การเขียนวิทยานิพนธ์ : การเขียนเค้าโครงบทที่ 2


เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะจะการจะได้มาซึ่งชื่อเรื่องนั้น ต้องค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง


    การเขียน การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ  ที่นิสิต  นักศึกษา จำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนั้นในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยการค้นคว้า การอ่าน จากตำรา  เอกสาร  บทความ  วารสาร   อินเทอร์เน็ต  เป็นต้นซึ่งจะช่วยให้ข้าใจประเด็น กรอบแนวคิดของการวิจัยชัดเจนมากขึ้น  แต่ส่วนมากแล้วมักจะถูกมองข้ามไป โดยเฉพาะนิสิต  นักศึกษาที่ทำวิจัยใหม่ ๆ มุ่งเพียงแต่จะทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จสิ้นรวดเร็วตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น เป็นการเขียนเนื้อหาเพื่อให้มีเนื้อหาสาระมาก ขาดการสรุปในแต่ละเรื่อง  ขาดการเชื่อมโยงสู่เรื่องที่วิจัยและที่สำคัญ นิสิต นักศึกษามักนิยมลอกต่อจากกันมาจากรายงานการวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ของผู้อื่น  ปัญหาตามคือทำให้นิสิต นักศึกษาไม่เข้าใจปัญหาที่ทำการวิจัยอย่างแท้จริง  เพราะพื้นฐานความรู้ การตั้งความมุ่งหมายของการวิจัย  สมมติฐานของการวิจัย  กรอบแนวคิดของการวิจัย  ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยและนิยามศัพท์เฉพาะ มาจากการศึกษาค้นคว้าเอกงานและวิจัยที่เกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น ส่งผลกระทบต่อการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์และสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์  ทำให้การสอบไม่ผ่านได้  ทำให้เสียเวลาในการทำวิทยานิพนธ์ใหม่  จะเห็นได้ว่าการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องนั้นมีความสำคัญมากต่อการทำวิทยานิพนธ์ เพราะเป็นขั้นตอนการวิจัยที่จะบอกให้นิสิต  นักศึกษาทราบว่า  มีความรอบรู้ในปัญหาที่ตนทำการวิจัยมากน้อยเพียงใด  ได้มีผู้ทำวิจัยในเรื่องนี้ในอดีตถึงปัจจุบันมากเท่าใด ได้มีการใช้แนวคิดอะไรบ้าง ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยอย่างไร และได้ข้อค้นพบอะไร ได้ข้อเสนอแนะอะไรบ้างทั้งในด้านเนื้อหาและผลการวิจัย และการเสนอผลการวิจัยถูกต้องหรือบ่งชี้อะไรบ้าง
    3.2.1  ความหมาย
     การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  หมายถึง  การศึกษา  ค้นคว้า รวบรวมวิเคราะห์และสังเคราะห์งานทางวิชาการ จากตำรา  เอกสาร  บทความทางวิชาการ อินเทอร์เน็ตและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องที่ศึกษา เพื่อประเมิน สรุป  ข้อเสนอแนะการวิจัยก่อนจะลงมือทำวิทยานิพนธ์ของตนเอง
    3.2.2   สิ่งที่พึงกระทำในการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
     ส่วนมากในงานวิทยานิพนธ์ มักจะพบปัญหาหรือมีข้อบกพร่องเรื่องบรรณานุกรมไม่ครบ เนื่องจากนิสิต  นักศึกษาขาดความรอบคอบในการจดบันทึก เมื่อมีการนำเอกสารหรือบทความมาใช้ในวิทยานิพนธ์ กล่าวคือ ไม่มีจดบันทึกเจ้าของเอกสารหรือเนื้อหานั้นหรือมีอ้างอิงในเนื้อหาและในบรรณานุกรมรวมไม่มี  เพื่อตัดปัญหาดังกล่าว เมื่อมีการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  นิสิต  นักศึกษาควรทำการจดบันทึกเนื้อหาสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่อง สถิติ/ข้อมูลต่าง ๆ  ที่จะนำมาอ้างอิง เพื่อความสะดวกในการอ้างอิงและนำมาใช้เรียงเรียง นอกจากนี้นิสิต  นักศึกษาควรทำการจดบันทึกเจ้าของบทความ  เนื้อหาที่นำมาด้วย โดยระบุชื่อผู้เขียน ชื่อตำรา ชื่อบทความในวารสารหรือชื่อวารสาร   ชื่อสถานที่พิมพ์  สำนักงานพิมพ์  ปีที่พิมพ์และถ้าเป็นวารสารต้องระบุเลขหน้า  ทั้งนี้เพื่อความสะดวกแก่การอ้างอิงได้อย่างชัดเจนและการค้นคว้าในครั้งต่อไป รวมทั้งการทำบรรณานุกรม


    3.2.3 แหล่งที่มาของเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
     แหล่งที่มาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง   สามารถจำแนกได้ดังนี้
      1.  บทความทางวิชาการของสาขาวิชาที่ตนศึกษาและสาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็น ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  ข้อดี คือความเป็นปัจจุบันของเนื้อหาและงานวิจัย ว่ามีความเคลื่อนไหวและมีแนวทางไปในทางทิศใดบ้าง
      2.  รายงานการวิจัยและวิทยานิพนธ์  ส่วนใหญ่รายงานวิจัยเหล่านี้มักจะทำโดย อาจารย์  นักวิจัย ภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย หรือสถาบันต่าง ๆ หรือ กองวิชาการตามหน่วยราชการ   บางแห่งได้ทำการรวบรวมเป็นบทคัดย่อเพื่อความสะดวกแก่การค้นคว้า  ส่วนวิทยานิพนธ์ทำโดยนิสิต  นักศึกษาที่ศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ประโยชน์ของการศึกษาวิทยานิพนธ์ คือ มีการศึกษาอะไรบ้างแล้วในอดีต มีมากน้อยเพียงใด  ทราบความยุ่งยากและสลับซับซ้อนของงานวิจัยเรื่องนั้น
ทราบถึงวิธีการศึกษาว่าเป็นอย่างไร การเก็บรวบรวมข้อมูล   การวิเคราะห์ข้อมูล ได้ค้นพบอะไรบ้าง    มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหัวเรื่องที่ศึกษา  เอกสารและงานวิจัยที่ใช้อ้างอิงมีอะไรบ้าง  อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรระวังในการศึกษาวิทยานิพนธ์ คือ  คุณภาพของวิทยานิพนธ์ เนื่องจากวิทยานิพนธ์แต่ละสถาบันการศึกษามีนโยบายเกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ไม่เหมือนกัน คุณภาพของงานวิทยานิพนธ์จึงแตกต่างกัน  หากนิสิต  นักศึกษานำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพต่ำมาเป็นตัวอย่างหรือแนวทางในการศึกษา อาจจะทำให้นิสิต  นักศึกษาพบปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ในด้านระเบียบวิธีวิจัยและการปกป้องวิทยานิพนธ์ของตนได้
      3.  ตำราทางวิชาการ  ส่วนมากแล้วจะเป็นเอกงานงานเขียนของนักวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นแหล่งความรู้หลักการ ทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง ที่มีการรวบรวมไว้เป็นเรื่องอย่างชัดเจน
แต่จะมีข้อเสีย  คือความล้าสมัยของตำรา
      4.  อินเทอร์เน็ต  ถือว่าเป็นแหล่งความรู้ที่ใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลาย
มีความใหม่ ทันสมัยที่สุด มีการปรับปรุงตลอดเวลา และสามารถสืบค้นได้ทั่วโลก มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  ดังนั้นการที่จะนำเนื้อหาหรือ ข้อความมาอ้างอิงควรกลั่นกรองว่ามีความเชื่อถือได้หรือไม่ 
    3.2.4  การเขียน นำเสนอเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 
     นิสิต  นักศึกษามักจะวิตกกังวลเสมอว่า หลังจากมีการศึกษาเอกสารและงานวิจัย    ที่เกี่ยวข้องแล้ว จะนำอะไรบ้างมาเขียนมาเสนอในบทที่ 2  จะเรียงลำดับหัวข้อเนื้อหาไหนก่อน หลัง    จะยกเอาเนื้อหาทั้งหมดหรือไม่นำมาเขียนหรือเอามาเฉพาะบางส่วน มีการอ้างอิงอย่างไร ดังนั้นการเขียน นำเสนอเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมีหลักการเขียน ดังนี้
      1.  ในบทที่  2 จะประกอบด้วยหัวข้อย่อย  2 ส่วน คือ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องที่ศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องที่ศึกษา
       1.1  เอกสารที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องที่ศึกษา  จะประกอบด้วย ความหมายของสิ่งที่หัวข้อเรื่องที่วิจัย   ทฤษฏี  แนวคิด กับสิ่งที่วิจัย เทคนิควิธีการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเอกสารอ้างอิงที่นำมาอ้างไม่น้อยกว่า 20 เล่ม  และการเขียนนำเสนอเอกสารที่เกี่ยวข้องควรนำเสนอหรือเรียบเรียงจากตัวแปรที่ระบุไว้ในหัวข้อเรื่องหรือในความมุ่งหมายของการวิจัย  โดยนิสิต  นักศึกษาประมวลสังเคราะห์ ทฤษฏีและแนวคิดต่าง ๆ มีผู้ใดได้ศึกษาหรือเสนอแนวความคิดและทฤษฏีอะไรไว้บ้าง   มีข้อโต้แย้งหรือข้อค้นพบอะไรกันบ้างตามตัวแปร  เริ่มจากหัวข้อหลักไปหาหัวข้อรอง  ตัวอย่างเช่น  ศึกษาเรื่องแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) สำหรับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย  การนำเสนอเอกสารประกอบด้วย
        -   ความหมายของ e-Leaning
         -  ความหมายของการพัฒนาการเรียนการสอน
         -  การเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์
         -  การจัดการเรียนการสอนบนระบบเครือข่าย
      การนำเนื้อหามาเขียนนั้น นิสิต  นักศึกษาควรเนื้อหาที่มีความทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์มาเขียน ยิ่งเรื่องที่ศึกษามีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื้อหาที่นำมาเขียนก็ต้องใหม่  เป็นปัจจุบันมากที่สุด  ที่สำคัญเมื่อมีการนำเนื้อหาของคนอื่นมาเขียนต้องมีการอ้างอิงทุกครั้ง เพื่อให้เกียรติเจ้าของเนื้อหาเป็นสำคัญ  ซึ่งการอ้างอิงนั้นขึ้นอยู่กับรูปของสถาบันกำหนดและเมื่อการนำเนื้อหามาเขียนแล้ว หลังจากหัวข้อหรือหัวข้อย่อย  นิสิต  นักศึกษาต้องสรุปโดยใช้ภาษาของตนเอง ตัวอย่างเช่น
  ความหมายของบทเรียนบนเครือข่าย
   ข่าน  (Khan.    1997  :  42)  ได้ให้ความหมายว่า  เป็นโปรแกรมไฮเปอร์มีเดียที่ช่วยในการสอน  โดยใช้ประโยชน์จากคุณลักษณะและทรัพยากรของอินเทอร์เน็ต  (www)  มาสร้างให้เกิดการเรียนรู้  โดยส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนในทุก ๆ  ทาง 
   ปรัชญนันท์  นิลสุข    (2543  :  48)  ได้ให้ความหมายว่า  บทเรียนบนเครือข่าย  (WBI)  หมายถึง  การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตมาออกแบบและจัดระบบเพื่อการเรียนการสอน  สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้  มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายที่สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา
   ไชยยศ  เรืองสุวรรณ    (2546 ค  :  14)  ให้ความหมายของบทเรียนบนเครือข่าย (WBI)  ว่าเป็นบทเรียนคอมพิวเตอร์ที่นำเสนอผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยใช้เว็บเบราเซอร์เป็นตัวจัดการ
   สรุปได้ว่าบทเรียนบนระบบเครือข่าย  (WBI)  หมายถึง บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่นำเสนอผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยใช้เว็บเบราเซอร์เป็นตัวจัดการ
       1.2  งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  หมายถึง  งานวิจัยที่นิสิต  นักศึกษา   รวบรวม ค้นคว้า เน้นเกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องที่ตนศึกษา ซึ่งมีหลักเกณฑ์ว่า งานวิจัยในประเทศ อย่างน้อย 10 เรื่อง และปีที่ทำเสร็จไม่เกิน 10 ย้อนหลัง   งานวิจัยต่างประเทศ อย่างน้อย 5 เรื่อง ไม่เกิน 15 ปีย้อนหลัง อย่างไรก็ตามกรณีที่เป็นเรื่องใหม่มาก ๆ หางานวิจัยไม่พบสามารถอนุโลมได้  การเรียบเรียงงานวิจัยนั้นเริ่มจากงานวิจัยภาษาไทย(เรียงตามพ.ศ.ปัจจุบันย้อนหลัง)และตามด้วยงานวิจัยต่างประเทศ การนำงานวิจัยมาเขียนในบทที่ 2 นั้นให้นิสิต นักศึกษายกข้อความจากบทคัดย่อของแต่ละเรื่องได้เลย ซึ่งมีลักษณะการเขียนประกอบด้วย  ชื่อผู้วิจัย (ปีที่พิมพ์ : เลขหน้าหรือที่มา)  ได้ศึกษา ..เรื่องที่วิจัย ....... ผลการวิจัยพบว่า ..........................  หรือ ประกอบด้วยชื่อผู้วิจัย (ปีที่พิมพ์ : เลขหน้าหรือที่มา)  ได้ศึกษา ..เรื่องที่วิจัย .......  ความมุ่งหมายของการ ............ กลุ่มตัวอย่าง ..........ผลการวิจัยพบว่า .......................... ตัวอย่างเช่น   
  สรรพสิริ  เอี่ยมสะอาด(2547 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาการพัฒนาแผนการเรียนรู้โดยใช้
แบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์  เรื่องการบวกลบเศษส่วน  ชั้นประถมศึกษาปีที่  6  ผลการศึกษาพบว่า 
1)  แผนการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์  เรื่อง  การบวกลบเศษส่วน  ชั้นประถมศึกษาปีที่  6  ที่ผู้ศึกษาค้นคว้าพัฒนาขึ้น  มีประสิทธิภาพ  83.39/77.50  ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้เท่ากับ  75/75  และมีดัชนีประสิทธิผลของแผนการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนอย่างมีนัย  ผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น  ร้อยละ  70  หลังจากเรียนตามใช้แผนการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ
และ 2)นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการจัดการเรียนรู้  โดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ  วิชาคณิตศาสตร์  เพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ  .01  และมีความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะอยู่ในระดับมาก

ทองสง่า ผ่องแผ้ว21/08/2550

หมายเลขบันทึก: 120936เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2007 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แล้วเราจะสืบค้น และมีวิธีการหาข้อมูลอย่างไร ในการทำบทที่ 1 และบทที่ 2 คะ ( ถ้าเราไม่ไปหาข้อมูลที่มหาวิทยาลัย)

ได้ความกระจ่าง

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท