บทบาทนักวิจัยกับการทำงานวิจัย KM (ต่อ)


“ถ้าไม่รู้ ต้องทำวิจัย” , “เวลาทำงานต้อง (1) ทำให้คนอื่นได้หน้า (2) ทำให้เราได้งาน”
      วันนี้ช่างเป็นวันที่สุดแสนจะประทับใจ ความจริงตอนที่ตื่นขึ้นมาก็ไม่สบายตัวสักเท่าไหร่ เพราะ เป็นไข้ คัดจมูก และไอมาก แต่ชีวิตก็คือชีวิตค่ะ แม้ว่าเราจะตื่นขึ้นมาด้วยสภาพแบบไหน จิตใจเป็นอย่างไร เราก็ต้องยืนหยัดและทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อที่ว่าเมื่อเราคิดย้อนเวลากลับมาเราจะได้ไม่เสียใจในสิ่งที่เราทำลงไป (ในวันนี้)

        กิจวัตรหลังจากตื่นนอนและทำธุระส่วนตัวเสร็จแล้ว ก็ได้เวลานัดกับ (อดีต) นักศึกษาให้มาเอาเทปที่อัดเนื้อหาในการประชุมตำบลละแสนและการลงพื้นที่ที่ผ่านมาไปจัดการถอดเทปให้ เรียบร้อย ได้มีโอกาสพูดคุยกับลูกศิษย์คนนี้ทำให้ทราบว่าอาทิตย์หน้าจะย้ายไปทำงานที่ใหม่ เป็นโรงเรียนกวดวิชา ผู้วิจัยจึงถือโอกาสให้ลูกศิษย์ช่วยดูหลักสูตรภาษาฝรั่งเศสให้หน่อยว่ามีเปิดสอนหรือไม่ เพราะ ผู้วิจัยตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าอีกไม่เกิน 2 ปีจะไปเรียนต่อให้ได้ (หลังจาก ผัดผ่อนมานาน) นอกจากจะหาที่เรียนภาษาแล้ว นับตั้งแต่ได้คุยกับอาจารย์ตุ้ม (อย่างเป็นจริงเป็นจัง) ผู้วิจัยก็ใช้วิธีนั่งสมาธิและสวดมนต์อธิษฐานควบคู่กันไปด้วย (หลายคนอาจไม่เชื่อ แต่ ผู้วิจัยเชื่อและคิดว่าการที่เราจะไปเรียนต่อได้นั้น สิ่งที่สำคัญไม่ใช่การเตรียมทักษะ ความรู้อย่างเดียว แต่ต้องเตรียมจิตใจของเราด้วย)

        เมื่องานแรกผ่านไป (จัดการเรื่องถอดเทป) กิจวัตรที่ทำต่อมาคือ โทรศัพท์หาอาจารย์หยี (อ.ดร.พิษณุ เจียวคุณ) เพื่อที่จะสวัสดีปีใหม่และบอกข่าวดีกับอาจารย์หยีว่าผู้วิจัยได้พบกับอาจารย์ตุ้ม ซึ่งอาจารย์ตุ้มกับอาจารย์หยีนั้นรู้จักกันมาก่อนที่ฝรั่งเศส ปรากฎว่าเมื่อโรศัพท์ไปขณะนั้นอาจารย์หยีกำลังซักผ้าอยู่ แต่ก็ได้คุยกันนานพอสมควร อาจารย์หยีดีใจมาก บอกว่าเป็นข่าวดีที่สุดในวันนี้เลย ผู้วิจัยจึงรับหน้าที่เป็นตัวกลางส่งเบอร์โทรศัพท์ของอาจารย์ตุ้มให้กับอาจารย์หยี เพื่อที่อาจารย์ทั้งสองท่านจะได้คุยกันเสียที (หลังจากที่ไม่ได้คุยกันมานานหลายปี ทีเดียว)

       หลังจากคุยกับอาจารย์หยีเสร็จก็ลงมือเก็บสัมภาระทั้งเสื้อผ้า หนังสือ และของจุกจิก เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ ไปทำภารกิจที่คั่งค้างไว้อีกหลายอย่าง (รวมทั้งไปร่วมงานแต่งงานเพื่อนรักในคืนวันที่ 16 มกราคม นี้ด้วย) นัดกับอาจารย์พิมพ์ไว้ว่าจะไปทางเส้นตาก จะได้ผ่านเถิน ลงไปคุยกับกลุ่มเถินสักหน่อย แล้วค่อยไปพิษณุโลก (บ้านอาจารย์พิมพ์) ส่วนผู้วิจัยก็จะไปต่อรถที่พิษณุโลกเพื่อกลับกรุงเทพฯ เมื่อวางตารางได้อย่างนี้แล้วพอมีเวลาเหลืออีกนิดหน่อยก็เลยมานั่งเขียน Blog (กันลืมว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง)

       ความจริงที่ไปเถินนั้นตั้งใจจะไปตั้งนานแล้ว แต่ไม่มีเวลาสักที ครั้งนี้มีโอกาสก็เลยต้องรีบไป (แต่เราก็โทรศัพท์คุยกับกลุ่มเถินตลอดนะคะ) สำหรับจุดประสงค์ของการไปในครั้งนี้นั้น ประกอบด้วย (ฮั่นแน่ ! เริ่มเข้าการจัดการความรู้แล้ว หลังจากเล่าเรื่องสัปเพเหระมานาน แต่ก่อนจะเข้าเรื่องยอมรับว่าที่ผ่านมาเวลาลงพื้นที่นั้นความจริงก็ตั้งวัตถุประสงค์ทุกครั้ง แต่อาจเบลอๆ และไม่มีการประเมินหลังการลงพื้นที่อย่างเป็นจริงเป็นจังสักเท่าไหร่ว่าเมื่อลงไปแล้วได้ตาม วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ แต่ต่อไปนี้จะพยายามไม่ให้เป็นเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้วค่ะ)

       1.เพื่อเป็นการเยี่ยมเยียนและสร้างความเข้าใจในการปรับกระบวนการทำงานจัดการความรู้

      2.เพื่อศึกษาระบบการเงินและบัญชี (รวมทั้งแผนที่ภาคสวรรค์) ที่เป็นปัจจุบันของระดับกลุ่มและเครือข่าย

       โดยผู้วิจัยได้นัดกับพี่นก (ยุพิน) เอาไว้เวลาประมาณบ่าย 3 โมงเย็น คงจะคุยกันไม่เกิน 2 ชั่วโมง (ไม่อยากรบกวนเวลาพี่นกมากค่ะ เพราะ ยังไงเราก็คงได้คุยกันเรื่อยๆอยู่แล้ว)

       เมื่อวานเล่าค้างเอาไว้เกี่ยวกับบทบาทของนักวิจัยในการทำงานวิจัย KM ขอเล่าต่อก็แล้วกันนะคะ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมาได้มีโอกาสฟังปาฐกถาพิเศษของท่านอาจารย์ ดร.สันทัด โรจนสุนทร ซึ่งท่านได้บรรยายในหัวข้อ “มูลนิธิโครงการหลวงกับการสร้างประโยชน์ที่ต่อเนื่องและถาวรบนที่สูง” โดยปาฐกถานี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนากลไกการตอบแทนสำหรับการป้องกันต้นน้ำโดยพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่สูง” อาจารย์ท่านได้ให้ความรู้หลายอย่างเกี่ยวกับโครงการหลวง แต่นอกเหนือสิ่งอื่นใดผู้วิจัยคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ได้จากการฟังปาฐกถาในครั้งนี้ คือ การได้ข้อคิดสอนใจสำหรับนักวิจัย ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำวิจัย KM ได้เป็นอย่างดี นั่นคือ

    “ถ้าไม่รู้ ต้องทำวิจัย” ความจริงแล้วคำกล่าวนี้ท่านอาจารย์ได้ยกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นมาเป็นตัวอย่างให้กับผู้เข้าฟัง คำพูดนี้ผู้วิจัยเห็นว่าสามารถสร้างกำลังใจและพลังให้กับนักวิจัยจัดการความรู้ได้เป็นอย่างดี จะขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงของผู้วิจัยก็แล้วกันนะคะ ก็อย่างที่เคยบอกหลายครั้งแล้วว่าเรื่อง KM สำหรับผู้วิจัยนั้นเป็นเรื่องใหม่ เป็นหัวข้อใหม่ เป็นการวิจัยแบบใหม่ที่ผู้วิจัยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ทำให้เมื่อทำๆไปแล้วหลายครั้งเกิดความท้อแท้ เพราะ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จะเริ่มตรงไหนก่อน ทำไปแล้วจะดีหรือเปล่า จะเกินบทบาทของเราไปหรือเปล่า แต่พอได้ยินวลีนี้ ทำให้ผู้วิจัยมีกำลังใจและพลังมากขึ้น ทำให้คิดได้ว่าต่อไปไม่ต้องกลัว เครียด หรือกังวล (จนเกินเหตุ) แล้ว เพราะ ยิ่งถ้าเราไม่รู้ เรายิ่งต้องทำ ถ้าเราทำ เราจะรู้

       อีกประโยคหนึ่งของท่านอาจารย์ที่กินใจ ลึกซึ้ง และทำให้ผู้วิจัยเห็นแนวทางในการทำงานมากขึ้นก็คือ ท่านอาจารย์บอกว่า “เวลาทำงานต้อง (1) ทำให้คนอื่นได้หน้า (2) ทำให้เราได้งาน” ประโยคข้างต้นนี้เป็นเสมือนตัวชี้ให้ผู้วิจัยเห็นแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนขึ้น เกิด “ปิ๊งแวป” ถามตัวเองขึ้นมาว่าที่เรามาทำงานวิจัยเพื่ออะไร ทำแล้วอยากได้อะไร คำตอบที่ได้จากตัวเองก็คือ ทำเพื่อให้ได้ความรู้ ทำแล้วอยากได้ความสุข อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากให้คนอื่นมีความสุข อยากได้งานที่มีคุณภาพ อย่างน้อยหากเราตายไป คนรุ่นหลังจะได้รู้ว่าเมื่อในอดีตบรรพบุรุษของเขาได้เคยทำอะไรมาบ้าง เขาจะได้มีฐานข้อมูลในการทำงานต่อไป เมื่อตอบตัวเองได้แล้ว ผู้วิจัยรู้สึกโล่งใจอย่างบอกไม่ถูก เนื่องจาก อย่างที่บอกมาแล้วตั้งแต่เมื่อวานว่าในการทำงานย่อมมีการกระทบกระทั่งกันบ้างไม่มากก็น้อย บางครั้งเราไม่เข้าใจว่าคนอื่นคิดอะไรอยู่ ทำอะไรอยู่ ทำไมต้องทำอย่างนี้ แต่เมื่อฟังคำกล่าวข้างต้น ต่อไปผู้วิจัยคงไม่ต้องตั้งคำถามอย่างนี้แล้ว เพราะ ในการทำงานชิ้นเดียวกัน ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องได้เหมือนกัน สิ่งที่ผู้วิจัยได้แน่นอน คือ ได้งาน ส่วนคนอื่นจะได้งานหรือได้หน้าก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เพราะ เราได้ในสิ่งที่เราต้องการแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12222เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2006 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท