เมืองลำพูน พ.ศ. 2570 (8)


“มีมรดกที่ยั่งยืนเพียงสองอย่างเท่านั้นที่เราให้กับบุตรหลานได้ อย่างหนึ่งคือราก อีกอย่างหนึ่งคือปีก”

ฟ้าครับ ประชาชนชาวเมืองมีบทบาทสำคัญที่สุด ในการสร้าง “วิถีชีวิต” ที่พึงปรารถนาของตนเอง ชุมชนเมืองขนาดเล็กอย่างลำพูน นี้มีข้อได้เปรียบจาก “ความสัมพันธ์แบบมีรากฝังแน่นอยู่ในพื้นที่” ความสัมพันธ์นี้เป็นองค์ประกอบสำคัญ ของอัตลักษณ์ในเมืองขนาดเล็ก เช่น เราต้องถือว่า ร้านโชห่วยเป็นหน่วยทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่สร้างโอกาสในการกระจายผลผลิต รายได้ และการสะสมทุนในแนวนอน ที่อยู่นอกระบบราชการและระบบทุนขนาดใหญ่

ระดมความคิดทำภาพอนาคตเมืองลำพูน

ลงมาถึงหน่วยย่อยที่สุด ก็คือระดับปัจเจกบุคคลและกลุ่มคน ผมคิดว่ากลุ่มชาวเมือง สามารถมีพลังในการสร้างมรดกทางวัฒนธรรม ให้เป็นรูปธรรม และส่งต่อเป็น “มรดก” ได้จริง ๆ จากรุ่นสู่รุ่น เป็นสิ่งที่พ่อแม่เล่าให้ลูกฟัง หรือชี้ให้ลูกหลานดูได้ด้วยความภูมิใจใน “ราก” ของความเป็นชาวลำพูน เพื่อให้ลำพูนสามารถพลิกฟื้น ”สังคมประสานวัย” ที่คนสามรุ่นสามวัยคือพ่อแม่ ลูก และหลาน อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน มีผู้กล่าวว่า “มีมรดกที่ยั่งยืนเพียงสองอย่างเท่านั้นที่เราให้กับบุตรหลานได้ อย่างหนึ่งคือราก อีกอย่างหนึ่งคือปีก” (จำมาจากหนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People โดย Stephen R. Covey ครับ)

ในส่วนตัวของพวกเราคนทำงาน ต้องบอกว่าได้อะไรมากมาย จากการมองอนาคตเมืองลำพูนครั้งนี้ ลำพังแค่การทำงาน foresight ร่วมกับคนท้องถิ่นลำพูน ตั้งแต่นายกเทศมนตรี นายก อบต. เจ้าหน้าที่ และชาวเมืองที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ก็เป็นโอกาสดีมากให้เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ภาพที่มีการจับกลุ่มคุยกันต่อหลังการระดมความคิดจบไปแล้ว กลายเป็นภาพธรรมดาที่เห็นจนชินตา

โครงการนี้มีการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ด้วย  ทำให้ยิ่งน่าสนใจติดตามต่อไปว่า จากวันนี้เมืองลำพูนจะเดินไปในทิศทางใด และเมืองอื่น ๆ จะเรียนรู้จากประสบการณ์มองอนาคตเมืองลำพูน ได้มากน้อยแค่ไหน ที่ทำมาทั้งหมดนี้ยังต้องถือว่าเป็นการเริ่มต้น สำหรับการเรียนรู้ร่วมกันไป ส่วนภาพอนาคตที่มองในครั้งนี้ ก็น่าจะเรียกได้ว่า ไม่ได้มองในแง่ดีเกินไป หรือร้ายเกินไปจนสุดโต่ง ทุกภาพเป็นอนาคตที่เป็นไปได้ทั้งนั้น

แม้เรื่องของวันข้างหน้าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ควรต้องเริ่มต้นคิดครับ เรามักได้ยินบ่อยครั้งว่า ในยามที่ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ก็ไม่ค่อยมีใครอยากเชิญ foresight เข้ามาขัดจังหวะ เพราะเชื่อว่าจะดีอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อถึงวันที่เรียกหา foresight ทุกอย่างก็ดูจะสายไปเสียแล้วที่จะถามว่า “What if … ?”

โอ้... ทางที่ดีก็อย่ารอให้ถึงวันนั้นเลย ดีไหมครับ... ฟ้า

หมายเลขบันทึก: 120541เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2007 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท