สาระสำคัญของการปาฐกถาพิเศษ


กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์สู่ศักยภาพ เสรีภาพและความสุข

สาระสำคัญของการปาฐกถาพิเศษ
การจัดการความรู้ กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์สู่ศักยภาพ เสรีภาพและความสุข
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี


“การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคน ของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
การจัดการความรู้คือรูปธรรมของการเคารพความรู้ในตัวคน” 


ท่านอาจารย์สิปปนนท์ คุณหมอวิจารณ์ ประชาคมจัดการความรู้  ผมเองมางานนี้มีความรู้สึกมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นผลสำเร็จ และได้เห็นท่านทั้งหลายที่ได้ร่วมกันทำงานเรื่องการจัดการความรู้ ในเรื่องกระบวนการจัดการความรู้และเครือข่ายที่กำลังทำงาน ผมเองมองว่ามันเป็นการปฏิวัติ  การปฏิวัติเงียบ (silence  revolution ) การใช้ความรุนแรงบ่อยครั้งหรือเกือบทั้งหมด ไม่ใช่การปฏิวัติเป็นความรุนแรง  แต่การปฏิวัตินั้นต้องเป็นการเปลี่ยนความคิดใหม่เปลี่ยนคุณค่าใหม่ สิ่งที่เราเห็นที่กำลังเกิดขึ้น ที่ท่านทั้งหลายกำลังทำกันอยู่ เห็นชัดเจนว่านำไปสู่การคิดใหม่ การเปลี่ยนคุณค่าใหม่ และที่สำคัญนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างลึกซึ้งที่เรียกว่า   transformation การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตัวตนเป็น personal  transformation ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขององค์กร organizational  transformation และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม social transformation เราได้เห็นแล้วว่ากระบวนการใช้กฎหมายต่างๆ  ไม่นำไปสู่ transformation  เพราะขาดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างลึกซึ้งเป็นเพียงกลไก ซึ่งจะนำไปสู่ กลโกง ไปสู่อะไรต่างๆ แต่ว่ากระบวนการที่ท่านเห็น การจัดการความรู้ มันนำเข้าไปสู่การปรับจิตสำนึก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การปลดปล่อย นำไปสู่การดึงเมล็ดพันธุ์แห่งความดีในตัวมนุษย์ทุกคนออกมา เพราะว่าคนเรามีกิเลสจริงแต่กิเลสไม่ใช่ด้านเดียวของมนุษย์  มนุษย์ทุกคนมีความดีอยู่ลึกๆข้างใน เป็นเมล็ดพันธ์แห่งความดีที่ฝังลึกอยู่ข้างในทุกคน  ถ้าได้รับการรดน้ำพรวนดินอย่างถูกต้อง  เมล็ดพันธ์จะงอกงามออกมาเชื่อมโยง  และเราเห็นกระบวนการนี้ชัดเจน  ผมเองอาจจะมีความรู้น้อยที่สุดในห้องนี้เกี่ยวกับการจัดการความรู้  เพราะท่านทั้งหลายปฏิบัติอยู่จริงๆ มันก็มีความรู้จริงๆ มีความชำนาญจริงๆ อยู่ในตัวเอง แต่ผมมาเพื่อให้กำลังใจท่านทั้งหลาย และวิธีการอันหนึ่งที่ใช้ในการทำงานต่างๆ  คือเราอย่าไปคิดว่าการทำงานต่างๆ เป็นเพียงเทคนิควิธีการเท่านั้น พยายามหาความหมาย (meaning)  หาความหมายทุกอย่างที่ทำ ตัวนี้จะสำคัญไม่ว่าเราจะทำอะไร เราจะกวาดบ้าน เราจะล้างส้วม เราจะพิมพ์หนังสือ แม้แต่เราจะมีความทุกข์เราหาความหมายมัน เมื่อเราหาความหมายมันเจอ มันจะนำไปสู่ปัญญา ไปสู่จิตสำนึก ไปสู่อะไรที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก เพราะฉะนั้นพยายามหาความหมายถามหาความหมายทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นเวลาเราทำเรื่องต่างๆ อาจน้อยใจ รู้สึกไม่พอใจอะไรต่ออะไรต่างๆ แต่ว่าของทุกอย่างมีความหมายที่เราทำ ผมจะลองพยายามหาความหมายของเรื่องการจัดการความรู้ที่ท่านทั้งหลายกำลังทำอยู่และเป็นชื่อแปลกที่ตั้งขึ้นมา  เรื่องจัดการความรู้ กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์สู่ศักยภาพ  เสรีภาพและความสุข เรามาค่อยๆ ดูกันตามลำดับ
ผมเริ่มจากว่ามนุษย์มีสมองที่เป็นโครงสร้างที่วิจิตรที่สุดในจักรวาล  เรามีเซลล์สมองถึงแสนล้านตัว เวลาเราคิดถึงสิ่งอะไรที่มีค่าที่สุด  นึกถึงในตัวเอง อย่าไปมองข้างนอก  มองที่โน่นที่นี่  มองตรงที่คิด มีเซลล์สมองแสนล้านตัวแต่ละตัวเชื่อมโยงกับตัวอื่นอีกประมาณ 7 หมื่นตัว เป็น neural network เป็นโครงสร้างวิจิตรที่สุดในจักรวาล  ไม่มีอะไรวิจิตรเท่าสมองของเรา สมองมีความสามารถในการเรียนรู้สูงมาก สูงสุด ถ้าเราดูคติทางพระพุทธศาสนาจะเห็นชัด บางทีเราไม่ได้หาความหมาย เขาบรรยายว่าเวลาพระพุทธองค์บรรลุธรรมะ พระอินทร์ พระพรหม  ใครต่างๆ มาไหว้พระพุทธเจ้ากัน  พวกนั้นเป็นเทพต่างๆ แต่มาไหว้มนุษย์ พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ที่ได้บรรลุ ได้เรียนรู้ แสดงว่ามนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้สูงสุด ดังนั้นเมื่อมีศักยภาพอย่างนี้แล้ว  มนุษย์ควรจะมีความสุข ควรจะสามารถอยู่ร่วมกันด้วยสันติใช่ไหม เพราะมีศักยภาพนี้ แต่ว่าตรงนี้ก็ดูว่าไม่จริง  มนุษย์มีความทุกข์ มีความเครียดกันไปทั่วโลก ไม่สามารถอยู่ร่วมกันด้วยสันติ คงจะต้องมาดูว่าสังคมปัจจุบันได้ถักทอมาเป็นโครงสร้างอันแข็งแกร่งที่กักขังมนุษย์ไว้หรือเปล่า เหมือนถ้าเราถูกจับกุมคุมขัง เราหมดเสรีภาพ  ทั้งทางกาย  ทางจิต ทางสังคมมันจำกัดตัวเรา  มันบีบคั้นเรา  จนไร้ศักยภาพที่จะหาทางออกจากปัญหาอันซับซ้อนจากสังคมสมัยใหม่หรือเปล่า  สังคมมันมีคุกที่เรามองไม่เห็นหรือเปล่า (invisible prison) ที่มันคุมขังเราไว้ตรงนี้หรือเปล่า  เราลองมาช่วยกันดูที่ตรงนี้ 
ผมก็เลยต่อไปว่า ในสังคมปัจจุบันมีสถาบันความรู้มากมาย  มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงไม่ว่าจะเป็น Oxford, Cambridge, Harvard, Yale มีการค้นพบความรู้ มีคนได้รางวัลโนเบล เพราะได้ค้นพบความรู้ใหม่ที่น่าอัศจรรย์ต่างๆ แต่ทำไมมันแก้ความทุกข์ไม่ได้ หรือว่าความรู้เหล่านี้มันควรจะเป็นของดี แต่มันมีโครงสร้างอะไรที่ความรู้เหล่านี้เข้าไปเชื่อมโยงอยู่ ทำให้ดูเหมือนพันธนาการทางสังคมที่กักขังมนุษย์ไว้ มันแข็งแกร่งยิ่งขึ้นหรือเปล่า   เราลองมาทำความเข้าใจความทุกข์ของคนสมัยใหม่ลองมอง คุกที่มันมองไม่เห็น  คุกทางสังคม (social prison) แล้วมาทำความเข้าใจว่า การจัดการความรู้มันปลดปล่อยมนุษย์ไปสู่ศักยภาพ เสรีภาพและความสุข ความสร้างสรรค์ ได้อย่างไร
ความทุกข์ของคนในสมัยต่างๆ  ก็ต่างกัน ครั้งโบราณความทุกข์มนุษย์เมื่อออกจากถ้ำมาเจอเสือ หรือสมัยเกษตรกรรมทำเกษตรไม่ได้ผล  น้ำท่วม  ฝนแล้ง  โจรปล้น  หรือถูกเกณฑ์ไปรบในศึกต่างๆ และไม่ได้กลับบ้าน ไปทำการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ เช่น กำแพงเมืองจีน       ปิรามิด หรือไปทำอะไรต่างๆ ไปล้มหายตายจากกันไป  ในสมัยโบราณเรื่องต่างๆ มันง่ายและเป็นเส้นตรง (simple and linear) มันเข้าใจได้ง่าย   แต่สังคมปัจจุบันมันเชื่อมโยงกันไปหมดทั้งหมด  ทุกมิติ  ข้อมูลข่าวสารตัวประชากรที่มีมากขึ้นเข้ามาอยู่ชิดกันมากขึ้น  มีระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันระบบการเงินเชื่อมโยงกัน  เงินสามารถเคลื่อนไหวไปรอบโลกด้วยความเร็วของแสง  เกิดเป็นระบบที่ซับซ้อน (complex system) ที่เข้าใจยาก ดังรูป ถ้าเป็น simple/linear เช่น พม่ามาก็มีพระนเรศวร  มีพระเจ้าตากสินไปต่อสู้ตรงไปตรงมา  แต่ปัญหาในปัจจุบันมันซับซ้อนบางทีมันมองไม่เห็น ไม่รู้ด้วยว่า ใครเป็นศัตรูเมื่อก่อนมันรู้ได้ง่าย ถ้ารู้ว่าใครเป็นศัตรูมันก็พัฒนายุทธศาสตร์ที่จะต่อสู้ได้แต่ในระบบซับซ้อนมันไม่รู้หรอก ไม่เห็นเพราะมันเชื่อมโยงกันไปหมด เกิดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง  คือ  หาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ เพราะมันอยู่ในโครงสร้างเชื่อมโยงกันอย่างนั้น เมื่อตอนคุณชวนเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ประกาศว่าอยากแก้ปัญหาโสเภณีเด็ก ก็แก้ไม่ได้เพราะมันอยู่ในโครงสร้างที่ซับซ้อนมาก  ประธานาธิบดีคลินตันหาเสียงว่าถ้าได้รับเลือกตั้งครั้งแรก อยากปฏิรูประบบบริการสุขภาพของอเมริกัน ซึ่งมันเลวร้ายมากมีปัญหาเยอะ  ก็ทำไม่ได้เลยทั้งๆ ที่เป็นประธานาธิบดี คนเลือกตั้งมา มีอำนาจมาก  มีคนมีความรู้ต่างๆ เข้ามาช่วยก็ทำไม่สำเร็จ ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อมีการปฏิวัติไล่มาร์กอสออกไป เรียกว่าเป็นการปฏิวัติประชาชน (people revolution) เอาโคโรซอน อาคีโน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี  คนมีกำลังใจมาก  ว่าครั้งนี้แหละเป็นโอกาสของคนฟิลิปปินส์แล้ว  ที่จะแก้ปัญหาที่แก้ไม่ได้ในช่วงมากอร์ส เช่น ปัญหาความยากจน  ความอยุติธรรมในสังคม  ปรากฎว่าแก้ไม่ได้เลยเดี๋ยวนี้ฟิลิปปินส์ก็ดูกำลังดิ่งลงไปมากขึ้น  เพราะมันติดอยู่ในโครงสร้างที่ซับซ้อนยากต่อการเข้าใจ  เกิดเป็นความทุกข์ความบีบคั้นของคนสมัยใหม่  ถึงแม้เราบอกเรามีสมองที่มีศักยภาพสูง แต่ก็เหมือนเราถูกอะไรกดทับ ทำให้รู้สึกว่า ทุกคนอยากทำอะไรดีๆ อยากแก้ปัญหา อยากช่วย แต่ไม่รู้จะช่วยทำได้อย่างไร (helplessness) ก็เลยรู้สึกหมดหวัง (hopelessness) เป็นความรู้สึกเข้ามาอยู่ในจิตใจของผู้คน ที่เรียกว่าคุกทางสังคม  เราเปิดไปหมดทั้งโครงสร้าง
จะเห็นว่าเราถูกกักอยู่ในโครงสร้างขององค์กรต่างๆ องค์กรทุกชนิด  ข้าราชการ การเมือง  การศึกษา ธุรกิจและทางศาสนา ทั้งหมดเป็นโครงสร้างทางดิ่งทั้งสิ้น โครงสร้างทางดิ่งหมายถึง การเน้นการใช้กฎหมาย  กฎระเบียบและการบริหารสั่งการจากบนลงล่าง ในองค์กรทางดิ่ง (vertical organization)  มีความสัมพันธ์ทางดิ่งการเรียนรู้จะน้อย คนมีอำนาจก็ไม่เรียนรู้เพราะใช้อำนาจไป  คนไม่มีอำนาจจะไปเรียนรู้เขาก็ไม่ให้เรียนรู้เพราะเขาอยากที่จะสั่ง ใช้อำนาจ   อย่างที่เมืองไทยขณะนี้ที่ครอบงำอยู่ทั้งประเทศขณะนี้  คนๆ เดียวอยากจะสั่งคนทั้งหมด ว่าเอ็งไม่ต้องคิดมาก ทำงานไปเรื่อยๆ ตามคำสั่งไปเรื่อยๆ คนทั้งหมดติดอยู่ในองค์กรแบบนี้ องค์กรทุกชนิดอย่างเช่น มหาวิทยาลัย คนไม่รู้เรื่องหรอก มันเป็นโครงสร้างอำนาจ  การบริหารมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด  เป็นการบริหารกฎระเบียบมากกว่าการบริหารวิชาการ ลองนึกภาพภาควิชา ที่ประชุม  คณบดี  ไปจนถึงสภามหาวิทยาลัยเป็นการบริหารกฏระเบียบ เพราะฉะนั้นสภามหาวิทยาลัยก็มีกำลังน้อย  ในโครงสร้างแบบนี้ คนจะขัดแย้งกันเพราะถูกกดทับด้วยอำนาจ  คนจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน มีการเฉื่อยงาน มีการแกล้งกัน มีการซ่อนข้อมูลไว้ทำร้ายกัน มีออกใบปลิว วิ่งเต้นเส้นสาย เพื่อที่จะหาอำนาจที่เหนือกว่าที่จะไปพึ่งพิง  ที่นี้ตัวอำนาจทุนมหึมาที่เคลื่อนไหวอยู่รอบโลกนี้  อำนาจมันสูงมากที่จะกำหนด กำหนดได้แม้แต่ว่าให้เราฟังเพลงอะไร ก็ใช้อำนาจ  เพลงบางเพลงไม่สามารถไปออกอากาศได้เพราะว่าทุนมันควบคุมวิทยุโทรทัศน์อยู่ ควบคุมแม้กระทั่งว่าให้คนกินผักได้กี่ชนิด กินอยู่เพียง 3 ชนิด  ผักต้นเตี้ยๆ คือผักคะน้า กะหล่ำปลี  ผักกาดขาว ที่จริงคนควรจะกินผักต้นสูง มันมีนานาชนิดและมันมีความเป็นป่า  ถ้าไปกินผักต้นเตี้ยมันก็จะทำลายความเป็นป่าไปหมด  มันเข้ามากำหนดไปหมดอำนาจสูงมาก ทุนนี้เข้ามาสู่การเมืองที่เราเห็น พยายามที่จะไปยึดสื่อ ปิดปากปิดอะไรต่างๆ เป็นความเครียดที่เราเห็น  คนจะเข้าไปติดอยู่ในที่นี้เป็นโครงสร้างอันมหึมาที่ครอบงำผู้คนทั้งโลกเป็นแบบนี้ เราจะต้องเข้าใจมันและหาทางออกจากมัน เราจะออกได้อย่างไร   เราคงต้องกลับไปสู่ศีลธรรมพื้นฐาน ศีลธรรมพื้นฐานของสังคมนั้นคือ การเคารพศักดิ์ศรีของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน ถ้าสังคมไม่มีศีลธรรมพื้นฐานต่างๆ เหล่านี้ การพัฒนาต่างๆ จะบิดเบี้ยวไป สิ่งที่มีคุณค่าต่างๆ ที่มนุษย์พยายามพูดถึง  เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี  สิทธิเด็ก ความเป็นธรรมทางสังคมมีไม่ได้  ถ้าขาดศีลธรรมพื้นฐานคือ การเคารพศักดิ์ศรี คุณค่า ความเป็นคนของคน  เรื่องนี้เป็นเรื่องลึกผมอยากชวนพิจารณาตรงนี้ให้ดีๆ เพราะเราขาด เพราะเราอยู่ในสภาพอย่างนี้มานานแม้แต่หมอ ถ้าไม่รู้ตัวเองก็จะไม่ฟังคนไข้ เพราะถือว่าคนไข้อยู่ต่ำกว่าหมอ  หมอจะไม่ค่อยฟังคนไข้ ฟังไปอย่างนั้นแต่ไม่ได้ยิน  แต่ถ้าเคารพคนไข้ เพราะคนไข้ทุกคนมีศักดิ์ศรี  มีคุณค่าความเป็นคนที่เราจะต้องฟัง เพราะการฟังคน ถ้ามีความเคารพถึงจะฟัง ส่วนใหญ่จะไม่มีตรงนี้ แม้แต่พระ ไม่มี ในบ้านก็ไม่มี  ในบ้านเราจะไม่เห็นศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนใช้  ถ้าเราขาดศีลธรรมพื้นฐานนี้  ประชาธิปไตยมันก็เป็นเพียงกลไกเท่านั้นมันไม่ได้อยู่ในศีลธรรม เมื่อมันเป็นกลไกต่อไปเป็นกลโกง  อย่างที่เราเห็น ประชาธิปไตยที่แท้จริงมันต้องอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรม เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี สิทธิเด็ก การพัฒนาที่เคารพคนอื่นมันต้องมีความเป็นธรรมทางสังคมแต่ถ้ามันไม่มีมันก็เกิด อย่างที่เราเห็น ไม่มีความเป็นธรรมทางสังคมซึ่งสำคัญมาก เมื่อสังคมขาดความเป็นธรรมคนจะไม่รักชาติคนจะไม่รักส่วนรวม แต่ถ้ามีความเป็นธรรม คนจะรักชาติมาก ทำอะไรง่าย เพราะมีความเป็นธรรมมาก  อยากจะรักษาระบบเอาไว้ ตรงนี้เองฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยากมากว่าจะทำอย่างไร  ผมมีความรู้สึกมานานว่าบางคนบ้านนอก อยู่ภูเขา ถ่อเรือ  กระบุง ตะกร้า ขุดดิน  แต่พอมาเข้าโรงเรียนมีความรู้สึกโดยอัติโนมัติ  มันเป็นไปเองว่า โรงเรียนของเรามีเกียรติ  ชาวบ้านไม่มีเกียรติ สถาบันของเรามีเกียรติ เพราะเด็กที่มาจากท้องไร่ท้องนาเดินหอบกระบุง ตระกร้าตามพ่อแม่ พอเข้าเรียนแล้วไม่กล้าไปเดินกับพ่อแม่  เพราะมันมีความรู้สึกว่าชาวบ้านไม่มีเกียรติ   ผมจึงพูดค่อนข้างฉกรรจ์และจะไปทำให้ผู้คนโกรธได้ว่าระบบการศึกษาของเราทั้งหมด  ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย คือแหล่งที่ทำลายศีลธรรมพื้นฐานของสังคม ถ้าเราคิดว่าศีลธรรมพื้นฐานของคนคือการเคารพศักดิ์ศรี คุณค่าของคน ความเป็นคน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย  คนยากคนจน  ดูมันจะหนักมากตรงนี้แต่ที่จริงง่ายนิดเดียวที่จะเปลี่ยน เคยเห็นตัวอย่างของจริงหลายปีมาแล้วเคยเยี่ยมโรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์  โรงเรียนวัดพนัญเชิงที่อยุธยา เห็นเขาให้นักเรียนไปเรียนจากชาวบ้าน  ไปเรียนจากช่างเสริมสวย คนขายของชำ ช่างผสมปูน คนเหล่านั้นเมื่อมีนักเรียนมาเรียนกับเขา เขารู้สึกมีเกียรติทันที  เดิมชาวบ้านไม่เคยมีเกียรติเลย มีเกียรติได้อย่างไร คนขายของชำ คนขายก๋วยเตี๋ยวในสังคมไทย พอมีนักเรียนมาเรียน เออเราก็เป็นครูได้  มีเกียรติขึ้นทันที มีศักดิ์ศรีขึ้น และเขาก็สอนได้จริง สอนทำก๋วยเตี๋ยวได้ เพราะเขาทำมากับมือ เพราะมีความรู้อยู่ในตัวเขา สอนผสมปูนช่างเขาก็สอนผสมปูนจริงๆ ครูเสียอีกที่สอนทำเหล่านี้ไม่ได้ เพราะครูทำไม่เป็น แต่ชาวบ้านทำเป็น  นักเรียนที่เรียนกับใครเขาก็เคารพคนนั้นว่าเป็นครู  มันไม่ได้ยากอย่างที่คิดที่จะปรับใหม่ ในตัวศีลธรรมพื้นฐานที่เราจะปรับเรื่องความรู้และประเภทของความรู้ให้ได้
ถ้าเราแบ่งประเภทความรู้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือความรู้ที่อยู่ในตัวคนและความรู้ที่อยู่ในตำรา  ทั้งสองอย่างมีประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ แต่ต้องวางความสัมพันธ์ให้ถูกต้อง ผมคิดว่าเราวางความสัมพันธ์ความรู้ไม่ถูกต้อง  ความรู้ที่อยู่ในตัวคนได้จากประสบการณ์ ได้จากการทำงาน อยู่ในตัวฝังลึกโดยที่เราไม่รู้แต่มีความรู้  ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น เราในห้องนี้ใช้ตำราทำกับข้าวเล่มเดียวกัน จะทำอาหารออกมาอร่อยไม่เหมือนกัน เพราะมีเคล็ดลับ มีน้ำมือ มันมีอะไรต่ออะไรซึ่งเป็นความรู้ในตัวคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน  ในขณะที่ตำราทุกตำราเหมือนกัน  อันนี้แหละที่จะช่วยบอกว่าครูที่ดีที่สุดทำไม คือแม่ แม่ของทุกคนเป็นครูที่ดีที่สุด โดยไม่คำนึงถึงว่าท่านเคยเข้าโรงเรียนหรือเปล่า ท่านได้ปริญญาตรี  โท เอกหรือเปล่า  แม่ของอาจารย์ป๋วยไม่เคยเข้าโรงเรียน โยมแม่พระธรรมปิฎกไม่ได้ไปเข้าโรงเรียน  อาจารย์เจิมศักดิ์ทำงานศพแม่  ทำหนังสือเขียนว่า สิ่งที่แม่สอนไว้ แล้วบอกว่าแม่เป็นชาวบ้านที่อ่างทองไม่เคยเข้าโรงเรียนเลย แต่แม่สอนเรื่องดีๆ ไว้เยอะ แม่สอนได้เพราะแม่มีความรู้ในตัวที่ได้มาจากประสบการณ์  จากการทำงาน  ที่นี้ถ้าเราเอาความรู้ที่อยู่ในตัวคนเป็นฐาน และความรู้ในตำรามาประกอบมาแต่งมาต่อยอดทำให้มันงามขึ้น ก็จะเป็นการจัดความสัมพันธ์ความรู้ที่ส่งเสริมทุกคน เพราะถ้าเราให้ความสำคัญกับความรู้ในตัวคน คนทุกคนจะกลายเป็นคนมีศักดิ์ศรี  มีเกียรติ ถ้าเราเอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง คนส่วนใหญ่จะไม่มีเกียรติ  เหมือนชาวบ้านไม่มีเกียรติไม่มีศักดิ์ศรี ทั้งๆ ที่เขาก็มีความรู้ในตัว เพราะมีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะรู้คล่องแคล่วในตำรา จริงๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็ไม่คล่องแคล่วเสมอไป ครูส่วนใหญ่ก็สอนเป็นนกแก้วนกขุนทองด้วยซ้ำไป  มีคนไม่กี่คนที่จะคล่องแคล่ว  มันกลายเป็นเหมือนระบบพราหมณ์  ที่มีพราหมณ์บางคนเท่านั้นที่ท่องคัมภีร์พระเวทย์ได้  สรรเสริญเทพ  ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ประชาชน  ถ้าวิทยาศาสตร์ต้องเป็น public knowledge ที่คนทั้งหมดมาดู ร่วมได้  ร่วมสร้างได้ ร่วมพิสูจน์ได้  ถ้าเราปรับตรงนี้เสียหน่อย  เราไม่ควรปฏิเสธสิ่งใด แต่เราจัดความสัมพันธ์และจัดความเชื่อมโยงให้เหมาะสม มันจะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น เพราะฉะนั้นการจัดการความรู้ คือรูปธรรมของการเคารพความรู้ในตัวคน เหมือนที่ เราได้ฟังมาท่านทั้งหลายได้ทำมา ตัวมันเองจึงเป็นศีลธรรมพื้นฐานเลยที่จะส่งเสริมให้คนทุกคน รู้สึกมีเกียรติ  มีศักดิ์ศรี  เพราะมีความรู้อยู่ในตัวทุกคน มีความภูมิใจในตัวเองมีความมั่นใจในตัวเอง คนขายก๋วยเตี๋ยว คนผสมปูนมีความมั่นใจเพราะเขาทำด้วยฝีมือตนเองถ้าเราเอาความรู้ในตำราเป็นฐาน คนจะหมดความมั่นใจในตัวเองแล้วรวมกันเป็นการไม่มีความมั่นใจแห่งชาติ  เป็นเรื่องสำคัญ และตรงนี้เองจึงเป็นพลังทางศีลธรรมเป็นพลังที่เข้ามาปลดปล่อย ผมได้มองตรงนี้มาหลายปี ว่าถ้าเป็นอย่างนี้เราลองมาทำเรียกว่า every human mapping (EHM) หมายถึงไปทำแผนที่ทุกคน ในตำบลในองค์กร เราไปทำทุกคนว่าคนนี้เก่งอะไร  ร้องเพลงเก่ง ทำขนมเก่ง แต่งกลอนเก่ง  ใครเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งเก่ง ถือว่าทุกคนเป็นคนเก่งแต่ในทางที่ต่างกัน  ผมคิดว่าการศึกษาปัจจุบันทำให้คนส่วนใหญ่กลายเป็นคนไม่เก่ง  มีคนสองสามคนได้ชื่อว่าเป็นคนเก่งเพราะว่าท่องหนังสือเก่งตอบเก่งได้คะแนนสูง เป็นคนเก่ง นอกนั้นเป็นคนไม่เก่ง จริงๆ เราต้องถือว่าทุกคนเป็นคนเก่งแต่ว่าในทางที่ต่างกัน ทุกคนก็จะมีค่าหมด ลองทำ mapping ดูได้ไหม ว่าคนทั้งตำบล ว่าใครเขาเก่งเรื่องอะไร เอามาให้หมดเลย และเอามาเป็นฐานข้อมูล ทุกคนจะภูมิใจในตัวเองและอยากทำดีมากขึ้น และต่อไปถ้าเราทำอย่างนี้หมดทั้งแผ่นดิน คนไทยทั้งแผ่นดินก็จะถูกยกย่องขึ้นมีเกียรติขึ้น  ว่าเออ สิ่งที่เราชอบสิ่งที่เรารักก็ไปปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลของประเทศ  ต่อไปใครอยากรู้อะไร ก็กดคอมพิวเตอร์ ไปเจอว่าครูบาสุทธินันท์ อยู่สตึก บุรีรัมย์ ทำอะไรเก่ง ไปเจอว่ามหาอยู่ สุนทรไทย ทำเกษตรผสมผสานเก่งจริง แม่ทองดีทำอะไรเก่ง รู้หมดทั้งประเทศ คนรู้ถึงกันหมด มันก็จะเกิดแหล่งเรียนรู้ที่จะเรียนรู้กันเต็มประเทศไปหมด ประเทศก็จะแข็งแรงขึ้น ทุกคนมีเกียรติมีความสุข  มีตัวอย่างคือ อาจารย์ประภาภัทร นิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ ลองไปทำดูที่เกาะลันตาใหญ่จังหวัดกระบี่  พอไปทำแล้วมันพลังมหาศาล เกิดความปิติทั้งคนทำทั้งชาวบ้าน ชาวบ้านไม่เคยมีความรู้สึกอย่างนี้เลย ทำไมมีคนมาฟังว่าชาวบ้านรู้อะไร ชาวบ้านเกิดความปิติเกิดพลังมหาศาล ซึ่งขณะนี้กำลังลองทำอยู่ จริงๆ ผมเคยพูดกับนายกทักษิณหลายปีก่อน ตั้งแต่เป็นนายกใหม่ๆ ให้เพิ่มงบประมาณให้ สกว.สักพันล้านไปสนับสนุนมหาวิทยาลัยให้มาทำ mapping  ของคนในพื้นที่ ท่านก็เป็นคนปัญญาไว ท่านก็เข้าใจว่า อ๋อมันคล้ายกับ GIS คือ GIS เรื่องคน ตรงนั้นท่านก็คงยุ่งไป เรื่องต่างๆ ลืมเรื่องนี้ไปแล้ว
เราลองมาดูผมลองจับมาดูว่า คุณค่าอะไรลึกๆ และเรียกว่าคุณลักษณะหรือ คุณธรรม 8 ประการ ลองไปเร็วๆ ดูจะหยุดตรงตามเวลา ถึงแม้ว่ารายการนี้จะเริ่มสายไปหน่อย จะหยุดเวลา ให้ทันเวลา 10.00 น. ให้ตรงตามโปรแกรม
1. ศีลธรรมพื้นฐาน คือ เราเคารพความรู้ในตัวคนคนทุกคนเป็นคนมีศักดิ์ศรี มีเกียรติ
2. การไม่ใช้อำนาจ  เพราะการใช้อำนาจจะไปบดบังกระบวนการทางธรรมชาติ  แต่การจัดการความรู้จะไปส่งเสริมกระบวนการทางธรรมชาติ  ให้มีการเรียนรู้มีการแลกเปลี่ยน มีการงอกงามไปตามธรรมชาติ
            3. มีการฟังอย่างลึก (deep listening) ตัวนี้สำคัญ ที่เราจะรู้ความรู้ภายในตัวคนต้องมีการฟังอย่างลึก การฟังอย่างลึกนั้นเป็นการเคารพคนนั้น ถ้าอย่างตื้นรับรู้ก็พูดเปรี้ยง ทำเปรี้ยงอย่างที่มีคนทำให้เห็นทุกวันนี้ มันตื้นมันเป็นอารมณ์ เป็นกิเลส เป็นเหยื่อของกิเสสเข้ามา มีคนเยอรมันตอนนี้ไปอยู่อเมริกาชื่อ Otto Scharmer ได้สร้างทฤษฎีตัวยู ขึ้นมาตามรูป ข. เมื่อเราได้รับฟังอะไรมา หลักคือการแขวนไว้ก่อน (suspension) ดึงลงมาลึก  พิจารณาอย่างเงียบๆ มีสติ เมื่อมีสติก็จะไปเกิดปัญญา (presencing) เมื่อเกิดตรงนั้นแล้วทุกอย่างจะไปเชื่อมโยงกันหมดเพราะความจริงมันเชื่อมกันหมด ทั้งอดีต ปัจจุบัน  มันทำให้เห็นอนาคตด้วย และเมื่อกลับขึ้นไปจะไปพูดไปทำก็จะไปตรงกับขบวนการทางปัญญา จะไปตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนไว้พอดีเลย เวลาใครพูดอะไรอย่าเพิ่งรับอย่าเพิ่งปฏิเสธ คือแขวนไว้ก่อน พิจารณาอย่างลึกๆ เรียกว่า มีโยนิโสมนัสสิการ   ต้องมีสติ มันก็จะไปเกิด ปัญญาเกิดขึ้น ทฤษฎี Otto Scharmer ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอน แต่ว่าก็ดีที่มีเรื่องใหม่ๆ มีลูกเล่น มีการเสนอใหม่ๆ ทำให้มีความน่าสนใจขึ้น
4.เป็นวิธีการทางบวก คือไม่มองความสำเร็จ ความภูมิใจ ที่ไหนมันทำให้เกิดพลังเพิ่มขึ้น เราจะคุ้นเคยกับว่า เริ่มต้นไปหาทุกข์ หาปัญหา (problem) เสียก่อน พอพูดเรื่องทุกข์มาก ทุกข์มันจะท่วมจนเคลื่อนไม่ได้และมันจะทำให้เราทะเลาะกัน  เวลาพูดเรื่องทุกข์ จะโทษกัน ทะเลาะกัน หมดกำลังลง เพราะเราอาจไปติดตามอันดับของ อริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ต้องเอาทุกข์ก่อนมันจะติดอยู่ตรงนั้น ไม่ต่อไปสู่ปัญญา เพราะฉะนั้นการจัดการความรู้เป็นวิธีการทางบวก
5. เจริญธรรม 4 ประการที่เกื้อหนุนในการเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญ ที่เรียกว่า interactive learning through action แต่ว่าตามปกติมนุษย์ก็จะไม่เรียนรู้ร่วมกัน เกลียดกันบ้าง หมั่นไส้กันบ้าง ทำนองนี้ การที่จะมีการเรียนรู้ร่วมกันต้องมีธรรม 4 ประการ
                                    1. ความเอื้ออาทรต่อกัน มี compassion
2. มีความเปิดเผย openness
3. มีความจริงใจ sincerity
4. ความไว้วางใจกันได้ที่เรียกว่า trust พอเกิดขึ้นจะมีความสุขมาก ทำ
อะไรเร็วขึ้น จะง่ายขึ้นมาก 
                        6. การปฎิบัติ เป็นหัวใจของการจัดการความรู้
7. เห็นชัดเจนว่า มันถักทอไปสู่โครงสร้างใหม่ ขององค์กรและสังคม โดยเปลี่ยนจาก รูป ก. โครงสร้างทางดิ่งแบบใช้อำนาจ แบบ ข. แบบตัวใครตัวมันไม่เกี่ยวข้องกัน ทอดทิ้งกัน แต่ว่าการจัดการความรู้มันทำให้เกิดรูปแบบ ค. เกิดการสร้างเครือข่าย ระหว่างคนกับคน คนกับกลุ่ม  กลุ่มกับกลุ่ม เกิดโครงสร้างใหม่ เกิด transformation ในองค์กรในสังคมเกิดขึ้น ที่เราบอกว่ามันติดอยู่ไม่มีทางออก พอเราใช้การจัดการความรู้เข้าไป มันไปสร้างตรงนี้ใหม่ เป็นการ transformation ที่เกิดขึ้น
8. มันจะต้องมีการเจริญสติ จะเห็นได้ชัดว่าจะทำอะไรต้องมีการเจริญสติ คือการรู้ตัวในการฟังผู้อื่น ในการทำอะไรฟังอย่างเงียบ (deep listening) เพื่อจะให้ความรู้ในตัวออกมา  มันเป็นการเจริญสติ  ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ ทำให้มันมากขึ้นหนักเข้าไปมันเป็นการเจริญสติของกลุ่ม (collective mindfulness) เกิดขึ้น เพราะสติพระพุทธเจ้าเรียกว่าเอกมรรคโค  เป็นทางอันเอก ถ้าใครเจริญสติจะรู้ว่า มันมีประโยชน์มากมายทุกๆ ประการ เพราะฉะนั้นประชาคมจัดการความรู้ควรสนใจตรงนี้  มันเป็นการเจริญสติไปด้วยในการทำงาน 
ประการต่อมาผมพูดถึง เสรีภาพของระบบ  เวลาเราพูดถึงเสรีภาพเรามักพูดเสรีภาพของบุคคล  พูดถึงบุคคลมันก็ติดเพราะคนมันก็มีระบบอยู่ เหมือนรถยนต์ ถ้าส่วนต่างๆ มันมีเสรีภาพ มันก็ไม่มีเสรีภาพของรถยนต์ รถยนต์ก็วิ่งไม่ได้ ทุกส่วนต้องเชื่อมโยงกันอย่างถูกต้อง พอมันเชื่อมโยงกันอย่างถูกต้องระบบทั้งหมดมีเสรีภาพ คือรถวิ่งไปได้ฉิว  แต่ถ้าล้ออ้างเสรีภาพของตัว  พวงมาลัยอ้างเสรีภาพของตัว อย่างนี้จะติดขัดหมด ผมคิดว่าถ้าเราไม่ระวังเราไปติดเสรีภาพส่วนบุคคลเท่านั้น ทำให้เกิดการติดขัด แต่ว่ากระบวนการจัดการความรู้จะมองทั้งหมดเชื่อมโยงกัน 
อีกประการหนึ่ง การพัฒนาในโลกทุกวันนี้เป็นการพัฒนาแบบที่เรียกว่าแยกส่วน ก็จะต้องทำให้ครบและเชื่อมโยงกันเป็นบูรณาการ มันมีทั้งทางกาย ทางวัตถุ ทางจิตทางสังคม ทางปัญญา  เราพัฒนาแต่วัตถุ ไปมันก็ติดอย่างที่เราเห็น ขาดการพัฒนาทางจิต ทางสังคม ทางปัญญา ถ้าเราดูตรงนี้ เราลอง plot ออกมาดูดังรูป
เรื่องกายหรือเรื่องวัตถุ ก็มี  เรื่องสุขภาพ  เรื่องทักษะ เรื่องความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม
เรื่องจิต  มีการเคารพคนอื่น มีความเมตตากรุณา มีความมั่นใจ มีสติ
เรื่องสังคม  เน้น ศีลธรรมพื้นฐาน การร่วมคิดร่วมทำ การปรับโครงสร้างสังคมจากแนวดิ่งสู่เครือข่ายไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 
ปัญญา  มีความนึกถึงผู้อื่น การเข้าถึงธรรมชาติโดยไม่ใช้อำนาจ  ใช้การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ
ลองดูทั้งหมดนะครับว่า หากการจัดการความรู้มันไปดีๆ มันทั้งหมดเข้ามาบูรณาการพร้อมกันไปหมดเลย  ซึ่งเราไม่มีในสิ่งอื่นในขณะนี้ เราไม่มีในเรื่องการศึกษา การทำวิจัยเรื่องอื่นๆ มันไม่พร้อมกัน มันแยกส่วน ตรงนี้อยากให้เห็น แล้วเราคอยเห็นภาพมันอยู่เรื่อยว่าเวลาเราทำอะไร ว่าเออ เรากำลังบูรณาการไปพร้อมกันเลย ทั้งกาย จิต สังคม ปัญญา ไปพร้อมกันจะมีพลังมหาศาล
ผมพยายามบอกว่าใช้เรื่องนั้นเรื่องนี้  โดยสรุปหมายความว่าใช้ทุกเรื่อง  ท้ายที่สุดอยากให้กำลังใจประชาคมจัดการความรู้  เรื่องที่ท่านกำลังทำอยู่นี้ มันเป็นกระบวนการที่ปลดปล่อยมนุษย์ ไปสู่ศักยภาพ  ไปสู่เสรีภาพ ไปสู่ความสุข ไปสู่การยกระดับจิตสำนึกไปสู่จิตสำนึกใหม่  (new consciousness)ไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน transformation ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากแล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ แล้วนำไปสู่การพ้นทุกข์ร่วมกัน  การพ้นทุกข์เดี่ยวๆ เป็นไปได้ยากเพราะมันเชื่อมโยงกันแต่สามารถพ้นทุกข์ร่วมกันได้   ขอให้ท่านทั้งหลายได้ทำงานเรื่องนี้ต่อไปเพื่อจะนำไปสู่การพ้นทุกข์ของเพื่อนมนุษย์  ขอบคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 12300เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2006 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2012 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท