การมีสติ


พึงจดจำไว้ว่า สติที่ใช้ในการปฏิบัติเพื่อการดับไปแห่งทุกข์นั้น ทำหน้าที่สำคัญที่สุดอย่างยิ่ง คือ เพื่อระลึกอย่างเท่าทันในเวทนาและจิตสังขารเป็นจุดประสงค์สำคัญสูงสุด

มิจฉาสมาธิ  ย่อมบังเกิดแก่ผู้มีมิจฉาสติ

สัมมาสมาธิ  ย่อมบังเกิดแก่ผู้มีสัมมาสติ

มิจฺฉาสติสฺส  มิจฺฉาสมาธิ ปโหติ

สมฺมาสติสฺส  สมฺมาสมาธิ  ปโหติ

(อวิชชาสูตร ๑๙/๑)

        สติ ตามความหมายในทางพุทธศาสตร์แปลว่า ความระลึกได้, นึกได้, ความไม่เผลอ, การคุมใจไว้กับกิจ หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือการปฏิบัตินั่นเอง

        สติเป็นสิ่งสําคัญยิ่งในการปฏิบัติในทางพุทธศาสนา เช่น สติในมรรค๘ หรือสติในโพชฌงค์๗ สติในสติปัฏฐาน๔ เป็นต้น. อันเป็นเหตุปัจจัยอันสําคัญยิ่งในการบรรลุถึงจุดหมายในการดับทุกข์ หรือความจางคลายหายจากทุกข์ ในที่นี้ผู้เขียนจะกล่าวจําเพาะเจาะจงลงไปในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติ โดยเฉพาะสติให้เห็นเวทนาและจิตเป็นสําคัญ (เวทนานุปัสสนา และจิตตานุปัสสนา ในสติปัฏฐาน๔)

           สตินั้นก็คือ กริยาหรืออาการหนึ่งของจิตนั่นเองที่ทำหน้าที่ระลึกได้หรือสำนึกพร้อม  เป็นหนึ่งในเจตสิก๕๒  จัดเป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง  และเป็นสังขารขันธ์ที่พระพุทธองธ์ทรงสรรเสริญว่า "สติ  มีประโยชน์ในที่ทั้งปวง"   จึงเป็นภาเวตัพพธรรม สิ่งที่ควรทำให้เจริญขึ้น

         พึงจดจำไว้ว่า สติที่ใช้ในการปฏิบัติเพื่อการดับไปแห่งทุกข์นั้น  ทำหน้าที่สำคัญที่สุดอย่างยิ่ง คือ เพื่อระลึกอย่างเท่าทันในเวทนาและจิตสังขารเป็นจุดประสงค์สำคัญสูงสุด  ถ้าไม่เท่าทันในเวทนาแล้ว จึงพึงให้ระลึกอย่างเท่าทันในจิต หรือสังขารจิตนั่นเอง เช่น จิตคิดฟุ้งซ่าน จิตคิดหดหู่ หรือจิตคิดปรุงแต่งต่างๆนั่นเอง อันเป็นผลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากเวทนานั่นเอง  เพราะสังขารหรือธรรมารมณ์บางอย่างเห็นเวทนาอันเกิดขึ้นแผ่วเบา เช่น อทุกขมสุขเวทนาได้ไม่ชัดเจนเหมือนจิตสังขาร เช่น ความคิดปรุงแต่ง,โทสะ,ราคะ,หดหู่ นั่นเอง   ดังนั้นการมีสติเห็นเวทนาหรือจิตสังขารจึงเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อกัน   ดังนั้นการฝึกสติและอุบายวิธีทั้งหลายทั้งปวงเป็นร้อยเป็นพัน ก็สรุปลงมาที่จุดประสงค์สูงสุดเดียวนี้เท่านั้นจริงๆ    เมื่อสติระลึกรู้เท่าทันเวทนาหรือจิตสังขารได้แล้ว   ปัญญาจึงทำหน้าที่จัดการต่อไป  ดังเช่น นิพพิทาญาณ  ปัญญาที่รู้เข้าใจตามความเป็นจริงจึงยังให้เกิดความหน่ายคลายความกำหนัด จึงไม่ไปยึดไปอยากอันเกิดขึ้นจากการไปรู้ตามความเป็นจริงที่เป็นไปของธรรมนั้นๆ ทุกข์จึงจางคลายหรือดับไป,   ขอเน้นสักนิดหนึ่ง สติรู้เท่าทันเวทนาหรือจิตในชีวิตประจำวัน  ต้องไม่ใช่ไปจดจ่อ จดจ้อง หรือโฟกัสในเวทนาหรือจิตที่ระลึกรู้เหล่านั้นอย่างไม่ปล่อยวาง  รู้เท่าทันแล้วปล่อยวางหรืออุเบกขา   อันพึงยกเว้นในขณะวิปัสสนาหรือพิจารณาธรรมหรือโยนิโสมนสิการเท่านั้น  อันเป็นไปเพื่อให้เกิดสติและปัญญา

          การมีสติตามลมหายใจ หรือสติในอริยาบถ หรือการเคลื่อนไหว(สัมปชัญญะ)ในกายานุปัสสนาของสติปัฏฐาน๔นั้น  ก็เป็นการฝึกสติและเป็นเครื่องอยู่ของจิตอันดียิ่งอย่างหนึ่ง  แต่พึงเข้าใจด้วยว่าเป็นการฝึกสติในเบื้องต้น รวมทั้งเป็นเครื่องอยู่ของจิตไม่ให้ซัดส่ายออกไปปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านออกไปภายนอกให้เป็นทุกข์  ก็เพื่อให้มีสติเป็นสัมมาสมาธิที่หมายถึงต่อเนื่องในระดับขณิกสมาธิ เพื่อเป็นกำลังหรือบาทฐานในการฝึกสติต่อไปในขั้น เวทนานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนาดังที่กล่าวข้างต้น   หรือเพื่อใช้สติไปในการพิจารณาธรรม(ธรรมานุปัสสนา)  อันเป็นไปเพื่อการดับอุปาทานทุกข์โดยตรง   ดังนั้นถ้าปฏิบัติแต่ตามลมหายใจ อริยาบถหรือสัมปชัญญะโดยไม่ดำเนินการปฏิบัติในขั้นต่อไปเลย ย่อมก่อให้เกิดความชงักงันเป็นธรรมดา  ในขั้นแรกอาจได้ความสงบจากนิพพิทาในกาย  แต่ถ้าไม่ดำเนินให้เกิดปัญญาต่อไป  จนถึงขั้นไปติดเพลินจึงกลายเป็นมิจฉาสติหรือมิจฉาสมาธิเสียก็เป็นได้

        มีสติเห็นเวทนาหรือจิต  พร้อมทั้งปัญญาความเข้าใจ(ญาณ)ในเวทนาหรือจิตหรือจิตสังขาร  ให้เหมือนดั่งตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียง คือ มีสติระลึกรู้ในเวทนาหรือจิตคิด  พร้อมทั้งปัญญาความเข้าใจ ให้ได้อุปมาดั่งตาเห็นรูปหรือตัวอักษร ที่สติเห็นระลึกรู้และปัญญาเข้าใจในสิ่งที่เห็นนั้น  หรือดั่งเมื่อหูได้ยินระลึกรู้เสียงไพเราะหรือไม่, พร้อมทั้งเข้าใจในความหมายที่สื่อนั้น   หรือกล่าวอย่างสั้นๆว่า

มีสติเพื่อทำญาณให้เห็นจิต  ให้เหมือนตาเห็นรูป

อันเป็นไปตามหลักปฏิบัติ สติปัฎฐาน๔

คือเห็นเวทนาหรือจิต(จิตสังขาร)ที่เกิดขึ้นบ้าง หรือเห็นความเสื่อมไปบ้าง หรือเห็นความดับลงไปบ้าง

หรือเห็นความเกิดขึ้นในบุคคลอื่นบ้าง  ในตนเองบ้าง ฯ.

           อนึ่งควรมีความเข้าใจให้ถูกต้อง  เมื่อฝึกสติ ย่อมเป็นเหตุปัจจัยเครื่องสนับสนุนให้เกิดสมาธิขึ้นด้วยเป็นธรรมดา  กล่าวคือ การมีสติ อย่างแน่วแน่คือเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องในการปฏิบัติ

          สมาธินี้ จึงหมายถึง ความมีสติต่อเนื่องอยู่ในการปฏิบัติ  มิได้หมายถึงสมถสมาธิที่เข้าถึงแต่ความประณีตความสงบความสบายแต่อย่างใด   สมถสมาธิเป็นสมาธิเริ่มต้นเพื่อฝึกจิตให้เป็นสมาธิในเบื้องต้น เพื่อไม่ให้ซัดส่ายเป็นทุกข์ เพื่อให้มีกำลังของจิตใช้ไปในการปฏิบัติขั้นต่อไป คือการวิปัสสนาเพื่อการดับทุกข์อย่างจริงจังเท่านั้น   เนื่องจากในปัจจุบันมีการเน้นการฝึกสมถสมาธิแต่อย่างเดียว  แต่ก็เรียกกันโดยทั่วไปว่าสมถวิปัสสนาบ้าง พระกรรมฐานบ้าง  ผู้ไม่รู้จึงไปเข้าใจผิด คิดว่าปฏิบัติวิปัสสนาที่จำเป็นต้องอาศัยปัญญาให้เข้าใจธรรมอันเป็นหนทางแห่งการดับทุกข์แล้ว  ทั้งๆที่ยังไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนาแต่อย่างใด  จึงกลับกลายดำเนินไปในรูปของมิจฉาสมาธิแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา   ดังเช่นการปฏิบัติอานาปานสติแต่กลายเป็นมิจฉาสติ   จึงยังให้เกิดเป็นมิจฉาสมาธิอันให้โทษ    ดังนั้นเมื่อปฏิบัติสมถสมาธิแล้ว จึงควรเจริญในวิปัสสนาทุกครั้ง  จึงยังให้สมาธินั้นเป็นสัมมาสมาธิอันถูกต้อง กล่าวคือเป็นบาทฐานเครื่องสนับสนุนการวิปัสสนา

วัตถุประสงค์ในการเจริญสติ

         ๑.  ฝึกสติให้เห็นจิต   หมายถึง ระลึกรู้เท่าทันจิต (หมายรวมทั้ง เวทนา-ความรู้สึกรับรู้  และจิตสังขาร เช่น ความคิด, คิดปรุงแต่ง, โมหะ, โทสะ, โลภะ ฯ.)

        ๒. ฝึกสติให้เห็นความแตกต่างของความรู้สึก(เวทนา)ระหว่าง จิตขณะปกติ และขณะที่ จิตปรุงแต่ง เพื่อให้เห็นโดยปัจจัตตัง คือเห็นรู้ด้วยตนเอง

        ๓. ฝึกสติ ให้ชำนาญอย่างต่อเนื่องในการเห็น จิต (เห็นใน เวทนา+จิตสังขาร อย่างเป็นสัมมาสมาธิ)

        ๔. ฝึกสติ ไม่ให้ไปคิดนึกปรุงแต่งต่อจากจิต(เวทนา+จิตสังขาร)ที่เห็นหรือเกิดขึ้นนั้น (หมายถึงยังมีคิดเป็นปกติธรรมดาของขันธ์๕ที่ยังกระทบแล้วรู้สึกเป็นธรรมดา  แต่ไม่คิดปรุงแต่งชนิดที่ยังให้เกิดทุกข์ต่อ) หรือคือการฝึกสติในการถืออุเบกขานั่นเอง

        ๕. ฝึกสติให้เห็นความแตกต่างของความรู้สึกระหว่าง เมื่อจิตไม่รู้เท่าทันไปปรุงแต่ง กับ จิตที่รู้เท่าทันแล้วถืออุเบกขา (แลคล้าย ข้อ๒. แต่แตกต่างกัน)

ข้อสําคัญในการปฏิบัติ

        ในระยะแรกๆ อย่าปฏิบัติในขณะที่รู้สึกเป็นทุกข์ หรือจิตใจซัดส่าย ข้อสำคัญให้มีใจสบายๆพอสมควร หรือสมาธิก็แค่ระดับขณิกสมาธิคือจิตแน่วแน่ ไม่วอกแวกมากเกินไป  ให้มีสติอยู่ในกิจหรือการปฏิบัติ,  เพราะต้องการใช้จิตที่อยู่ในสภาวะขณะปกติไปเปรียบเทียบให้เห็นกับขณะจิตปรุงแต่ง จึงจะเห็นสภาวะหรือความรู้สึกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนอย่างปัจจัตตัง  จึงจะคลายวิจิกิจฉาความสงสัย

        ถ้าปฏิบัติในรูปแบบ  ให้มีสติ อย่าปล่อยให้เลื่อนไหลลงภวังค์ คือไม่เลื่อนไหลไปสู่สมาธิหรือฌานในระดับลึก สมาธิก็แค่ขณิกสมาธิ  เพราะเราต้องการฝึกฝนปฏิบัติการใช้สติในการปฏิบัติตามความรู้ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทหรือสติปัฏฐาน๔  มิใช่การปฏิบัติสมถสมาธิหรือฌานเพราะถ้าลึกกว่านี้แล้วสติจะไม่บริบูรณ์มีอาการเคลิบเคลิ้ม ลงภวังค์ หรือเกิดนิมิตต่างๆนาๆ   ถ้าหลับตาแล้วเลื่อนไหลลงภวังค์หรือหลับง่ายๆก็ให้ลืมตาขึ้น  หรือยืน  เดิน  ในอริยาบทสบายๆได้ โดยไม่ต้องกังวล,  ให้มีสติยาวนานต่อเนื่องอย่าง ไม่เลื่อนไหล

        ปฏิบัติโดยให้มีสติกํากับความคิด  สําหรับนักปฏิบัติใหม่ๆอาจมองไม่เห็นความคิด หรือมีความรู้สึกว่า ไม่รู้จะวางสติไว้กับอะไรหรือ ณ.ตําแหน่งใด   ก็ให้ลองบริกรรมพุทธโธ ในใจสักระยะ  หรือคิดภาวนาพิจารณาในใจอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุให้ขุ่นเคืองหรือวุ่นวายใจ เพื่อเป็นเครื่องกำหนด เครื่องระลึก โดยปรับกายใจให้ผ่อนคลาย  คำบริกรรมอาจสั้นหรือยาวก็ได้ ดังเช่น  พุทโธ  สั้นๆ  หรือดังเช่น

        " ที่นี่แหละฐานแห่งจิต "  หรือ  " มีสติ ไม่คิดปรุง "  หรือ  " สัมมาอรหัง "  เหล่านี้เป็นต้น  หรือภาวนาอะไรก็ได้ อย่างสั้นๆตามจริตก็ได้

         เพราะคำบริกรรมภาวนาเหล่านี้เอง  เป็นจิตสังขารหรือความคิดที่เป็นผลที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง หรือการพูดในใจโดยไม่ออกเสียงมานั่นเอง  ที่เราต้องการจะฝึกให้มีสติระลึกรู้เท่าทัน ที่บางทีเรียกกันว่า"เห็น"   และควรฝึกหัดให้เห็นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง(สัมมาสมาธิ)ไม่เลื่อนไหล    และปัญญาที่เกิดแต่การพิจารณาจนเกิดความเข้าใจในสภาวะธรรมจะเป็นผู้แก้ปัญหา อันรวมทั้งจำแนกแจกแจงว่า อันใดเป็นคิดที่ควรเกิดควรมี   อันใดเป็นคิดปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ที่ควรอุเบกขา

        แล้วภาวนาพิจารณาในใจอย่างใจเบาๆนุ่มนวล พร้อมสังเกตุกําหนดชัดว่าอยู่ที่ใด อาจจะอยู่ที่ใดก็ได้  แค่พอให้สังเกตุเห็นฐานแห่งจิต คือหาโฟกัส(จุดรวม)ความคิดให้ชัดเจนของจิตเท่านั้น  อย่ากังวล เพียงแต่ให้สติระลึกรู้ว่ามีความรู้สึกชัดเจนที่สุดตรงไหน อาจอยู่ภายในกายหรือนอกกายก็ได้ ก็ให้ถือว่าที่นั่นแหละฐานแห่งจิตหรือตําแหน่งของจิตที่เราต้องมีสติคอยกํากับ คือ จิตหรือสติเห็นคำภาวนานั้นอย่างมีสติได้อย่างต่อเนื่อง,   เมื่อฝึกปฏิบัติบ่อยๆจนเกิดความชำนาญแล้ว   ก็เปลี่ยนจากจิตหรือสติที่เห็นคำบริกรรมนั้นเป็นคอยมีจิตหรือสติเห็นเวทนาหรือจิตคิดหรือจิตสังขารที่เกิดขึ้นแทนในภายหลัง  แล้วมีสติถืออุเบกขาไม่ปรุงแต่ง ไม่แทรกแซง หรือไม่เอนเอียงไปทั้งในด้านดีหรือร้าย เช่น เราดีหรือเขาชั่ว,นั่นดีหรือนี่ชั่ว,เราถูกหรือเขาผิด คืออยู่ในภาวะเหนือดีเหนือชั่ว  หรือเหนือบุญเหนือบาปทั้งปวงนั่นเอง ตามที่ได้กล่าวมาในบทก่อนๆแล้ว,  ฐานแห่งจิตนี้เป็นนามธรรม เป็นอนัตตาไม่มีตัวตนจริงๆเป็นเพียงอุบายวิธีในการปฏิบัติเพื่อจําลองเป้าหมาย  ช่วยในการก่อสติ  ให้สติเกาะระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่ตั้งใจอันถูกต้องดีงาม  ในแต่ละท่านตําแหน่งอาจไม่เหมือนกัน  และบางทีบางครั้งก็รู้สึกคนละตําแหน่งกับที่เคยปฏิบัติมาเป็นเรื่องธรรมดาไม่ต้องใส่ใจ  เพราะในที่สุดจะเข้าใจถูกต้องเอง

         เมื่อสติกำกับจิต หรือเห็นจิต หรือจิตเห็นจิต ที่เกิดขึ้นแล้ว  ก็ให้วางเฉยเสีย อย่าคิดหรือคิดปรุงแต่งใดๆให้ได้สักระยะหนึ่ง ปฏิบัติใหม่ๆก็จะยากอยู่เป็นธรรมดา  (เพราะมักเกิดอาการที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ได้กล่าวไว้ บอกว่าให้หยุดคิด กลับไปคิดว่าจะหยุดคิดอย่างไร  กลับกลายไปคอยคิดคำนึงปรุงแต่งในเรื่องการหยุดคิดนั่นเอง)  เมื่อหยุดคิดได้สักระยะหนึ่ง  สังเกตุความรู้สึกหรือเวทนาที่มีอยู่  (แต่ไม่ใช่จิตส่งในที่ติดเพลินไม่ปล่อยวาง)  จะพิจารณาสังเกตุพบความสงบ  สบาย  ไม่กระวนกระวาย  ไม่ร้อนรุ่ม  ไม่เผาลน  แล้วต้องปล่อยวาง     เมื่อปฏิบัติได้สักพักหนึ่งจิตจะเริ่มส่งออกนอกไปคิดนึกปรุงแต่งในบางเรื่องขึ้นมาเป็นธรรมดา หมายถึงต้องเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอนจึงอย่าไปหงุดหงิดกังวล    แต่เมื่อจิตส่งออกนอกไปปรุงแต่งจนอิ่มตัวหรือมีสติกลับคืนมาเห็นจิตปรุงแต่งเหล่านั้นแล้ว   สังเกตุความรู้สึก(เวทนา)ที่เกิดขึ้นเพื่อให้รู้ว่าเมื่อจิตส่งออกไปปรุงแต่งแล้วเกิดเวทนาอย่างไรขึ้นมา แล้วปล่อยวาง  ให้กลับมาอยู่ที่สติหรือฐานเดิม  คือเพียงพิจารณาสังเกตุรู้ในความรู้สึกที่เกิดขึ้น แล้วละเสีย  และอย่าปรุงต่อ

         จิตที่แว็บออกไปปรุงแต่งดังข้างต้นนั้น  มีสองลักษณะ คือ บางครั้งยังไม่ทันก่อทุกข์ขึ้น เป็นแค่การผุดการแว๊บออกไปปรุงแต่งแรกๆ แล้วมีสติรู้ทัน  จะได้ประโยชน์ คือ ฝึกสติให้เห็นและรู้ทันจิตที่ส่งออกไปภายนอกหรือผุดหรือแว๊บขึ้นมานั้น,   อีกลักษณะหนึ่งคือความคิดที่ผุดขึ้นมานั้นก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์เลย หรือขณะแรกไม่เป็นทุกข์แต่ขาดสติปรุงแต่งเลื่อนไหลต่อไปเรื่อยๆจนเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นในที่สุด  เมื่อจิตปรุงจนอิ่มตัวแล้วหรือมีสติรู้เท่าทันขึ้นมา ก็ให้หยุดการปรุงแต่งเหล่านั้นเสีย   แล้วพิจารณาด้วยปัญญาก็จักได้ประโยชน์คือเปรียบเทียบเห็นความรู้สึก(เวทนา)ที่เป็นทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งด้วยตนเองได้อย่างชัดเจน   ด้วยเหตุนี้ในขณะฝึกสตินั้นจึงให้ทำจิตว่างๆที่หมายถึงหยุดคิด,หยุดปรุงแต่งชั่วขณะ  จุดประสงค์ก็เพื่อให้สังเกตุเห็นความรู้สึกหรือเวทนาที่เกิดขึ้นชัดเจน  คือเปรียบเทียบเวทนาหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างจิตไม่ปรุงแต่งและจิตปรุงแต่งกันให้เห็นหรือเข้าใจอย่างชัดเจน,  แต่ระมัดระวังไว้ด้วย อย่าไปยึดในจิตว่างหรือหยุดคิดนั้น  เป็นขั้นตอนการใช้ตอนปฏิบัติเท่านั้น  ในการดำรงชีวิตโดยทั่วไปนั้น ความคิดนั้นยังต้องมีอยู่ แต่อยู่ในระดับขันธ์๕ คือไม่คิดปรุงแต่งเท่านั้น  หรือหยุดเฉพาะคิดนึกปรุงแต่งเท่านั้น    อย่าได้พยามยามไปทำจิตว่างหรือพยายามหยุดทุกๆความคิดในการดำเนินชีวิตประจำวัน  หยุดแค่การคิดปรุงแต่ง

ข้อสําคัญในการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

        ไม่ใช่การห้ามหรือหยุดเวทนาหรือจิตคิดอย่างดื้อๆ  มันทําหน้าที่ของมันอย่างถูกต้องตามสภาวะธรรม(ธรรมชาติ) เป็นขันธ์๕ในการดำรงขันธ์(ชีวิต)   ส่วนความคิดนึกปรุงแต่งหรือจิตฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งนั้นต้องหยุด 

        เราจึงทําหน้าที่หลักๆ เพียง๒ประการคือ

        ๑.มีสติรู้ทันเวทนาหรือความคิด(จิต)ที่เกิดขึ้น ก็ให้มีสติรู้ว่ามี คือ เมื่อจิตสอดส่ายออกไปคิดปรุงแต่งเกิดความรู้สึก(เวทนา) หรือจิตสังขารใดๆเช่น จิตปรุงแต่ง จิตหดหู่ โมหะ โทสะ โลภะ ฯ. ก็รับรู้ตามความเป็นจริงอย่างมีความเข้าใจในเวทนาหรือจิต(อ่านในปฏิจจสมุปบาท หรือขันธ์๕) หรือเห็นความเกิดขึ้นบ้าง เห็นความเสื่อม ความดับไปบ้าง (ความสําคัญอยู่ที่รับรู้สิ่งที่กระทบนั้นตามความเป็นจริง แล้วรีบละไม่จดจ้องหรือพิรี้พิไรต่อมัน )  จิตที่สอดส่ายออกไปนี้มันต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และเมื่อเกิดการกระทบผัสสะย่อมเกิดผลขึ้นเป็นธรรมดา ตามที่ได้ปัญญาญาณจากปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์๕   ไม่ต้องพยายามทําอื่นใดทั้งสิ้น เช่น ไม่ติดเพลินหรือผลักไสใดๆ  ไม่พยายามทําให้ความรู้สึกรับรู้(เวทนา)หายหรือดับไป    และควรพิจาณาเมื่อสติกลับมาแล้ว คือรู้ตัว ให้สังเกตุความแตกต่างระหว่างความรู้สึกขณะที่มีสติ  กับ  ขณะที่จิตคิดปรุงแต่งเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่เห็นได้ด้วยตนเอง(ปัจจัตตัง)   ข้อสำคัญแค่สังเกตุอยู่ในความแตกต่าง แล้วต้องไม่ปรุงแต่งต่อ

        มีความเข้าใจและรับรู้ตามความเป็นจริง เช่น อร่อยเป็นอร่อย สวยเป็นสวย ทุกข์เป็นทุกข์ สุขเป็นสุข เศร้าเป็นเศร้า มีความจําเป็นอย่างยิ่ง มิฉนั้นจะเกิดการวางอุเบกขาในข้อ๒ทุกๆเรื่อง อันเมื่อเป็นสังขารที่สั่งสมแล้วจะเกิดเป็นปัญหาขึ้น เพราะจะไปถืออุเบกขาเช่นวางเวทนาหรือความคิดหรือสิ่งอื่นที่มีคุณต่อการดำรงขันธ์(ดําเนินชีวิต)ไปโดยไม่รู้ตัว,   การรู้ตามความเป็นจริงเช่นเกิดทุกขเวทนาก็รู้และรับรู้ความรู้สึกที่เกิดนั้น  เป็นสุขเวทนาก็รู้ เป็นไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้,   เห็นจิตคิดชนิดโมหะ โทสะ โลภะ ก็มีสติรู้เท่าทัน  อันล้วนมีเจตจํานงให้มีสติรู้เท่าทันเวทนาหรือจิตอันแฝงกิเลสหรือตัณหาอยู่ในที  เป็นจุดประสงค์สำคัญ  แล้วปฏิบัติตามข้อ๒

        ๒.แล้วมีสติระลึก ถืออุเบกขา(ในโพชฌงค์)เท่านั้น

        อุเบกขานี้จะเกิดขึ้นจากการฝึกฝนอบรม เป็นกลางโดยการวางทีเฉยต่อเวทนาหรือจิตสังขารที่เกิดขึ้นนั้นอย่างมีสติมีอุเบกขา   รู้สึกอย่างไรก็รู้เท่าทันตามความเป็นจริงอย่างนั้น  เช่น โกรธ โลภ หลง ฯ.  เพียงแต่ไม่เอนเอียง ไม่แทรกแซง ไม่คิดนึกปรุงแต่ง ด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิตใดๆ ไปทั้งในทางดีหรือร้าย,   อุเบกขามิใช่การวางจิตเฉยๆ หรือต้องรู้สึกเฉยๆตามที่บางคนเข้าใจ   และไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง จักเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการเจตนาปฏิบัติ หรือสังขารขึ้นเท่านั้น,  ปฏิบัติใหม่ๆอาจรู้สึกยากแสนยาก  แต่เมื่อปฏิบัติไปอย่างสมํ่าเสมอก็จักราบรื่นขึ้น,  ถ้ากระทําด้วยความเพียรไม่เกียจคร้านในที่สุดก็จะเป็นดั่งสังขารที่สั่งสมในปฏิจจสมุปบาทเพียงแต่ว่ามิได้เกิดแต่อวิชชา แต่เกิดจากวิชชาของพระองค์, ซึ่งเมื่อเวทนาหรือจิตคิดมากระทบ อุเบกขา(อันมีญาณรู้เข้าใจว่าสิ่งใดทำให้เป็นทุกข์ จากการปฏิบัติในข้อ๑.)จะกลับกลายเป็นสังขารแล้วก็จักทํางานเป็นธรรมชาติเหมือนหนึ่งดังบุคคลิกลักษณะประจําตัวหรือทำโดยอัติโนมัตินั่นเอง  อันทําให้เวทนาหรือจิตคิดที่ยังให้เกิดทุกข์เมื่อมากระทบผัสสะเหล่านั้น ขาดเหตุเกิดอันยังให้ต่อเนื่อง หรือขาดเชื้อไฟที่จะทำให้ลุกไหม้ต่อไปได้ เพราะขาดเวทนาหรือคิดปรุงแต่งต่อสืบเนื่อง จึงยังให้ไม่เกิดเวทนาต่อเนื่องขึ้นมาอีก  เมื่อขาดปัจจัยคือเวทนาอันเป็นเหตุเกิดของตัณหา   ตัณหาก็ต้องมอดดับลงไป อันเป็นไปตามหลักปรมัตถธรรมปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง,  เวทนาหรือจิตคิดเหล่านั้นจะยังคงเกิดแค่ขันธ์๕ อันเป็นเพียงทุกขเวทนาอันต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติธรรมดาๆขณะหนึ่งเท่านั้น ไม่เป็นทุกข์จริงๆ(ความทุกข์จริงคือทุกข์อุปาทาน-อันกระวนกระวาย ร้อนรุ่ม และเผาลน อย่างยาวนานและต่อเนื่อง และยังเก็บไปหมักหมมนอนเนื่องเป็นอาสวะกิเลสอันก่อทุกข์โทษภัยในภายหน้า)

        ถ้าปฏิบัติแล้วมีความรู้สึก ตึง แน่น เครียด หรืออึดอัด ส่วนหนึ่งส่วนใดมากเกินไป แสดงว่าอาจเกิดจากเหตุปัจจัย ๒ อย่างนี้

        ๑.อาจกําหนดฐานของจิตผิด เช่นไปกําหนดจดจ่อที่กายส่วนหนึ่งส่วนใดโดยไม่รู้ตัว หรืออาจเป็นไปในลักษณะจิตส่งในโดยไม่รู้ตัว  อันมักเป็นผลมาจากการปฏิบัติหรือความเคยชินเก่าๆที่สั่งสม(สังขาร)  เช่น  อาจรู้สึกหายใจไม่สะดวก หรือตึง แน่น อึดอัดตามจมูก หน้าอก ขมับหรือสมองมากเกินไป เนื่องจากเลื่อนไหลไปกำหนดตามความเคยชินในฐานของสมาธิเดิมๆ  ให้ลองปรับฐานจิตแห่งความคิดใหม่

        ๒.หรืออาจเกิดจากใช้สติระลึกรู้จดจ่อหรือจดจ้องแก่กล้าเกินไป ให้ผ่อนคลายสติระลึกรู้นั้นลง ปรับให้พอดีๆ ระลึกรู้อย่างเบาๆ  อันเป็นเรื่องของจริตแต่ละบุคคลที่ต้องหาให้พบ  การจดจ่อหรือจดจ้องระลึกรู้(สติ)อย่างแรงกล้ามากเกินไปก็ใช้พลังงานมากและก่อให้เครียดและล้า  อาการนี้มักเกิดกับการปฏิบัติในรูปแบบเช่นนั่งในรูปแบบสมาธิและหลับตาอันทําให้เกิดการจดจ้องหรือตั้งใจเกินพอดี ไปจดจ่ออยู่ที่สิ่งๆเดียวอย่างมุ่งมั่นหรือแน่วแน่จนเกินพอดีไป  อาจใช้วิธีแก้ไขโดยลืมตาขึ้น  หรือเปลี่ยนอิริยาบถเป็นการเดิน หรือการนั่งอย่างสบายๆก็ได้

        ปฏิบัติดังนี้ให้ได้ต่อเนื่องยาวขึ้น นานขึ้น และเป็นประจําสมํ่าเสมอขึ้น สามารถกระทําได้ในทุกอิริยาบถ ยิ่งปฏิบัติในขณะดําเนินชีวิตประจําวันได้ยิ่งเป็นคุณอันประเสริฐ  อันเมื่อปฏิบัติถูกต้องแล้วผู้ปฏิบัติควรรู้ได้ด้วยตนเองว่าทุกข์นั้นลดน้อยลงไปไหม?  มีความเข้าใจเกิดขึ้นไหม?  เห็นการดับไปของทุกข์ไหมเมื่อขาดเหตุปัจจัยหรือเหตุเกิดต่างๆ  อันเกิดขึ้นจ

คำสำคัญ (Tags): #สติ
หมายเลขบันทึก: 122725เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2007 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จิต กับ ใจ อยู่ใกล้กัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท