betantawan
นางสาว ทานตะวัน แย้มบุญเรือง

การรู้จักและเข้าใจตนเอง(๒)


ยิ่งเราเคยผ่านการเข้าใจตนเองมามากเท่าไหร่ เราก็จะเข้าใจคนอื่นได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้นเท่านั้น

ก่อนที่จะบันทึกต่อจากตอนที่แล้ว ฉันอยากบอกว่า ฉันรู้สึกดีจังเลยค่ะที่มีคนเข้ามาอ่านบันทึกของฉัน แล้วมีบางท่านเขียนแสดงความคิดเห็นไว้ และบางท่านรวม blog ของฉันไว้ใน planet

และนั่นก็ทำให้ฉันมีความสุขในการอยู่กับตัวเองและอยู่ร่วมกับคนอื่นซะด้วยสิคะ

เมื่อเรารู้จักและเข้าใจตนเองแล้ว ก็จะเป็นวิถีทางที่จะช่วยให้เราเข้าใจ(Understanding)และยอมรับ(Accepting)คนอื่นค่ะ

ซึ่งก่อนอื่น เราต้องยอมรับว่ามนุษย์ทุกผู้ทุกนามนั้นมีอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานที่ไม่แตกต่างกัน(รัก ชอบ โกรธ เกลียด ดีใจ เสียใจ สมหวัง ผิดหวัง พอใจ ไม่พอใจ กลัว เศร้า เหงา ว้าเหว่ ปิติยินดี ปลาบปลื้ม ประทับใจ อบอุ่นใจ และอื่นๆอีกมากมาย) เราเป็นเช่นไร ใครคนอื่นก็เป็นเช่นนั้นได้ ในขณะที่คนอื่นเป็นเช่นไร ตัวเราก็เป็นเช่นนั้นได้ อาจต่างกันที่ช่วงเวลาหรือเหตุปัจจัยเท่านั้น

เมื่อยอมรับได้ดังนี้ ความเข้าใจคนอื่นก็จะเกิดตามมา ยิ่งเราเคยผ่านการเข้าใจตนเองมามากเท่าไหร่ เราก็จะเข้าใจคนอื่นได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งเมื่อเข้าใจคนอื่นแล้วการยอมรับคนอื่นก็จะเกิดตามมาด้วย เป็นการยอมรับที่รับรู้ว่า เขากระทำอะไร มีเหตุอะไรให้เขากระทำเช่นนั้น และมองว่าเป็นธรรมดาที่เหตุนั้นๆจะทำให้เขามีความคิด ความรู้สึก รวมทั้งแสดงออกมาเช่นนั้นได้

การยอมรับที่ฉันว่านี้ เป็นคนละอย่างกับการยอมตามหรือเห็นพ้องนะคะ บางครั้งเรายอมรับในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ว่า มันเกิดขึ้นได้ มันเกิดขึ้นแล้ว มันเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่หากจำเป็นต้องยับยั้ง เราก็ต้องทำค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเข้าใจและยอมรับจะทำให้เรายับยั้งมันได้อย่างนุ่มนวลขึ้น และโอกาสที่จะยับยั้งได้สำเร็จก็มีสูงกว่า การให้อภัยจะเกิดขึ้น แล้วความสงบและสันติจะเกิดตามมา ซึ่งนำไปสู่ "การอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุข" ได้ในที่สุด

อยากให้สังเกตนิดนึงค่ะว่า ฉันไม่ได้ใช้คำว่า"รู้จักคนอื่น" เหมือนกับที่ใช้ว่า "รู้จักตนเอง" นะคะ ซึ่งฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องยากที่เราจะไปรู้จักใครๆได้อย่างลึกซึ้ง  เพราะแม้กระทั่งบางแง่มุมในตัวเราเองก็ยังเป็นเรื่องยากกว่าจะที่เราจะรู้จัก

อีกประการคือ เราต้องไม่ไปตัดสินคนอื่น (Non-judgement) ด้วยความคิดหรือประสบการณ์ของเราแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะเรื่องบางเรื่องที่เราขาดประสบการณ์ อาจทำให้เราไม่ได้รู้จักและเข้าใจตนเองในแง่มุมนั้น แต่เราสามารถพิจารณาได้ด้วยการถามตัวเองว่า "ถ้าเป็นเรา เราจะเป็นอย่างไร" "ถ้าเป็นเรา เราจะมีโอกาสเป็นอย่างเขาได้หรือไม่" แค่นี้ก็น่าช่วยยับยั้งอคติได้บ้างนะคะ

ดูเหมือนจะต้องมีตอนต่อไปแล้วล่ะค่ะ

คราวหน้าฉันจะเขียนถึงวิธีการรู้จักและเข้าใจตนเองค่ะ

หมายเลขบันทึก: 120525เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2007 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เห็นด้วยครับ...

ผมว่า..คนที่จะเข้าใจผู้อื่นได้ จะต้องรู้จักและเข้าใจตนเองให้ได้เสียก่อน...

เรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเองและผู้อื่น จะได้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขครับ...

ขอบคุณมากครับ... 

คุณ Mr.Direct

ยินดีและขอบคุณค่ะ

ผมจะพยายามทำความเข้าใจตัวเอง ให้มากกว่าที่เป็นครับ

ขอบคุณครับสำหรับ Idea ดีๆ ที่เล่าสู่กันฟัง

มาเยี่ยม...คุณ
P
อ่านแล้วเข้ากับคำพระที่ว่า...จะสอนคนอื่นนั้นให้สอนตนให้ได้ก่อน...นะครับผม.

หนูนำบทความของไปทำรายงานด้วยค่ะ

หัวข้อนี่เลย

ขอบคุณนะค่ะ

แพร์

ขอบคุณสำหรับการแบ่งปัน ชอบที่น้องบอกว่า การยอมรับ ไม่ใช่ การเห็นพ้อง แต่เป็นการเข้าใจกับสิ่งที่เกิด และหาทางออกที่เหมาะสมเมื่อต้องการดำเนินการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท