บริหารจัดการตนเอง....พัฒนาภาวะผู้นำ


สรรหามาเล่าในวันนี้ได้อ่านบทความของท่าน ศ.ดร.เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์   จึงนำมาเล่าสู่ท่าน ๆ ได้อ่าน เพื่อจะได้นำข้อคิดไปใช้ในชีวิตประจำวัน  ดีจริง ๆ   เขียนโดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ 

วันพฤหัสบดีที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐

  "ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ไม่เพียงขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้คนเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการตนเอง "

จอห์น เฮเดอร์ (John Heider) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Tao Of Leadership ได้ประยุกต์หลักปรัชญาเต๋ามาใช้เป็นหลักในการพัฒนาภาวะผู้นำ ตอนหนึ่งในหนังสือได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า  

 

การที่จะรู้ว่าใครเป็นอย่างไรนั้นต้องใช้ความฉลาด แต่การจะรู้ตนเองเป็นอย่างไรนั้นต้องใช้ปัญญา ในการจัดการชีวิตผู้อื่นนั้นต้องใช้ความเข้มแข็ง แต่การจัดการกับชีวิตของตนเองนั้นต้องใช้อำนาจที่แท้จริง

 

ความเป็นผู้นำ ในบางครั้งเราคุ้นเคยกับการนำคนให้คนทำงานตามคำสั่งต่างๆ  ตามแผนงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยต้องฉลาดในการรู้จักแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้รู้ว่าจะใช้ใครทำสิ่งใด จึงเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ไม่เพียงขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้คนเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการตนเองให้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ การเรียนรู้วิธีที่จะพัฒนาตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ข้อแนะนำในการพัฒนาความเป็นผู้นำนั้น มีข้อแนะนำภาคปฏิบัติดังนี้

  

หมั่นสำรวจตนเอง

 

ผู้นำที่พัฒนาตัวเองจะศึกษาอย่างรอบคอบถึงพฤติกรรมของตนที่ทำอยู่ บุคลิกลักษณะที่เฉพาะ เจาะจง อาจเริ่มต้นด้วยการสำรวจและประเมินตนเอง โดยใช้ความซื่อสัตย์และไม่เพียงสร้างภาพลักษณ์หลอกลวงตนเอง สำรวจดูว่าเรามีคุณสมบัติพื้นฐานเหล่านี้ครบถ้วนหรือไม่ ด้วยการตอบคำถามเหล่านี้ อาทิ

 

- ความยุติธรรม 

 

ฉันยุติธรรมไหม?”

 

- ความรับผิดชอบ

 

 ฉันมีความรับผิดชอบไหม?”

 

-ความเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง

 

ฉันชอบฟังคนอื่นไหม?”  ฉันเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงไหม?”

 

- ความซื่อสัตย์

 

 ฉันมีความซื่อสัตย์ไหม?”

 

- ความน่าเชื่อถือ

   ผู้ร่วมงานให้ความไว้เนื้อเชื่อใจฉันหรือไม่?”

- ความมุ่งมั่น

 

 ฉันบากบั่นและมุ่งมั่นสู่เป้าหมายมากเพียงพอหรือยัง?”

  

ที่สำคัญอีกคำถามหนึ่ง คือการถามตัวเองว่า

 

เรานำคนอื่นเช่นนี้ ถ้าเราเป็นผู้ตาม เราอยากทำตามการนำแบบนี้หรือไม่?”

 

การตอบคำถามเหล่านี้  ให้เราตอบตัวเองด้วยการพิจารณาสิ่งที่ตนเองทำอย่างรอบคอบ ด้วยความซื่อสัตย์และปราศจากอคติ ขณะเดียวกันให้เราสังเกตจากการตอบสนองของคนรอบข้างในสิ่งต่างๆ ที่ทำว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง อาจเปิดโอกาสให้ทีมงาน โดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมและการตัดสินใจของเรา ได้สื่อสารความรู้สึกที่แท้จริงและให้คำแนะนำแก่เรา

 

การสำรวจและทบทวนสิ่งที่ตนเองทำลงไปนั้น หากเราทำใจให้เป็นกลาง ไม่มีอคติ ไม่ปกป้องเข้าข้างตนเอง หรือประเมินตนเองต่ำต้อยเกินความเป็นจริง เราจะสามารถสกัดความเป็นเรา ทั้งในส่วนของ จุดแข็งที่เราควรเสริมสร้างให้แข็งแกร่งขึ้น และ จุดอ่อนที่เราควรแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นได้

 

 

ยอมรับจุดอ่อน - จุดแข็งของตนเอง

 

โดยทั่วไปความเป็นผู้นำไม่ได้สมบูรณ์เพียบพร้อมมาตั้งแต่เกิด  แต่เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และพัฒนา โดยจำเป็นต้องถ่อมใจยอมรับในข้อบกพร่อง  จากนั้นต้องใช้ความกล้าหาญและความตั้งใจจริงในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองในแต่ละเรื่อง อย่างลงรายละเอียดและเอาจริงเอาจัง เช่นที่เฮเดอร์กล่าวไว้ การจัดการกับชีวิตของตนเองนั้นต้องใช้อำนาจที่แท้จริง

  

พัฒนาให้ครบถ้วนทุกด้าน

 

ในการพัฒนาความเป็นผู้นำจำเป็นต้องพัฒนาให้ครบถ้วนทุกด้าน อันได้แก่ ด้านความรู้ โดยดูว่ามีความรู้ใหม่ๆ อะไรบ้างที่เราต้องเรียนรู้เพิ่มเติม ด้านทักษะ มีอะไรบ้างที่เราควรฝึกฝน ด้านลักษณะชีวิต มีเรื่องอะไรบ้างที่เรายังขาดอยู่  และด้านประสบการณ์ที่เราต้องหาเพิ่มเติม

  

ตั้งเป้าหมายพัฒนาให้ชัดเจน

 

ความตั้งใจ จะไม่ประสบความสำเร็จหากไม่ตั้งเป้าหมาย ดังนั้นเราจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนพอที่เราจะทำสำเร็จได้   มีระยะเวลาที่เหมาะสม  เมื่อเราทำสำเร็จเรื่องหนึ่งให้เราพิจารณาตัวเองและกำหนดเป้าหมายที่ต้องพัฒนาในขั้นต่อไป

 

สิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำที่ดีและมีประสิทธิภาพคือ เราจะต้องไม่พยายามสร้างภาพลักษณ์ที่หลอกลวง โดยเปลี่ยนแปลงเพียงรูปแบบภายนอก บุคลิกท่าทาง ลักษณะการพูด การใช้อำนาจสั่งการ หรืออื่นๆ ที่มุ่งหวังเพียงให้เกิดการยอมรับจากผู้อื่น แต่เราต้องตระหนักว่า องค์ประกอบภายในที่ผสมผสานเป็นตัวเรานั้น คือ เงื่อนไขสำคัญว่าเราจะสามารถเป็นผู้นำได้ประสบความสำเร็จเพียงใดในระยะยาว

 

ผู้นำจึงต้องเป็นผู้เริ่มต้นที่จะเป็นแบบอย่างในการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง  ดังที่ มหาตมะคานธี  ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของอินเดียได้เคยกล่าวไว้ว่า

“ถ้าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องเริ่มต้นจากตัวเรา”

  

จากเว็ป  http://www.siamsewana.org/

มีความสุขกับการอ่าน มีความสุขกับกากรได้พัฒนาตนเองค่ะ

หมายเลขบันทึก: 122536เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2007 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

โอ้โฮ .. ช่างบังเอิญจริงๆเลยครับ คุณน้อง
    เมื่อเช้ารื้อกองหนังสือที่บ้าน หยิบสองสามเล่มของศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ มาอ่านแบบผ่านๆ .. เรื่องเดียวกับที่นำเสนอเลยครับ .. กำลังคิดว่าอยากจะเอาท่อนเด็ดๆมาวางในบันทึกบ้าง .. แล้วก็ได้มาอ่านสิ่งที่ตั้งใจจะทำ .. ใจตรงกันเลยนะเรา .. ปล. คิดถึงครับ

  • สวัสดีค่ะ  ..

“ถ้าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องเริ่มต้นจากตัวเรา”

เห็นด้วยค่ะ   ^_^

อาจารย์ Handy คะ

เป็นคนชอบอ่านค่ะ(แต่ไม่จำ...ฮา)

เจออะไรดี ๆ จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง

บางครั้งสิ่งที่เราอ่านพบมันอาจจไม่เกิดประโยชน์กับเราในขณะนี้  แต่เมื่อเราเจอเหตุการณ์ที่ใช่  มันจะช่วยให้เราได้คิดและมีต้นทุนอยู่บ้างค่ะ

คิดถึงเช่นกันค่ะ

 

คุณต้อมค่ะ

 

ต้องเริ่มจากตัวเราค่ะ....และต้องทำอย่างมีความสุขด้วยค่ะ....(อยากกินน้ำพริกอ่องอีกแหละ...แต่วันนี้มังสะวิรัติ...ฮา)

สวัสดีค่ะเห็นด้วยมากค่ะบางทีเราดีแต่สอนคนนี้ สั่งคนโน้น ขัดเกลาคนนู้นแต่ลืมตัวเองไปเสียสนิทสำหรับตัวเอง มีหลุดเหมือนกัน แต่มักจะนึกได้ในตอนกลางคืน   นั่งสมาธิ และจะพยายามแก้ไข ในวันต่อมาค่ะ ถ้า ยอมรับว่า ตัวเองบกพร่อง ก็พอแก้ไข ง่ายหน่อยค่ะแต่บางครั้ง ต้องมีคนเตือนเหมือนกัน คนอื่นไม่ค่อยกล้าบอกเรา นอกจากคนใกล้ชิดหน่อย ก็ฟัง และแก้ไขค่ะ

ยอมรับว่าตัวเรานั้นเปลี่ยนยากที่สุดจริง ๆ นะครับ

           คิดได้ดังนี้ ก็ปล่อยวางได้เหมือนกันว่าเราไม่คาดหวังการเปลี่ยนแปลงของผู้คนและของสังคม ให้เสียกำลังใจ

           แต่ก็เห็นด้วยกับท่านคานธีครับ  ตัวเราต้องกล้า เข้มแข็งที่จะเปลี่ยนแปลงก่อน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท