BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : เปรียบเทียบกับพุทธจริยศาสตร์


ทฤษฎีและปัญหาจริยธรรม ๗

ผู้เขียนนำเสนอเรื่องนี้มาก็เห็นว่าควรจะจบได้แล้ว เพราะเนื้อหาเริ่มจะพาดพิงไปถึงประเด็นอื่น แต่ก่อนที่จะประมวลเรื่องราวทั้งหมด จะนำเสนอมุมมองตามกรอบของพระพุทธศาสนาอีกเล็กน้อย....

แนวคิดที่นำเสนอมาเป็นจริยศาสตร์สากล หรือจริยปรัชญา มิใช่จริยศาสตร์ทางศาสนา... ซึ่งศาสนาทั้งหมดจะมีกรอบความคิดเรื่องจริยศาสตร์เป็นแก่นสำคัญอยู่ด้วยเสมอ และเฉพาะพระพุทธศาสนาจะเรียกกันว่า พุทธจริยศาสตร์...

สำหรับจริยศาสตร์สากล วอร์นอกซ์ ( Warnock, G.H ) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า การทำความเข้าใจเจตนารมณ์ทั่วไปของหลักศีลธรรม เพื่อสนับสนุนสถานภาพของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น และเพื่อไม่ทำให้สถานภาพที่ลำบากของมนุษย์เลวลง... ซึ่งอาจขยายความว่า เพื่อความเป็นปึกแผ่น ความอยู่ดีกินดี หรือความสงบร่มเย็นของมวลมนุษยชาติ .. ประมาณนี้

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ จริยศาสตร์สากลมิได้มองไปถึงวงจรชีวิตอื่นๆ ของมนุษย์ ซึ่งต่างกับจริยศาสตร์ทางศาสนาที่จะครอบคลุมวงจรชีวิตทั้งหมด กล่าวคือ ตั้งแต่เกิด (หรือก่อนเกิด) จนกระทั้งชีวิตหลังความตาย... แต่แนวคิดเหล่านี้ก็อาจแตกต่างกันไปแต่ละศาสนา...

.............

เฉพาะคำสอนทางพระพุทธศาสนา มีจุดหมายสูงสุดอยู่ที่การสิ้นอาสวกิเลสที่เรียกว่านิพพาน ... ยอมรับการเวียนว่ายตายเกิด และการสร้างสมบารมีเพื่อนำไปสู่จุดหมายที่คาดหวัง...

เมื่อเพ่งมองเฉพาะอุปนิสัยที่พึงปรารถนาที่เรียกว่า คุณธรรม แล้ว... คำสอนทางพระพุทธศาสนามีคุณธรรมมากมาย เช่น เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา (พรหมวิหาร ๔)... ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา (อิทธิบาท ๔)... ขันติ สัจจะ ทมะ จาคะ (ฆราวาสธรรม ๔) ... ฯลฯ ซึ่งคุณธรรมเหล่านี้ล้วนสนับสนุนจุดหมายสูงสุดคือ พระนิพพาน ทั้งนั้น

นอกจากคุณธรรมเหล่านี้จะสนับสนุนจุดหมายสูงสุดแล้ว คุณธรรมเหล่านี้ยังเป็นพื้นฐานของสิ่งที่พึงคาดหวังที่เรียกว่า ประโยชน์ ซึ่งมีทั้งในชาตินี้ ชาติต่อๆ ไป อีกด้วย...

การพัฒนาคุณธรรมให้ละเอียดปราณีตขึ้นทำนองนี้เรียกว่า บารมี โดยจำแนกคุณธรรมชั้นบารมีนี้ไว้ ๑๐ ประการ กล่าวคือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ... นั่นคือ เมื่อบารมีเหล่านี้เต็มเปี่ยมแล้วก็จะเข้าถึงพระนิพพาน... ประมาณนี้

คุณธรรมเหล่านี้จะสอดคล้องหรือเกื้อหนุนซึ่งกันและกันเพื่อพัฒนาบุคคลไปสู่จุดหมายดังกล่าว ถ้าหากว่าคุณธรรมเหล่านี้อาจขัดแย้งกันบ้าง ก็จะมีคำอธิบายหรือข้อวินิจฉัยอย่างเป็นระบบ... 

และมิใช่พุทธจริยศาสตร์เท่านั้น จริยศาสตร์ของศาสนาอื่นๆ ก็มักจะมีรูปแบบเป็นไปทำนองนี้ เพียงแต่จุดหมายและรายละเอียดอื่นๆ แตกต่างกันไปเท่านั้น... หรืออาจกล่าวสั้นๆ ได้ว่า จริยศาสตร์ทางศาสนามีรูปแบบเหมือนกัน แต่วิถีทางต่างกัน ...ประมาณนี้

.....

จริยศาสตร์ทางศาสนาอาจครบถ้วนสมบูรณ์ในสังคมเชิงเดียว กล่าวคือมีแต่ผู้ยอมรับเหมือนๆ กัน... แต่ในสังคมเชิงซ้อนซึ่งมีความคิดเห็นหลากหลาย จริยศาสตร์ทางศาสนาหนึ่งศาสนาใดอาจไม่สามารถตอบสนองคนทั้งหมดได้..

ดังนั้น จึงต้องมีจริยศาสตร์สากลโดยก้าวข้ามพ้นความคิดเห็นทางศาสนาแล้วใช้เหตุผลเพื่ออธิบายให้เป็นที่ยอมรับและแปรสภาพเป็นกฎหมายเพื่อเป็นวิถีปฏิบัติของสังคมทั่วไป... แต่เมื่อยังหาจุดลงตัวไม่ได้ก็ต้องถกเถียงหรือค้นหากันต่อไป... เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน คนเปลี่ยน จริยศาสตร์ที่ใช้เหตุผลนี้ก็ต้องเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน....

ส่วนความเชื่อทางศาสนาในปัจจุบันก็จะเป็นเพียง ศาสนา (........) ในความคิดเห็นหรือความเชื่อของข้าพเจ้า กล่าวคือ ศาสนาของคนใดก็ของคนนั้น เท่านั่น   

หมายเลขบันทึก: 121587เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2007 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท