KM นะไม่ใช่ MK


การอบรมปฏิบัติการ
           KM นะ ไม่ใช่ MKวันที่ 22-23 สิงหาคม 2550 ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้จัดการอบรมปฏิบัติการ นักจัดการความรู้ของเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 1 โดยมี ศน.ศิรินันต์   ชื่นจิตกุลถาวร  ศน.ผุสดี  จิระวัฒนกิจ  ศน.ดุสิต  หังเสวก ศน.ฉัทวี  พูลทรัพย์ ร่วมเป็นวิทยากร จัดที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย มีคนเข้าอบรม 18  คนวันแรก

เก้าโมงเช้า ข้าพเจ้าในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการปฐมนิเทศ บอกที่มา ที่ไป ที่อยู่ ที่กิน ที่ขับถ่ายเสร็จสรรพ ใช้เวลาไป 9 นาที (เลขดีซะด้วย) จากนั้นก็โยนไมค์ ให้ศน.ฉัทวี  พูลทรัพย์ ประเดิมเริ่มเรื่อง อุ่นเครื่องเรื่อง Km ให้ผู้เข้าอบรมจับกลุ่มกัน กลุ่มละ 3  คน ให้สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มผลัดกันพูดให้สมาชิกในกลุ่มฟัง เมื่อคนหนึ่งพูด อีกสองคนต้องจด วิทยากรกำหนดให้ แต่ละคนพูดในประเด็นว่า -ข้อ1. รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ Km ข้อ2. ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ Km และข้อ3.  อยากรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ Km

             หลังจากการพูดคุยในกลุ่มตามประเด็นที่กำหนดเสร็จเรียบร้อย ศน.ฉัทวี  พูลทรัพย์ ก็ใช้วิธีสุ่มอย่าง่าย (ของวิทยากร) ให้ตัวแทนกลุ่มออกมาอ่านสิ่งที่จดได้ สังเกตดูจะเห็นว่า ผู้เข้าอบรมหลายคน พอฟังเพื่อนอ่าน ก็แอบจดลงกระดาษของตนเอง (วิทยากรก็แอบยิ้ม) สุ่มมาได้ 2 คนคนแรกก็คือ คุณหนูหยง (พยงค์   เมืองโคตร พัฒนาบุคลากร) คนที่สองคือหนูแหม่ม (สุนีย์  พูนพิทักษ์สกุล กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา) วิทยากรก็สรุปประเด็นทั้งสามแล้วถามผู้เข้าอบรมคนอื่นๆว่า ของใครมีมากกว่านี้ไหม มีคนยกมือด้วย วิทยากรก็เลยเชิญให้อ่านให้คนอื่นฟัง คนอื่นๆ ก็แอบจดกันอีก  (วิทยากรก็แอบยิ้มอีก)

                จากนั้น ศน.ฉัทวี  พูลทรัพย์ ก็โยนไมค์คืนมาที่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็เลยเชิญชวนผู้เข้าอบรมชมวิดีทัศน์ เกี่ยวกับการจัดการความรู้ที่โรงพยาบาลบ้านตาก (เหลือบดูนาฬิกาก็ เก้าโมงครึ่งพอดี) ข้าพเจ้าบอกผู้ชมว่า ให้ชมไปด้วย บันทึกไปด้วยว่า 1. ที่โรงพยาบาลบ้านตากนี้ เขาประสบปัญหาอะไร 2. ใช้วิธีอะไรแก้ปัญหา 3.  ใครบ้างที่แก้ปัญหา  จากนั้นก็ให้ชมวีดิทัศน์ ประมาณ 30 นาที วิทยากรแอบดูสายตาของผู้เข้าอบรมในขณะชมวีดิทัศน์ ก็ค่อนข้างมั่นใจว่า ผู้เข้าอบรม มีความตระหนักในการใช้กระบวนการ Km  พัฒนางานบ้างแล้ว เข้าใจแล้วว่า Km คืออะไร

                ชมวีดิทัศน์จบ ข้าพเจ้าก็เชิญชวนทุกคนดื่มฉลอง (ที่แท้ก็พักเบรกกาแฟนั่นแหละ)

                สิบโมงครึ่ง สมาชิกผู้เข้าอบรมพร้อม ข้าพเจ้าขอให้กลุ่มส่งตัวแทนออกมาตอบคำถามตามประเด็นที่ กำหนด แต่ละกลุ่มก็มีมุมมองคล้ายๆ กัน ตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม เช่นคนที่มาจากกลุ่มบริหารงานบุคคล ก็จะมองในด้านการพัฒนาบุคลากร กลุ่มที่มาจากด้านงานธุรการ ก็มองในเรื่องของระบบเทคโนโลยีและการอำนวยความสะดวก แต่ก็มีบางคนมองในเรื่องของตนเอง แต่ก็ยังมองการพัฒนางานโดยใช้กระบวนการ Km ข้าพเจ้าในฐานะวิทยากรประจำชั่วโมง คุยไปคุยมาก็เลยเป็นการอภิปรายกลุ่มใหญ่ไป ก็ได้สาระมากดี ข้าพเจ้าก็ถือโอกาสก็ตบซ้าย ตบขวา กระทุ้ง กระแทก จนดูว่า ความคิดของผู้เข้าอบรมเข้าที่เข้าทาง (แอบถอนหายใจนิดนึง)

                สิบเอ็ดโมง เชิญ ศน.ศิรินันต์   ชื่นจิตกุลถาวร  (พี่ตุ้ม)มาทำหน้าที่คุณอำนวยเพื่อฝึกให้ผู้เข้าอบรมสามารถถอดความรู้ด้วยกลวิธีเรื่องเล่าได้ ในกิจกรรมนี้วิทยากรแอบนัดกันไว้แล้วว่า ให้สุ่มแบบเจาะจงมาสักสองคน โดยพิจารณาว่าให้เป็นคนที่มีกรอบภาระงานแตกต่างกันหน่อย ก็ได้คุณกู้ (สุธี  เพิ่มพูนขันติสุข อำนวยการ) กับคุณดา (วนิดา   ดิลกธนกุล กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา)

                พี่ตุ้ม ขอให้คุณกู้ทำหน้าที่คุณกิจ (กิจกรรม) ออกมาเล่าเรื่องประทับใจในการทำงานให้ที่ประชุมฟัง โดยขอให้ คุณฟ้า (ปาริชาติ  ภุมรินทร์ อำนวยการ) ทำหน้าที่คุณลิขิต 1 จดเรื่องราวรายละเอียดตามที่คุณกู้เล่า คุณกู้ต้องบอกชื่อเรื่อง ความเป็นมา บอกรายละเอียดของเรื่องแล้วก็สรุปจบ คนอื่นๆที่ฟังเราเรียกว่าคุณลิขิต 2  ให้จดวิธีการทำงาน (How to) ของคุณกู้ เมื่อคุณกู้พูดจบแล้ว คุณฟ้าก็ออกมาอ่านให้คุณกู้ฟัง ว่าจดขาดตกบกพร่อง ไม่ตรง เกินเลยบ้างไหม คุณกู้มีสิทธิแก้ไขให้ตรงตามที่เล่าได้ ในขณะที่คุณฟ้าอ่านนี่แหละ บรรดาคุณลิขิต 2 ได้มีโอกาสจด How to อีกเที่ยวหนึ่ง เพราะบางคนฟังคุณกู้เล่าตาไม่กระพริบ อ้าปากค้างด้วยความชื่นชมจนลืมจด (แฮะๆ…..)               

                 พอคุณฟ้าอ่านจบ พี่ตุ้ม ก็ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการเล่าของคุณกู้  วิธีการจดและอ่านทวนของคุณฟ้า วิธีจด How to ของบรรดาคุณลิขิต 2 ทั้งหลาย ปรับความเข้าใจกันใหม่ แล้วก็ขอเชิญคุณดา ออกมาเล่าบ้าง คราวนี้พี่ตุ้มบอกว่า คนที่มาจากกลุ่มนิเทศฯ ช่วยเป็นคุณลิขิต1 ก็แล้วกัน ท่านมหา (ชยุตม์   ใจดี กลุ่มนิเทศฯ) ซึ่งนั่งติดกับคุณเจเน็ต (พรรณี  ทองภูเบศร์ กลุ่มนิเทศฯ) ก็หันหน้าพยักเพยิดกัน คนทั่วไปก็เข้าใจได้ว่า สองคนนี้จะช่วยกันจด

                หลังจากคุณดาออกมาเล่าเรื่องตามกลวิธีที่ปรับใหม่แล้ว คุณลิขิต 1 ซึ่งก็คือคนจากกลุ่มนิเทศ คือท่านมหากับคุณเจเน็ต ก็หันไปพยักเพยิดกันอีก คนทั่วไปก็คาดว่า สองคนนี้จะไปช่วยกันอ่าน แต่ ทุกคนคาดผิดหมด คุณเจเน็ตพุ่งตัวออกมาหน้าห้องอบรมราวกับลูกธนู พร้อมกับหันไปทำหน้าถมึงทึกให้ท่านมหา พร้อมกับอ่านข้อความที่จดได้เป็นท่อนๆ หลายท่อนมาก แต่ก็พอจับใจความได้ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร ส่วนคุณลิขิต 2 ก็สามารถจด How to ได้เพิ่มเติมอีก พร้อมกับอมยิ้มกันถ้วนหน้า

                ทุกคนยังยิ้มกันไม่เลิก พี่ตุ้มแอบโยนไมค์ไปให้คุณดุสิต (ดุสิต   หังเสวก ศน.) เมื่อไรไม่รู้ คุณดุสิตบอกว่า ไอ้เรื่องที่เล่าไปเมื่อกี๊เนียะ  เป็นเรื่องเล่าตามประเด็นที่คนเล่าอยากเล่า แต่ในกิจกรรม Km นี้ จะต้องมีการกำหนดประเด็นของการเล่าให้เป็นเรื่องเดียวกัน เราเรียกประเด็นนี้ว่า KV (Knowledge Vision) พอพูดภาษาอังกฤษเข้าหน่อย รอยยิ้มเริ่มหุบลงทีละคนสองคน

                คุณดุสิตชวนผู้เข้าอบรมแบ่งออกเป็น สามกลุ่ม (วิทยากรกะว่ากลุ่มละ 6 คนกำลังดี) ตอนนั้นเราลืมตรวจสอบผู้เข้าอบรมว่าที่แท้หายไป 2 คน คาดว่าคงไปธุระ สมาชิกก็ต่อรองว่าน่าจะแบ่ง 2 กลุ่มก็พอ คุณดุสิตเป็นคนใจอ่อน ก็ยอม แต่สองกลุ่มนี้ คนไม่เท่ากัน อีกกลุ่มหนึ่ง นั่งกันอยู่โต๊ะใกล้วิทยากร มี 6 คน พอดี โต๊ะไกลวิทยากร มี 10 คน วิทยากรก็ถามซ้ำอีกว่า ไม่แบ่งกลุ่มอีกหรือ ก็ได้รับคำยืนยันเช่นเดิม วิทยากรก็ OK (แปลว่าตามใจเถอะ เดี๋ยวจะรู้สึก)

               

                คุณดุสิตชวนผู้เข้ารับการอบรมสรุปการถอดความรู้ด้วยกลวิธีเรื่องเล่า แล้วก็พาไปเลี้ยงข้าวกลางวันฉลองกันที่ห้องโถงด้านหน้าที่อบรมนั่นแหละ

                บ่ายเข้ามาประมาณบ่ายโมง คุณดุสิตก็ทวนเรื่อง KV ปรับจนเป็นที่ พอใจ ซึ่งก็พบว่า ทั้งสองกลุ่ม มีชื่อ KV คล้ายๆ กันคือ การพัฒนาการให้บริการ

                จากนั้น คุณดุสิตก็ขอให้ คุณฉัทวี ช่วยเป็นคุณอำนวยให้กลุ่มที่ 1 ให้ข้าพเจ้าเป็นคุณอำนวยให้ กลุ่ม 2 ในแต่ละกลุ่มก็ผลัดกันเป็นคุณกิจ คนถัดจากคุณกิจไปก็เป็นคุณลิขิต 1 คนอื่นๆ เป็นคุณลิขิต 2 

                ยังไม่ทันจะถึงเบรกบ่าย กลุ่ม 1 ก็เล่าเรื่องเสร็จเรียบร้อย ส่วนกลุ่ม 2 คนเยอะกว่า ต่อให้กลุ่ม 1 ไปพักก่อน (เราบอกแล้ว……) วิทยากรก็ถ่วงเวลาด้วยกลวิธีต่างๆ จนทั้งสองกลุ่มงานเสร็จเท่ากัน

                เบรกสุดท้ายของวันแรก เป็นการนำเอา How to ที่สกัดได้ ซึ่งเราเรียกว่า ขุมความรู้ มาจัดเป็นกองๆ ตรวจแล้วตรวจอีก ดูให้แน่ใจว่าขุมที่วางลงไปในกองนี้ ใช่พวกเดียวกันแน่หรือไม่ ขยับไปขยับมา จนมั่นใจ ขุมไหนไม่เข้าพวกกับใครเลยก็แยกไว้ก่อน เดี๋ยวอาจได้นำมาใช้

                วิทยากรแนะนำว่า เมื่อจัดกองขุมความรู้ได้แล้ว ถ้าจะตั้งชื่อกองของขุมความรู้นี้ น่าจะตั้งว่าอะไร ช่วงนี้เกิดนักประพันธ์ขึ้นมากมาย  ตั้งชื่อที่เป็นตัวแทนของขุมความรู้เสร็จแล้ว วิทยากรแนะนำว่าเราเรียกชื่อที่ตั้งใหม่นี้ว่า แก่นความรู้                มาถึงตรงนี้ เวลาก็พอสมควรแล้ว หนูหยงก็บอกวิทยากรว่า กลับบ้านเถอะ วิทยากรก็เห็นว่า การอบรมบรรลุวัตถุประสงค์ของวันแรก และเป็นไปตามตารางทุกประการ จึงตามใจคุณหนูหยง  

วันที่สอง

                เช้าวันที่สอง วิทยากรให้ทบทวนขุมและแก่นความรู้ที่จัดทำไว้เมื่อวาน ทั้งสองกลุ่มก็พิจารณากันใหม่

                กลุ่มหนึ่ง จัดได้ สี่แก่น เหมือเดิม แต่ขุมความรู้บางขุม ต้องจัดใหม่ คุณฟ้า คุณหยง คุณเยาว์ คุณเสริม คุณกู้ ช่วยกันอย่างขยันขันแข็ง ปรับจนได้ที่ วิทยากรจึงให้จัดทำตารางแห่งอิสรภาพ กำหนดระดับของขุมความรู้ในแต่ละแก่นความรู้เป็น 5 ระดับเราเรียกว่า 1 ดาว    2 ดาว   3 ดาว   4 ดาว   5 ดาว    ในแต่ละดาว อาจมีขุมความรู้หลายขุมก็ได้

                หลายคนเริ่มทำท่าเป็นนักวิชาการโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะกลุ่ม 2 เอาจริงเอาจังมาก จาก 7 แก่น ยุบเหลือ 5 แก่น ซะงั้น   

                วิทยากรแนะนำให้สมาชิกในแต่ละกลุ่มประเมินตนเองโดยใช้แบบประเมินตนเอง นำไป plot ลงในโปรแกรมวิเคราะห์

                วิทยากรพิจารณาแล้วเห็นว่าผลงานเยี่ยมมากทั้งสองกลุ่ม จึงให้เบรกกาแฟ กันก่อน

                หลังเบรก ก็ประเมินผลการอบรมโดยใช้กลวิธี AAR โดยวิทยากรตั้งประเด็นถามผู้เข้าอบรมว่า ตามที่คาดหวังไว้ว่า

1.       อยากรู้อะไรเกี่ยวกับ KM รู้หรือยัง

2.       ประทับใจอะไรในการอบรมครั้งนี้

3.       อยากให้ปรับปรุงอะไรบ้าง

ก็ได้สรุปประเด็นต่างๆ ดังนี้

                 1.       ท่านได้รับความรู้ตามที่ท่านคาดหวังหรือไม่ 
                       
คำตอบส่วนใหญ่ตอบว่ารู้ และสามารถนำไปใช้ได้

    2.       ท่านประทับใจอะไรบ้างในการอบรมครั้งนี้

-          ประทับใจสถานที่ อาหารอร่อย

-          ประทับใจวิทยากร มีความตั้งใจ เป็นกันเอง เตรียมตัวดี

-          ประทับใจผู้เข้าอบรม ที่มีความร่วมมือร่วมใจกันดีมาก

-          ประทับใจสื่อเทคโนโลยี พร้อมใช้และทันสมัย

-     ประทับใจบรรยากาศในการอบรม เป็นมิตร ยืดหยุ่น เป็นกันเอง

3.       ถ้าคะแนนเต็ม 10  จะให้คะแนนการอบรม ท่านจะให้คะแนนเท่าไร

-     คะแนนต่ำสุด 7.5 สูงสุด 9.00 เฉลี่ยประมาณ 8 กว่าๆ เกือบ 9

4.       ถ้าจะจัดการอบรมอีกท่านเสนอแนะอะไรบ้าง

-          อยากให้จัดให้ทุกคนในสำนักงานเขต

-          ควรมีวิทยากรพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม

-          เมื่อเข้ากลุ่มทำกิจกรรม ควรเป็นคนจากกลุ่มงานเดียวกัน

-          ในการเริ่มกิจกรรมควรอธิบายวิธีการให้ชัดเจน

-          ควรจัดในสถานที่ไกลๆ จากสำนักงาน

-          ควรให้แต่ละคนเตรียมเรื่องที่มาเล่ามาล่วงหน้า

-          ควรมีการกำหนด KV ล่วงหน้า

พอทำ AAR เสร็จก็ให้ทุกคนทบทวนดูว่ามี e-mail หรือยัง ใคร

ยังไม่มีก็จัดการสมัครซะ ใครมีแล้วหรือเสร็จแล้ว ก็ให้ไปรับ

ประทานอาหารกลางวันได้

ตอนบ่าย

ย้ายไปใช้ห้องเรียน 411 ซึ่งเป็นห้องคอมพิวเตอร์ นำสมาชิกเข้าสมัครเป็นสมาชิกเว็บไซต์ gotoknow.org วันนั้นระบบอินเทอร์เน็ตค่อนข้างช้า ก็เลยสมัครกันไม่ค่อยได้ กว่าจะได้ครบก็เข้าไปอีกหนึ่งเบรก เบรกสุดท้ายก็สามารถเขียนบล็อกได้ทุกคน  ข้าพเจ้าได้รวมไว้ที่ http://gotoknow.org/planet/npt11

 หลังจากเขียนบล็อกเสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับได้ เป็นอันเสร็จสิ้นการอบรมปฏิบัติการพัฒนาบุคลากรแกนนำนักจัดการความรู้

หมายเลขบันทึก: 122529เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2007 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เยี่ยมมากเลยค่ะ...อ่านแล้วเหมือนได้เข้ายืนกอดอก อมยิ้ม อยู่หลังห้อง จะรออ่านตอนต่อไปนะคะ อ้อ...ไงก้ช่วยเข้าไปดูข่าวคราวความเคลื่อนไหวเรื่องโครงการพัฒนาบุคลากรแกนนำนักจัดการความรู้ ที่ http://teacher.obec.go.th ด้วยนะคะ จะมอบเกียรติบัตรแล้วค่ะ...

ขอบคุณมากครับที่เข้ามาให้กำลังใจ ช่วงนี้งานมาก ไม่ค่อยมีเวลาว่างจะเขียน แต่จะเขียนต่อแน่นอน วันนี้ (29/09/07) หัวหน้าลำดวน และน้องกุ้งจากสุพรรณ2 มาช่วยเสริมกำลังในการอบรม ศน.ของนครปฐมเขต 1(อบรม 28-30/09/07)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท