กระดุมอวกาศถอยหลัง (บทความของคุณสรจักษ์)


ได้รับบทความนี้จาก "อีเมลส่งต่อ" (forwarded e-mail)

คิดว่าน่าสนใจสำหรับคนที่ชอบอ่าน-ชอบเขียน จึงนำมาบันทึกไว้ ณ ที่นี้ครับ ;-)


กระดุมอวกาศถอยหลัง

สรจักษ์ ศิริบริรักษ์

แพรว 25 ธันวาคม 2549

 

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมถูกรุ่นน้องขอร้องให้ไปบรรยายกะทันหันวันรุ่งขึ้นเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้นที่ศูนย์ฝึกอบรมของหน่วยราชการ เพราะวิทยากรซึ่งก็คือสามีของเธอป่วยกะทันหัน

เธอให้ข้อมูลว่าผู้เข้ารับการอบรมชุดนี้เป็นข้าราชการที่ถูกบังคับให้มาอบรม เพราะไม่ผ่านการประเมินความรู้ด้านสารสนเทศ บางคน ซีแปดซีเก้า แต่มีแนวคิดศักดินา เห็นเอกชนคนไม่มียศเป็นบริวารไปหมด ขอให้ผมอดทนบรรยายให้จบตามหัวข้อ อย่าโต้ตอบ

ผมรับปาก เมื่อไปถึงห้องบรรยาย ผมก็เริ่มเข้าใจคำพูดของรุ่นน้อง แต่ละคนคุยกันอื้ออึงขณะผมแนะนำตัว ชายคนหนึ่งพูดเสียงดังให้ผมสอนวิธีแชตหาคู่ การดูคลิปวิดิโอและเว็บไซต์โป๊
 

หลายคนหัวเราะสนับสนุน ผมต้องตะล่อมให้เข้าสู่บทเรียนว่า

"ได้ครับ แต่ต้องหัดเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อน จึงจะเข้าไปดูได้"

ได้ผล ทุกคนเริ่มหาปุ่มเปิดเครื่อง และความโกลาหลก็เริ่ม เพราะวิธีเปิดปิดของเครื่องแต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน และที่น่าเวียนหัวที่สุดคือ ทำทุกอย่าง แต่เครื่องไม่ทำงาน หาอยู่นานจึงพบว่าปลั๊กไม่ได้เสียบ แค่เปิดครบทุกเครื่องก็ถึงเวลาพักทานกาแฟแล้ว

หลังหมดเวลาพัก ผู้เข้าอบรมก็ยังยืนสูบบุหรี่หรือจับกลุ่มคุยกัน ผมต้องประกาศผ่านไมค์เชิญเข้าห้อง บางคนมองด้วยความไม่พอใจ

ผมชี้แจงว่าต้องรีบสอน "เพราะยังมีอุปกรณ์ต่อพ่วงอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ เช่น มอนิเตอร์ คีย์บอร์ด เมาส์ โมเด็ม ยูพีเอส..."


คุณที่ผู้หญิงคนหนึ่งพูดแทรกขึ้นมาว่า "ขอโทษนะคะ ตามระเบียบสำนักนายกฯ เวลาพิมพ์เอกสารราชการต้องใช้ภาษาไทย ช่วยแปลไอ้เตอร์ๆ เด็มๆ อะไรของคุณให้เป็นคำไทยหน่อยได้ไหมคะ จะได้ก่อประโยชน์กับการทำงานบ้าง..."

มีเสียงลอยมาตามลมให้ได้ยินจากท้ายห้องว่า เด็กสมัยนี้ ติดไทยคำฝรั่งคำ อยากให้รู้ว่าจบนอก

ผมฉุนกึก สูดหายใจยาว

"ได้ครับ งั้นเอาใหม่ เรารู้วิธีเปิดเครื่องคณิตกรณ์แล้ว บางเครื่องอาจเป็นคณิตกรณ์ส่วนบุคคล บางเครื่องเป็นคณิตกรณ์วางตัก  แต่ไม่ว่าอย่างไร มันจะทำงานไม่ได้ ถ้าขาดชุดคำสั่งระบบปฏิบัติการและชุดคำสั่งประยุกต์อื่นๆ"

"ประการต่อมา คณิตกรณ์จะต้องมีครุภัณฑ์ต่อพ่วงซึ่งทำหน้าที่หลักสองรูปแบบคือ นำเข้าข้อมูลไปส่งหน่วยประมวลผลกลางกับนำข้อมูลที่ประมวลแล้วมาแสดงให้เราดู"

ผมชี้ไปที่จอภาพ "นี่คือเครื่องเฝ้าสังเกต ซึ่งอาจหนาเทอะทะแบบจอโทรทัศน์ หรือเป็นจอภาพผลึกเหลวที่ให้ความคมชัดกว่า

ส่วนครุภัณฑ์ต่อพ่วงที่นำเข้าข้อมูลไปให้หน่วยประมวลผลกลางอาจอยู่ในรูปหน่วยขับ ก และหน่วยขับ ข ซึ่งสามารถอ่านและบันทึกข้อมูลเก็บไว้ในแผ่นบันทึกชนิดอ่อนปวกเปียก (floppy) หรือในจานบันทึกแบบแข็งที่หน่วยขับ ค 

"อุปกรณ์นำเข้าและส่งออกข้อมูล ยังมีในรูปแบบอื่นๆอีก เช่น เครื่อง
กราดภาพ
 ตัวกล้ำและแยกสัญญาณ โทรภาพ แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือสิ่งนี้"

ผมยกคีย์บอร์ดขึ้นมา

"แผงแป้นอักขระซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สุดที่เราจะป้อนชุดคำสั่งเข้าสู่เครื่องคณิตกรณ์ จะเห็นว่าบนแผงแป้นอักขระจะมีกระดุมหรือปุ่มอักขระมากมาย

มีทั้งที่คุ้นเคยกันดี เช่น มหัพภาค อัฒภาค ทวิภาค วิภัชภาค ยัติภังค์ ปรัศนี อัศเจรีย์ เสมอภาค สัประกาศ ทีฆสัา
กับที่ยังไม่ได้บัญญัติศัพท์
เช่น กระดุมสอดแทรก กระดุมเข้าไป กระดุมหลบหนี กระดุมอวกาศถอยหลัง หรือ backspace..."

วันนั้นไม่มีใครได้ดูคลิปวิดีโอ ต่อมาผมได้รับผลการประเมินการสอนว่า


"ไม่น่าพอใจ และพูดภาษาไทย แต่ไม่รู้เรื่อง"


 

หมายเลขบันทึก: 122895เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2007 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
สวัสดีครับ แวะมาอ่านครับ การใช้คำทับศัพท์ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่าเวียนหัวมาก เพราะมีศัพท์มาก คิดคำใหม่ก็ไม่ค่อยจะปิ๊ง ทับศัพท์ก็ไม่ค่อยลงตัว น่าสังเกตว่า บางวงการยังนิยมแปลศัพท์ จากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาสันสกฤต-บาลี ซึ่งอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจเหมือน (ฮา-) ผมไป รพ.ศิริราช มีป้ายเขียนว่า "ตจวิทยา" ผมคะเนเอาว่า น่าจะเป็น "ตะ-จะ-" แต่เด็กที่เดินมาข้างหลัง อ่านแบบง่ายๆ ไทยๆ ครับ "ตด-วิทยา"

สวัสดีครับ คุณธวัชชัย

          เห็นด้วย 100% ครับ

          ผมเปิด พจนานุกรมฉบับมติชน ดูพบว่า

ตจ (อ่านว่า ตะ-จะ) แปลว่า หนัง, เปลือกไม้ มาจากภาษาบาลี

ส่วน ศัพท์แพทยศาสตร์ อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กำหนดให้ใช้ว่า

         ตัจวิทยา ซึ่งพอแปลกลับเป็นภาษาอังกฤษว่า dermatology แล้ว เข้าใจได้ทันที!

         สงสัยเสียงตดของเด็กทำให้ไม้หันอากาศหายไปครับ (ฮา)...ล้อเล่นน่ะครับ ;-)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท