ทำ KM เพื่อให้ "สอบผ่าน" หรือต้องการเป็น "LO"


หากจะถามว่าแนวทางที่เราแนะนำให้ทำอยู่นี้ มันยากกว่าการทำเพียงเพื่อ "สอบผ่าน" หรือไม่? ผมตอบได้ทันทีเลยว่า มันยากกว่าแน่ๆ เพราะเรากำลังจะเข้าไปแก้กันที่ระดับปัจเจกบุคคล เข้าไปในระดับความคิด ระดับจิตสำนึก (และจิตใต้สำนึก) เรามีความเชื่อว่า กระบวนการ บรรยากาศ และภาวะผู้นำ ที่เหมาะสมจะทำให้สามารถพัฒนา "ภาพที่พึงปรารถนา" นี้ได้ ...แน่นอนครับ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา... เป็นเรื่องที่ยากลำบาก ....ผมมักจะตั้งคำถามเสมอว่า "ถ้าหากท่านทำเรื่องที่ง่ายๆ แต่รู้ว่าไม่ได้ผล แล้วท่านจะทำไหม?" ...

     สัปดาห์นี้ผมไปต่างจังหวัดมา 3 วันครับ พอเข้าที่ทำงานก็พบว่ามีคิวที่จะเข้ามาปรึกษาหารือเยอะมาก  ส่วนใหญ่เป็นทีม KM ของส่วนราชการ ที่กำลังจัดทำ "แผนการจัดการความรู้ (KM Action Plan)" ส่ง กพร.   ให้ทันวันที่ 31 มกราคม ที่จะถึงนี้

     ตอนเริ่มพูดคุย ผมมักจะออกตัวเสมอว่า  "ผมไม่ใช่คนที่ออกข้อสอบ" เพราะฉะนั้นการที่ท่าน (แต่ละส่วนราชการ) เอา "คำตอบ" หรือแผน KM ที่เตรียมส่ง กพร. มาให้ผมช่วยดูเผื่อว่าจะมีอะไร Comment นั้น....ท่านทั้งหลายจะต้องระวังให้ดี เพราะถึงผมจะบอกว่าสิ่งที่ท่านเขียนมานั้น "ถูก" แต่ผู้ออกข้อสอบอาจจะบอกว่าท่านว่า "ผิด" ก็ได้ เหมือนกับที่มีส่วนราชการระดับกรมแห่งหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ผู้ที่มาตรวจประเมินท่านหนึ่งเคยพูดเปรยๆ ในทำนองที่ว่า ที่ท่านทำอะไรไปมากมายนั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการจะดูก็ได้ !

     ใครที่คุ้นเคย Model การทำ KM ของ สคส. จะพบว่าเราใช้งานเป็นตัวตั้ง ค่อนข้างเน้นไปที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน ที่เราเรียกกันติดปากว่า "คุณกิจ" เน้นที่การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกัน (Team Learning) หรือ Knowledge Sharing โดยมี Knowledge Facilitator  หรือ "คุณอำนวย" เป็น Learning Catalyst คือเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ "เร่งปฏิกิริยาการเรียนรู้"

     กระบวนการของ สคส. เป็นกระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลง ที่เน้นไปที่กระบวนทัศน์และวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าตรงกับหลักการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning Organization (LO) ของ Peter Senge ที่มีองค์ประกอบหลักห้าตัว และสามตัวที่เป็นระดับปัจเจกนั้นเน้นไปที่ Personal  Mastery, Mental Model และ Systems Thinking การทำ KM ตาม Model ของ สคส. จึงเป็นการปูทางไปสู่การสร้าง LO โดยปริยาย  เป็นการพัฒนา LO ที่ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ

     หากจะถามว่าแนวทางที่เราแนะนำให้ทำอยู่นี้ มันยากกว่าการทำเพียงเพื่อ "สอบผ่าน" หรือไม่?  ผมตอบได้ทันทีเลยว่า มันยากกว่าแน่ๆ เพราะเรากำลังจะเข้าไปแก้กันที่ระดับปัจเจกบุคคล เข้าไปในระดับความคิด ระดับจิตสำนึก (และจิตใต้สำนึก)  เรามีความเชื่อว่า กระบวนการ บรรยากาศ และภาวะผู้นำ ที่เหมาะสมจะทำให้สามารถพัฒนา "ภาพที่พึงปรารถนา" นี้ได้  ...แน่นอนครับ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา... เป็นเรื่องที่ยากลำบาก ....ผมมักจะตั้งคำถามเสมอว่า "ถ้าหากท่านทำเรื่องที่ง่ายๆ แต่รู้ว่าไม่ได้ผล แล้วท่านจะทำไหม?" ...คำตอบที่ได้รับส่วนใหญ่ ก็คือ "ทำ" และเขายังบอกอีกด้วยว่า วิธียากที่ผมแนะนำนั้นต้องใช้เวลา กว่าจะเห็นผล สู้วิธีที่ของเขาไม่ได้ เห็นผลได้ในระยะสั้นๆ คนส่วนใหญ่มักไม่สนใจสิ่งที่เป็น Long-Term ถ้าเป็นผู้บริหาร คนพวกนี้ไม่มี Vision หรอกครับ มีแต่ "วิสั้น" เท่านั้นเอง

     ส่วนราชการมักจะร้องขอให้ทาง สคส. ช่วยทำความเข้าใจในเรื่อง KM ให้กับคนในหน่วยงานของเขาก่อนเป็นการ Kick-off เสมอ บางหน่วยงาน Check ไป  Check มา พบว่าฟังเรื่องนี้มาหลายเที่ยว จากหลายวิทยากรแล้ว กำลังตกอยู่ในอาการ "ยิ่งฟังมาก ก็ยิ่งงงมาก" ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะไม่เชื่อคำเตือนของท่านอาจารย์วิจารณ์ที่พูดอยู่เป็นเวลานับปีแล้วว่า "KM ไม่ทำ ไม่รู้" จนถึงขั้นที่ท่านอาจารย์ต้องรวบรวม KM Case ต่างๆ จากของจริงมาเขียนไว้ในหนังสือ "การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ" ที่เพิ่งวางตลาดไปเมื่อเดือนที่ผ่านมาแล้วก็ตาม

     เวลาทำอะไร ส่วนราชการทั้งหลาย มักจะติดรูปแบบเดิมๆ ที่มักจะเริ่มต้นด้วยการแต่งตั้งกรรมการ ...เรื่อง KM ก็เช่นเดียวกัน มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ชุดแรกชุดใหญ่เป็นคณะกรรมการอำนวยการด้าน KM  ซึ่งถ้าเป็นระดับกรมก็จะเลือกผู้บริหารระดับสูงของกรม ผสมกับผู้บริหารที่เป็นเบอร์หนึ่งของหน่วยงานใต้สังกัด กรมที่มีขนาดใหญ่ คณะกรรมการชุดนี้อาจมีกรรมการจำนวนมากถึง 40 คน  บางหน่วยงานสารภาพกับผมตรงๆ ว่า ตั้งแต่มีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมายังไม่ได้เรียกประชุมเลย หรือถ้าเป็นหน่วยงานที่ขยันประชุมหน่อย เรียกประชุมกันมาหลายครั้งแล้ว แต่ปัญหาที่พบก็คือ ผู้บริหารไม่ค่อยมีเวลา กรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาจึงไม่ค่อยได้มาประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ที่ร้ายกว่านั้นก็คือหมุนเวียนกันมา ทำให้เรื่องต่างๆ ไม่ประติดประต่อกัน

     บางหน่วยงานมี Attitude ในทำนองที่ว่าทำอย่างไรก็ได้ที่ไม่ให้ใช้เวลาผู้บริหารมากนัก ...ขอให้แค่ "สอบผ่าน" เป็นพอไม่ต้อง Serious อะไรมากจนเกินไป ...ผมเองค่อนข้างจะกลัวเรื่องทำนองนี้ค่อนข้างมาก เพราะจากประสบการณ์ที่เคยทำงานด้านการศึกษาอยู่บ้าง พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ที่มาเรียนนั้นหวังเพียงแค่ปริญญา ต้องการปรับวุฒิการศึกษา ผมว่ามีเพียงส่วนน้อยที่มาแสวงหาความรู้อย่างจริงๆ จังๆ  มองปริญญาเป็นเพียงผลพลอยได้ หรือ By Product เรื่อง KM นี้ก็เช่นกัน ผมว่ามีหน่วยงานจำนวนมากทำเพียงเพื่อต้องการ "คะแนน" ต้องการ "Bonus" มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้องการเป็น LO ผมหมายถึงความต้องการเป็น LO จริงๆ นะครับ  ...... ไม่ได้แค่ดูว่าในวิสัยทัศน์หน่วยงานของท่านพูดเรื่องการเป็น LO หรือไม่ เพราะหลายหน่วยงานต่างก็ใส่เรื่อง LO ไว้ทั้งนั้นแหละครับ

     คณะกรรมการที่หน่วยงานแต่งตั้งอีกชุดหนึ่งเป็นชุดที่ 2 จะเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารในระดับที่รองลงมา พวกนี้แหละครับที่เป็นแขน เป็นขา ที่แท้จริง เป็นผู้ที่เคลื่อนกระบวนการ KM ในหน่วยงาน ผมค่อนข้างชื่นชมคนกลุ่มนี้มากและ มองว่าพวกเขาคือ Change Agent ตัวจริง .... Change Agent เหล่านี้เคยมาปรารภกับผมบ่อยๆ ว่าถ้าหัวหน้าหรือผู้บริหารระดับสูงเข้าใจ งานของพวกเขาก็จะ "ไปโลด" แต่ถ้าไม่เข้าใจ ไม่ส่งเสริมก็จะเคลื่อนยาก หรื่อถ้าเจอกรณีที่ท่านเข้ามา "ขวางทาง" ก็ไม่ต้องคิดเดินต่อไปเลย

     จริงๆ แล้ว ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดนี้  ผมมองว่าชุดใหญ่นั้นเป็นการให้ "Direction" ให้ทิศทาง หากกรรมการชุดนี้รู้บทบาทหน้าที่ของตนดี การดำเนินการในเรื่องนี้ ก็จะไม่มีปัญหา..... ที่ผมเคยเจอมาคือ กรรมการชุดนี้ เล่นผิดหน้าที่ แทนที่จะให้ "Direction" ดันไปกำหนด "Destination" คือมี "ที่หมาย" ที่ระบุชัดลงไปเลยว่า ต้องออกมาเป็นแบบนั้นแบบนี้ .... นี่คือความผิดพลาดตั้งแต่ก้าวแรกครับ  กรรมการชุดใหญ่ต้องปล่อยให้ชุดที่สอง หรือคณะทำงานหา "เส้นทาง" หรือวางแผนของเขาเอง  ชุดที่สองนี้มีหน้าที่ที่จะต้องเลือก "เส้นทาง" ที่เห็นว่า "ดีที่สุด" ผมไม่ได้พูดว่าต้องเป็นเส้นทางที่ "สั้นที่สุด" เพราะเส้นทางที่สั้นนั้น อาจมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่เหมาะกับการเดินทางในครั้งนี้ก็ได้  เรียกว่าชุดที่สองนี้จะต้องดูเรื่อง "ประสิทธิภาพ" เป็นเรื่องหลัก ทำอย่างไรให้เดินทางไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด  ในขณะที่กรรมการชุดแรกนั้นจะคอยดูแลเรื่อง "ประสิทธิผล" เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายหรือ Direction ที่ได้วางไว้ตั้งแต่ต้น

     หลายหน่วยงานต้องการให้ทาง สคส.บรรยาย "หลักการ และแนวทาง KM" ให้กับคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้ เพื่อจะได้มั่นใจว่าบรรดากรรมการจะสามารถสื่อสารพูดจาภาษาเดียวกัน ....หากผมจะรับ ผมมักจะตั้งเงื่อนไข โดยเฉพาะเรื่องคณะกรรมการชุดใหญ่  ซึ่งในสายตาของผมคนเหล่านี้ก็คือ "คุณเอื้อ" หรือ "CKO (Chief  Knowledge Officer)" ทั้งหลาย ว่าถึงแม้จะเป็นการตั้งตามตำแหน่ง เช่น เป็นระดับผู้อำนวยการกอง หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัด แต่หากว่าท่านผู้บริหารเหล่านั้นรู้ดีว่า ตนเองไม่สามารถรับภาระเรื่อง KM นี้ได้ ก็น่าจะแต่งตั้งคนอื่นให้มาทำหน้าที่นี้แทนตั้งแต่แรกเริ่ม  จะได้ไม่เกิดภาระ "หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันมาประชุม" อย่างที่เห็นกันทั่วไป  พูดง่ายๆ ก็คือ "อย่าแต่งตั้งกรรมการตามตำแหน่ง โดยที่ไม่ได้คำนึงว่าท่านจะมีเวลามาประชุม หรือจะช่วยเอื้อเพื่อให้เกิด KM ขึ้นหรือไม่"

     นี่แค่เรื่อง "การตั้งกรรมการ" นะครับ ถ้าท่านยังไม่สามารถ "ขยับ" เรื่องทำนองนี้ได้ จำเป็นต้องทำไปตามเดิมทั้งๆ ที่รู้ว่า "ไม่ Work" แล้วล่ะก็ อย่าไปคิดเรื่องการเป็น LO ให้เสียเวลาทำงานเลยครับ !!
 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12042เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2006 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ผมคิดว่าบางหน่วยงานยังไม่คิดเรื่องสอบผ่านด้วยซ้ำ
  • เพียงแค่ให้มีการบ้านส่งครู ก็ดีแล้วครับ

อยู่หน่วยงานเอกชน  ไม่มีการสอบ  มีแต่การปฏิบัติและดูที่ผลของการปฏิบัติ

เห็นด้วยกับอาจารย์พิสูจน์มากเลยครับว่า หน่วยงาน (ราชการ) ส่วนใหญ่ที่ทำ KM กันอยู่นั้นเป็นเพราะ "กลัวไม่มีการบ้านส่ง"

ส่วนของเอกชนหลายที่เหมือนที่คุณละเอียดบอกแหล่ะครับว่าอาจทำโดยไม่ติดป้ายว่าทำ KM ทั้งๆ ที่ทำอยู่ . . . ไม่ทำไม่ได้ . . . ธุรกิจเสียหาย . . . ขายของไม่ได้ . . . ไม่มีลูกค้า

สวัสดีค่ะP

ดิฉันทำธุรกิจ เรามีการประชุม กันทุกเช้า ทุกส่วนงาน เช่น ฝ่ายวัตถุดิบ ผลิต ควบคุมคุณภาพ คลังสินค้า จัดส่ง ฯลฯ เราเรียกว่า Morning Talk มีการพิพ์รายงานการประชุม+graphเดี๋ยวนั้นเลย แต่ไม่ได้เรียกว่า KM จริงๆคือ KM

ทำทุกวัน มาจน 10 กว่าปีแล้ว ผลที่ได้ คือ มีการสื่อสาร ให้ข้อมูลกัน ทุกคนรู้เหมือนกันหมด แก้ปัญหาร่วมกัน สามัคคีกัน ลูกค้าพอใจ เพราะสินค้าเรา ไม่ค่อยมีปัญหา และคุณภาพคงที่

จริงๆแล้ว นำเรื่องMorning Talk มาจากญี่ปุ่น และจาก บ.ปูซีเมนตืไทย ที่ผู้ร่วมก่อตั้ง มาจากที่นั่นค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท