บทบาทของนักวิจัยกับการทำงานวิจัยKM


หากสถานการณ์เปลี่ยน บทบาทก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย

     เฮ้อ! นึกว่าวันนี้จะไม่มีโอกาสเข้ามาเขียน Blog เสียแล้ว  เพราะ  ตอนบ่ายยังอยู่ที่เชียงรายอยู่เลย  กว่าจะออกจากเชียงรายก็บ่าย 4 โมงเย็นแล้ว  มาถึงสนามบินเชียงใหม่ (เพื่อต่อรถกลับ) ก็ทุ่มกว่าๆ  กว่าจะมาถึงลำปางเกือบ 3 ทุ่ม  คิดว่าร้านอินเตอร์เน็ตจะปิดแล้ว  แต่ยังโชคดีที่วันนีร้านปิดช้าก็เลยได้เข้ามาเขียนตามที่ตั้งใจไว้

     ความจริงมีเรื่องเล่ามากมายที่คั่งค้างเอาไว้เห็นจะมีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ  คือ

     1.เรื่องการจัดเวทีประชาคมตำบลละแสน  เมื่อวันที่ 11 มกราคม  2549  ที่ผ่านมา  และ

     2.เรื่องการเตรียมการประชุมเครือข่ายสัญจรในวันที่ 22 มกราคม  ที่จะถึงนี้

     แต่ขอยกยอดไปก่อนก็แล้วกันนะคะ  เนื่องจากวันนี้อยากจะเล่าเรื่องเก็บตกจากการที่ได้พูดคุยกับคุณภีมและอาจารย์ตุ้มในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาให้ฟัง  คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับนักวิจัยที่ทำงานวิจัย KM บ้างไม่มากก็น้อยค่ะ  ความจริงแล้วเราพูดคุยกันมากมาย  นับไม่ถ้วน  มากซะจนผู้วิจัยต้องยอมรับเลยว่าจำไม่ได้ทั้งหมด  แต่ยังไงก็จะขอเล่าเรื่องที่จำได้ก็แล้วกันนะคะ  เพราะ  เรื่องที่จำไม่ได้นั้นอาจแทรกซึมเข้าไปในสมองและความคิดของผู้วิจัยแล้วก็ได้  จึงทำให้ผู้วิจัยจำไม่ได้ว่ามีเนื้อหาสาระอะไรบ้าง

     สิ่งที่ได้จากการพูดคุยกับปราชญ์ทั้ง 2 ท่านนั้น  ผู้วิจัยคิดว่าความจริงทั้งสองท่านก็พูดไปในแนวทางเดียวกัน  แต่ก็มีความแตกต่างกันตรงที่ผู้วิจัยเห็นว่าคุณภีมนั้นจะเน้นไปที่การทำงานแบบเป็นกลไก  เป็นระบบ  แต่อาจารย์ตุ้มนั้นเหมือนจะมีเรื่องของจิตใจแทรกอยู่ด้วยตลอดเวลา  ทำให้ผู้วิจัยเห็นว่าในการทำงาน KM นั้นนักวิจัยต้องทำทั้ง 2 อย่างนี้ไปพร้อมๆกัน

     ข้อคิดที่ได้จากคุณภีมมีมากมาย  แต่สิ่งที่ผู้วิจัยได้รับและเป็นเสมือนเครื่องเตือนสติที่สำคัญในการทำงาน KM  (รวมทั้งงานอื่นได้วย)  ก็คือ 

     1.เราต้องรู้จักการทำงานเป็นทีม 

     2.ต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเองที่ชัดเจน  ต้องเกื้อหนุนหรือเอื้ออำนวยไปด้วยกัน 

      3.(ข้อนี้สารภาพว่าจำไม่ค่อยได้แล้วค่ะ)  รู้สึกว่าจะเกี่ยวข้องกับการจัดกระบวนการทำงานที่ต้องมีความชัดเจน

      ข้อคิดทั้ง 3 ข้อนี้  ผู้วิจัยเห็นว่ามีความสำคัญมากทั้ง 3 ข้อ  เพราะ  เราทำงานวิจัยกันในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่รูปแบบเดิมที่เราเคยทำ  เดิมเวลานักวิจัยต้องการข้อมูลก็ไปสัมภาษณ์  ลงพื้นที่บ้างเล็กน้อย  แต่การทำงานวิจัย KM มันมีอะไรมากไปกว่านั้น  ทีมของเราต้องเดินเคียงคู่กันไป  เราใกล้ชิดกันมากขึ้น  เห็นกันมากขึ้น  ซึ่งแน่นอนว่าโอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย  ดังนั้น  เราต้องรู้จักการให้อภัย  ต้องมองคนที่ทำงานกับเราว่าเป็นกัลยาณมิตร 

      นอกจากนี้แล้วเรายังต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของเราด้วยว่าเรามีบทบาทหลักอะไร  แน่นอนว่าเมื่อเราก้าวมาทำงาน KM บทบาทของเรามีมากมาย  เป็นทั้งคุณวิจัย  คุณเอื้อ  คุณอำนวย  คุณประสาน  คุณลิขิต  (คิดว่ายังมีอีกหลายคุณค่ะ  แต่ตอนนี้คิดได้แค่นี้ค่ะ)  ผู้วิจัยยอมรับว่าตัวเองนั้นถึงแม้จะเป็นคนใจร้อน (ปากไวบ้างในบางครั้ง)  แต่ลึกๆแล้วก็ละเอียดอ่อนในเรื่องพวกนี้เหมือนกัน  จำได้ว่าตอนที่ทำโครงการวิจัยเดือนแรกๆ  ทำอะไรไม่ค่อยถูก  ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร  จะทำอันนี้ก็คิด  จะทำอันนั้นก็คิด  งานจึงไม่ค่อยเดินสักเท่าไหร่  แต่พอไม่ค่อยคิดอะไร  บางครั้งก็อาจทำเกินบทบาทของเราไปบ้าง (โดยไม่ตั้งใจ) ทำให้เกิดเรื่องไม่สบายใจต่อกันในทีมได้  หลายๆครั้งผู้วิจัยยอมรับว่ารู้สึกสับสนเหมือนกัน  ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร  แต่พอได้คุยกับคุณภีมและอาจารย์ตุ้มแล้ว  ทำให้ผู้วิจัยได้ข้อคิดข้อหนึ่งว่าต่อไปเวลาจะทำอะไรเราต้องดูสถานการณ์ก่อน  ต้องคิดให้มากขึ้น  (แต่ไม่ใช่คิดแบบยำคิดยำทำ  หรือแบบวิตกจริตนะคะ) ต้องพิจารณาดูว่าในสถานการณ์แบบนี้บทบาทที่โดดเด่นของเราคืออะไร  ผู้วิจัยเชื่อว่าหากสถานการณ์เปลี่ยน  บทบาทก็เปลี่ยนตามไปด้วย

     วันนี้ขอเล่าแค่นี้ก่อนนะคะ  เพราะ  ร้านจะปิดแล้ว  ถ้าพรุ่งนี้มีเวลาจะเข้ามาเล่าให้ฟังต่อค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12194เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2006 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท