จังด๊อก-จังกึม กับ การเรียนการสอนแพทย์ (1): การคัดเลือกนักเรียนแพทย์


จังกึมมีจิตใจดี ห่วงใยชีวิตผู้อื่น มากกว่าตนเอง ขนาดยอมเดินขึ้นเขาไปตั้งไกล เพื่อไปเอาน้ำบริสุทธิ์มาต้มยา

     จังกึม ถูกลงโทษโดยถูกเนรเทศไปเกาะเชจู ก็พยายามหนีตลอดเวลา เพราะมีความมุ่งมั่นที่จะกลับไปวังหลวง จนพระเอกต้องมาช่วยเตือนสติว่า หากเธอหนีและถูกจับได้ จะมีโทษถึงตาย ความฝันที่วางไว้ ก็จะทำไม่ได้ เธอจึงเปลี่ยนใจ และต่อมาก็พบว่า หนทางหนึ่งที่ทำให้เธอกลับเข้าวังหลวงได้ คือไปสมัครเพื่อคัดเลือกเป็นหมอหลวง
     โชคดีบนบนเกาะมีหมอหญิง จังด๊อก ซึ่งเป็นหมอที่มีความสามารถมาก แต่มีนิสัยค่อนข้างประหลาด และเอาใจยากอยู่ แต่นางก็รับจังกึมเป็นลูกศิษย์  ทำให้สาวๆ นางอื่นที่รับใช้จังด๊อกมาหลายปี แต่ก็ไม่ได้รับการสอนสั่งเหมือนจังกึมเกิดความสงสัย นางจึงเฉลยว่าที่รับจังกึมเป็นศิษย์เพราะ

  1. จังกึมใฝ่รู้ ช่างสังเกต ละเอียด ละออ
  2. จังกึมมีจิตใจดี ห่วงใยชีวิตผู้อื่น มากกว่าตนเอง ขนาดยอมเดินขึ้นเขาไปตั้งไกล เพื่อไปเอาน้ำบริสุทธิ์มาต้มยา เพราะบนเกาะ มีแต่น้ำเค็ม ซึ่งหากนำไปต้มยา จะเป็นอันตรายต่อคนป่วยมากขึ้น

      คุณสมบัติทั้งสองข้อ โดยเฉพาะข้อสอง คงเป็นคุณสมบัติที่ทุกสถานบันผลิตแพทย์ต้องการอย่างยิ่งในการคัดเลือกนักศึกษา เพราะน่าจะเป็นคุณสมบัติที่การันตีการเป็นหมอที่ดีในอนาคตได้ จังด็อกโชคดียิ่ง ที่สามารถเห็นพฤติกรรมของคนก่อนที่จะรับเป็นศิษย์  ผิดกับการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนแพทย์ในเมืองไทย เพราะเราใช้การสอบเป็นหลัก เด็กๆ หลายคน ยังเลือกตามกระแส หลายคนเลือกตามที่ผู้ใหญ่ต้องการ และหลายคนเลือกเพราะไม่รู้จะเรียนอะไรดี แต่เผอิญเรียนเก่ง คะแนนถึง ฯลฯ)  สถาบันส่วนใหญ่ก็ได้พยายามเพิ่มวิธีการต่างๆนาๆ เพื่อให้ได้นักเรียนแพทย์ที่มีคุณลักษณะที่จะเป็นแพทย์ที่ดีในอนาคตได้ แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าได้ผลมากน้อย  

หมายเลขบันทึก: 12250เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2006 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ที่ University of Western Australia เค้าเริ่มมีระบบการสัมภาษณ์โดยใช้ทั้งคณาจารย์และอาสาสมัครจากภายนอกมาช่วยดำเนินการสัมภาษณ์นักเรียนที่สอบเข้าแพทย์กับทันตแพทย์ได้ ทำมาถึงตอนนี้ก็หกปี จะเริ่มปีที่เจ็ดแล้ว ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เด็กซึ่งผ่านการสัมภาษณ์ระบบนี้จะจบออกมาทำงาน เค้ามีสถิติว่าเด็กที่รับเข้ามาโดยผ่านระบบนี้จะเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง อัตราการลาออกน้อยลงมาก และเค้าจะตามดูว่าเด็กที่จบมาเป็นอย่างไร วิธีการนี้น่าสนใจสำหรับบ้านเราไหมคะ ตัวเองได้มีโอกาสไปร่วมเป็นผู้สัมภาษณ์ในปีนึงด้วย คิดว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจเหมือนกันค่ะ อยากให้บ้านเราพิจารณาระบบนี้ว่าจะช่วยทำให้เราได้แพทย์ที่มีคุณสมบัติที่ดี คัดกรองคนที่เรียนดีแต่ทัศนะคติไม่ใช่สำหรับวิชาชีพนี้ เพื่อว่าจะได้ลดปัญหาสืบเนื่องต่อๆมาในอนาคต
ผมคิดแบบง่ายๆนะครับ ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากเราสร้างค่านิยมที่จะเอาเด็กที่เก่งมาเรียนหมอ และเป็นค่านิยมที่เด็กที่เรียนเก่งรับเอาไว้แล้วซะด้วย ไม่ต่ำกว่า 8ใน 10 คนของคนที่เรียนเก่ง อยากจะเรียนหมอ ถามว่าเรียนได้มั้ย ตอบได้เลยว่าคุณสมบัติยิ่งกว่าเพียบพร้อมอีก เรียนได้แน่นอน แต่เรียนจบแล้วจะเป็นหมอที่ดีหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเด็กที่เรียนเก่งเหล่านี้ ส่วนใหญ่เอาแต่เรียน เกิดมาเพื่อเรียนจริงๆ วันๆตั้งหน้าตั้งตาอยู่หน้าหนังสือ การรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น เอาง่ายๆ ในกลุ่มเพื่อนร่วมชั้นเรียนน้อยมาก จำได้ว่ามีเพื่อนบางคนสมัยที่เรียนมัธยม เรียนได้เก่งมาก แต่ถ้าจะให้มาติวให้เพื่อนเพื่อช่วยเหลือให้คนที่เรียนไม่ดี ได้เข้าใจมากขึ้นละก้อ เมินเสียเถอะ เขาไม่มีเวลาที่จะมาสูญเสียกับเรื่องไร้สาระอย่างนี้ สุดท้ายเขาก็ได้เป็นหมอสมใจ แต่จะเป็นหมอที่ดีหรือเปล่า...ไม่รู้ เพราะไม่ได้เจอกันนานแล้ว ไม่อยากเจอด้วยแหละ 
     ถ้าเรามองในมุมกลับ เป็นไปได้ไหมที่เราเลือกเอาคนดีเป็นที่ตั้ง หมายถึงผู้ที่มีทัศนคติที่ดีในการเป็นหมอ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่นโดยสันดาน แต่มีความฉลาดพอสมควร ไม่ใช่เก่งเป็นเลิศ เอาแค่เพียงพอจะเรียนหมอให้จบโดยไม่ต้องเป็นภาระของใคร แต่คนเหล่านี้ใส่ใจที่จะช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยเป็นที่ตั้ง ถ้าเป็นไปได้วันนั้นเราน่าจะได้หมอที่เป็นหมอจริงๆ สมดังคำของพระบิดา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท