ผัก ต้านอนุมูลอิสระ 2003 อ จาก จุฬา


 

 




สธ. เผยข่าวดี หนุ่มสาว ผลวิจัยพบเครื่องดื่มสมุนไพรไทย มีสารชะลอแก่ สูงถึง 80%

  • สาธารณสุขเผยผลวิจัย พบสุดยอดเครื่องดื่มสมุนไพร 30 ชนิด เช่น น้ำมะยม น้ำมะขามป้อม น้ำสมอไทย น้ำกระเจี๊ยบ น้ำเก๊กฮวย คุณค่ามหาศาล มีสารต้านเหี่ยวสูง ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น ชะลอความแก่ได้ถึงร้อยละ 80 และมีสรรพคุณช่วยลดความเสี่ยงโรคร้าย เช่น โรคหัวใจ ข้อเสื่อม อัมพาตและโรคที่เกิดจากความเสื่อมของวัย เกษตรกรส่อแววรุ่งเชิงเศรษฐกิจ เพราะโดนใจกระแสตลาดโลก

    นายแพทย์ปราชญ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สมุนไพรกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาก เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหวนกลับสู่ธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ มีผลให้สมุนไพรทั้งในรูปยาสมุนไพร อาหารเสริมสุขภาพ เครื่องดื่มสมุนไพรและเครื่องสำอาง เป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาก ล่าสุดสมุนไพรมีมูลค่าในตลาดโลกถึง 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในรอบ 2 ปีมานี้ไทยส่งออกสมุนไพรและสารสกัดสมุนไพรไปต่างประเทศมูลค่าเกือบ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ มีการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุสหรัฐอเมริกาเกือบร้อยละ 50 ใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดูแลสุขภาพ คาดว่าแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น

    ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยสมุนไพร เพื่อพัฒนาเป็นยาและอาหารเสริมสุขภาพมากขึ้น ขณะนี้ในประเทศไทยได้มีการนำสมุนไพรมาแปรรูปทั้งยา อาหารเสริม เครื่องดื่มมากกว่า 90 ชนิด เช่น กระชายดำ บัวบก ฟ้าทะลายโจร ชาเขียวใบหม่อน รวมทั้งมะขามป้อม ซึ่งเป็นสมุนไพรมีวิตามินซีมากกว่าส้มและผลไม้อื่นๆ ถึง 20 เท่า หากมีการศึกษาสรรพคุณตามหลักการวิทยาศาสตร์ ก็จะยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างมูลค่าสมุนไพรได้เป็นอันมาก นายแพทย์ปราชญ์กล่าว

    ทางด้านดร.นิทรา เนื่องจำนงค์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 8 ประจำศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พิษณุโลกและคณะ ได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่องฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในเครื่องดื่มสมุนไพรพร้อมบริโภค ที่ผลิตในประเทศไทย โดยเก็บตัวอย่างจากสถานที่จำหน่ายในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2548 ถึงเดือนเมษายน 2549 จำนวน 224 ตัวอย่าง ประกอบด้วยเครื่องดื่มสมุนไพรชนิดน้ำ 121 ตัวอย่าง ชนิดผง 40 ตัวอย่าง และชาชงสมุนไพร 63 ตัวอย่าง
    ผลการวิเคราะห์พบว่า ในเครื่องดื่มสมุนไพรทั้งชนิดน้ำและผง ชาชงสมุนไพรจำนวน 53 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 24 มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูงมากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งอนุมูลอิสระที่พบคือ สารชะลอความแก่หรือสารต้านริ้วรอยเหี่ยวย่นของผิวหนัง จากผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่าชาชงและเครื่องดื่มน้ำสมุนไพร มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง โดยพบน้อยที่สุดในเครื่องดื่มชนิดผง

    ดร.นิทรา กล่าวว่า สมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากการศึกษาครั้งนี้มีทั้งหมด 30 ชนิด แบ่งเป็น 3 ประเภท ประเภทชาชง ได้แก่ รางจืด หญ้าหนวดแมว ชาดำ พลูคาว ชาเขียว ฟ้าทะลายโจร หญ้าหวาน บอระเพ็ด หญ้าดอกขาว กระเจี๊ยบ ดอกคำฝอย มะตูม ใบบัวบก และชาฤาษี
    ประเภทเครื่องดื่มพร้อมบริโภค ได้แก่ น้ำมะขามป้อม น้ำสมอไทย น้ำมะม่วงหิมพานต์ น้ำมะเกี๋ยง น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะเฟือง น้ำเม่า น้ำองุ่น น้ำลูกยอ น้ำสตรอเบอรี่ น้ำมะยม น้ำว่านชักมดลูก น้ำกระชายดำ และน้ำเก็กฮวย

    ประเภทเครื่องดื่มผง ได้แก่ เครื่องดื่มผงใบเตยและหญ้าหนวดแมว อย่างไรก็ตาม ฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของสมุนไพร ความเข้มข้นของน้ำสมุนไพร กรรมวิธีการผลิต อายุของพืช ส่วนของพืชที่นำมาใช้ อายุของผลิตภัณฑ์ การเก็บรักษา ความคงตัวของสารออกฤทธิ์ ซึ่งจะต้องทำการศึกษาความเหมาะสมต่อไปอีกขั้นหนึ่ง

    ดร.นิทรา ยังกล่าวอีกว่า อนุมูลอิสระเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เซลล์ร่างกายเสื่อม โดยอนุมูลอิสระดังกล่าว ถูกสร้างจากทั้งภายในและภายนอกร่างกาย สาเหตุจากภายใน เช่น กระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย สาเหตุจากภายนอก เช่น ได้รับรังสีจากแสงแดดหรือมลพิษจากสิ่งแวดล้อม ดังนั้นร่างกายจึงสร้างระบบเพื่อป้องกันการสะสมอนุมูลอิสระ เรียกว่า ระบบต้านอนุมูลอิสระ โดยสารต้านอนุมูลอิสระจะทำลายอนุมูลอิสระโดยการจับหรือลดหรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ เพื่อไม่ให้เซลล์เสียหาย ซึ่งไทยนับว่าได้เปรียบมากเนื่องจากมีสมุนไพรพื้นบ้านหลายชนิดมีสารต้านอนุมูลอิสระ

    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดถึงปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคสารที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ขึ้นอยู่กับสภาวะของแต่ละบุคคล การนำสมุนไพรไทยมาผลิตและมีการควบคุมสารสำคัญ จะเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ลดการนำเข้าอาหารเสริมสุขภาพและที่สำคัญเป็นการเพิ่มรายได้ ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกและผู้แปรรูปได้เป็นอย่างดี ดร. นิทรากล่าว

    ************* 17 มิถุนายน 2550

  • แหล่งข่าวโดย....
    ผู้จัดทำ.... ฝ่ายข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ กลุ่มสารนิเทศ
    [17/มิ.ย/2550]

     

     

    พบสาร “ต้านอนุมูลอิสระ”ในผักสมุนไพร  

    PDF  พิมพ์  ส่งเมล์ 
    เขียนโดย health    
     

    พุธ, 30 กรกฎาคม 2003

    นักเคมีคลินิก จุฬาฯวิจัยพบสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสารสำคัญป้องกันการเจ็บป่วยและมะเร็ง ในผักสมุนไพร ปริมาณสูงคือ เบญกานี ผลหมาก สมอเทศ มะขามป้อม ผักพื้นบ้านเป็นประเภทผักติ้ว ขี้เหล็ก ใบมะกอก ผักบุ้งนา ยอดกระถิน

    ผศ.ดร.วาริน แสงกิตติโกมล ภาควิชาเคมีคลินิก คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิจัยสารต้านอนุมูลอิสระในสมุนไพร และผักกว่า 100 ชนิด พบว่า ผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูงคือ เบญกานี ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้ในยาไทย

    รองลงมาได้แก่ ผลหมาก สมอเทศ มะขามป้อม เปลือกทับทิม ชาเขียว ดอกกานพลู ใบมะม่วงอ่อน กุหลาบมอญ ใบฝรั่ง ส่วนผักที่มีสารต้านอนุมูลสูง ได้แก่ ผักติ้ว ขี้เหล็ก ใบมะกอก ผักบุ้งนา ยอดกระถิน ใบสะระแหน่ ผักขม มะเขือพวง ใบกะเพรา ฟักชี โหระพา เป็นต้น

    ผศ.ดร. วาริน กล่าวว่า อนุมูลอิสระ คืออะตอมในร่างกายที่ไม่สมดุล เนื่องจากมีอิเล็กตรอนของอะตอม ถูกโมเลกุลอื่นดึงออกไปเป็นปฎิกิริยาแบบลูกโซ่ ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็ง

    สารอนุมูลอิสระเกิดขึ้นได้ทั้งในภาวะปกติของร่างกาย เช่น เมื่อหายใจหรือร่างกายได้รับสารพิษ ยาฆ่าแมลง มลภาวะ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา มีส่วนสำคัญในการเพิ่มสารอนุมูลอิสระ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ สารอนุมูลอิสระเข้าไปทำลายโมเลกุลต่างๆ เช่น โรคหัวใจ

    นักวิชาการด้านเคมีคลินิกแนะ “หลัก 7 อ” ดูแลสุขภาพง่ายๆ ประกอบด้วย

    1. อาหารดี กินครบ 5 หมู่ ไม่อดหรือกินอาหารมากเกินไป
    2. อากาศดี หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ
    3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที
    4. อารมณ์ดี มีสุขภาพจิตดี
    5. อุจจาระเป็นปกติ ควรรับประทานผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระมีใยอาหารทำให้ท้องไม่ผูก
    6. อันตรายที่ควรหลีกเลี่ยงไม่ดื่มสุรา งดสูบบุหรี่ จนระบบต้านอนุมูลอิสระในร่างกายไม่สามารถรักษาสมดุลได้
    7. อดนอนเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ

    แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 30 กรกฎาคม 2546 หน้า 8

    หมายเลขบันทึก: 121922เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2007 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท