ชีวิตจริงของอินเทอร์น : เทียบท่า KM


   

เรื่องของการถักทอเครือข่ายเพื่อสร้างสังคมโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนี้ คือหนึ่งในภารกิจที่เป็นเจตนารมย์ของโรงเรียนเพลินพัฒนามาตั้งแต่แรกก่อตั้ง ดังนั้นจึงไปด้วยกันได้ดีกับงานสานเครือข่ายการจัดการความรู้ภาคการศึกษาของ สคส.

   

วันพุธกลางเดือนสิงหาคม จึงเป็นอีกวันหนึ่งที่ดิฉันมีความสุขใจที่ได้เห็นงานก้าวหน้าไปอีกขั้น ในครึ่งเช้าของวัน คณาจารย์จากโรงเรียนวัดท่าเรือ จ.กาญจนบุรี จำนวน ๓๓ คน ได้มาที่โรงเรียนเพลินพัฒนา เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์งานจัดการความรู้ภาคปฏิบัติ หลังจากที่ทางโรงเรียนวัดท่าเรือได้เชิญวิทยากรภายนอกมาให้ความรู้ความเข้าใจในแนวคิดและวิธีการกันไปยกหนึ่งแล้ว

    

หลังจากที่ทุกท่านได้แบ่งกลุ่มเดินชมโรงเรียนแล้ว ทั้ง ๓ กลุ่มก็มาพบกันที่ห้องอเนกประสงค์ของส่วนงานชุมชนแห่งการเรียนรู้ เพื่อรับฟังและรับชมการนำเสนอปรัชญาและแนวทางของโรงเรียนเพลินพัฒนา  จากนั้นดิฉันก็ได้ขอให้ทางโรงเรียนวัดท่าเรือกล่าวถึงความคาดหวังของการมาเยือนในครั้งนี้ ซึ่งประเด็นหลักก็คือการมาแลกเปลี่ยนกันในแนวคิดและประสบการณ์การจัดการความรู้ในบริบทของโรงเรียน

    

โรงเรียนวัดท่าเรือได้นำประสบการณ์ในการเรียนการสอนในกลุ่มสาระวิชาศิลปะ และกลุ่มสาระวิชาคณิตศาสตร์มาเล่า เพื่อเร้าพลังซึ่งกันและกัน จากนั้นทางโรงเรียนเพลินพัฒนาก็ได้มาแลกเปลี่ยนในประเด็นของการบูรณาการกลุ่มสาระวิชาศิลปะเข้ากับคณิตศาสตร์  และการเริ่มต้นงานจัดการความรู้ของครูในช่วงชั้นอนุบาล

    

จากนั้นก็เป็นการนำเสนอหลักการของการทำงานให้เป็นการจัดการความรู้ ตั้งแต่หลักของการบริหารจัดการ ซึ่งหมายรวมตั้งแต่โครงสร้างกรรมสิทธิ์ การบริหารแบบมีส่วนร่วมในรูปของคณะกรรมการ ไล่ลงมาตั้งแต่กรรมการบริหารโรงเรียน คณะกรรมการปฏิบัติการโรงเรียน คณะกรรมการปฏิบัติการช่วงชั้น เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการในทุกระดับได้มีส่วนในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามแนวทางหลักที่ได้วางไว้ร่วมกัน ไปจนกระทั่งการประเมินผลลัพธ์สุดท้าย ที่แสดงให้เห็นเป็นพัฒนาการรายบุคคลของทั้งตัวครูผู้สอน และตัวของผู้เรียน

    

หลักสำคัญที่เราใช้คือ เด็กเป็นอย่างที่เราเป็น ไม่ได้เป็นอย่างที่ครูสอน ถ้าอยากให้ครูดูแลเด็กอย่างไร ครูของครู ซึ่งหมายถึงหัวหน้างานทุกระดับก็ต้องดูแลครูอย่างนั้น จะให้ครูดูแลเด็กเป็นรายบุคคล ครูของครูก็ต้องมีวิธีในการดูแลครูเป็นรายบุคคลด้วย เพื่อให้ชุมชนทั้งหมดเติบโตขึ้นภายใต้วัฒนธรรมเดียวกัน

 

ดังนั้นครูของครูจึงต้องสร้างโครงการพัฒนาครูขึ้น เพื่อจะได้พัฒนาครู(หรืออีกนัยหนึ่ง คือศิษย์ของตน) ให้มีเมล็ดพันธุ์ของความเป็นครูที่เติบโตต่อไปได้ในครูทุกคน

ในโอกาสนี้ทางโรงเรียนได้นำเอาภาพความเป็นมาของโรงเรียนในยุคก่อตั้งมานำเสนอให้ชม เพื่อแสดงให้เห็นว่า KA ที่แสดงให้เห็นเส้นทางที่ผ่านมาของตัวงานนั้นล้วนน่าสนใจ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อปัจจุบันและอนาคตขององค์กร เพราะการจัดการความรู้ก็คือการจัดการกับความรู้เล็กๆที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกวันของการทำงาน และความสำเร็จเล็กๆนี่เอง ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาทั้งคน องค์กร ชุมชน และสังคมไปพร้อมกัน

  

ในตอนเย็นวันพุธ งานจัดการความรู้ของช่วงชั้นอนุบาล นำโดยครูเจี๊ยบ ชุตินารถ ผู้เป็น Best Practice ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนวัดท่าเรือในช่วงเช้า ได้มาชวนดิฉันให้ไปคุยหลักการที่ใช้ในการเล่าเรื่องเล่า และการทำ AAR ที่มีประสิทธิภาพ ให้กับครูในช่วงชั้นทั้ง ๓๐ กว่าคนฟัง เพื่อให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำได้ผลดีขึ้น ซึ่งดิฉันถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เข้าไปชื่นชมงานจัดการความรู้ของช่วงชั้นอนุบาลที่มีความเข้มแข็งมากขึ้นโดยลำดับ

และตัวครูแนน ปัทมา หัวหน้าช่วงชั้นผู้เอาใจใส่ในงานจัดการความรู้เป็นอย่างดี ก็ได้ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงงานที่ก้าวหน้าไปด้วยการนำภาพบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของช่วงชั้นอนุบาลมานำเสนอให้ได้ร่วมชื่นชมกัน

กิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงเย็นนี้เป็นการเสริมแรง และตอกย้ำว่าเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของงานจัดการความรู้ ซึ่งเป็นงานที่ทางโรงเรียนและทางช่วงชั้นให้ความสำคัญได้เป็นอย่างดี  

   

หมายเลขบันทึก: 120928เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2007 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามจากบันทึกชื่นชมของท่านอาจารย์วิจารณ์มาอ่านบันทึกครูใหม่แล้วก็อยากจะบอกว่า ครูใหม่เขียนเล่าได้ละเอียดเห็นภาพ เกิดพลังใจว่าเรื่องดีๆแบบนี้เป็นไปได้จริงๆ ขอบคุณครูใหม่มากๆค่ะ สมกับคำนิยมของท่านอาจารย์จริงๆค่ะ

ขอบคุณคุณโอ๋-อโณมากค่ะ ที่ตามมาให้กำลังใจ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท