ขะเนงของชาวขะมุเมืองหงสา


ท่านมีสิทธิ์คลานได้หากถูกเสนอสามขะเนง

ขะเนงเป็นคำลาว ใช้เรียกอุปกรณ์ตวงวัดปริมาณการดื่มเหล้าอุ (หรือที่พี่น้องผู้ไทเรณูเรียกไหช้าง)

ผู้บันทึกไปประสบที่บ้านห้วยเย้อ เมืองหงสา แขวงไชยะบุรี ใช้เวลาเดินทาง ย้ำเดินเท้าจริงๆ ประมาณ ๕ ชั่วโมง แต่แม้ไกลเพียงใดในวันนั้นก็มีเพื่อนร่วมทางเป็นเด็กน้อยอายุ ๑๑ ๑๒ปีที่เดินมาโรงเรียนบ้านนาปุงแล้วครูไม่สอนจึงเดินกลับพร้อมกัน

ชาวบ้านห้วยเย้อ เป็นชาวลาวเทิงเผ่าขะมุ ฤดูที่ไปเป็นหน้าฝน ทางเดินผ่านป่าอุดมไปด้วยทาก ที่โจมตีทั้งทางภาคพื้นดิน และทางอากาศคือดีดตัวจากยอดไม้ พักเหนื่อยต้องยืนแช่น้ำห้วยจะปลอดภัยจากฝูงทาก ไปพบชาวบ้านกำลังลงแขกดำนานายบ้านอยู่ จึงได้มีโอกาสรู้จักกับขะเนง และชิมเหล้าอุ แกล้มลาบเป็ด และแกงผักกาดของชาวขะมุ

เหล้าอุถูกหมักในไหเมื่อได้ที่ก็นำน้ำฝนมาเติมให้เต็ม หาเลาแขมหรือไม้ไผ่ลำเล็กๆมาทะลุปล้องสำหรับดูด เหมือนหลอดกาแฟไงครับ ในระหว่างพักกินข้าวกลางวัน ก็มีการเพิ่มพลังด้วยอุที่เตรียมไว้ นายบ้านได้เชิญเข้าร่วมวงสำหรับแขกพร้อมทั้งให้ลูกสาวมานั่งเสนอเหล้า ในฐานะแขกทางไกลเลยถูกเสนอเป็นคนแรก แน่นอนเหล้าแรงสุดๆ วิธีเสนอ สาวเจ้าจะใช้ขะเนงถือไว้ดังรูปข้างบน บรรจุน้ำฝนจนเต็มแล้วค่อยๆเปิดนิ้วชี้ออก ปล่อยให้น้ำไหลลงในไหอุที่บรรจุน้ำบวกเหล้าจนเต็มอยู่แล้ว ฝ่ายชายก็ต้องรีบดูดเหล้าจากไหโดยเร็วไม่ให้น้ำที่เธอปล่อยล้นจากไห จะถือว่าไม่ให้เกียรติ และเสียเชิงชายครับ หากฝ่ายเจ้าภาพเสนอ๓ขะเนง เราต้องสนอง แล้วเสนอตอบอีก ๖ ขะเนง รวมรอบเดียวเป็น๙ขะเนง วันนั้นก็ถูกเสนอหลายรอบเปลี่ยนไหไปเรื่อยๆ ขากลับน่าแปลกมากไม่รู้สึกว่ามีทากมาเกาะซักตัว

ขะเนงทำมาจากเขาของเลียงผา ถือเป็นของหายากทั้งหมู่บ้านมีอันเดียว จึงนำมาเล่าสู่ครับ

ปล. เล่าจากเหตุการณ์เมื่อประมาณปี ๒๕๔๕ ในคราวไปศึกษาชุมชน จากการกลับไปเยี่ยมเมื่อปีที่ผ่านมา สามารถนั่งรถไปจนถึงหมู่บ้านได้แล้ว นายบ้านยังเป็นคนเดิม แต่ต้อนรับด้วยเหล้าขาวในขวดแก้ว ส่วนขะเนงยังถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 121313เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2007 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พี่มองเห็นอะไรหลายอย่าง 

  • วัฒนธรรมชาวบ้านคือการให้เกียรติกัน
  • การให้เกียรติกันคือมีความหมายในทางบวกมากมาย เช่น เคารพกัน เปิดใจกว้างแก่กัน สร้างมิตรแก่กัน ประตูเปิดสำหรับ "สมานใจ" อย่างที่ครูบาสุทธินันท์กล่าว
  • การดึ่มของกันและกันเป็นการสื่อสารถึงกันว่า "เรารู้จักกันนะ เราใกล้ชิดกันเข้ามาแล้วนะ เราไม่ใช่คนนอกกันแล้วนะ.."
  • ล้วนแต่เป็นสื่อสัมพันธ์แบบจริงใจต่อกัน
  • มีแต่มุมมองดีๆ อาจจะมีมุมมองอื่นๆ นะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท