำนันสะอาด แกเป็นกำนันของตำบลวังหว้าแกเห็นว่าเรื่องพันธุ์ข้าวน่าจะดีกับชาวนา  แกเชิญพี่ผดุงกับพี่สินชัยเป็นวิทยากรสอนเรื่องพันธุ์ข้าว  ผมก็เลยได้เรียนที่ตำบล   ตอนนั้นมีนักเรียน 20 กว่าคน  เหลือผมคนเดียว 1 คน พอไปเรียนเสร็จข้อมูลได้ไม่เต็มร้อย  ผมก็เลยตามไปเรียนกับแกที่บ้าน  พอไปเรียนกับแกที่บ้านได้ข้อมูลครบผมก็มาฝึกทำเอง
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
แล้วเป็นไงได้ผลไหม
คุณจรัล   ติ้งฉิ่น :
ได้ผลเป็นที่พอใจเลยครับ  เพราะว่าตอนนั้นใช้ข้าวพันธุ์สุพรรณ 1 ของผมได้ไม่เท่าอาจารย์ผดุงของผมได้น้อยกว่าจากข้าว 1 เมล็ด ได้ 110 กลีบ จำนวนรวงจริงได้ 100 รวง ผมได้ไม่เท่าเขาแล้วอยู่ต่อมาเรื่อย ๆ ก็ลุงกำนันแกชักชวนให้เรียนนักเรียน วปอ. ภาคประชาชน
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
ไปเข้า วปอ. ของพี่ผดุงรุ่นที่ 4 ของจรัลรุ่นเท่าไหร่ครับ
คุณจรัล   ติ้งฉิ่น :
ของผมรุ่นที่ 7 พอไปเรียนนักเรียน วปอ. เขาสอนทุกอย่าง หลายกระบวนการ มีปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ สารฆ่าแมลง สารไล่แมลง และก็วิธีการตอน การทาบกิ่งมีพืชสวนมีพืชไร่ คือแล้วแต่ว่ามันจะตรงกับครอบครัวของใครที่จะนำกลับไปใช้ได้  ผมก็ไปเรียน  4 คืน 5 วันเหมือนกันกลับมาก็มาทดลองใช้   ก่อนที่จะมาถึงจุดหักเหตรงนี้มันเกิดจาการใช้สารเคมีมาก ๆ แล้วทีนี้เป็นหนี้เป็นสินหันหน้าไปพึ่งใครไม่ได้  มันเกิดน้ำท่วมปี 38  อยู่ต่อมาเพลี้ยกินข้าว มาตายตอนแล้งสามสี่ปีซ้อนผมก็เลยกลายเป็นหนี้หนัก
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
บอกได้ไหมว่าหนี้เท่าไหร่
คุณจรัล   ติ้งฉิ่น :
หนี้ 180,000 บาท ครับ  ผมทำนาประมาณ 50 กว่าไร่ ผมมาเรียน วปอ. เริ่มลดนาลงเหลือ 15 ไร่ ก็เลยหันกลับมาทำมาศึกษามาวิเคราะห์ทำด้วยตัวเองบ้าง พอมีปัญหาติดขัดก็วิ่งไปหาอาจารย์ผดุงบ้าง  พออยู่มาจากพันธุ์ข้าวเกี่ยวแล้วขายเลยพอเรามาคัดพันธุ์เอง ชาวบ้านหันมาเห็นข้าวเสมอดีนะเขามาสั่งซื้อโดยตรงจากชาวนาเหมือนกัน
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
ตอนนี้เราได้ได้ประโยชน์ที่จะคัดพันธุ์ขายพันธุ์ข้าวได้ด้วยใช่ไหม
คุณจรัล   ติ้งฉิ่น :
คือเรากำหนดราคาเองได้  
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
ถ้าขายเป็นพันธุ์ข้าวตกเป็นกิโลเท่าไหร่
คุณจรัล   ติ้งฉิ่น :
เป็นพันธุ์ข้าวกิโลละ 7 บาท
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
ถ้าขายเป็นข้าวเปลือกธรรมดาราคาเทาไหร่
คุณจรัล  ติ้งฉิ่น :
คือข้าวปลูกกับพันธุ์ ข้าวราคาไม่ต่างกัน  ต่างกันถ้าเป็นข้าวปลูกเราจะขายในราคาแพง  
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
เราขายเป็นข้าวปลูกด้วยราคาเท่าไร
คุณจรัล  ติ้งฉิ่น :
พันธุ์ข้าวกับข้าวปลูกอย่างเดียวกันถ้าข้าวสดขายถังละ 70 ถ้า ข้าวแห้งถังละ 100 บาท ผมทำอย่าง 2 อย่าง ทำนาปีและนาปรัง นาปรังผมรุ่นที่ผมทำเป็นเกษตรเคมี ผมได้ 90 ถัง ต่อไร่ ทำไปเรื่อยๆ  สารเคมีเพิ่มขึ้นข้าวลดลงๆ แต่พอผมไปเรียน วปอ.ไปศึกษาไปเรียนรู้  ผมหันกลับมาทำครั้งแรกเลยเป็นกึ่งเคมีกับชีวภาพ  เคมีกึ่งเกษตรอินทรีย์ ข้าวผมได้น้อยข้าวนาปรังผมได้ 60-70 ถังต่อหนึ่งไร่ ครั้งแรก ๆ ข้าวนาปีได้ 50 ถังถึงรอบปีจะทำหนึ่งครั้ง เพื่อเอาข้าวรับประทานเอง   พอถึงปัจจุบันข้าวนาปรังผมได้  105 ถัง ข้าวนาปีของผมเอง 83 ถังต่อหนึ่งไร่
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
มองเรื่องของต้นทุนลดไปได้อย่างไร
คุณจรัล   ติ้งฉิ่น :
ต้นทุนถ้าหากว่าเป็นสารเคมีตกที่ไร่ละสามพันกว่าบาทถ้าหากเกษตรอินทรีย์ลงทุนไร่ละ  2,080 บาท คิดทุกอย่างกระทั่งแรงงานของเราเองที่แพงคือค่าเช่า ผมไม่มีนาเป็นของตัวเอง
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
ผมถามอย่างนี้เลยเมื่อเรามาจุดนี้แล้วเรามีความรู้สึกว่าชีวิตเราดีขึ้นไหม  เราดีขึ้นเรื่องอะไรบ้างผมถามตรง ๆ เลย 
คุณจรัล   ติ้งฉิ่น :  
ตรงนี้ถามว่าชีวิตดีขึ้นไหม ผมขอพูดเกี่ยวกับสุขภาพเมื่อเราใช้สารเคมี เราเข้าออกโรงพยาบาล หมอเขารู้ว่า ชื่อ-สกุล อยู่ตรงไหนจนจะเป็นเพื่อนกับหมอก็ว่าได้ พอปัจจุบันห่างเหินครับเพราะว่าเราลดจากสารเคมีใช้ชีวภาพสุขภาพร่างกายเราแข็งแรงขึ้น เกี่ยวกับเรื่องครอบครัวเมื่อก่อนเรื่องครอบครัวเมื่อเป็นหนี้เป็นสิน  ครอบครัวก็ไม่มีความสุขทะเลาะกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา  เงินทองไม่เข้าใครออกใครเป็นสิ่งล่อตา บาดใจ พอมาทำตรงนี้เราพอมีเงินเหลือใช้ครอบครัวมีสุขขึ้น
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
แสดงว่าหนี้ลดแล้ว
คุณจรัล   ติ้งฉิ่น :  
ครับ หนี้ลดแล้วถ้าหากว่า 3 ปีที่ผมเริ่มหันหน้ามาตรงนี้  จากที่ผมเริ่มเป็นหนี้อยู่ 180,000 บาทผมยังเป็นหนี้อยู่เท่าเดิม แต่ผมได้เขาเรียกว่าปัจจัย 5  ปัจจัย 6 เพิ่มขึ้นมาคือผมได้ที่ดินเพิ่มขึ้น ห้าหกไร่ ผมเอาเงินที่มีกำไรบ้างไปซื้อที่
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
มีอะไรเพิ่มขึ้นอีกไหม
คุณจรัล   ติ้งฉิ่น :  
ได้รถไถอีกหนึ่งคันราคา 130,000 บาท 
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
คือเราแปลงมันเป็นทรัพย์สินแต่หนี้เท่าเดิม มีอะไรบอกที่ประชุมหลังจากที่เราทำ ถามพี่ผดุงด้วยเรายืนอยู่จุดนี้ รู้สึกว่าชีวิตเราดีขึ้นอย่างไรแง่มุมอะไรบ้าง 
คุณจรัล   ติ้งฉิ่น :  
ตรงนี้ละครับ ถ้าเรามัวหลงงมงายคือสิ่งล่อตาล่อใจหลงโฆษณาอยู่ไปไม่รอดหรอกครับ ทุกอย่างที่โฆษณามันเงินล้วนๆ ครับ ถ้าหากเราหันมาตรงนี้เราทำด้วยกำลังแรงงานของเราเองมันประหยัดมันลดต้นทุนเราไปได้มากเลย 
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
พี่ผดุงจะบอกทางผู้เข้าร่วมประชุมอย่างไรบ้าง  เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วพี่ผดุงมีข้อคิดข้อเรียนรู้อะไรบ้างจากการที่เราเปลี่ยนความคิดเปลี่ยนวิธีการทำไร่ทำนาของเรา 
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
ผมอยากจะฝากพี่น้องชาวนาว่า  ถ้าราไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง ผมเชื่อแน่ว่าหนี้สินไม่ลดตัวเองไม่ปลอดภัยถ้าเราฝืนใช้ระบบสารเคมีเรื่อย ๆ หนี้สินยากมากที่จะลด ถ้าเราเกิดปรับทางปัญญาหาสิ่งเรียนรู้ใหม่มาแก้ปัญหาตรงนี้ หนึ่งข้าวเราไม่ซื้อ  สองสมุนไพรไล่แมลงทดแทนสารเคมีได้ ฮอร์โมนทดแทนฮอร์โมนจากท้องตลาดที่สื่อโฆษณาอยู่ ถ้าพวกเราไปหลงเชื่อตรงนี้ผมขอฝากไปเลยว่ามันยากจะปลดหนี้ได้  อย่างถ้าใครทำอย่างระบบเครือข่ายของจังหวัดพิจิตรที่ขยายไปเรื่อย ๆ เรียนรู้กันไปเรี่อยๆ จัดเวทีอำเภอโน้นบ้างอำเภอนี้บ้าง
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
ตรงนี้พี่ผดุงขยายนิดหนึ่งว่าที่เรามีเวทีเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นเครือข่ายกี่อำเภอ
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
ทั้งหมดมี 12 อำเภอ เดือนหนึ่งแกนนำมาพบกันครั้งหนึ่ง
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
อย่างพี่ผดุงถือว่าเป็นอะไรครับ
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
แกนนำระดับอำเภอครับ  แกนนำก็จะสอดแทรกเข้าไปในตำบล ต่าง ๆ ว่าหมู่บ้านนี้มีใครบ้างที่สนใจเรื่องอินทรีย์ชีวภาพ อยากลดต้นทุนไหมถ้าอยากลดมาเรียนรู้กับเราคุณก็หากลุ่มตั้งกลุ่มเข้าอยากรู้เรื่องอะไรบ้าง ดิน แมลง น้ำหมักชีวภาพ ก็ถามเขา ก็จะติดต่อมาว่าอยากเรียนรู้   เครือข่ายคนนั้นรู้เรื่องอะไรเอาไปพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เขาจะค่อย ๆ เข้าใจเข้าจะตั้งกลุ่มขึ้นมากลุ่มคืออะไรคือพลัง แล้วเครือข่ายเรามี ทุกจุดทุกอำเภอทุกตำบล
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
สมาชิกของเครือข่ายของเรามีทั้งหมดเท่าไหร่ครับ
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
ทั้งจังหวัดพิจิตร 3,000 ครัวเรือน จะพยายามหาต่อไปขับเคลื่อนต่อไป กลุ่มไหนจะขับเคลื่อนเรื่องอะไร
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
แกนนำก็ไปหาสมาชิกว่าในพื้นที่มีเกษตรกรท่านใดสนใจ มีตัวแทนเข้าไปสนับสนุนการเรียนรู้ แกนนำเองก็มีเวทีในระดับจังหวัดด้วยเป็นเครือข่ายด้วย
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
อย่างของโรงเรียนวัดวังไคร้ ผมเข้าไปแนะนำอาจารย์ว่าอาจารย์สนใจเรื่องเกษตรไหม เดี๋ยวนี้ว่าเรา มีทายาทเกษตร  พ่อแม่บางคนอาจใช้สารเคมีเยอะแยะ  หนี้สินล้นพ้นเรามาลองทำเวทีเล็กๆ ดูไหม เอาคนนั้นมาสอนเรื่องสมุนไพร ไล่แมลงก่อน  เป็นนักเรียนมัธยม พออาจารย์ตกลงเอาคุณสินชัยมา ซื้อถังมาให้กากน้ำตาลมาให้ เพราะมันมีงบสนับสนุนตอนนั้นก็เอามาจัดเวทีที่โรงเรียนมีอาจารย์ เด็กนักเรียนประมาณ 30 คน เขาสนใจเรื่องทำผักโดยว่าไม่มีสารเคมีเลย ผมก็เลยลองถามคุยกับเขาดูสรุปว่าเขาเอา ผมก็เลยสอนทำ  น้ำหมักชีวภาพ แล้วก็ฮอร์โมนชีวภาพหมักหอยพอเสร็จแล้วให้เด็กทำ ทำอะไรรู้ไหมครับ ทำผักก่อนทีแรก กลุ่มละ 6 คน แปลงเดียวแต่มันก็หลายแปลงมาแล้วเสร็จแล้ว  แต่เรายังไม่มีตลาด ไม่ต้องมีตลาดหรอก   ผักนี้สะอาดปลอดภัยจากสารเคมีทั้งนั้นเลย หนูลองบอกให้พ่อแม่ทำกับข้าวที่บ้านกินก่อนโดยไม่ต้องมุ่งเรื่องขายเรายังไม่เน้นตรงนี้ 
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
ทีนี้ตอนนี้คุณพี่ผดุงอายุ 56 ของคุณจรัล 34 ปี อันนี้ก็เป็นตัวแทนของเกษตรกรรุ่นใหม่ ตอนนี้ผมมีคำถามว่าพอมาถึงจุดนี้มีหลายคนเขาคิดว่าการทำอาชีพเกษตรไม่มีอนาคตนะ ไม่อยากให้ลูกหลานทำอาชีพเกษตรต่อไปแล้ว  ในฐานะที่เราคลุกคลีมาถึงจุดนี้  เราคิดว่าอาชีพเกษตรยังเป็นทางออกของคนรุ่นใหม่ไหม  และถ้าเราจะทำให้เป็นทางออกเราจะต้องทำอย่างไร ถามทั้งสองท่านเลย
คุณผดุง  เครือบุษผา  :
จริง ๆ แล้วถ้าพวกเราชาวเกษตรมีทางออกทุกแง่ทุกมุมเพียงแต่เราพยายามเรียนรู้ให้ได้ว่า  เรียนรู้แล้วต้องทดลองทำ เรียนรู้จะลดได้ไหมต้นทุน ตรงนี้สมควรจะลดได้ไหม สมมติผมยกประเด็นง่ายๆ ว่าบางคนบอกว่านารกจังทำไมไม่ซื้อยาฆ่าหญ้ามาฉีด  ผมบอกไม่ได้ผมจ้างคนดีกว่าเดือนหนึ่ง ผมว่าง10 กว่าวัน นอกนั้นจะตระเวนไปเรื่อย ๆ  ไม่มีเวลาจริงอยู่แต่ผมจ้างเขาหวดดีกว่าแม้เสียเวลาหน่อยดินข้างคันนาไม่เสีย แล้วพวกท่านหละ  พอฉีดยาฆ่าหญ้าตกถึงดินปุ๊บปัญหาเกิดแต่เขาแก้ไม่เป็น เวลาข้าวออกมารวงจู๋หดๆ เพราะสารฆ่าหญ้ามันตกลงไปในดินผสมแล้วพืชโตไม่ได้ แต่ถ้าเราหวดผมยอมรับว่าระบบนิเวศน์มันเกิด เพราะอะไรครับมันเกิดเพราะแมลงที่หญ้ามันอยู่มันจะได้ไม่กวนพืชเราไม่ได้กวนข้าวเรา มันพูดไปได้เยอะครับพูดแล้วมันยาวพูดถึงวัฒนธรรม ประเพณี ก่อนจะหว่านข้าวมันมีอะไรบ้าง  ตรงนี้มันสื่อจากเบื้องบนต้องทำนะพวกอื่น ๆ หนูกินเป็นแปลงแต่ผมไม่กินใช้สื่อวัฒนธรรมเก่า ๆ ที่เราเคยทำมาก่อน จะหว่านมีแรกนาเฉพาะปีนี้ผมว่าวันเสาร์ปีนี้ดี จะหว่านข้าว จนถึงวันที่ 15 เมษาเปลี่ยนแปลงใหม่และคือเดือนไทยมีดีวันเดียววันเสาร์ขอให้หว่านข้างขึ้น แล้วบ่นปากบ่นคอไปว่าอย่ามีแมลงมารบกวนผมทำอย่างนี้มาตลอด หนูในนามันมีเยอะแยะแต่ไม่กัดข้าวผมแต่มันเป็นไปได้ครับอาจารย์  
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  :
ฟังเหมือนพี่ผดุงก็ยังเชื่อมโยงกับความรู้เดิมและหยิบเอาสิ่งเหล่านั้นมาด้วย แล้วเมื่อกี้ที่ผมบอกว่าเรื่องเกษตรยังเป็นอนาคตของคนรุ่นใหม่ได้ไหมครับ  พี่ผดุงจะตอบยังไง 
 

มีต่อตอนที่ ๖ ครับ

หมายเลขบันทึก: 12301เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2006 19:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 08:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เกษตรกรที่เก่งๆยังมีอีกเยอะแต่ไม่คอยได้มีโอกาสที่จะได้นำเอาความรู้มาเผยแพร่...เอาภูมิปัญญาที่มีมาสอน

เพราะส่วนมากเขาจะปิดประเทศ (คือไม่ยอมออกไหน)

  • เขาเบื่อระบบราชการ........
     วันนี้อ่านเจอในหนังสือพิมพ์มติชน 16 มกราคม 2549 น.32 "ปราชญ์พิจิตรฮ็อต ต่อยอดองค์ความรู้ชาวบ้าน" ด้วยครับ
ขอบคุณท่ให้ความรู้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท