สักการะ+บูชา


สักการะ+บูชา

สักการะ+บูชา  หลังเข้าฟังการพูดประเด็นการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นกิจกรรมที่จัดโดยสาขารัฐประศาสนศาสตร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา  วิทยาเขตปัตตานี ณ  มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา  มีประเด็นหนึ่งในการเสวนา โดย อาจารย์สุกรี  หลังปูเต๊ะ คณบดีคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นร่วมผู้เสวนาในหัวข้อ  มุสลิมกับการคาดหวังร่างรัฐธรรมนูญ  ซึ่งได้หยิบยกคำว่า  สักการบูชา  มากล่าว  คำนี้มีผลกระทบต่อหลักความเชื่อของมุสลิม  ทำให้มุสลิมตกศาสนาได้ แต่อาจขึ้นอยู่กับการตีความของมุมมองแตกต่างกัน  คำดังกล่าวปรากฏในรัฐธรรมนูญหมวด ๒  มาตรา ๘ ความว่า  องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้1 ผู้เขียนใคร่แจงประเด็นดังกล่าวในเชิงของความหมายดังนี้

สักการะ+บูชาเชิงความหมาย2สักการะในเชิงความหมาย

1. สักกะ  (ภาษาบาลี)   ศกฺร (ในสันสกฤต) หมายถึง  พระอินทร์

2. สักกะ,สักยะ  มาจาก ศากฺย อ่านว่า สากกะยะ (ภาษาสันสกฤต) หมายถึง ชื่อวงศ์กษัตริย์วงศ์หนึ่ง  เรียกกษัตริย์ในวงศ์นี้ว่า ศากยะ 

3. สักการ,สักการะ (ภาษาบาลี)   สตฺการ (ในสันสกฤต) หมายถึง บูชาด้วยสิ่งของหรือเครื่องอันพึงบูชา  เช่น  การนำสิ่งของหรือปัจจัย 4  ที่ปรุงหรือจัดแต่งอย่างประณีตบรรจงสวยงาม อันเป็นเครื่องบูชาชั้นดี ซึ่งเรียกว่าเครื่องสักการะก็ได้  สักกะ  มีความหมายในเชิงของพระเจ้า พระอินทร์เป็นชื่อพระเจ้าองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์  ไทยมีในเรื่องรามเกียรติ์,สักยะเป็นคำเดียวกันกับสักกะ แม้จะเป็นชื่อของพระมหากษัตริย์แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้า หรือพระพุทธเจ้า เนื่องจากผู้ปกครองเมืองจะเป็นเชื้อสายจากพระเจ้าเท่านั้นโดยความเชื่อของพราหมณ์และชาวพุทธบางส่วน  ถ้ามีคำมาต่อท้าย เช่น ศากยะพุทธ ก็จะมีความหมายว่า  พระนามพระพุทธเจ้าผู้มีเชื้อสายศากยวงศ์  ส่วนสักการะ มีความหมายชัดเจนคือการบูชาด้วยสิ่งของหรือเครื่องสำหรับบูชา 

บูชา  ในเชิงความหมาย 

1.   บูชา  หรือ ปูชา ในภาษาบาลีสันสกฤต  หมายถึง  การแสดงความเคารพบุคคลหรือสิ่งที่นับถือด้วยเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เช่น  บูชาพระ  บูชาเทวดา  บูชาไฟ  บูชาวีรบุรุษ บูชาความรู้  

2.   บูชา คือ การแสดงความเคารพ การกราบไหว้ การยกย่องนับถือบุคคลที่ควรเคารพนับถือ เช่น พระพุทธรูป พระสงฆ์ บิดามารดา อาจารย์ ญาติผู้ใหญ่บูชา ทำได้ 2 อย่างคือ  

 2.1  บูชาด้วยสิ่งของ คือปรนนิบัติดูแล ให้ข้าวน้ำ ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ค่าใช้จ่าย และบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน อย่างนี้เรียกว่า อามิสบูชา

2.2  บูชาด้วยการปฏิบัติ คือ ปฏิบัติตามแบบที่ท่านทำ ปฏิบัติตามคำที่ท่านสอน ได้แก่ทานปฏิบัติมา   ท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไรก็ทำตามด้วยความเต็มใจ อย่างนี้เรียกว่า ปฏิบัติบูชา

ทั้ง  2 คำมีรากศัพท์มาจากบาลีสันสกฤต มีความเชื่อมโยงกับศาสนา  เป็นหลักความเชื่อมีความเกี่ยวข้องกับหลักศาสนาอย่างลึกซึ้ง  สรุป  สักการะ+บูชา  แม้บางครั้งจะใช้คนละวาระกันได้  แต่ความหมายมีความเกี่ยวข้องกันเสมอ  อันมุ่งไปในทางการเทิดทูน เลื่อมใสศรัทธา ที่ถูกเก็บซ่อนอยู่ภายในจิตใจ  

สักการะ+บูชา = ความเชื่อ  ตัวอย่าง เนื้อบทของพิธีไหว้ครู  ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษาทั้งท่านผู้ประสาทวิชา     อบรมจริยาแก่ข้าในกาลปัจจุบันข้าขอเคารพอภิวันท์       ระลึกคุณอนันต์ด้วยนิยมบูชาขอเดชกตเวทิตา           อีกวิริยะพาปัญญาให้เกิดแตกฉานศึกษาสำเร็จทุกประการ    อายุยืนนานอยู่ในศีลธรรมอันดีให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี   ประโยชน์ทวีแก่ข้าฯและประเทศไทย   เทอญฯ3 สักการ  และบูชา  จะปรากฏในบทสวด  ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกราบไหว้  ขอเดชกตเวทิตา    เดช  หรือ  เดชา  หมายถึง อำนาจ   กตเวทิตา มาจาก กต หมายถึง  ผู้อุปการะ  เวทิตา  ผู้ให้รู้, ผู้สนองคุณ  คำนี้จึงหมายถึง  ขออำนาจผู้รู้อุปการะแห่งความเป็นผู้สนองคุณท่าน                    หากมองอย่างผิวเผินแล้วคำเหล่านี้คงไม่มีอะไรมากมายนัก  แต่หากพิจารณาแล้ว  คำพวกนี้จะเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาทั้งสิ้น  โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ ซึ่งคนไทยรับช่วงมาปฏิบัติ  

น่าจะเป็นทางออกที่ดีแก่ผู้ที่รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมุสลิม

 ข้อเสนอแนะ   

ควรคัดสรรถ้อยคำที่อิสลามยอมรับได้โดยคำนั้นเป็นคำที่อิสลามรับได้  อย่างนี้ถือว่าเป็นการเข้าใจซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

อ้างอิง    

1ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงประชามติ 

2พจนานุกรม ฉบับราชบัญฑิตยสถาน  พ.ศ. 2525 

3สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2550 www.mureed.com/article/teacherday.htm                

คำสำคัญ (Tags): #คำ ไทยๆ
หมายเลขบันทึก: 122682เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2007 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท