ทำคลัสเตอร์ ไม่ยากอย่างที่คิด ? ตอนที่ 1


      แม้ว่า แนวความคิดการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับประเทศ ด้วยเครือข่ายอุตสาหกรรม  ที่เรียกว่า คลัสเตอร์ จะมีการนำมาทดลองใช้ในประเทศไทยหลายปีแล้ว ก็ตาม แต่ยัง ปรากฎว่า  แนวคิดดังกล่าว ยังไม่ถึงฝั่งฝัน อย่างที่ผู้คนในวงการวาดหวังกัน  แต่หากจะด่วนสรุปว่าแนวคิดนี้ ไม่เหมาะสมกับสังคมไทย   ก็คงจะเป็นการมองเฉพาะเปลือก  ไม่ได้ทำความเข้าใจลึกในระดับกระพี้    เพราะบางครั้ง กระบี่ อาจจะไม่ผิด  แต่ผิดที่คนใช้กระบี่ ก็เป็นได้
ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปรับผิดชอบการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารทะเลสำเร็จรูป  จังหวัดนครศรีธรรมราช  ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณ จากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 ขณะนี้อยู่ในระยะเวลาดำเนินการ  จะสิ้นสุดภายในปีงบประมาณ 2549   ประมาณเดือนกันยายนปีหน้า    พร้อมกับทีมงาน น้องตาล และน้องแก้ว  แม้ว่า ผู้เขียนเองจะเคยผ่านหลักสูตรการอบรมเป็นผู้ประสานงานคลัสเตอร์  หรือ CDA  จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  และมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการจัดตั้งคลัสเตอร์มาบ้างกับสถาบันต่าง ๆ  ก็ตาม  แต่ก็ยังพบว่ามีเรื่องตื่นเต้น ท้าทาย ให้ขบคิด ตลอดการทำงานครั้งนี้    และนี่อาจจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ผู้ที่มาเกี่ยวข้องกับการสร้างคลัสเตอร์ ทุกคนจะต้องประสบ ก็คือ  ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง หรือ ทฤษฎีตายตัว ในการทำงานรูปแบบนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการเรียนรู้  ตลอดเวลา  ซึ่งน่าสนุก  และท้าทาย
สิ่งแรก ๆ ที่ผู้เขียนมักจะพบตลอดเวลา ที่มาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็คือ การทำความเข้าใจในแนวความคิดนี้  ซึ่งจะต้องไล่เรียงกันมาตั้งแต่ การเปลี่ยนแปลงของกระบวนทัศน์ (Paradigm  shift) ความได้เปรียบของประเทศจากเดิม  เป็น แนวคิด  ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ
( Comparative Advantage )ความสามารถในการแข่งขันเกิดจากความได้
 เปรียบทางด้านปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่มีอยู่  ( Factor  Endowment ) มาเป็น แนวคิดใหม่  เป็นความได้เปรียบเชิงแข่งขัน  ( Comparative Advantage )ความสามารถในการแข่งขัน   เกิดจากการ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี ทักษะแรงงาน ระบบการบริหารจัดการที่ดีและ การสร้างมูลค่าเพื่อนำไปสู่การเพิ่มผลผลิต
( Productivity )
และคำสำคัญที่จะต้องอธิบาย เพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่ม คือ คำว่า
การเพิ่มผลผลิต  ( Productivity )  หมายถึง ความมั่นคงของประเทศในระยะยาว และ
คุณภาพชีวิตของประชาชน  จะถูกกำหนดจากความสามารถในการใช้ทรัพยากรมนุษย์  เงินทุน
และทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเพิ่มผลผลิตของ ประเทศนั้น ๆ  โดยผู้ที่ให้นิยาม และนำเสนอแนวคิดดังกล่าวนี้ คือ  Michael  E .Porter
 
 
 
 
 
    ผู้เขียนไม่อยากให้ถกเถียงกันเรื่องนิยาม ความหมาย  ความถูกต้อง ของคำว่า “คลัสเตอร์”นี้อีกแล้ว  เนื่องจากทุกคนต่างก็ยึดถือพจนานุกรม  และพจนานุกู  กัน  จนไม่มีเวลาไปปฏิบัติให้เห็นผล  เชื่อหรือไม่ ว่า  เพียงแค่จะกำหนดคำนิยามของคำว่าคลัสเตอร์ ที่ผู้เขียนเคยได้ทราบมา  มีการแลกเปลี่ยนกันข้ามวัน ข้ามคืน ก็ยังไม่จบ จนปรากฎว่าหัวข้ออื่น ๆ ที่เตรียมไว้ในการประชุม ต้องยกเลิกไป  ดังนั้น เพื่อให้กรอบแนวคิดและความเข้าใจตรงกัน ผู้เขียนจึงขอใช้ความหมาย ซึ่งนำมาใช้ในการปฏิบัติงานจริง และกรอบการทำงาน ของ UNIDO  ที่ผู้เขียนเคยไปศึกษาเป็นตัวอย่าง
 
 คลัสเตอร์  (พจนานุกรม)  หมายถึง  กลุ่มของคนหรือสิ่งของ เช่น พวง  , ช่อ  ,กระจุก , หย่อม , ก้อน 
คลัสเตอร์ (Michael  E.  Porter)   การกระจุกตัวทางภูมิศาสตร์ของวิสาหกิจ  และสถาบันที่เกี่ยวข้องในสาขาใดสาขาหนึ่ง  รวมถึง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและที่มีความสำคัญต่อสภาพการแข่งขันด้วย
 
คลัสเตอร์ (องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ  ( United  Nations  Industrial  Development  Organization – UNIDO )  หมายถึง
                การกระจุกตัว หรือ การรวมกลุ่มของวิสาหกิจที่ตั้งอยู่จึงในท้องถิ่น หรือ พื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน  โดยที่วิสาหกิจในกลุ่ม  ผลิตสินค้า หรือให้บริการที่มีลักษณะเหมือนกัน  เกี่ยวข้องกัน หรือ ส่งเสริมกัน   จึงเผชิญกับปัญหา   อุปสรรค  โอกาส  และการท้าทายทางธุรกิจที่คล้ายกัน  และรวมถึง  ผู้ให้บริการ (Service  Provider) สถาบันการเงิน (Financial  Institutes) สถาบันการสนับสนุนต่าง ๆ  (Supporting  Institutes) และหน่วยงานของรัฐ  ที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น  ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาของคลัสเตอร์ด้วย
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เลือกใช้คำจำกัดความของ UNIDO  เป็นบรรทัดฐานการสร้างคลัสเตอร์ในประเทศไทย
กรอบการดำเนินการและพัฒนาคลัสเตอร์  มีขั้นตอนการดำเนินการ  ขั้น ประกอบด้วย
1)   การกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มในคลัสเตอร์
·       ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ  และประโยชน์ของการพัฒนาคลัสเตอร์
·       ชักชวนและจูงใจให้เข้าร่วมกลุ่ม
·       การทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มสมาชิก
2)   การวิเคราะห์สถานภาพของคลัสเตอร์
·       ศึกษาขีดความสามารถในการแข่งขันของคลัสเตอร์
·       พิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
·       พิจารณาโครงสร้างและองค์ประกอบของคลัสเตอร์
·       พิจารณาแนวโน้มและช่องทางในการพัฒนาคลัสเตอร์
3)   การกำหนดยุทธศาสตร์ของคลัสเตอร์
·       สมาชิกร่วมกันพิจารณาผลการวิเคราะห์สถานภาพของกลุ่ม
·       ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของกลุ่ม
·       กำหนดแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน
4)   การปฎิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ของคลัสเตอร์
·       เริ่มต้นดำเนินโครงการนำร่อง เพื่อให้เห็นประโยชน์ของการร่วมกลุ่มในเชิงรูปธรรมอย่างรวดเร็ว
·       ดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ของคลัสเตอร์
 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12143เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2006 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท