เมื่อไหร่แสงธรรม จะส่องถึงใจคน


ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมคนถึงไม่ค่อยสนใจธรรมะเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ธรรมะเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนเราดีและมั่นคง

         ประเทศไทยนับเป็นประเทศแห่งพุทธศาสนา ใช้ศาสนาพุทธในการพัฒนาและนำทางในเชิงปรัชญาการดำรงชีวิตของคนจำนวนมาก และทุกคนก็มักจะอ้างตัวเองว่า เป็นพุทธศาสนิกชน       

ในระยะที่ผ่านมา ผมได้พยายามลองแหย่ประเด็นเชิงธรรมะ ก็ได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี แต่ก็ไม่แพร่หลายนัก blog ของท่านมหาชัยวุธ ก็มีคนเข้าไปอ่านประปราย

ผมเลยไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ว่า ทำไมคนถึงไม่ค่อยสนใจธรรมะเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ธรรมะเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนเราดีและมั่นคง

        เมื่อผมไปทำบุญ ฟังธรรมที่วัด ผมยังสังเกตเห็นว่า มีคนไม่มากนักที่เต็มใจรับศีลห้า

ส่วนใหญ่จะอ้อมๆ แอ้ม ๆ รับบางข้อ รับมาแล้วก็วางไว้ตรงหน้ากุฏินั่นแหล่ะ พอถึงบ้านก็เหมือนเดิม ไม่ทราบจะรับไปทำไม       

นี่ขนาดระบบการสวดมนต์ ให้ศีล ของเรา ย้ำแล้วย้ำอีกว่า ท่านต้องการศีลจริงหรือเปล่า แม้ครั้งที่หนึ่งท่านก็ต้องการศีล แม้ครั้งที่สอง ท่านก็ยังต้องการศีล จนแม้ครั้งที่สาม ท่านก็ยังต้องการศีล (นี่ผมลองแปลมาจากบทสวดนะครับ)

        แต่พอรับมา ก็รับมาแต่ปาก เมื่อไหร่เราจะรับมาด้วยใจล่ะครับ        

ธรรมะของท่านพระพุทธเจ้า มิได้สำเร็จด้วยปาก แต่สำเร็จด้วยการปฏิบัติ ที่จะต้องเริ่มต้นที่ใจ

ถ้าแสงธรรมยังไม่ส่องถึงใจ ผมคิดว่า เรารับศีลอีกพันครั้งก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร       

เอ๊..นี่ผมบ่นไปทำไมครับเนี่ย ? เดี๋ยวท่านมหาชัยวุธ ก็มาแซวผมอีกแล้ว       

ผิดพลาดประการใด ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

        ด้วยความปรารถนาดี อยากเห็นแสงธรรม ส่องถึงใจของทุกคนครับ

หมายเลขบันทึก: 121632เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2007 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

   ขอแซงคิวท่านมหาฯ มาแซวเสียก่อนล่วงหน้า ท่านคงไม่ว่า และไม่ถือเป็นบาปนะครับ
    ศาสนาเขามีไว้บูชา มีไว้นับถือ ... เหมือนของที่ถือกันอยู่เต็มมือ แต่เอามาใช้ไม่เป็น ... เห็นกันอยู่ทั่วเมือง ... อาจารย์บ่นก็เพราะทนเห็นเช่นที่มันเป็นไม่ค่อยได้น่ะซีครับ

คงคล้ายโฆษณามังครับ. กรอกหู เอาภาพให้ดูซ้ำๆ เดี๋ยวก็ชอบไปเอง. รับศีลบ่อยๆก็อาจจะคิดนิดๆว่าแบบนี้แบบนั้นคุ้นว่ามันจะไม่ดีนะ.  อาจจะดูเหมือนว่าสภาพทุกวันนี้คนไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่. ถ้าไม่รับเลยอาจจะแย่กว่านี้ก็ได้ (หรืออาจจะดีกว่านี้?). 

ต่อให้รักษาศีลแบบงมงาย ก็อาจจะมีประโยชน์เหมือนกัน อย่างน้อยคนก็ฆ่าแกงกันน้อยลง  จนมีเวลามาศึกษาอะไรต่ออะไรมากขึ้น :-).

ดร. แสวง รวยสูงเนิน

เข้ามาเยี่ยมครั้งหนึ่งแล้ว แต่ก็ยุ่งอยู่ไม่ได้โอกาสบ่น (......) จึงต้องกลับมาอีกครั้งในฐานะถูกอ้างถึง...

ประเด็นที่อาจารย์ตั้งข้อสังเกตในบันทึกนี้ เป็นเรื่องมหึมา (ใหญ่มาก) และไม่อาจพิจารณาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งได้ แต่ต้องพิจารณาออกไปยังมิติต่างๆ........

อาตมาพิมพ์ความเห็นไปแล้วหลายสิบบรรทัด แต่รู้สึกว่ากำลังสร้างแนวคิดบางอย่าง และยิ่งล่วงเลยไปจากประเด็นที่อาจารย์อ้างถึง ก็เลยลบทิ้ง.....

โดยสรุป การบ่นของอาจารย์ในบันทึกนี้ เป็นการแสดงออกถึงความห่วงใยต่อสังคม ศาสนา บ้านเมือง... ประมาณนั้น

เจริญพร  

สวัสดีค่ะท่าน...ดร. แสวง รวยสูงเนิน

  • โจทย์ข้อนี้  ที่ให้ขบคิด  ยากและยาวค่ะ
  • ครูอ้อยย่อลงให้เล็กเท่าที่ทำได้ คิดได้นะคะ
  • เพราะครูอ้อยก็เป็นแบบลักษณะตัวอย่างที่ท่านเอ่ย...พุทธศาสนิกชน
  • อูย...ไม่กล้าเขียนเยอะเลยค่ะ...เกร็งๆ  แต่ด้วยความรักและเคารพ  ครูอ้อยเข้ามาทักทายค่ะ   ครูอ้อยมีบทบาทในเรื่องนี้  เล็กน้อยค่ะ   ...ไม่เบียดเบียนใคร  รักษาศีล  ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามค่ะ

ขอบคุณค่ะ...คิดถึงเสมอค่ะ

เมื่อไหร่แสงธรรม จะส่องถึงใจคน?

โดยส่วนตัวผมเห็นว่า....เมื่อมีความพร้อมเกิดขึ้นครับ

  • พร้อมด้วยเหตุ เพราะกรรมดีที่สะสมมาส่งผลให้มาพบเหตุที่จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยน...
  • พร้อมเสิร์ฟ เพราะเราต่างก็ช่วยกันทำดีให้ปรากฏ จนคนเขาเห็นประโยชน์ และอยากเข้ามาร่วมวงด้วย ถ้าสื่อว่า ธรรมงาน... ก็คงเป็นการทำงานและได้เรียนรู้ธรรม จากกลุ่มชนที่มีต้นทุนมาก่อนร่วมด้วยช่วยกัน
  • ไม่แน่ใจว่าคิดแบบนี้จะเข้าประเด็นหรือเปล่านะครับ
  • ขอบพระคุณครับ

 

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์ครับ 
  • ผมไม่อยากจะผ่านหัวข้อเรื่องนี้เลยครับ จึงอ่าน และเมื่ออ่าน ก็อยากบอก จึงเขียนออกมาครับ
  • การแสดงความเห็น สะดุดใจแนวคิดของ "ข้ามสีทันดร" มากที่สุดครับ
  • ผมมองอย่างนี้ครับ ธรรมดาเวลาหนังสือพิมพ์ออกข่าวก็ต้องออกข่าวให้ขายได้ นั้นคือกระชากความตื่นเต้นครับ ออกข่าวเรื่องความดีมันกระไรอยู่นะครับ
  • วันนี้ตื่นขึ้นมาเช้ากว่าปกติคือ ตีสี่ เปิดแต่ละช่อง เราจะพบการเผยแผ่หลักคำสอนทางศาสนาของแต่ละศาสนา น่าสนใจทีเดียวครับ
  • การตั้งอยู่ในศีลธรรมนับเป็นเรื่องที่ดีทีเดียวครับ จากแนวคิดของท่านอาจารย์ ผมจะพยายามปรับตัวและหัวใจนะครับ
  • ขอบคุณครับ

ส่วนตัวผมมองว่าปัจจัยสำคัญคือครอบครัวนะครับ (อีกแล้ว อะไรก็ครอบครัว) และอีกประการที่ผมค่อนข้างจะอยากนำมาแลกเปลี่ยนกันคือ "วิธีการนำเสนอ" สมัยก่อนนั้นสภาพสังคม วัฒนธรรม ประเพณี สิ่งแวดล้อมไม่เหมือนสมัยนี้ วิธีการบริโภคสื่อของคนยุคนี้ก็ต่างจากสมัยก่อน ผมเชื่อว่าถ้าเราจับจุดได้ หาวิธีได้ ก็ย่อมจะสามารถทำให้คนสนใจได้

พูดแบบนี้เหมือนกับว่าบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อเช่นนี้เพราะผมคิดว่าหลักการความคิด หรือความเชื่อ ถ้าจะดำรงอยู่ได้ บางครั้งต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เปลี่ยนแบบถอนราก ไร้จุดยืน แต่ต้องปรับตามสถานการณ์ ถ้าไม่ปรับ บางครั้งก็ต้องล่มสลายลงไป

พูดแบบนี้เหมือนพูดลอยๆ นะครับ ผมขอยกตัวอย่างเรื่องภาษาแล้วกัน ภาษาไทยนั้นไม่ใช่ภาษาที่ตาย และไม่เคยอยู่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงตลอด เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ศัพท์ใหม่ๆ หรือศัพท์แสลงเก่าๆ อาจจะกลับมาฮิตใหม่ ต่างกับภาษาคำเมือง เรื่องนี้ผมทราบจากบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ (อีกแล้ว) ท่านเล่าว่าในการประชุมวิชาการครั้งหนึ่ง มีนักวิชาการท่านหนึ่งพยายามจะใช้ภาษาเมืองในการสัมมนา แต่พูดๆ ไปมีคำไทย มีำคำฝรั่งหลุดมาเรื่อยๆ อาจารย์ท่านสรุปว่าภาษาคำเมืองไม่ได้พัฒนาไปตามภาษาวิชาการ จึงไม่มีคำรองรับศัพท์ใหม่ๆ นับว่าเป็นภาษาที่ใกล้หมดลม น่าเป็นห่วง

เรื่องธรรมนี้ ผมเห็นมีพระ (หรือเณร) รูปหนึ่งนำเสนอข้อธรรม ด้วยการ์ตูน ตัวผมเองไม่เคยเปิดอ่าน และไม่ทราบชื่อท่าน แต่คิดว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจทีเดียวครับ

ขอบคุณครับ 

ขอขอบคุณสำหรับความคิดเห็นโดย
P
Handy
เมื่อ ศ. 24 ส.ค. 2550 @ 01:11
P
वीर
เมื่อ ศ. 24 ส.ค. 2550 @ 01:42
P
BM.chaiwut
เมื่อ ส. 25 ส.ค. 2550 @ 08:54
P
สิริพร กุ่ยกระโทก
เมื่อ ส. 25 ส.ค. 2550 @ 09:03
P
ข้ามสีทันดร
เมื่อ ส. 25 ส.ค. 2550 @ 13:10
P
นมินทร์ (นม.)
เมื่อ ส. 25 ส.ค. 2550 @ 16:13
P
คุณแว้บ
เมื่อ ส. 25 ส.ค. 2550 @ 23:06
ผมยอมรับว่ามีความห่วงใยในสังคมและศาสนา
ผมมีกิเลศที่อยากเห็นทั้งสองอย่างนี้ พัฒนาอย่างสอดคล้องกัน
แต่
  • มีคนจำนวนมากไม่เคยฟังธรรม หรือถิอศีล
  • แม้คนที่ฟังธรรมหรือ ถือศีล ก็ทำไปแบบไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร แต่ท่องได้ทุกคำ
  • มีคนจำนวนไม่มากที่รู้คำแปล และนำไปปฏิบัติ
  • น่าจะมีไม่มากที่รู้ เข้าใจและนำไปปฏิบัติจนได้ผลตามนั้น

แล้วยังภูมิใจในความเป็นพุทธศาสนิกชน ด้วยเหตุข้อใดกันครับ หรือเป็นแค่คำที่เขียนในทะเบียนบ้านก็เพียงพอแล้วครับ

ทางด้านการให้ศีลของพระนั้น ผมมีประสบการณ์ส่วนตัวว่า เมื่อผมเข้าร่วมกับกลุมอโศก เขาจะสวดไปแปลไป ทำให้กะโหลกผมบางลงและซึมซับพระธรรมได้มากขึ้น

แม้การกราบตามคำพูดของผุกล่านำที่ว่า

อัญชลี-วันทา-อภิวาท ผมก็เพิ่งได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมธรรมะ ที่มีการแปลนี่แหละ

ผมจึงคิดว่าถ้ามีการแปลไปด้วยคนจะเข้าใจมากขึ้น และรับไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

ผมก็คิดไปเรื่อยๆ ก็อยากจะฟังความเห็นท่านมหาชัยวุธในเรื่องการแปลนี้ ทางพระมีข้จำกัด หรือระเบียบใดๆหรือไม่ จึงไม่ค่อยเห็นการแปลเวลาสวด

แม้แต่บทสวด มรณานุสติ อนิจจัง.....

คนส่วนใหญ่ก็น่าจะยังไม่ทราบ และไม่ได้ใช้ประโยชน์กันเลย

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์

  • เข้ามาตอบสั้นๆ ครับ
  • ถาม...เมื่อไหร่แสงธรรม จะส่องถึงใจคน
  • ตอบ...เมื่อใจคนเปิดรับแสงธรรม
  • ให้เมื่อคนต้องการรับ จะมีคุณค่ากว่าการให้โดยที่ผู้รับมองไม่เห็นค่าในสิ่งนั้น
  • เมื่อให้กับรับจูนตรงกันได้ ข้อมูล ความรู้ ลำแสงธรรม ก็จะเกิดคุณค่าเอง
  • ป้อนกล้วยให้เด็กในยามที่เด็กเบือนหน้านี้ กล้วยจะตกถึงกระเพาะเด็กหรือไม่ครับ
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท