เศรษฐศาสตร์และการเงินข้างเสา – ตอนที่ 4 กระแสเงินสดสำคัญกับตัวคุณอย่างไร (3) – กู้หนี้ยืมสิน


การกู้เงินมาโปะเงินที่ไม่พอใช้จ่าย จะทำให้เกิดหนี้มากขึ้น ทำให้มีภาระดอกเบี้ยมากขึ้น แล้วจะทำให้เงินในอนาคตยิ่งขัดสนขึ้นไปอีก ถ้าปล่อยให้สถานการณ์บานปลาย หนี้สินก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็หนี้ท่วม
ในตอนที่ 1 และ 2 ผมได้นำเสนอแนวคิดเรื่องกระแสเงินสด   และได้พูดถึงประเภทของกระแสเงินสดว่าแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
  1. กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Flow from Operating Activities)
  2. กระแสเงินสดจากการลงทุน (Cash Flow from Investing Activities)
  3. กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน (Cash Flow from Financing Activities)

และผมก็ได้พูดถึงเรื่องกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและกระแสเงินสดจากการลงทุนไปแล้ว ตอนนี้ จะมาพูดถึงเรื่องกระแสเงินสดจากการจัดหาเงินครับ

(หมายเหตุ ดูความตอนที่ 1 และ 2 ได้ที่นี่ http://gotoknow.org/blog/wachirachai/120409 และ http://gotoknow.org/blog/wachirachai/120663)

ในแง่ของบริษัท การจัดหาเงินเป็นเรื่องสำคัญมากครับ แล้วก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่บริษัทเริ่มก่อกำเนิดเลยครับ   ผมก็อยากจะขยายความดังนี้ ก่อนอื่น คิดว่าทุกคนถ้าเคยได้ยินคำว่า นิติบุคคล มาบ้างแล้ว บริษัทก็เป็นนิติบุคคลแบบหนึ่ง เป็นนิติบุคคล หมายความว่า เป็น บุคคลสมมุติ คือ เราสมมุติให้เป็นบุคคลขึ้นมาคนหนึ่ง แต่เป็นบุคคลในแง่ของการประกอบธุรกิจ ต้องมีความรับผิดชอบเป็นของตัวเอง มีรายได้เป็นของตัวเอง มีภาระต้องจ่ายภาษีเอง ฯลฯ

แล้วเรื่องที่บริษัทเป็นนิติบุคคล เกี่ยวกับการจัดหาเงินอย่างไร

ก็เพราะบริษัทจัดตั้งขึ้นมาได้ก็ต้องมีทุนประเดิมครับ คนเราเกิดมามีทุนเดิมก็คือตัวของเรา แรงงานของเรา ความคิดของเรา   แต่บริษัทไม่มีอะไรเลยครับ เป็นบุคคลสมมุติ   เพราะฉะนั้น เวลาที่มีกลุ่มคนเริ่มจะจัดตั้งบริษัท ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการระดมทุนเป็นทุนจัดตั้งบริษัทหรือทุนจดทะเบียนเสียก่อน บริษัทถึงจะมีเงินไปลงทุนในเครื่องจักร หรือจ้างพนักงาน ฯลฯ เพื่อเริ่มดำเนินการได้   (หมายเหตุ กลุ่มคนที่เริ่มจะจัดตั้งบริษัท ประกอบด้วยคนอย่างน้อย 7 คน เรียกว่า ผู้เริ่มก่อการ ซึ่งชื่อฟังดูแปลกดีเหมือนกันครับ)   กลุ่มคนที่ลงทุนในบริษัท ก็จะกลายเป็น ผู้ถือหุ้น   เวลาที่บริษัทประกอบการแล้วมีกำไร ก็ต้องจ่ายผลตอบแทนคืนให้กับผู้ถือหุ้นเป็น เงินปันผล

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทและกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.dbd.go.th/thai/law/law_index.phtml

นอกจากจะจัดหาเงินเป็น ทุน อย่างที่พูดถึงข้างต้นแล้ว   บางครั้ง บริษัทก็ต้องการจะลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์หรือสินทรัพย์อื่นๆ มากกว่าทุนที่มี (ระวังสับสนนะครับ ระหว่างคำว่า ทุน ซึ่งหมายถึง ที่มาของเงินของบริษัทที่มาจากผู้ถือหุ้น กับคำว่า การลงทุน ซึ่งหมายถึง เงินที่บริษัทใช้ลงทุนไปในสินทรัพย์)   ในกรณีนี้ บริษัทก็ต้องกู้ครับ คือจัดหาเงินในรูปของ หนี้สิน หรือยอมเป็นหนี้นั่นเอง  คนที่บริษัทไปกู้ก็กลายเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท แล้วบริษัทก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนให้กับเจ้าหนี้ แล้วก็ต้องคืนเงินต้นให้กับเจ้าหนี้ด้วย (ต่างกับทุน ที่ไม่ต้องคืนให้กับผู้ถือหุ้น เรียกได้ว่า ลงแล้วลงเลย ยกเว้นกรณีที่บริษัทต้องการลดทุนหรือเลิกบริษัท) 

กรณีของตัวเรา บุคคลธรรมดา เราไม่มีผู้ถือหุ้นครับ (เรื่องนี้น่าสนใจนะครับ อาจจะมองอีกมุมก็ได้ แล้วผมจะเขียนถึงเรื่องนี้ในตอนต่อไปครับ)   เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดถึงการจัดหาเงิน ก็คือการกู้หนี้ยืมสินหรือก่อหนี้นั่นเอง   ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องที่เป็นความจำเป็น แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องที่จะก่อปัญหาในอนาคต

  1. บางครั้ง เราต้องการลงทุนประกอบธุรกิจเพื่อหารายได้ แต่มีเงินที่เก็บออมไว้ไม่เพียงพอ ถ้าไม่ลงทุนในตอนนี้ ก็อาจจะเสียโอกาส   คิดแล้ว ก็อาจจะกู้เงินเพื่อนำเงินมาลงทุนได้ แล้วเอากำไรจากการทำธุรกิจไปจ่ายคืนดอกเบี้ยและเงินต้นต่อไป
  2. บางครั้ง เราต้องการลงทุนประกอบธุรกิจเหมือนกัน แต่มีเงินออมไม่พอ   พอรู้ว่า สามารถกู้เงินมาลงทุนได้ ก็ได้ใจ กู้มามากๆ เพื่อลงทุนใหญ่ๆ ลงทุนเกินตัว เพราะหวังว่าจะได้กำไรมากๆ   แต่เพราะใจติดในความโลภทำให้ประเมินผิดพลาด   สุดท้ายกำไรที่ได้มาก็ไม่พอที่จะจ่ายคืนดอกเบี้ยและเงินต้น ทำให้มีปัญหา
  3. แต่บางครั้ง ก็อาจจะไม่เกี่ยวกับการลงทุน   บางครั้ง เรามีความจำเป็นต้องใช้จ่าย (หรือบางครั้ง ก็อาจจะไม่ใช่ความจำเป็น แต่เป็นความต้องการ) แต่ขัดสน มีเงินไม่พอ ก็ไปกู้เงินมาใช้จ่าย แล้วหวังว่าจะหาเงินไปคืนในอนาคต

กรณีที่ 2 และ 3 นี่แหละครับที่จะเป็นปัญหา โดยเฉพาะกรณีที่ 3 จะเป็นปัญหามาก   ในตอนที่ 1 (http://gotoknow.org/blog/wachirachai/120409มีตอนหนึ่ง ผมได้พูดถึงการแก้ปัญหาหนี้สินไว้ว่า ถ้าไม่แก้ไขอย่างถูกวิธีให้ทันการณ์ ก็มีโอกาสจะล้มละลายได้ (ไม่ว่าจะเป็นบริษัท หรือตัวเราเอง)   เพราะการกู้เงินมาโปะเงินที่ไม่พอใช้จ่าย จะทำให้เกิดหนี้มากขึ้น ทำให้มีภาระดอกเบี้ยมากขึ้น แล้วจะทำให้เงินในอนาคตยิ่งขัดสนขึ้นไปอีก เงินที่กู้มาโปะ ก็ไม่ได้เกิดผลงอกเงยอะไร เพราะเอาไปโปะค่าใช้จ่ายที่จ่ายแล้วจ่ายเลย ไม่ได้อะไรกลับมา   ยิ่งถ้าได้ใจ ว่าสามารถหมุนเงินได้จากการโยกซ้ายไปโปะขวา ก็จะปล่อยให้สถานการณ์บานปลาย หนี้สินก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ   สุดท้ายก็หนี้ท่วม บางครั้ง ทำงานจนชั่วชีวิตชาตินี้ ก็ยังคืนหนี้ไม่หมด

สุดท้าย ผมเลยอยากจะทิ้งท้ายอย่างนี้ครับ

ความไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ
หมายเลขบันทึก: 121655เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2007 07:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้อ่านแล้ว ทำให้เข้าใจเรื่องการเงินมากขึ้นจริงๆ เลยค่ะ  เขียนอีกนะคะ จะแวะเข้ามาอ่านอยู่เรื่อยๆ ค่ะ...กิ๊กเองค่ะ

สุมาลี มุงคุณคำชาว
เรื่องโยกเงินนี้  เป็นปัญหามากสำหรับชาวบ้าน จะมีหนี้กองทุนเงินล้าน หนี้ ธกศ. หนี้อะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งที่คุณพูดมา  ชาวบ้านก็โยกเงินจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่ง หมุนเวียนโยกอยู่นี่แหละ  อยากช่วยชาวบ้านก็ถึงมาเรียนนี่แหละ เพราะเป็นรุ่นบุกเบิก ตามโครงการณ์พัฒนาคน ตามแผน 10 นักศึกษาในนี้จะต้องเป็นผู้ดูแลชาวบ้าน ตามศักยภาพของตน จะเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. อบจ. แม้กระทั่ง  สส.ในเขตพื้นที่ของตนโดยจะเอาความดี ความเสียสละ มาดูแลชาวบ้าน แทนการซื้อเสียง แทนการใช้เงิน  ก็ไม่รู้ว่าเข้าอีหรอบเดิมหรือเปล่า  คือเงินไม่มา กาไม่เป็น เงินไม่มารอก่อน  ทำนองนี้แหละ ไม่รู้ว่ารุ่นนี้ จะได้ผู้นำชาวบ้านที่จริงใจกี่คน ตอนนี้ที่มาเรียนก็ผู้นำชาวบ้านทั้งนั้น แต่เอามาเปลี่ยนความคิด คิดใหม่ ทำใหม่ ให้มีศักยภาพมากขึ้น  ให้ทันยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะต้องแก้การโยกเงิน และแก้ปัญหาความยากจนคะ ไม่รู้จะแก้ได้หรือเปล่า ในทุกวันนี้ ถ้าจะรอรุ่นนี้ ก็อีกนาน  เขียนไปแวบๆ  หายคะ  เล้กคะ วันนี้ว่างมาอ่านหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องเงินคะ  สวัสดีคะ  สุมาลี เล็ก
ขอบคุณคุณเล็กที่เข้ามาแสดงความเห็นครับ ใช่ครับ เรื่องการโยกเงินนี่น่ากลัวนะครับ เสี่ยงมากครับถ้าเราไม่รู้ตัวว่าเราบริหารเงินดีหรือไม่ดีอย่างไร สำหรับกองทุนกู้ยืมต่างๆ ผมก็อดเป็นห่วงแทนไม่ได้ ถ้าบริหารไม่ดี กลับจะเป็นการซ้ำเติมให้ชาวบ้านมีหนี้สินมากขึ้น สถานะการเงินลำบากขึ้น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท