BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

การจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๓


การจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๓

จาก การจัด ๒ เมื่อชิสโฮลม์ได้แยกการประเมินค่าการกระทำออกเป็น ๓ นัยแล้ว ได้กระจายการกระทำออกเป็น ๙ ประการดังต่อไปนี้

  • ข้อผูกพัน เป็นสิ่งดีสำหรับการกระทำ แต่เป็นสิ่งเลวสำหรับการไม่กระทำ
  • ข้อห้าม เป็นสิ่งเลวสำหรับการกระทำ แต่เป็นสิ่งดีสำหรับการไม่กระทำ

สองข้อนี้มีความขัดแย้งกันเชิงตรรกะ กล่าวคือ ถ้าการดำเนินการเป็นข้อผูกพัน การไม่ดำเนินการก็จะเป็นข้อห้าม... หรือถ้าการดำเนินการเป็นข้อห้าม การไม่ดำเนินการก็จะเป็นข้อผูกพัน

......

  •  ข้อไม่แตกต่างกันแบบเบ็ดเสร็จ (totally indifferent) เป็นการกระทำที่จะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการก็จะไม่เป็นสิ่งที่ดีหรือเลว นั่นคือเป็นกลางๆ
  • การกระทำเหนือหน้าที่แบบเบ็ดเสร็จ (totally supererogatory) เป็นสิ่งที่ดีในการดำเนินการ และเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการไม่ดำเนินการ
  • ข้อขัดเคืองแบบเบ็ดเสร็จ (totally offensive) เป็นสิ่งที่เลวในการดำเนินการ และเป็นสิ่งที่เลวสำหรับการไม่ดำเนินการ

ทั้งสามข้อนี้ ข้อแรกเข้าใจได้ไม่ยาก... ส่วนสองข้อหลังอาจขยายความได้ว่า  ถ้าการกระทำใดจะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการก็ตาม การกระทำนั้นจะเพิ่มคุณค่าหรือความสุขให้แก่สังคม ทำนองนี้จัดเป็น การกระทำเหนือหน้าที่แบบเบ็ดเสร็จ... นัยตรงกันข้าม ถ้าการกระทำใดจะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการก็ตาม การกระทำนั้นจะเพิ่มโทษหรือความทุกข์ให้แก่สังคม ทำนองนี้ก็จัดเป็น ข้อขัดเคืองแบบเบ็ดเสร็จ

...........

  • ข้อขัดเคืองเชิงสั่งการ (offence of commission) เป็นสิ่งเลวสำหรับการกระทำ และไม่ดีไม่เลวสำหรับการไม่กระทำ
  • ข้อขัดเคืองเชิงระงับ (offence of omission) เป็นสิ่งเลวสำหรับการไม่กระทำ และเป็นไม่ดีไม่เลวสำหรับการกระทำ
  • การกระทำเหนือหน้าที่เชิงสั่งการ (supererogatory of commision) เป็นสิ่งดีสำหรับการกระทำ และไม่ดีไม่เลวสำหรับการไม่กระทำ
  • การกระทำเหนือหน้าที่เชิงระงับ (supererogatory of omission) เป็นสิ่งดีสำหรับการไม่กระทำ และไม่ดีไม่เลวสำหรับการกระทำ

ทั้งสี่ข้อนี้ ชิสโฮลม์บอกว่าเป็นสิ่งซับซ้อนและละเอียดอย่างยิ่งในทางศีลธรรม ซึ่งเขาได้ยกตัวอย่างเพื่ออธิบายเรื่องนี้ว่า...

"...เมื่อเราเข้าไปยังร้านอาหาร ถ้าพนักงานยกอาหารมาผิดจาน หากเขาไม่ยุ่ง การเลิกล้มความตั้งใจที่จะบอกให้เขาไปเปลี่ยนอาหารจานใหม่มา จัดเป็น การกระทำเหนือหน้าที่เชิงระงับ ...

แต่ถ้าเราสั่งให้เขาเปลี่ยนอาหารจานใหม่มา การไม่กล่าวแสดงความขอบใจต่อเขา จัดเป็น ข้อขัดเคืองเชิงระงับ ....

ส่วนการให้รางวัลพิเศษ (ค่าทิป) ในการบริการดีของเขา จัดเป็น การกระทำเหนือหน้าที่เชิงสั่งการ ...

และถ้าเราร้องเรียนต่อผู้จัดการหรือเจ้าของร้าน ในการนำอาหารจานที่ผิดมาให้ของพนักงาน อาจจัดเป็น ข้อขัดเคืองเชิงสั่งการ ... "

จะเห็นได้ว่า ทั้งสี่ประการนี้ ล้วนมีคุณค่าทางศีลธรรมอยู่ด้วยทั้งนั้น เมื่อจะนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียด... แต่ก็อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยเกินไปสำหรับการใช้ชีวิตอันยาวนาน...

.......

เมื่อกระจายออกได้ ๙ ประการอย่างนี้แล้ว ชิสโฮลม์ได้นำมาประมวลแล้วจัดลำดับอีกครั้ง ซึ่งผู้เขียนค่อยนำมาเล่าในตอนต่อไป.... 

 

หมายเลขบันทึก: 122925เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2007 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท