ตัวละครหลักในระบบการตลาด


สำหรับละครหลังข่าว ตัวละครหลักในเรื่องจะแบ่งออกได้เป็น 5 ตัวละครหลักๆ ก็จะมีพระเอก นางเอก ตัวอิจฉา เพื่อนพระเอกนางเอก และตัวประกอบทั่วไปที่ช่วยทำให้ละครเรื่องนั้นมีมิติมีรสชาติมากขึ้น ละครเรื่องไหนขาดตัวละครไปตัวใดตัวหนึ่งก็คงหมดสนุกขาดอรรถรส

 

ในระบบตลาดนั้น ก็มีตัวละครหลักอยู่ 5 ตัวละครเช่นกัน ตัวละครแรกหรือพระเอกก็คือ บริษัทของเราเอง ถัดมาก็เป็นนางเอก ก็คือ ลูกค้า วัตถุประสงค์หลักของละครเรื่องนี้ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้พระเอกกับนางเอกได้พบรักกันและแต่งงานกันในที่สุด ต้องจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งเท่านั้นนะ ไม่เอาจบแบบเศร้าๆ ประมาณว่าพระเอกตายเพราะปกป้องนางเอก แล้วพระเอกก็เข้าไปอยู่ในใจนางเอกตลอดไป แต่นางเอกไปแต่งงานกับคนอื่น แบบนี้ไม่เอา แล้วแต่งงานกันแล้วก็ต้องอยู่กันยืดด้วยนะ ประมาณว่าถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรเลย นั่นแสดงว่าพระเอกนางเอกต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างดี มีความซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน เสมอต้นเสมอปลาย กระบวนการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับนางเอก ก็คือ แนวคิดทางการตลาดที่มีชื่อโก้ๆ ว่า CRM นั่นเอง ทีนี้นางเอกจะปิ๊งพระเอกได้ พระเอกก็ต้องดูดีโดนใจนางเอก ประมาณว่าหล่อสูงขาวตี๋ฐานะดีมีชาติตระกูล นิสัยตรงสเป็คนางเอก พระเอกบางคนก็เจ้าชู้ บางคนเรียบร้อย บางคนกวนระเบิด บางคนก็เถื่อนๆ โหดๆ อันนี้ขึ้นอยู่กับว่านางเอกชอบแบบไหน รูปลักษณ์ภายนอกและลักษณะนิสัยการแสดงออกของพระเอก คือ แบรนด์ของพระเอกนั่นเอง

มีพระเอกนางเอกแล้ว ก็ต้องมีตัวอิจฉาด้วย ก็คือ คู่แข่งของเรานั่นเอง ตัวอิจฉานี่ก็จะคอยกีดกันพระเอกกับนางเอกไม่ให้มาพบกันได้ คอยยุแยงตะแคงรั่วให้แตกแยกกัน เข้าใจกันผิด เพื่อจะแย่งพระเอกนางเอกให้เป็นของตัวเองให้ได้ ไม่ว่าพระเอกกับนางเอกจะแต่งงานกันแล้วหรือยังก็ตาม ถ้าพอใจตัวอิจฉาเหล่านี้ก็พร้อมที่จะเข้ามาแย่งทันที แถมมาแบบประเภทไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ดังนั้นถ้ากระบวนการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับนางเอกไม่ดีล่ะก็ ก็อาจจะต้องแยกทางกันไปในที่สุด เพราะฉะนั้น CRM สำคัญ

นอกจากนี้โดยทั่วไปก็จะมีตัวละครอีกตัวหนึ่งไม่เพื่อนพระเอกก็เพื่อนนางเอก ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือให้พระเอกนางเอกได้มีโอกาสรู้จักกัน หรือทำหน้าที่เป็นพ่อสื่อแม่สื่อให้ ตัวละครนั้นก็คือ คนกลางทางการตลาดนั่นเอง หรือบางเรื่องพระเอกอาจจะวิ่งไปชนกับนางเอกที่มุมตึก แล้วก็เลยช่วยเก็บของที่ถือมาให้นางเอก ปรากฏว่าหยิบหนังสือสลับกัน แล้วในหนังสือดันมีเบอร์ของกันและกันอยู่ก็เลยได้รู้จักกันโดยอัตโนมัติ หลังจากนั้นจึงเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กันเอง บางเรื่องพระเอกก็แกล้งปลอมตัวเข้าไปเป็นคนใช้ในบ้านนางเอก หรือเป็นบอดี้การ์ดให้นางเอก อะไรประมาณนั้น กระบวนการที่ไม่ได้ผ่านตัวกลางทางการตลาด ก็คือ กลยุทธ์การสื่อสารการตลาด แบบ Below the line เช่น direct marketing, event marketing นั่นเอง

ตัวละครสุดท้ายที่ขาดไม่ได้เลยก็คือตัวประกอบฉาก ตัวละครเหล่านี้อาจดูไม่มีบทบาทสักเท่าไหร่ในเรื่อง โผล่มาแว้บๆ แต่ถ้าไม่มีก็ไม่สนุก ไม่สมจริง ตัวประกอบเหล่านี้ช่วยให้ละครมีมิติ มีความสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งก็เหมือนผู้ป้อนวัตถุดิบ นั่นเอง

คำสำคัญ (Tags): #การตลาด
หมายเลขบันทึก: 122691เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2007 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2019 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท