For who need to be Entreprenure


Tarrin จัดให้ น้องหม่อง
"21 กฎทองของผู้ประกอบการ"

กฎข้อที่ 1 หาช่องว่างทางธุรกิจและเติมช่องว่างนั้น (Find a vacuum and fill it)

หาโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นเนื่องจากธุรกิจที่มีอยู่ไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้ซื้อได้หรือหาทางเพิ่มค่าให้แก่ผู้ซื้อ ให้สูงกว่าที่ผู้ขายเดิมเสนอให้ ธุรกิจจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีผู้ซื้อที่ต้องการสินค้า หรือบริการนั้นๆ

กฎข้อที่ 2 ทำการบ้าน (Do you home work)

เมื่อคิดได้ว่าจะทำธุรกิจอะไร ผู้ประกอบการจะต้องทำการบ้านด้วยความระมัดระวังและรอบคอบซึ่งก็คือการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมตลาดว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ดังนั้นแทนที่ Bill จะเปิดร้าน Pizza Hut ร้านแรกในกรุงเทพ เขากลับเปิดร้านแรกที่เมืองพัทยา เพราะหลีกเลี่ยงคู่แข่งขันประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือ นักท่องเที่ยวและทหารเรืออเมริกันที่ใช้เมืองพัทยาเป็นที่พักผ่อนจากสงครามเวียดนาม จะเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญเพราะบุคคลเหล่านี้คุ้นเคยกับ Pizza ซึ่งประกอบด้วยแป้งและเนยแข็ง มากกว่าคนไทยในสมัยนั้น

กฎข้อที่ 3 คุณไม่มุ่งมั่นกับงาน ถ้าคุณไม่ทำงานด้วยความสนุก ( You won't be committed if you're not having fun)

เลือกทำธุรกิจที่เราสนใจและมุ่งมั่น Henry Ford ชอบรถ และ Bill gates นิยมชมชอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก การทำธุรกิจที่เราชอบไม่เพียงแต่ทำให้คุ้นเคยและสันทัดกับงาน ยังทำให้เราสนุกและทุ่มเทเวลาให้กับธุรกิจนั้น โดยไม่เบื่อหน่ายอีกด้วย คนที่เลือกทำธุรกิจที่ไม่ชอบ มักจะเบื่อหน่ายและเลิกเมื่อประสบปัญหา

กฎข้อที่ 4 ทำงานหนักก็เล่นสนุกด้วย ( Work hard, play hard)

Bill กล่าวว่าเมื่อเขาทำงาน เขาจะทำอย่างจริงจัง และทุ่มเทเวลาให้กับงานอย่างมากเพื่อให้สำเร็จผล ซึ่งก็จะมีต้นทุนทางสังคมและชีวิตส่วนตัว เขามีเวลาให้ตัวเองน้อย หรือกับครอบครัวและเพื่อนๆ ดังนั้นเขาจะใช้เวลาเล่นควบคู่ไปกับงานด้วย เช่น เขาเรียนรู้การขับเครื่องบินส่วนตัว และใช้เการเดินทางเช่นนี้ให้ประโยชน์ในการบินไปตรวจความก้าวหน้าโครงการลงทุนต่างๆ ในต่างจังหวัด หรือ ประชุมธุรกิจต่างเมืองเป็นต้น

กฎข้อที่ 5 ทำงานร่วมกับ "มันสมองของผู้อื่น" (Work with other people's brains)

ผู้ประกอบการสมัยใหม่จะต้องรู้จักจ้างคนหรือหาผู้ร่วมงานที่มีความรู้สูง เพราะโลกธุรกิจมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นการตัดสินใจทางธุรกิจต้องอาศัยข้อมูล และการวิเคราะห์ที่ดี Bill ให้ข้อสังเกตว่า เวลาที่เขารับคนเข้าร่วมงาน เขาจะไม่ให้ความสนใจประวัติของผู้สมัครงานมากนัก แต่จะให้ความสนใจบุคลิกภาพ ความกระตือรือร้นที่จะมาช่วยผลักดันให้ธุรกิจของบริษัทดำเนินไปด้วยดี แต่เมื่อธุรกิจของกลุ่มขยายใหญ่โตมากขึ้น เขาได้มอบหมายให้ฝ่ายบุคคลเป็นผู้ดำเนินการสัมภาษณ์ และประเมินผู้สมัครแทน ซึ่งโดยปกติจะต้องผ่านการสัมภาษณ์จากผู้บริหารอย่างน้อย 6 คนด้วยกัน

กฎข้อที่ 6 ตั้งเป้าหมาย อย่ามุ่งแต่วิสัยทัศน์อย่างเดียว (Set goals but go easy on the " vision" thing)

)
เป้าหมายทางธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะต้องเริ่มต้นที่สิ่งเล็กๆ ก่อน ไม่เหมือนกับวิสัยทัศน์ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหญ่ Bill ได้ยกตัวอย่างว่าถ้าเราจะสร้างกำแพงที่ใหญ่โต เราจะต้องเริ่มต้นที่วางอิฐก้อนแรกเสียก่อน และเติมอิฐไปที่ละก้อนจนกลายเป็นกำแพงมหึมา เปรียบเสมือนกลุ่มธุรกิจของเขาวันนี้ ซึ่งเขาไม่ได้เริ่มต้นเป็นวิศัยทัศน์ไว้ก่อนว่าจะต้องมีรูปแบบธุรกิจแบบนี้ แต่เขาเริ่มต้นที่ธุรกิจแต่ละธุรกิจ ที่ละบริษัท จนกลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่เข้มแข็ง ถ้าเขาเริ่มต้นที่วิสัยทัศน์ก่อน เขาอาจจะเป็นนักวางแผนมากเกินไป แทนที่จะเป็นผู้ทำงานที่ดี


กฎข้อที่ 7 เชื่อความนึกคิดของตนเอง ( Trust your intuition)

ผู้ประกอบการมักจะมีลางสังหรณ์หรือสัญชาติญาณ และตัดสินใจไปตามนั้น บางครั้งทำให้ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการเป็นผู้บริหารที่ดือดึงต่อคำแนะนำของผู้อื่น Bill กล่าวว่าเขามักจะรับฟังความคิดเห็นของผู้บริหารอื่น รวมทั้งตัวเลขต่างๆที่นำเสนอ แต่เมื่อมาถึงวินาที่สุดท้ายของการตัดสินใจแล้วเขาจะเชื่อความรู้สึกของตนเอง เมื่อเขาจะสร้างศูนย์การค้าที่เมืองพัทยา(Royal Garden Plaza) ผู้บริหารอื่นไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าธุรกิจคงไปไม่รอด ไม่เหมาะสมกับเมืองพัทยาที่จะมีศูนย์การค้ารองรับครอบครัวที่มาเที่ยวหาความสนุก แต่ความรู้สึกของเขากลับตรงกันข้ามเขาตกลงสร้างศูนย์การค้านี้ขึ้นมา พร้อมกับร้านอาหาร และ Ripley's Believe it or not! เพราะเชื่อว่าครอบครัวจะเลือกมาเที่ยวพักผ่อนที่พัทยามากขึ้นและก็เป็นความจริง เพราะเพียงสองเดือนที่ Ripley's เปิดดำเนินงาน ได้มีผู้เข้าชมถึง 50,000 คนในแต่ละเดือน

กฎข้อที่ 8 ไปให้สุดขอบฟ้าอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต (Reach for the sky at least once)

เมื่อจะทำธุรกิจ ก็ต้องคิดการใหญ่ กล้าพอที่จะเสี่ยง ความทะเยอทะยานที่จะประสบผลสำเร็จทางธุรกิจจะเป็นเครื่องชี้นำไปสู่การค้นคว้าหาความดีเลิศทางธุรกิจ ซึ่งอาจะเป็นธุรกิจเล็กหรือธุรกิจใหญ่ก็ได้ Bill Heinecke มีความทะเยอทะยานอยากจะหยิบยื่นความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าทุกๆคนที่เข้ามาที่ร้านอาหารของเขา เขาอยากจะสร้างโรงแรมที่สวยสะอาดให้บริการแก่ลูกค้าอย่างมีคุณภาพ ทำให้ผู้เขาพักต้องระลึกถึงความทะเยอทะยานเช่นนี้ ทำให้เขากระตือรือร้นแข่งขันธุรกิจกับยักษ์ใหญ่ธุรกิจข้ามชาติได้ เช่น McDonald's , Kentucky Fried Chicken และร้านอาหารอื่นๆ และเขากล้าท้าทายในการแข่งขันกับ Goldman Sachs แย่งซื้อหุ้นโรงแรม Regent Bangkok และในเวลานี้ Bill กำลังท้าทายกับ Tricon เพื่อแย่งชิงตลาด Pizza

กฎข้อที่ 9 เรียนรู้วิธีการขาย (Learn to sell)

ศิลปะการขายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ เขาต้องพยายามทำให้ลูกค้าเชื่อถือว่าสินค้าหรือบริการที่เขาขายมีคุณค่ามากกว่าของคู่แข่ง ซึ่งผู้ประกอบการบางคน เกิดมาก็มีทักษะและศิลปะการขายมพร้อมกัน แต่บางคนก็ต้องเรียนรู้ซึ่งก็คงไม่ยากนักที่จะเรียนรู้ ถ้าเรามีความกระตือรืร้นอย่างจริงจังกับสินค้าและบริการที่ขายอยู่ ถ้าเราไม่มีสิ่งนี้เลย เราก็แพ้แต่เริ่มต้นแล้ว ผู้ประกอบการหรือการดำเนินธุรกิจจะต้องเกี่ยวข้องกาบการขายตลอด ไม่เพียงแต่ขายให้แก่ผู้ซื้อ แต่ยังหมายถึงการขายความคิดให้แก่ผู้ร่วมทุน ผู้สนับสนุน ผู้ขายวัตถุดิบ ผู้สนับสนุนเงินทุน ฯลฯ

กฎข้อที่ 10 จงเป็นผู้นำ (Become a leader)

ผู้ประกอบการต้องเป็นผู้นำในเรื่องการตัดสินใจ แม้ว่าการตัดสินใจนั้นอาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดก็ตาม แต่เขาต้องตัดสินใจเพื่อแสดงตนเป็นผู้นำ เขาจะเป็นผู้นำได้อย่างไร เมื่อเขามอบหมายการตัดสินใจหรือความรับผิดชอบให้ผู้อื่นทำหน้าที่แทน ผู้นำต้องกล้ารับความเสี่ยงต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์และยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นสิ่งที่น่ายินดีแม้ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดก็ตาม เพราะเป็นการตัดสินใจของผู้ประกอบการเอง มิใช่การตัดสินใจจากผู้อื่น

กฎข้อที่ 11 เรียนรู้ความล้มเหลวและปล่อยให้มันผ่านไป (Recognize a failure and move on)

ยอมรับความล้มเหลว แม้ว่าจะทำให้เรา " เสียหน้า" ไปบ้างก็ตาม และผู้ประกอบการที่ดีควรมองเห็นความผิดพลาดและยอมรับเสียแต่ต้นๆ เพราะถ้าเราปกปิดไว้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะขยายวงกว้างออกไป เมื่อตัดสินใจผิด หรือคิดผิดพลาดไป ก็ถือว่าเป็นบทเรียนในครั้งต่อไป และให้ความผิดพลาดนั้น ผ่านพ้นไปให้เร็วที่สุดเพื่อเริ่มสิ่งใหม่ๆหรืองานใหม่ ความล้มเหลวความผิดพลาดไม่ใช่เป็นเรื่องที่ร้ายแรงผู้ทำผิดมักคิดไปเอง Thomas J. Watson ผู้ก่อตั้งบริษัท IBM ได้เรียกพบผู้บริหารคนหนึ่งที่ทำความผิดพลาดอย่างมากต่อบริษัททำให้บริษัทต้องเสียหายเป็นเงินหลายล้านเหรียญ เมื่อเข้าพบผู้บริหาร ผู้ทำผิดได้คิดไว้ก่อนหน้าว่า Watson คงต้องการต่อว่าเขาและเรียกร้องให้เขาลาออกเสีย จึงชิงพูดก่อนว่า " จะขอลาออกเพราะความผิดที่ทำขึ้น" แต่ตรงกันข้าม Watson กับกล่าวตอบด้วยความนิ่งเฉยว่าเขาจะให้ผู้บริหารคนนั้นลาออกไปได้อย่างไร เพราะ " บริษัทได้ใช้เงินไปหลายล้านเหรียญเพื่อทำให้เขาเรียนรู้มากขึ้น"

กฎข้อที่ 12 ใช้โชคที่เกิดขึ้นให้เต็มที่ (Make the most of lucky breaks)

โชคเกิดขึ้นเสมอในธุรกิจ ในรูปแบบต่างๆกัน จากโอกาสทางธุรกิจ จากผู้ร่วมงานที่รับเข้าทำงานจากบุคคลในแวดวงธุรกิจที่ติดต่ออยู่ด้วย จากสุขภาพที่ดี ฯลฯ เมื่อเชื่อเช่นนั้น ผู้ประกอบการควรใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างเต็มที่ เพราะโชคไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ และไม่ได้อยู่นาน เมื่อธุรกิจที่ทำอยู่เจริญงอกงามด้วยดีก็ต้องขยายหรือกระจายธุรกิจให้เข้มแข็งมากขึ้น

กฎข้อที่ 13 รับการเปลี่ยนแปลงเปรียบเหมือนเป็นวิถีของชีวิต (Embrace change as a way of life)

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลที่คล่องแคล่วและมีความยืดหยุ่นสูงกับสภาพแวดล้อม เขาสามารถปรับตัวเองได้ดี และมักจะเปิดรับความคิดใหม่ๆ ได้ง่ายกว่าธุรกิจที่ใหญ่โต เช่นปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการสมัยใหม่ ต้องทำตนเองให้คุ้นเคยกับเครื่องมือการบริหารงานใหม่ๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ข่าวสารข้อมูล เครื่องมือทางการเงิน ภาวะผันผวนของอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ Bill ได้เล่าถึงสภาพปัญหาการจราจรในกรุงเทพ ทำให้ร้าน Pizza Hut ของเขาที่เปิดตามสถานที่ต่างๆ มีปัญหาลูกค้าไม่สามารถมาที่ร้านได้ ดังนั้นทำให้เขาต้องคิดถึงบริการส่งตามบ้านโดยอาศัยรถจักรยานยนต์เป็นเครื่องช่วย ซึ่งลูกค้าให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ปัจจุบันนี้ Pizza Hut ต้องใช้พนักงานถึง 1,200 คน ทำหน้าที่ส่ง Pizza ไปยังลูกค้าตามบ้านถึง 1.4 ล้านบ้าน

กฎข้อที่ 14 สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ (Develop your contacts)

ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ไม่ว่าทางด้านลูกค้าหรือ Suppliers เป็นเรื่องสำคัญ และไม่เพียงเท่านั้นผู้ประกอบการยังต้องหาพันธมิตรอื่นๆ อีกด้วย เช่น นายธนาคาร นักกฎหมาย นักหนังสือพิมพ์ นักบัญชี นักวิเคราะห์ นักการเมือง บุคคลเหล่านี้ประกอบเป็นเครือข่ายธุรกิจที่สำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจดำเนินไปด้วยดีการเลือกความสัมพันธ์ของกลุ่มคนเหล่านั้นเป็นเรื่องสำคัญและผู้ประกอบการต้องเลือกด้วยความระมัดระวังเพราะแทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจที่ทำอยู่อาจเป็นต้นทุนสำหรับธุรกิจก็ได้

กฎข้อที่ 15 ใช้เวลาอย่างฉลาด( Use your time wisely)

เวลามีจำกัด และสำหรับผู้ประกอบการแล้วเวลาเป็นเงินเป็นทอง คนทั่วไปใช้เวลาตามพื้นเพนิสัยของแต่ละคน ไม่ได้เอาใจใส่มากนัก จนเมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้น จึงทราบว่าตนเองได้สูญเวลาไปมากมาย ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจที่ดีเริ่มวันทำงานแต่เช้า ด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์ทางธุรกิจอย่างน้อย 2-3 ฉบับ เพื่อรับทราบความเป็นไปต่างๆ ในโลก ทั้งทางธุรกิจ สังคม และการเมือง เพื่อเสริมสร้างความรอบรู้ให้ทันสมัยตลอดเวลา และถ้ามีเวลาในช่วงใดช่วงหนึ่งของสัปดาห์ ก็ควรจะอ่านหนังสือข่าวเศรษฐกิจ การเมืองประจำสัปดาห์ เช่น Far Eastern Economic Review หรือ Time และหนังสืออื่นที่น่าสนใจ งานแรกแต่ละวันก็คือการเตรียมรายชื่อบุคคลต่างๆ ในบริษัทและบุคคลอื่น เพื่อจะพูดคุยติดต่อด้วย Bill จะใช้เวลาพูดคุยกับบุคคลต่างๆ ประมาณวันละ 50 คน เป็นอย่างน้อย เพื่อรับฟังปัญหา และรายงานทางธุรกิจต่างๆ นอกเหนือจากตัวเลขรายได้ที่จะต้องรายงานให้ทราบจากร้านอาหาร 200 แห่ง ร้านค้าปลีกอีก 100 แห่ง และโรงแรม 7 แห่ง จากเทคโนโลยีข่าวสารที่ทันสมมัยขึ้น การติดต่อเหล่านี้ทำได้ง่ายโดยผ่าน e-mail ซึ่งในแต่ละวันจะมี e-mail ติดต่อเข้ามาถึง 100 ฉบับ Bill ไม่ชอบไปรับประทานอาหารกลางวันนอกที่ทำงานเพราะต้องเสียเวลาเดินทางทำให้เสียเวลานัดพบบุคคลต่างๆ ที่ที่ทำงานในตอนช่วงบ่าย นอกจากนี้เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปกับการะประชุม หรือ พบปะพูดคุยมากนัก เขาได้แนะนำให้การประชุมใช้เวลาสั้น และตรงประเด็นพยายามรักษาวาระการประชุมไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การประชุมยุติลงในเวลาและอย่างมีประสิทธิภาพ

กฎข้อที่ 16 รู้วิธีวัดเพื่อใช้วัดผลงาน (Measure of measure)

การวัดผลการดำเนินธุรกิจเปรียบเทียบกับจุดใช้เปรียบเทียบ (benchmark) เป็นสิงที่ผู้ประกอบการนิยมใช้กันมากในสมัยนี้ การหาวิธีวัดและการกำหนดจุดเปรียบเทียบเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเพราะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการดำเนินธุรกิจของตนเองของผู้นำตลาดที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน และคู่แข่งขันทางธุรกิจอีกด้วย ถึงกระนั้นก็ตาม การกำหนดจุดเปรียบเทียบสำหรับธุรกิจก็เป็นเรื่องทีสำคัญเพราะเป็นจุดเดียวที่สามารถทำให้ธุรกิจมีการปรับปรุงคุณภาพของธุรกิจให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ธุรกิจให้ความสนใจและเพ็งเล็งไปถึงการแข่งขันทางธุรกิจได้ดีขึ้น รู้ว่าธุรกิจตนเองทำอะไรได้ดีขึ้น และคู่แข่งขันมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง การวัดผลการทำงานนี้สามารถทำได้กับทุกธุรกิจ ทุกแผนกและกับบุคคลทุกตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นโรงแรมร้านอาหาร คนทำความสะอาด พนักงานขับรถ หรือ ผู้บริหารก็ตาม การทำเช่นนี้มีผลทำให้ทุกคนกระตือรือร้นมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานซึ่งมีผลดีต่อการทำธุรกิจโดยรวม ทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกับผู้นำธุรกิจด้านนี้ได้

กฎข้อที่ 17 อย่ายอมรับพนักงาน " ที่ไม่เอาไหน" (Don't put up with mediocrity)

ผู้ประกอบการทุกคนไม่ชอบที่จะไล่พนักงานหรือบุคคลใดออกจากบริษัท เพราะในประการแรกเป็นความผิดของผู้ประกอบการเองที่รับพนักงานนี้เข้ามาเพราะคิดว่าเขาสามารถจะทำงานได้ดี ประการที่สองการไล่พนักงานออก ทำให้บรรยากาศการทำงานเสีย และก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีแก่พนักงานอื่นๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้ประกอบการต้องตัดสินใจกำจัดพนักงานที่เลวร้ายนี้ออกไปจากบริษัท เพราะพนักงานที่ "ไม่เอาไหน" นี้จะแพร่พันธุ์ก่อให้เกิดพนักงานประเภทเดียวกันตามมาอีกมาก และท้ายสุดบริษัทก็ต้องล้มเหลว โดยปริยาย ตรงกันข้าม ถ้าบริษัทมีพนักงานที่ดีขยันขันแข็ง บริษัทก็จะมีแต่พนักงานที่ดีตามมา Somerset Maugham เคยให้ข้อสังเกตว่า " มันเป็นเรื่องที่ตลกสำหรับชีวิต ถ้าเราไม่ยอมรับสิ่งต่างๆ ที่หยิบยื่นมาให้เว้นแต่สิ่งที่ดีที่สุดแล้วละก้อ เรามักจะได้สิ่งที่ดีที่สุดเสมอ" ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการพบเห็นพนักงานทำงานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รีบกำจัดเสียแต่เนิ่นๆ มากเท่าไร ก็จะเป็นผลดีต่อบริษัทมากเท่านั้น

กฎข้อที่ 18 มุ่งหาคุณภาพ ไม่ใช่เงินตรา (Chase quality, not dollars)

ผู้ประกอบการไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักที่การสะสมความมั่งคั่ง แต่เขามุ่งเรื่องงาน ซึ่งบังเอิญ เป็นกระบวนการสร้างเงินทอง งานของเขาก็คือการแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆ การได้ชัยชนะเหนือคู่แข่ง ไม่ใช่ทำงานเพื่อเงินอย่างเดียวตามที่เข้าใจกันทั่วไปความแตกตางนี้เห็นได้ชัด เมื่อ Bill Gates ถูกถามว่าระหว่างงานและความมั่งคั่ง เขาจะเลือกอะไร Bill Gates ตอบทันทีว่าเขาจะเลือกงาน เพราะความสนใจของเขาไม่ได้อยู่ที่การมุ่งมั่นหาเงินหาทองเขาจึงไม่ใส่ใจว่าราคาหุ้นของ Microsoft จะมีราคาเท่าไร? การมุ่งมั่นที่งาน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดเป้าหมายการทำธุรกิจระยะยาวได้ ไม่ใช่หากำไรในระยะสั้น ธุรกิจบางธุรกิจ ต้องใช้เวลาในการดำเนินงานที่ยาวนานพอสมควรกว่าจะเห็นผลกำไร เช่น ธุรกิจโรงแรมเป็นต้น

กฎข้อที่ 19 แก้ไขวิกฤติการณ์ทันที (Act quickly in crisis)

เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องสามารถตัดสินใจเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจอย่างทันทีและเด็ดขาด Bill ได้เล่าถึงวิกฤติการณ์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1997 เมื่อประเทศไทยประสบปัญหาค่าเงินบาท และต้องปล่อยให้ค่าเงินลอยตัว เขาทราบข่าวขณะที่อยู่ที่ Hong Kong ในงานฉลองการส่งมอบเกาะ Hong Kong จากรัฐบาลอังกฤษ ให้แก่ รัฐบาลจีน ตลอดทางเขาต้องใช้ความคิดอย่างหนักว่าจะรักษาธุรกิจของเขาไว้ได้อย่างไร ซึ่งขณะนั้นทั้งกลุ่มธุรกิจของเขามีหนี้ต่างประเทศประมาณ 60-70 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อค่าเงินบาทลดลง 1 บาท เขาจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เขาตัดสินใจขายทอดตลาดการลงทุนทุกอย่างที่อยู่ต่างประเทศออกไป เพื่อรักษาธุรกิจในเมืองไทยไว้ ขายรถ Corvette และ Jaguar ที่เขาสะสมไว้ จำนองบ้าน เพื่อนำเงินมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและระดมเรียกประชุมพนักงาน ผู้บริหารเพื่อรับรู้ปัญหาและหาทางแก้ไขปัญหาที่จะเกิดตามมา เขายอมขายหุ้นร้อยละ 49 ในบริษัท Boots Thailand และบริษัท Lancome Thailand ให้แก่บริษัทแม่ของทั้งสอง และพยายามกระดมให้พนักงาน ผู้บริหารให้คิดในทางที่ดีเพื่อไม่ให้เสียขวัญและกำลังใจ กำหนดเป้าหมายทางธุรกิจหลักๆ เพื่อความอยู่รอดเป็นเรื่องใหญ่และให้ความเชื่อมั่นกับพนักงาน ผู้บริหาร ที่ยังคงอยู่ ซึ่งการดำเนินนโยบายนี้ก็ได้เห็นผลว่ากลุ่มบริษัทของเขาสามารถฝ่าวิกฤติการณ์มาได้ด้วยความเข้มแข็ง ซึ่งจะเห็นว่าในปี 1998 กลุ่มธุรกิจของเขาสามารถทำกำไรได้เกือบถึง 500 ล้านบาท

กฎข้อที่ 20 เมื่อล้ม ก็รีบลุกขึ้นทันที (After a fall , get back in the saddle quickly)

วิกฤติการณ์ค่าเงินที่ผ่านมา ให้บทเรียนที่ล้ำค่าแก่นักธุรกิจ ธุรกิจที่อ่อนแอต้องล้มหายตายจากไปเหลือแต่ธุรกิจที่เข้มแข็งเท่านั้นที่สามารถฝ่าฟันวิกฤติการณ์มาได้ ธนาคารและบริษัทเงินทุนยังคงมีปัญหาพอๆ กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทใหญ่ๆ อีกหลายบริษัท ที่ยังคงมีปัญหาหนี้สิน และการดำเนินธุรกิจ บางบริษัทอาจถึงขั้นที่ต้องล้มละลายไปในที่สุดเมื่อกลุ่มธุรกิจ Minors ฟื้นกลับคืนมาได้ Bill ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ เขารีบใช้โอกาสทองนี้ทำประโยชน์ต่อเนื่องทันที เขาต่อสู้กับบริษัท Goldman Sachs ในการประมูลต่อสู้เพื่อครอบครองโรมแรม Regent Bangkok แม้ว่าเขาจะพ่ายแพ้การประมูลดังกล่าวแต่เขาก็ภูมิใจที่ได้ต่อสู้กับยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจการเงินอย่าง Goldman Sachs

กฎข้อที่ 21 จงพอใจกับสิ่งที่มีอยู่ ( Be content)

กฎข้อสุดท้าย เป็นกฎที่ให้ข้อคิดให้เรามองตนเองด้วยความสุขอย่างแท้จริง แม้ว่าเราจะประสบผลสำเร็จทางธุรกิจมากมายก็ตาม ความสำเร็จทางธุรกิจมีความหมายที่ให้คุณค่าแก่ชีวิตเพียงเล้กน้อยเท่านั้น ถ้าไม่มีสิ่งอื่นๆ ประกอบตามมา ความสุขไม่ได้หมายถึงการได้ของทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ต้องการ ความสุขยังหมายถึงการดำเนินชีวิตด้วยความสมดุล พึงพอใจกับสิ่งที่ตนเองมีอยู่ และสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนแล้วขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ เช่น เมื่อเริ่มต้นการทำธุรกิจ การขาดทุน 10,000 เหรียญสหรัฐ ย่อมเป็นความเสียหายที่ใหญ่โตมโหฬาร มากกว่าความเสียหาย 10 ล้านเหรียญในเวลานี้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่ผ่านชีวิตธุรกิจมานานพอสมควร เขาย่อมจะทนรับสภาพความยากลำบาก และแรงกดดันทางธุรกิจมากว่าเดิมหลายร้อยเท่า และผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจ ไม่ควรลืมที่จะช่วยเหลือสังคมบ้างนำส่วนแบ่งผลกำไรคืนให้แก่สังคม

ที่มา : บทความเรื่อง " เศรษฐศาสตร์เพื่อผู้ประกอบการ: ข้อคิดจากนาย William E. Heinecke " โดย รศ.ดร. สรยุทธ์ มีนะพันธ์ สุทธิปริทัศน์ ปีที่ 15 ฉบับที่ 45 มกราคม -เมษายน 2544
หมายเลขบันทึก: 120615เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2007 13:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท