ความเป็นผู้นำของคน ลักษณ์ 1 (Perfectionist)


สิ่งที่ต้องเรียนรู้เมื่อใช้นพลักษณ์เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ตัวตนของเราแล้วก็คือ การเรียนรู้ที่จะข้ามพ้น (Tranformation) จากสิ่งที่เราสร้างขึ้นจนก่อตัวเป็นบุคลิกภาพของเรา เพื่อไปสู่การค้นพบศักยภาพที่แท้จริงที่ทุกคนมีอยู่เท่าๆ กัน เหมือนกัน ด้วยการมองโลกที่เป็นจริง อยู่กับปัจจุบัน
 

ผู้นำลักษณ์ 1 มีชื่อเรียกว่า คนสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist เป็นคนที่มีมาตรฐานการทำงานมากที่สุดใน 9 ลักษณ์ ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ลักษณ์อื่นไม่มีมาตรฐานในการทำงาน หากแต่ว่า คนลักษณ์ 1 มีความใส่ใจกับเรื่องของ ความถูกต้อง  ความเป็นมาตรฐาน มาตั้งแต่เด็กๆ ดังนั้นในใจของคนลักษณ์ 1 จะมีภาพของความสมบูรณ์แบบของเรื่องราวต่างๆ ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม สิ่งของต่างๆ อยู่ตลอดเวลา จึงปรากฎออกมาเป็นบุคลิกภาพหรือพฤติกรรมที่มักจะมองเห็นจุดบกพร่องของสิ่งต่างๆ หรือเรื่องราวต่างๆ ง่ายและเร็วกว่าคนอื่นๆ

 ดังนั้นในสายตาของคนลักษณ์อื่น จึงมองคน 1 ว่า ช่างติ ช่างวิพากษ์วิจารณ์ หรือ ชอบจับผิด แล้วแต่ว่าคนนั้นๆ มองด้วยท่าทีอย่างไร ถ้าคนในครอบครัวก็มักจะใช้คำว่า คนลักษณ์ 1 ขี้บ่น จู้จี้ จุกจิก    

เรามักพบว่า ปัจจัยสำเร็จของคน 1 ที่ทำให้สามารถขึ้นมาสู่การเป็นผู้บริหาร หรือผู้นำ (ด้วยความเป็นลักษณ์ 1 ไม่ใช่ด้วยปัจจัยอื่น) คือ เป็นคนที่ทำงานละเอียด มีระเบียบวินัยในการทำงานสูง มีความรับผิดชอบสูง

เนื่องเพราะความใส่ใจและความคิดยึดติดกับเรื่องของความถูกต้อง จะผลักดันและเคี่ยวเข็ญตนเอง ให้ทำงานหนัก ทำตามสิ่งที่เสียงในหัวของคนลักษณ์ 1 บอกว่าควรทำอย่างไรอยู่ตลอดเวลา

การทำงานจึงต้องตรวจสอบความถูกต้อง ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำงานตามตารางเวลาที่ชัดเจน ตามแผนงานที่วางไว้อย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้น เสียงในหัวของคนหนึ่งก็จะตำหนิตนเอง คนหนึ่งก็ต้องลุกขึ้นมาทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ให้สมบูรณ์แบบ

เราจึงมักไม่ค่อยเห็นคนลักษณ์หนึ่ง พักผ่อน หรือเล่นสนุก เฮฮา มากนัก นั้นเพราะกลไกการทำงานทางจิตของคนหนึ่งที่ไม่รู้ตัวผลักดันให้ชีวิตของคนหนึ่งไม่รู้จักกับคำว่า สนุก ซึ่งก็เป็นทุกข์ในสไตล์ของคนหนึ่ง

แต่คนหนึ่งที่รู้ตัวเองว่า ทำสิ่งต่างๆ เพราะแรงผลักดันภายในที่เป็นอัตโนมัติ จากความเป็นลักษณ์ของตนเอง จะรู้จักที่จะผ่อนคลายชีวิตการทำงานลง และรู้จักที่จะวิ่งไปใช้ภาวะลูกศร คือ พฤติกรรมของคนลักษณ์ 7 เพื่อสร้างสีสรรให้กับชีวิตของตนเอง หรือใช้ภาวะลูกศร ไปใช้พฤติกรรมของคนลักษณ์ 4 ที่จะเรียนรู้และดื่มต่ำกับศิลปะ หรือธรรมชาติ เพื่อปรับสมดุลให้กับชีวิตได้

 ผู้นำลักษณ์ 1 จะปรับและดึงเอาศักยภาพในการมองเห็นจุดบกพร่องมาใช้แต่พอดี จนกลายเป็นจุดแข็งที่เรามักจะเห็นได้ว่า คนหนึ่งเป็นนักปฏิรูป หรือนักพัฒนา ไม่เคยเดินย่ำรอยเดิม เพราะมักจะมองเห็นช่องทางในการแก้ไขจุดบกพร่องของสิ่งที่เคยทำมาแล้วได้อย่างละเอียด เป็นคนที่มีมาตรฐานในการทำงานสูง เพราะเห็นแล้วว่าหากไม่ทำตามมาตรฐานนั้นๆ จะเกิดข้อเสียอย่างไรบ้าง จึงอุดช่องว่างในการทำงานไว้ทุกช่องทาง  

สไตล์การทำงานของคนหนึ่ง ที่ทำงานหนัก มุ่งผลงานที่ตนเองรับผิดชอบ ประกอบกับการที่เป็นคนในศูนย์ท้องมีพลังมากมาย จึงทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ก็มักจะคาดหวังว่า คนอื่นจะทำงานได้อย่างตน จนบางครั้งลูกน้อง หรือทีมงานจะรู้สึกว่าคนหนึ่งมุ่งงานมากกว่าความสัมพันธ์

 

ดังนั้นในช่วงต้นของวัยทำงาน ในองค์กรส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะสนับสนุนคนหนึ่งขึ้นเป็นหัวหน้างาน เพราะมีความรับผิดชอบสูง มีผลงาน มีวินัย แต่เมื่อคน 1 ที่ต้องขยับขึ้นเป็นผู้นำ หรือ ผู้บริหารระดับสูง คน 1 จะพบปัญหาที่ต้องข้ามพ้นให้ได้ คือ การมองมุมกว้างให้ได้มากกว่าการมองรายละเอียด คนหนึ่งบางคนกว่าจะข้ามเรื่องนี้ได้ก็หนักหนาพอสมควร เพราะชีวิตทั้งชีวิตเคยแต่จะใส่ใจกับรายละเอียดในทุกขั้นตอนมาโดยตลอด

 

ผู้บริหารด้านงานบัญชี ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่แห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่าเมื่อตนเองถูกโปรโมทให้เป็นผู้บริหารระดับกลางในองค์กรในสายงานเดิม รู้สึกว่าไม่เคยทำงานได้ทันใจตัวเองเลย รู้สึกว่าตัวเองทำงานด้อยประสิทธิภาพลง

แต่เมื่อซักถามไปสักพักก็พบว่า จุดแข็งของเธอที่เคยทำให้เธอได้รับการเลื่อนตำแหน่งนั้นเองเป็นอุปสรรคสำคัญ ด้วยความเป็นลักษณ์ 1 ที่เป็นคนละเอียดใส่ใจในทุกขั้นตอนการทำงาน ถ้าลูกน้องทำงานไม่ได้ตามมาตรฐานเธอก็เอางานมาทำเองใหม่ แต่เมื่ออยู่ในตำแหน่งใหม่ที่สูงขึ้นเธอยังคงทำงานแบบเดิมก็ย่อมไม่มีเวลาเหลือสำหรับงานสร้างวิสัยทัศน์ หรืองานเชิงนโยบายที่ต้องตอบสนองผู้บริหารระดับสูงเป็นธรรมดา  ไม่ใช่การที่เธอด้อยประสิทธิภาพแต่อย่างใด 

ในกรณีนี้นพลักษณ์ช่วยอธิบายได้ว่า การที่เราจมอยู่กับบุคลิกภาพบางอย่าง ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นตัวตนของเราโดยที่เราไม่รู้ตัวนั้น ในบางสถานการณ์สิ่งนั้นเป็นจุดแข็งให้เราได้รับความไว้วางใจ เจ้านายเห็นผลงาน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป บุคลิกภาพที่เรายึดติดนั่นเองกลับกลายเป็นจุดอ่อนที่ก่อทุกข์และเป็นอุปสรรคของอนาคต 

สิ่งที่ต้องเรียนรู้เมื่อใช้นพลักษณ์เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ตัวตนของเราแล้วก็คือ การเรียนรู้ที่จะข้ามพ้น (Tranformation) จากสิ่งที่เราสร้างขึ้นจนก่อตัวเป็นบุคลิกภาพของเรา เพื่อไปสู่การค้นพบศักยภาพที่แท้จริงที่ทุกคนมีอยู่เท่าๆ กัน เหมือนกัน ด้วยการมองโลกที่เป็นจริง อยู่กับปัจจุบัน มิใช่การมองโลกแบบคนหนึ่ง ที่มักจะมองว่าโลกนี้ไม่สมบูรณ์แบบ ฉันต้องถูกต้อง ดีพร้อมอยู่ตลอดเวลา 

มีเรื่องขำในแวดวงนพลักษณ์ที่มักพูดกันเสมอว่า คนลักษณ์หนึ่งซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนสมบูรณ์แบบ จะทำอะไรก็มีมาตรฐานอยู่ตลอดเวลา หากแต่ว่าเมื่อเราเชิญคนหนึ่งมาจำนวน 5 คน มอบหมายงานให้ทำเรื่องเดียวกัน เราจะพบว่ามีถึง 5 มาตรฐานในการทำงานชิ้นเดียวกัน เพราะในความสมบูรณ์แบบ หรือมาตรฐานของคนหนึ่ง มาจากมุมมองตนเองทั้งสิ้น

แต่คนหนึ่งมักจะคิดอยู่ตลอดเวลาว่ามาตรฐานดังกล่าวเป็นสิ่งที่จริงสูงสุด เป็นมาตรฐานที่ดีที่สุด ของคนอื่นไม่ดีพอ จึงมักเห็นคนหนึ่งเคร่งครัด ไม่ยืดหยุ่นให้กับทั้งตนเองและคนอื่นในการทำงาน เพราะไปยึดมั่นถือมั่นว่าระเบียบแบบแผนที่ตนเองสร้างขึ้นนั้นดีที่สุดแล้ว มีวิธีการเดียวเท่านั้นที่ถูกต้อง แต่คนหนึ่งที่สามารถข้ามพ้นโลกทัศน์ของตนเองได้ ก็จะยืดหยุ่นที่จะพัฒนา ปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ตามสถานการณ์ และเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่แข็งขืนทั้งกับตนเองและผู้อื่น

 

นั่นเป็นตัวอย่างของการมองโลกที่บิดเบี้ยวไม่เป็นไปตามความจริง แม้กระทั่ง ความถูกต้อง หรือ มาตรฐาน ก็มาจากตนเองเป็นสำคัญ ทำให้คนหนึ่งมีสไตล์การทำงานที่ ควบคุมคนอื่นสูง และมักจะทุกข์เมื่อเห็นลูกน้องทำงานไม่ได้อย่างที่ตกลงกันไว้ ไม่ได้ตามแบบแผนที่วางไว้ ไม่ทุ่มเทเท่ากับที่ตนเองทำไว้เป็นแบบอย่าง

 ในจุดนี้ลูกน้องจะมองว่าคนลักษณ์ 1 ชอบตัดสินคนอื่น แต่หากมีใครให้ข้อเสนอแนะกับคนหนึ่ง ด้วยน้ำเสียงและท่าที่ที่ไม่ได้เน้นย้ำว่าเป็นข้อเสนอแนะ คนหนึ่งมักง่ายที่จะอ่อนไหวและคิดไปเองว่าคนอื่นตัดสินตนเอง วิพากษ์วิจารณ์ตนเอง ซึ่งเป็นภาวะที่ยากจะทำใจ และเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งกับคนหนึ่งได้ง่ายมาก    
หมายเลขบันทึก: 122771เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2007 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณที่เขียนให้อ่านได้เข้าใจง่าย และเห็นภาพชัดเจน

ความยากของคนในการเปลี่ยนแปลงคือการก้าวข้ามสิ่งที่คุ้นชินนี่แหละค่ะ

บ่อยครั้งที่คนเรารู้สึกแย่เพราะเรามีมุมมองและกรอบคิดแบบของเรา

แล้วมักคิดว่าคนอื่นน่าจะคิดและทำอย่างที่เราเป็น

เมื่อไม่ได้ดังที่หวัง เกิดความเสียใจ น้อยใจ จิตตก

คงต้องทบทวนตนเองบ่อยๆ และเท่าทันความคิดของตนให้ได้

ยินดีค่ะ ที่บทความมีประโยชน์บ้าง

หากต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นพลักษณ์เพิ่มเติม แวะไปคุยกันได้ใน facebook พิมพ์คำว่า Thai Enneagram Association นะคะ

หรืออ่านข้อมูลมากมายของผู้ที่เรียนรู้นพลักษณ์ ได้ที่ www.enneagramthailand.org ค่ะ

ถ้าคนลักษณ์ 1 เจอคนที่สมบูรณ์แบบกว่าจะเป็นอย่างไรค่ะ

ไม่น่ามีนะเพราะผมคือความถูกต้อง และสิ่งที่ควรจะเป็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท