เศรษฐศาสตร์และการเงินข้างเสา – ตอนที่ 2 กระแสเงินสดสำคัญกับตัวคุณอย่างไร (2)


ควรจะตรวจสอบสินทรัพย์ที่เขามีอยู่ว่ามีสินทรัพย์ไหนไม่จำเป็นบ้าง หรือเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (และบางครั้งก็อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยก็มี)

ในตอนที่แล้ว ผมได้นำเสนอแนวคิดเรื่องกระแสเงินสด ที่อาจจะสามารถนำมาใช้ในการบริหารเงินส่วนตัว และนำมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาการหมุนเงินไม่ทัน (ที่ผมอ่านพบในกระทู้ของเพื่อนพนักงานท่านหนึ่ง)   และผมได้พูดถึงประเภทของกระแสเงินสดว่าแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Flow from Operating Activities)
  2. กระแสเงินสดจากการลงทุน (Cash Flow from Investing Activities)
  3. กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน (Cash Flow from Financing Activities)

และผมก็ได้พูดถึงเรื่องกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไปแล้ว

ในตอนนี้ ผมจะขอพูดถึงกระแสเงินสดจากการลงทุนครับ

กระแสเงินสดจากการลงทุน ถ้าติดลบ หมายความว่าเราได้จ่ายเงินออกไปสำหรับการลงทุน ซึ่งไม่ใช่เรื่องไม่ดีนะครับ เพราะการจ่ายเงินออกไปสำหรับการลงทุนจะทำให้เราได้สินทรัพย์มา ถ้าลงทุนสร้างคอนโดฯ ก็ได้คอนโดฯ มาเป็นสินทรัพย์ ถ้าลงทุนซื้อหุ้น ก็ได้หุ้นมาเป็นสินทรัพย์   แล้วสินทรัพย์เหล่านี้ ก็จะเป็นแหล่งเงินทำมาหาได้ของเราในอนาคต   คอนโดฯ เราก็สามารถไปปล่อยเช่าได้ หรืออาจจะขายเอากำไรได้   หุ้น เราก็รับเงินปันผลได้ หรืออาจจะขายเอากำไรก็ได้เหมือนกัน   แต่นั่นมีข้อแม้ว่า เราต้องรู้จักเลือกลงทุนให้ถูก ลงทุนในสินทรัพย์ดีที่ก่อให้เกิดรายได้   ถ้ากลายเป็นว่าเราไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือสินทรัพย์ที่จะด้อยค่าลงในอนาคต การลงทุนก็จะสูญเปล่าไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น สินทรัพย์เหล่านั้นไม่สามารถเป็นแหล่งเงินทำมาหาได้ของเรา

ในกรณีของบริษัท ควรจะต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องครับ อย่างน้อยๆ ก็ต้องลงทุนเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์ (อาคาร อุปกรณ์ ฯลฯ) ให้อยู่ในสภาพดีจะได้สร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง   การตัดสินใจลงทุนของบริษัทในโครงการใหม่ๆ ก็จะมีวิธีการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้มั่นใจ (ในระดับหนึ่ง) ว่าเป็นการลงทุนที่เหมาะสม

ส่วนในกรณีที่กระแสเงินสดจากการลงทุนเป็นบวก หมายความว่าเราได้รับเงินจากการถอนทุน คือการขายสินทรัพย์ที่เราเคยลงทุนไว้ในอดีต   ในกรณีของบริษัท ถ้ามีการทบทวนแล้วสินทรัพย์ไหน ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือไม่ใช่ธุรกิจหลักแล้ว เมื่อขายไปได้เงินมา ก็สามารถนำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์อื่น หรือนำเงินไปลดภาระหนี้สินได้

ในตอนที่แล้ว ผมได้เสนอให้ลองทำงบกระแสเงินสดของเราเองที่ได้มาหรือจ่ายไปในแต่ละเดือน และแยกประเภทด้วย เป็นกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน กระแสเงินสดจากการลงทุน และกระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน   สาเหตุที่ต้องแยกก็เพราะว่า การดูว่ามีกระแสเงินสดหรือไม่เพียงแค่นั้น จะไม่ได้ภาพที่ครบถ้วน เช่น

  • ถึงจะมีกระแสเงินสด   แต่ถ้าได้มาจากกระแสเงินสดมาจาการลงทุนเป็นหลัก คือ มีการถอนทุนเก่าเพื่อได้เงินมา กระแสเงินสดที่ว่านั้นก็ไม่ยั่งยืน เพราะสินทรัพย์เมื่อขายแล้วก็ต้องหมดไป
  • บางครั้ง กระแสเงินสดติดลบ แต่พบว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานยังเป็นบวก หมายความว่า ยังมีกระแสเงินสดจากการทำมาหาได้อยู่   ที่ติดลบก็เพราะนำเงินไปลงทุน   ในกรณีนี้ ก็ยังอาจจะไม่มีปัญหามากนัก แต่ต้องมาดูว่าเราลงทุนเกินตัวไปหรือไม่อย่างไร

กลับมาเรื่องกระทู้ใน Web Board ที่ผมเขียนถึงในตอนที่แล้ว ย้อนความว่า มีเพื่อนพนักงานคนหนึ่งมีปัญหาหนี้สิน เริ่มหมุนเงินไม่ทัน   ผมเลยเสนอวิธีการแก้ปัญหาไป 2 ข้อครับ ข้อแรก คือ เขาควรจะตรวจสอบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของตัวเองว่าเป็นอย่างไร   ถ้าติดลบ ต้องหาวิธีเพิ่มรายได้หรือลดค่าใช้จ่ายเสียก่อน   สำหรับข้อที่สอง เขาควรจะตรวจสอบสินทรัพย์ที่เขามีอยู่ว่ามีสินทรัพย์ไหนไม่จำเป็นบ้าง หรือเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (และบางครั้งก็อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยก็มี) ถ้ามีก็ให้พยายามหาทางขายสินทรัพย์เหล่านี้ไป   ถ้าได้กระแสเงินสดเข้ามาจาก 2 ข้อนี้แล้ว ก็จะสามารถนำไปจ่ายหนี้ได้ แล้วจะค่อยๆ ลดภาระหนี้ลงไปได้   เมื่อหนี้ลดลง ดอกเบี้ยก็ลดลงด้วย ก็จะยิ่งทำให้มีเงินมาชำระหนี้ได้มากขึ้น จนกว่าสถานการณ์ทางการเงินจะดีขึ้น

หวังว่าแนวคิดนี้จะเป็นประโยชน์ครับ  สำหรับตอนหน้า ผมจะมาเล่าเรื่องกระแสเงินสดจากการจัดหาเงินครับ

หมายเลขบันทึก: 120663เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2007 19:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดิฉันได้อ่าน วิธีแก้ปัญหา การเงินหมุนไม่ทัน  ดิฉันเข้าใจดีในเรื่องที่คุณพูดมาในข้อนี้  คือคนเราเวลามีเงินมา อยากได้โน่น อยากได้นี่  เพราะคิดว่าตนเองมีรายได้ดี และตลอดไป อยากเช่นดิฉันเป็นตัวแทนขายประกัน  ดิฉันซื้อของผ่อนพร้อมกันถึง 3 ชิ้น ใน 3ชิ้นนี้แต่ละเดือนก็เกิอบเดือนละ2 หมื่นบาทคะ  ไม่มีปัญหาซักเดือน เพราะดิฉันรู้ว่าเดือนนี้จะต้องใช้จ่ายอะไร ดิฉันจะขยันขายแบบทั้งวันเลย  ได้หลายเคส ผลตอบแทนก็หลายหมื่น  แต่มาติดช่วงที่ดิฉันเรียนหนังสือนี้  การบ้านก็มาก ดิฉันต้องทิ้งงานการขายมาทำการบ้าน ด้วยนิสัยทำอะไรจริงจัง ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง  ดิฉันเคยมีรายได้ประจำเดือนจากการออกไปขายไประกัน ก็ลดฮวบฮาบ เงินที่จะส่งเป็นรายเดือนไม่มี  ดิฉันยอมเสีบเปรียบ เอาเงินสดที่มีอยู่ ไปจ่ายในลักษณะเงินสดหมดเลย  ในลักษณะตัดหนี้ตัดสินไปเลย  เพื่อความไม่เป็นกังวล เสียเปรียบเพราะเขาได้คิดดอกเราไว้เรียบร้อยแล้ว  บ้านหนึ่งหลัง รถ  2 คัน ตอนนี้ถึงดิฉันไม่มีเงิน  แต่ดิฉันก็ไม่มีหนี้คะ อีก 2 ปีเรียนจบค่อยทำงานเต็มที่ใหม่  ตำแหน่งที่มีอาจจะตกไป เพราะการไม่ทำงานต่อเนื่อง  ดิฉันคิดว่าดิฉันทำถูกต้อง เพราะเราตัดสิ่งทำให้เราไม่มีความสุข ในชีวิตออกไป  เหมือนตัดหนี้ที่ไม่ก่อเกิดรายได้  แต่ถ้าจะขายเพราะอยากมีรายได้ คงไม่  มีแต่จะหาเพิ่มอีกเมื่อมีความพร้อม  สวัสดีคะ

ขอบคุณคุณเล็กที่เข้ามา share ประสบการณ์ เป็นประโยชน์มากเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท