ข่าวเศร้าเด็ก ม. 3 อ่านหนังสือไม่ออก 87,000 คน


ปลายเดือนสิงหาคม 2550 ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ไปพูดที่จังหวัดสระบุรีว่านักเรียนชั้น ม. 3 ของเราอ่านหนังสือไม่ออกอีก 87,000 คน คิดเป็นร้อยละ 12.75 ถ้าข้อมูลเหล่านี้เป็นจริงทั้งหมด ท่านผู้อ่านคิดอย่างไร

          มีข่าวเศร้าอีกแล้ว  เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2550 มี่ข่าวออกมาว่านักเรียนชั้น ป. 2 อ่านหนังสือไม่ออก 70,000 คน  นักเรียนชั้น ป. 3 อ่านหนังสือไม่ออกอีก 60,000 คน พอปลายเดือนสิงหาคม 2550 ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ไปพูดที่จังหวัดสระบุรีว่านักเรียนชั้น ม. 3 ของเราอ่านหนังสือไม่ออกอีก 87,000 คน คิดเป็นร้อยละ 12.75 ถ้าข้อมูลเหล่านี้เป็นจริงทั้งหมด ท่านผู้อ่านคิดอย่างไร

          ในฐานะที่ผมทำงานอยู่ในวงการศึกษามากว่า 30 ปีและทำงานอยู่ 3 จังหวัด ผมเชื่อว่าคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยกำลังมีปัญหาแต่จะมากเท่าข้อมูลที่กล่าวมาแล้วหรือมากกว่าหรือน้อยกว่านั้นผมไม่มีข้อมูล ผมมองเห็นสาเหตุของปัญหาอยู่มากมายจะขอยกเป็นตัวอย่างในที่นี้สัก  3  ประเด็นได้แก่

          1.  การขาดแคลนครู รัฐบาลมีนโยบายลดอัตรากำลังภาครัฐโดยมีมาตรการหลายอย่าง เช่นให้ข้าราชการเกษียณก่อนกำหนดแล้วเลิกอัตราไปเลย  ข้าราชการเกษียณปกติจะได้อัตราคืนมาร้อยละ 20 อีกร้อยละ 80 เลิกอัตราไป และลูกจ้างประจำ(ภารโรง คนขับรถ)เกษียณ ตาย ลาออก จะถูกเลิกอัตราทั้งหมดไม่มีการบรรลุแทน  เมื่อเป็นเช่นนี้ครูก็จะลดลงไปทุกปีในภาพรวมของประเทศจะขาดแคลนครูเท่าไรผมไม่มีตัวเลขแต่ที่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกานนทบุรีเขต 1 มีจำนวนครูตำกว่าเกณฑ์ถึง 592 คน ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องจ้างครูอัตราจ้างมาให้แต่ที่อื่นไม่โชคดีเหมือนที่นี้ การที่นักเรียนมีครูไม่พอสอนคุณภาพจึงเป็นแบบนี้

          2.  ครูมีงานอื่นนอกจากงานสอนมาก ตามหลักการกระจายอำนาจ  ส่วนกลางต้องเล็กลงให้หน่วยปฎิบติได้คิดเองให้มาก แต่ปัจจุบันส่วนกลางยังไม่เล็ก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)กรมเดียวมีตึกหลังใหญ่ ๆ ที่เป็นสำนักงานอยู่ไม่ต่ำกว่า 3 หลัง มีผู้คนทำงานอยู่มากมายทั้งคนที่อยู่ประจำและคนที่สั่งจากต่างจังหวัดเข้าไปช่วยเป็นครั้งคราวและไปช่วยอยู่เป็นประจำ  คนพวกนี้ได้คิดงานให้กับโรงเรียนที่ไม่ค่อยจะมีครูนี่แหละทำ  ปีละมากมาย นอกจากนี้สำนักงานเขตยังมีกิจกรรมที่ให้ครูออกจากโรงเรียน(ทิ้งเด็ก)มาทำอีกมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการอบรมตามนโยบายที่กรมสั่ง ตามที่คิดเอง ตามที่ต้องให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและกับจังหวัดเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ครูมีเวลาสอนเด็กน้อยลงบางท่านท้อแท้ลาออกไปก็มี(ลองไปหาเรื่อง คำให้การของครูเออรี รีไทม์ เขียนโดยอาจารย์สมพงษ์  จิตระดับ อ่านดู)

          3.  สาระของหลักสูตรมากเกินไปโดยเฉพาะชั้นป. 1 - 3 พอเข้า ป. 1 ก็ต้องเรียนภาษาอังกฤษ ต้องเรียนคอมพิวเตอร์และเรียนสาระอื่น ๆ อีกมากมาย เด็ก 6 - 7 ขวบ ต้องสับสนวุ่นวายแทนที่จะเรียนเน้นเรื่องภาษาไทยกับคณิตศาสตร์ไปก่อนพอขึ้น ป. 4 จึงจะเอาสาระอื่นค่อย ๆ เพิ่มเข้าไป เพราะเด็กยังอยู่ในโรงเรียนอีกหลายปีกว่าจะจบการศึกษาภาคบังคับควรปูพื้นฐานภาษาไทยกับคณิตศาสตร์ให้ดีก่อน

          ท่านผู้อ่านคงจะเห็นปัญหาไปกับผมบ้างแล้วความจริงยังมีสาเหตุอีกมากถ้ามีเวลาคราวหน้าจะเขียนเรื่องนี้ให้อ่านอีกเมื่ออ่านแล้วช่วยกันคิดต่อด้วยครับว่าจะแก้ไขกันอย่างไรดี

หมายเลขบันทึก: 122014เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2007 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ครูมีงานอื่นนอกจากงานสอนมาก 

งานอื่น = การประกันคุณภาพ ?

ก่อนมี เด็กอ่านออกเยอะ

หลังมี ครูไม่สอน ไปประกันคุณภาพกัน

 

 

 

ครูต้องใกล้ชิดเด็กให้มาก  และฝึกให้นักเรียนรักที่จะเรียน  ใช้เทคนิคกลวิธีให้ชอบอ่าน   ครูติดต่อขอความร่วมมือจากผู้ปกครองด้วย    อยู่บ้านก็ต้องอ่าน  ไม่ใช่ว่าพอเด้กกลับถึงบ้านแล้ว  ตัวไปทาง  กระเป๋าหนังสือไปอีกทาง  ไมอ่าน ไม่ทำการบ้านด้วยตนเองก็ลำบากที่จะอ่านเก่งได้   ในโรงเรียน  ครูก็ต้องอ่านหนังสือให้เด็กเห็นว่าการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของทุกคน   ครูต้องทำให้เห็ว่าการอ่านเป็นพฤติกรรมปกติวิสัยของคนเรา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท