การจัดการความรู้ แบบมัชฌิมาปฏิปทา


การจัดการความรู้ต้องมีอิสระทางความคิด ต้องมีความพึงพอใจที่จะทำด้วยตนเอง เพราะความรู้อยู่ในตัวคน
 

        ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้รู้จักกับคำว่า การจัดการความรู้ ทั้งๆที่ผมและทุกท่านก็จัดการความรู้อยู่แล้วโดยไม่รู้จักคำนี้ และการจัดการความรู้ก็มีหลายระดับ อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น

  • การจัดการความรู้ระดับโมเลกุล ระดับ DNA
  • ระดับจิตวิญญาณ
  • ระดับธรรมชาติ
  • ระดับปัจเจก
  • ระดับครัวเรือน
  • ระดับชุมชน และ
  • ระดับองค์กร
 

จนกระทั่งมาถึงการจัดการความรู้แบบผิดธรรมชาติ ที่บางคนก็ยังคิดทำกันอยู่ เช่น

  • การจัดการความรู้ตามใบสั่ง
  • ตามคำขอหรือตามคำขู่
  • การจัดการความรู้แบบติดกรอบ หรือ
  • จัดการความรู้ตามแฟชั่น

ซึ่งไม่มีอิสระในความคิดแต่อย่างใด

ทำให้การจัดการความรู้แบบหลังๆ นี้ เป็นหลุมดำของ KM ไม่ค่อยมีประโยชน์

นอกเหนือการทำไปเพื่อถือว่าทำแล้ว คนอื่นจะได้ไม่ดูถูก หรือเพื่อผ่านการประเมิน เท่านั้น

  

        ทำไมการจัดการความรู้ประเภทตามใบสั่ง หรือตามแฟชั่น จึงไม่ค่อยเกิดผลในทางปฏิบัติ ผมพยายามมานั่งคิดดูว่า สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร

  

ผมคิดว่า การจัดการความรู้ดังกล่าว

  • ไม่มีช่องว่างให้ผู้ทำงานได้ใช้ความคิดของตนเองเลยครับ ทุกอย่างต้องทำตามกรอบที่วางไว้
  • มีหลักการ พร้อมกำหนดขั้นตอน
  • ให้ทำตามวิธีการ ทำตามหลักการ ทำตามกรอบที่มีคนวางไว้ให้

แล้วมันจะเกิดเป็นความรู้ได้อย่างไรครับ

ก็ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ไขลานอย่างนั้น ไม่ไขลาน หรือหมดลานก็ไม่เดิน

  

        ในความเข้าใจของผม การจัดการความรู้ต้องมีอิสระทางความคิด ต้องมีความพึงพอใจที่จะทำด้วยตนเอง เพราะความรู้อยู่ในตัวคนเท่านั้น ดังที่หลายๆ ท่านชอบสื่อความหมายว่า

  

ระเบิดจากข้างใน ไม่ใช่บีบจากภายนอก

          ข้อแตกต่าง 2 ประเด็นนี้ชัดเจนมาก การระเบิดจากภายใน แสดงว่ามีช่องว่างอยู่ข้างนอก ให้ระเบิดได้ เพราะถ้าไม่มีช่องว่าง ก็คงระเบิดไม่ได้ และการบีบจากภายนอกก็แสดงว่า บีบจนไม่มีช่องว่างให้เหลือที่จะคิด เพราะถูกบีบจนชนแกนในหมดแล้ว ที่ไม่ทราบว่าจะมีช่องว่างให้จัดการความรู้ได้อย่างไร          ประสบการณ์ตรงของผมก็คือ   

ทุกครั้งที่ผมสบายใจ สะดวกใจ ผมจะสามารถสร้างความรู้จากประสบการณ์ สังคม และธรรมชาติรอบตัวได้มากมาย ในเวลาเพียง 1 วัน

  

แต่วันไหนมีเรื่องที่ต้องทำวุ่นไปหมด ผมแทบจะไม่ได้ความรู้ใหม่เลย มีแต่ว่าต้องทำสิ่งที่อยู่ข้างหน้าให้เสร็จเสียก่อน

  

        นี่คือ ประเด็นที่ผมคิดว่า การจัดการความรู้ต้องมีช่องว่างทางความคิด เหมือนกับการเพาะต้นไม้ จากเมล็ด ต้องมีช่องว่างให้กล้าเจริญ ต้นไม้จึงจะงอกได้ ถ้ามีช่องเหลือเฉพาะเมล็ดอย่างเดียว ไม่ทราบว่าเมล็ดจะงอกได้อย่างไร 

     จริงไหมครับ...

  

        ฉะนั้น คุณอำนวย คุณเอื้อ ทั้งหลายครับ

  • ปล่อยให้ทุกคน และโดยเฉพาะคุณกิจมีช่องว่างหายใจสักนิดหนึ่งได้ไหมครับ
  • เพื่อเขาจะได้จัดการความรู้อย่างมีชีวิต มีประโยชน์
  • ไม่ใช่เดินตามที่ท่านชี้ให้เดิน
 

        ผมจึงไม่ค่อยเข้าใจว่า คนที่ไม่เคยเป็นคุณกิจ แต่ถูกใบสั่ง หรือตามตำแหน่งให้เป็นคุณอำนวย จะเดินไปยังไงครับ  คุณกิจ ก็ยังไม่เคยทำ ยังต้องมาเป็นพี่เลี้ยงเขาอีก แล้วใครจะเลี้ยงใครครับ หรือว่า ผมเข้าใจอะไรผิดไปครับ

  

        แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าน่าจะพยายามทำแบบสายกลาง มีช่องว่างพอสมควร (น้อยไปก็อึดอัด มากไปก็ขี้เกียจ) เพื่อให้คุณกิจ มีโอกาสระเบิดจากข้างในครับ แล้วเราจะได้มีระบบการจัดการความรู้ที่มีประโยชน์ และใกล้เคียงกับ KM ธรรมชาติมากที่สุด

           ขอบคุณมากครับ 
หมายเลขบันทึก: 121075เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2007 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 00:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับท่านอาจารย์ ดร. แสวง รวยสูงเนิน

  • เป็นบทความสั้นๆ แต่อธิบายได้อย่างลึกซึ้ง กินใจ ข้าฯน้อยจริงๆ ครับ
  • แสดงว่าวันนี้อาจารย์สบายใจ ซิครับจึงได้ไอเดียร์ดีๆ มาเล่าสู่กันฟัง

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อาจารย์

ผมเป็นสมาชิกค่อนข้างใหม่ครับ ได้อ่านบทความสั้น ๆของอาจารย์แล้วเห็นภาพชัดเจนในด้านการจัดการความร้มากครับ

P ดร. แสวง.....

จนกระทั้งปัจจุบันนี้ อาตมาก็ยังไม่รู้ว่า KM เป็นอย่างไร...

เห็นด้วยกับอาจารย์ว่า ถ้าถูกบีบจากภายนอก....

อาตมาไม่ค่อยอยากจะตอบ เมื่อมีใครต้องการให้อธิบายหรือให้เสนอความเห็นในหลายๆ ครั้ง.. อาจเป็นเพราะรู้สึกว่า ถูกบีบจากภายนอก... ก็ได้...

อีกประการหนึ่ง อาตมาไม่ค่อยชอบทำงานทำการเป็นเรื่องเป็นราวในหลายๆ ประการ เพราะอาจจะต้องการ ช่องว่างภายใน ก็ได้...

และเห็นด้วยกับอาจารย์อีกนั้นแหละ ในกรณีว่า ถ้าข้างในมีช่องว่างเกินไปแล้วจะ ขี้เกียจ ... เพราะอาตมารู้สึกว่า ยิ่งว่างก็ยิ่งขี้เกียจ ... ประมาณนั้น

เจริญพร

จริงครับ ระหว่างความขี้เกียจ กับความตึงเกินไป ผมมีทั้ง 2 อย่างเลย. น่าเสียดายที่มันเอามาชดเชยกันไม่ได้.

สวัสดีครับอาจารย์

  • ที่อาจารย์เปรียบเทียบกับการจัดการความรู้ต้องมีช่องว่างทางความคิดเหมือนกับการเพาะต้นไม้ จากเมล็ด....ช่วยให้คนทำงานเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์อย่างผมสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ และได้มุมมองเพิ่มขึ้น
  • ประเด็นระเบิดจากข้างใน ไม่ใช่บีบจากภายนอก...ผมนึกถึงสิ่งที่เคยได้ยินว่า ถ้าไม่เห็นทุกข์ก็ยังไม่อยากออกจากทุกข์ 
  • การทำแล้วล้มลุกคลุกคลานก็ยังดีกว่าการพายเรือวนอยู่ในอ่างโดยไม่รู้ตัว เพราะอย่างน้อยก็ยังได้ลองผิด ลองถูก และยึดหลักเจ็บแล้วจำจึงจะมีก้าวไปโดยไม่ต้องไขลานให้....เพราะเป็นการเรียนรู้จากภายในของแต่ละคนเอง
  • ขอบพระคุณครับ

 

เรียน พันธมิตรบล็อก ทุกท่าน

ขอขอบคุณที่เข้ามาเติมเต็ม ให้กับแนวคิดในการจัดการความรู้แบบทางสายกลาง ที่เป็นแนวทางในการพัฒนาที่น่าจะทำให้ทุกฝ่ายบรรลุเป้าหมายรวมได้ดีที่สุด มีความทุกข์น้อยที่สุด และเดินทางไปได้เร็วที่สุด

ผมเชื่อว่าถ้าเรามาทำงานกันในแนวนี้ เป้าหมายการจัดการความรู้ทุกหย่อมหญ้า คงอยู่ไม่ไกล

เพราะ แท้ที่จริงเราก็จัดการความรู้กันอยู่แล้ว แต่อาจไม่ชัดเจนพอ เป้าหมายเลยไม่ชัด และการชี้นำในบางครั้งทำให้เกิดการปิดกั้น

เพราะ

  • การทำงานแบบติดกรอบ
  • การไม่ผสมผสานแนวคิดใหม่ เข้ากับแนวคิดเดิมที่ทุกคนทำอยู่แล้ว
  • ทุกคนงง ว่า KM คืออะไร จนเกิดเป็น หลุมดำทางความคิด

และ ทำให้

  • การจัดการความรู้เดิมสะดุด
  • การจัดการความรู้ใหม่ เกิดภายใต้ความสับสน อึดอัด
  • แต่ต้องทำ เพราะมีคำขอ คำขู่ หรือใบสั่ง

เลย ทำงานแบบภาษาโคราชบ้านผมว่า "ไม่ไปไม่มา"

ผมผ่านเส้นทางแห่งการหลงนี้มาระยะหนึ่ง จนผมงง หยุดคิด แล้วกลับมาทบทวนใหม่

 ดังปรากฏผลที่เขียนมานี่แหละครับ

ท่านสมาชิกบางคนอาจจะเหมือนผมก็ได้ แต่บางท่านอาจแซงหน้าผมไปแล้ว ก็ขอให้นำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกันก็ดีนะครับ

ถือว่าช่วยๆกันนะครับ

ขอบคุณล่วงหน้าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท